การศึกษาไทยกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม : การสร้างประชาธิปไตยในห้องเรียน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทนำ

บทความนี้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับการสร้างคุณภาพการศึกษา[1] ที่มาจากการติดตามสถานการณ์การปฏิรูปการศึกษากับปัญหาเศรษฐกิจการเมืองในปัจจุบัน จากแหล่งข้อมูลเว็บไซด์ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) และข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ในประเด็นเกี่ยวกับทิศทางการศึกษาไทยในอนาคตกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  บทวิเคราะห์นี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) ตอบประเด็นคุณภาพการศึกษากับการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านต่างๆ ซึ่งจะไปสู่แนวทางการสร้างความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน และ 2) เชื่อมโยงกับตัวบ่งชี้ในระบบการประเมินคุณภาพการศึกษา 3) จัดหาข้อเสนอแนะที่ตรงประเด็น

จากการที่สังคมมีลักษณะพลวัต ในบางด้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น ด้านการผลิต ด้านเทคโนโลยี  บางครั้งก้าวหน้าและบางครั้งถดถอยจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ กล่าวคือ ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ประเทศไทยจะยังคงประสบสภาวะแวดล้อมและบริบทของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาทิ กระแสการเปิดเศรษฐกิจเสรี ความท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ๆ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง ประกอบกับสภาวการณ์ด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศในปัจจุบันที่ยังคงประสบปัญหาในหลายด้าน เช่น ปัญหาผลิตภาพการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น[2] ดังนั้น การจัดการกับปัญหาและความท้าทายที่จะตามมา คือ การสร้างคุณภาพการศึกษาที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและผลิตพลเมืองที่เข้มแข็ง ช่วยแก้ไขวิกฤติความขัดแย้ง และพัฒนาประเทศที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนคนส่วนใหญ่ได้ ตามเจตนารมย์ของการปฏิรูปการศึกษาปัจจุบัน[3] ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง

ในบทความนำเสนอการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ส่วนที่สัมพันธ์กัน คือ

ส่วนที่ 1  การเปลี่ยนแปลงทางสังคม อธิบายการศึกษาภายใต้การเปลี่ยนแปลงในบริบทสังคม 3 บริบท ประกอบด้วย

1.1 บริบทสังคมไทย

1.2 บริบทอาเซียน

1.3 บริบทสากล

ส่วนที่ 2  การสร้างคุณภาพการศึกษา  สืบจากบริบทสังคมดังกล่าวข้างต้น ประกอบด้วย

2.1  กรอบคิดและทิศทางการศึกษาเพื่ออนาคต

2.2  ตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก ที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์และการแสดงออกทางจริยธรรม

ส่วนที่ 3  ข้อเสนอแนะ

 

ส่วนที่ 1 การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Changes) ในความหมายทางสังคมวิทยา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้ในลักษณะต่างๆ ของวิถีการดำรงชีวิตหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ของคนแตกต่างไปจากที่เคยเป็นอยู่เดิม นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านวัฒนธรรมทางวัตถุและมิใช่วัตถุที่มีความสัมพันธ์กัน เช่น การประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้เกิดรูปแบบการสื่อสารของมนุษย์แบบใหม่ และผลิตงานบริการใหม่ๆ

ระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมไทยอยู่ภายใต้บริบทหรือสภาพแวดล้อม ที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 บริบท คือ 1) บริบทสังคมภายในประเทศ 2) บริบทสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และ 3) บริบทสังคมในระดับโลก  โดยภาพรวมพบว่า เรากำลังเผชิญปัญหาที่วัฒนธรรมของสังคมไทยปรับตัวไม่ทันกับวัฒนธรรมทางวัตถุ (เทคโนโลยี) ที่เปลี่ยนแปลงไวกว่า จากการที่สังคมไทยผนวกเข้ากับระบบทุนนิยมยุคใหม่มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2500 ด้วยนโยบายการพัฒนาเมือง (urbanization) ความทันสมัย (modernization) และการผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม (industrialization)[4] ที่ก่อปัญหาตามมามากมาย

1. บริบทสังคมไทย ณ ปัจจุบัน อยู่ในสถานการณ์ 4 สถานการณ์หลัก ได้แก่

1.1  พื้นที่ในประเทศได้รับการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียม (Uneven development)  และเชื่อมโยงกับระบบการจัดการศึกษาที่ไม่ทั่วถึงด้วย คือ การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นยังน้อยเกินไปและไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ความเป็นเมืองศูนย์กลางเทียบกับความเป็นชุมชนท้องถิ่น และความเป็นมหานครกับจังหวัดมีความแตกต่างกันมากเกินไป  นโยบายของรัฐไม่ให้ความสำคัญกับกับการสร้างความเสมอภาคของประชาชนที่จะจัดสรรทรัพยากรให้ทั่วถึง โดยเฉพาะเรื่องการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเหลื่อมล้ำกัน กลายปัญหาความไม่ยุติธรรม และจึงเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างกับความขัดแย้งทางสังคม

1.2  คุณภาพของแรงงานไทยยังมีทักษะฝีมือขั้นกลาง-ต่ำ ทำงานในสถานประกอบการที่ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีการผลิตที่ยังไม่ก้าวหน้า เช่น การใช้แรงงานเข้มข้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอุตสาหกรรมในไทยเป็นการลงทุนจากกลุ่มทุนข้ามชาติ ผลิตเพื่อส่งออก แต่ทุนของไทยยังไม่ได้พัฒนาสร้างสรรค์เครื่องมือการผลิตของแรงงานไทยให้ทันสมัย  นอกจากนี้แรงงานยังมีเงินเดือนและสวัสดิการระดับกลางถึงต่ำ เนื่องจากยังมีการใช้รูปแบบการจ้างงานที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการทำงานแบบเหมาช่วง มีกระแสการเคลื่อนย้ายของแรงงานเพื่อแสวงหารายได้ที่สูงกว่า เช่น ไปทำงานต่างประเทศ แต่มีความจำกัดในการเตรียมความพร้อมด้านทักษะและกฎหมายคุ้มครองแรงงานก่อนไปทำงาน และในบริบทอาเซียนก็จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือและประเทศไทยอาจเสียเปรียบ

ในส่วนของการผลิตที่ก้าวหน้า แต่คุณภาพหรือสำนึกของพลเมืองไม่ได้ก้าวไปพร้อมกัน มีช่องว่างในแง่มีเครื่องมือเทคโนโลยีทันสมัย แต่การให้ความรู้และความระมัดระวังในการใช้เครื่องมือนั้นยังไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือในขณะข้ามถนนในขณะขับรถ การใช้เทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์ แหล่งข่าว/ข้อมูลมีมากมายหลากหลายขึ้น แต่ผู้รับสารขาดวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เพราะขาดการศึกษาที่เพียงพอจึงขาดจิตสำนึก

1.3  การพัฒนาการศึกษาไทยกระทำภายใต้กรอบการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล คสช. ซึ่งมีความขัดแย้งสำคัญดำรงอยู่ระหว่างการพยายามกระชับอำนาจการเมืองการปกครองกับความสืบเนื่องในการปฏิรูปการศึกษาจากหลายรัฐบาลก่อนหน้า ความพยายามในการปฏิรูปก่อนหน้ามีอาทิเช่น การปรับหลักสูตรให้สมดุลกันระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น สร้างเสริมวิธีการเรียนให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ปรับปรุงคุณสมบัติครูตรงสาขาและการยกระดับคุณภาพชีวิตของครู บุคลากรทางการศึกษา เพิ่มความสอดรับระหว่างชั่วโมงเรียนกับกิจกรรม ที่เล็งเห็นความสำคัญของการใช้เวลาในห้องเรียนให้ได้ประโยชน์สูงสุด

จากเอกสารการปฏิรูปการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ 2558 โดยสรุปคือ ระบบการศึกษาใหม่ต้องเป็นการศึกษาเพื่อ “สัมมาชีพ คุณภาพชีวิต และการมีส่วนร่วมต่อสังคม” โดยหน้าที่การจัดการศึกษาจะไม่ใช่ของรัฐแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ปรับบทบาทรัฐให้กลายเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริมภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา รวมถึงการ “กระจายอำนาจ” ไปยังสถานศึกษาและสังคมอย่างแท้จริง ให้เกิด “หลากหน้าที่ หลายผู้จัด” [5]สร้างกลไกให้สังคมเป็นผู้ร่วมจัดการศึกษาและร่วมรับผิดชอบผลหรือคุณภาพของการจัดการศึกษามากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการยกระดับประชาชนให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่แค่ส่วนกลางเท่านั้น และเปิดพื้นที่การแสดงออกให้แก่ทุกภาคส่วน

แต่ความสืบเนื่องในการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล คสช.ดังกล่าวกระทำหรือจำกัดอยู่ในกรอบที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ให้ช่องทางในการเสนอแนะที่จำกัดและควบคุมความคิดผู้เรียนผ่านวิชาหน้าที่พลเมืองและค่านิยม 12 ประการ และเห็นชัดว่าเน้นอุดมการณ์ชาตินิยมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิจารณ์การศึกษาไทยว่า แอบเอาลัทธิชาตินิยม อุดมการณ์ทางการเมืองสอนเด็ก และให้มองโลกในแบบที่ครูอยากให้เป็น[6] แม้แต่นักเรียนบางกลุ่มยังเข้าใจว่านี่คือ การครอบงำ ซึ่งการศึกษาควรทำหน้าที่เป็นหน้าต่างเปิดสู่ความคิดใหม่ๆ ที่กว้างและแตกต่าง

1.4  ปัญหาอาชญากรรม การใช้ความรุนแรงในบ้าน ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน การทุจริตคอรัปชั่นอยู่ในระดับรุนแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า สะท้อนวัฒนธรรมที่ผิดพลาดบางประการของคนในสังคม ที่มาจากกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม หรือนโยบายของรัฐไทยที่ผ่านมา รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

ดังนั้น  รูปแบบการจัดการศึกษาและคุณภาพการศึกษาต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทั้งหมดดังกล่าว โดยเฉพาะในสถานการณ์ ข้อ 1.3 การพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องได้รับ “สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์” จึงจะสามารถตอบสนองและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพของพลเมือง โดยสร้างความสามารถในการผลิต ยกระดับการคิดวิเคราะห์ การปกป้องคุ้มครองตนเองของผู้เรียนเมื่อถูกเอารัดเอาเปรียบ และช่วยกันพัฒนาประเทศ ในแง่ที่ให้ประชาชนมีรายได้ มีฐานะทางเศรษฐกิจ เข้าถึงการบริการของรัฐ ซึ่งจะขยายความด้วยเรื่อง “คุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” ในส่วนที่ 2
 

2. บริบทอาเซียน  คือ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การยอมรับและเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน และในภูมิภาคเดียวกัน เปิดมุมมองโลกทัศน์ (perspectives) กว้างขึ้น การเทียบมาตรฐานการศึกษาระหว่างกัน เช่น การจัดอันดับการศึกษาในอาเซี่ยนการสร้างโอกาสทางการศึกษา การมีงานทำ การลงทุน การแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกันในภูมิภาคเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบ ประเทศสมาชิกจึงมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาคนเป็นประเด็นสาคัญ การศึกษาจึงถูกจัดให้เป็นแกนและเครื่องมือสาคัญในการดำเนินการพัฒนา แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยอยู่ในขั้นวิกฤติด้านคุณภาพของผู้เรียน โดยในรอบสิบปีที่ผ่านมาคุณภาพของระบบการศึกษาไทยและความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ อาทิเช่น เวทีเศรษฐกิจโลก ( World Economic Forum : WEF) ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันนานาชาติ (Global Competiveness Index : GCI) ฉบับล่าสุดปี 2556 การจัดอันดับภาพรวมปีนี้ของไทยอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 148 ประเทศ ซึ่งดีขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับที่ 38 จาก 144 ประเทศ  ส่วนการประเมินความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของ WEF จะมี 2 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา (Primary Education)  และการศึกษาขั้นสูง (Higher Education and Training) อันรวมถึงมหาวิทยาลัย อาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาและการพัฒนาแรงงาน ด้านประถมศึกษา (ซึ่งรวมสาธารณสุขด้วย) ไทยอยู่ที่อันดับ 81 ของโลกและ อันดับ 7 ในอาเซียน ด้านการศึกษาขั้นสูงและฝึกอบรม  ไทยอยู่ในอันดับที่ 66 เทียบกับประเทศในอาเซียน WEF ประเมินไทยอยู่อันดับที่ 5[7]
 

ตัวชี้วัดด้านคุณภาพของระบบการศึกษา (Quality of Education System) WEF ดูว่า ระบบการศึกษาของประเทศนั้นๆ สามารถตอบสนองความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้หรือหรือไม่ โดยมีคะแนนให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเลือกตั้งแต่ระดับ 7 = ตอบสนองมากที่สุด ถึงระดับ 1 = ไม่ตอบสนองเลย ในกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับ 8 ในรายงานปี 2556 คุณภาพด้านการศึกษาของไทยดีกว่าเพียงเวียดนามและพม่า

ในทำนองเดียวกัน ตัวชี้วัดคุณภาพประถมศึกษา จะดูว่าคุณภาพประถมศึกษาของประเทศตนเองเป็นอย่างไร โดยมีคะแนนให้เลือกตั้งแต่ระดับ 7 = ดีมาก  ถึงระดับ 1 = ไม่ดีเลย ไทยอยู่ในอันดับที่ 7 สูงกว่าเวียดนาม กัมพูชาและพม่า ตามลำดับ

ในภาพรวม เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ไทยต้องรีบพัฒนาอย่างเร่งด่วน 3 ข้อ ได้แก่ อัตราเข้าเรียนประถม (อันดับที่ 9)  คุณภาพระบบการศึกษา (8) คุณภาพประถมศึกษา (7) ตามลำดับ คุณภาพของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นอีกประเด็นที่ WEF เน้นย้ำว่าไทยต้องเร่งพัฒนา เนื่องจากมีคุณภาพที่ "ต่ำผิดปกติ"

โดยสรุปจากข้างต้น ในการระบุปัญหาการศึกษาไทยที่ด้อยคุณภาพในเอกสารวาระปฏิรูปการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ไม่ได้ตอบว่า ทำไมคุณภาพการศึกษาของไทยต่ำกว่าลาว แต่ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ฟินแลนด์ หรือเยอรมนี สิงคโปร์ ประเทศที่ก้าวหน้ากว่าจากบทความอื่นด้านเดียว[8] ในขณะที่ลาวค่อนข้างล้าหลังในการพัฒนา อะไรคือคำตอบที่การศึกษาไทยด้อยกว่าลาว

หากศึกษาระบบการจัดการศึกษาบางประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนโดยสังเขป เช่น ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย มีลักษณะการนำการศึกษารองรับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล วิสัยทัศน์ของผู้นำ คือ วิสัยทัศน์ของชาติที่การศึกษาต้องนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่ง แต่สิ่งที่ควรเปรียบเทียบอีกประเด็น คือ ระบบการจัดการปกครองที่แตกต่างจากไทย เช่น สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กมากมีรูปแบบการบริหารการปกครองที่รวมศูนย์[9] เน้นสร้างเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน[10] แม้จะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงที่สุดในอาเซี่ยน แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง คือ ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่อยู่ที่ 0.476 เข้าใกล้ 1 มากที่สุด[11] ส่วนมาเลเซียมีประเด็นปัญหาช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างชนกลุ่มน้อย เช่นชาวจีน ชาวมลายู ชาวอินเดีย[12]  ประเด็นคือ จะจัดการปกครองอย่างไรที่จะทำให้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ที่การศึกษาต้องให้ความรู้เรื่องการจัดการที่เป็นธรรมภายใต้แนวคิดประชาธิปไตยที่คนทุกคนเสมอภาคกัน

3)    บริบทสากล  ประเทศไทยมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และกับประเทศในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบเรื่องความสามารถในการแข่งขัน การจัดอันดับคุณภาพการศึกษา เช่น การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดระดับโลก[13] การจัดอันดับการสอบแข่งขันระหว่างประเทศ (PISA)[14]  การประเมินผลสัมฤทธิ์วิชาคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ (TIMSS)[15] การจัดอันดับประเทศที่มีร้อยละค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของค่าใช้จ่ายสาธารณะทั้งหมดในกลุ่มประเทศ OECD[16] การจัดอันดับประเทศที่นักเรียนอายุ 15 ปีทำการบ้านมากที่สุดต่อสัปดาห์[17] การเปรียบเทียบชั่วโมงเรียนของกลุ่มประเทศ OECD เทียบกับเอเชีย

ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มีองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่ง คือ แรงงาน ผู้มีบทบาทในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยแรงงานมีทักษะฝีมือกับแรงงานที่ด้อยทักษะฝีมือ แต่แรงงานสองกลุ่มได้รับค่าจ้างและสวัสดิการแตกต่างกัน แรงงานด้อยฝีมือได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานมีฝีมือ อันเป็นการลดต้นทุนของบริษัทที่กำลังแข่งขันกัน และส่วนใหญ่เป็นแรงงานย้ายถิ่น แรงงานผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาทำงานในประเทศที่เจริญกว่า ก่อให้เกิดช่องว่างความเข้าใจทางวัฒนธรรม ภาษา ที่ต่างต้องปรับทัศนคติเข้าหากัน และระมัดระวังเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งจะต้องมีการส่งเสริมการศึกษาให้แก่แรงงานอพยพและแรงงานไทยด้วยท่ามกลางกระแสที่มีการย้ายถิ่นตลอดเวลา

นอกจากนี้ ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาก็มีเหรียญอีกด้านหนึ่งคือ การประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551  ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศอังกฤษ[18] เช่น การปิดตัวของบริษัทหลายพันแห่ง ภาวะการล้มละลายของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา หรือกรณีประเทศกรีซที่ยังเผชิญปัญหาค้างคามาจนถึงปัจจุบันจากปัญหาหนี้สาธารณะสูง เพราะนำเงินไปลงทุนจำนวนมาก จนต้องลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณะ ลดสวัสดิการที่ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ด้วยเหตุนี้การพัฒนาที่ก้าวหน้าไม่สามารถประกันความเป็นอยู่ที่มั่นคงได้ เพราะการพัฒนานั้นขาดการจัดการในลักษณะเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขไปยังทุกกลุ่ม

สถานการณ์วิกฤติ

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ผ่านมา (ปี 2551) ในประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกา มีลักษณะเป็นรูปแบบ (pattern) ของการเกิดวิกฤติ ที่ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ช่วงทศวรรษที่ 30[19] ที่สามารถประเมินได้ในเรื่องดังต่อไปนี้

1)      การผลิตลดลง ที่ไม่แตกต่างจากวิกฤติในไทยช่วงปี 2540 การหดตัวของการผลิต คำสั่งซื้อ อัตรากำไรลดลงเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง บริษัทปิดตัว เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ บริษัทก่อสร้าง มีการเลิกจ้าง มีอัตราการว่างงานเพิ่ม รายได้บุคคลและประเทศลดลง การค้าปลีกหดตัว หนี้ส่วนบุคคลและหนี้สาธารณะเพิ่ม[20] ซึ่งหมายถึงการปรับตัวของทุนส่งผลกระทบต่อแรงงานอย่างมาก

2)    การรับมือของรัฐบาล ด้วยการตัดสวัสดิการสังคม ตัดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณะ กู้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ แช่แข็งค่าจ้าง การสร้างวินัยทางการคลัง ลดการบริโภค

3)    การก่ออาชญากรรมมากขึ้นจากการมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ยากจนลง

สำหรับการพัฒนาประเทศไทย ได้เดินตามประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่ยังมีช่องว่างความเจริญระหว่างประเทศด้อยพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก การเรียนรู้บทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรปและอเมริกายังมีไม่มากพอ เพราะประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นไทยยังใช้นโยบายพัฒนาทุนอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถกระจายความมั่งคั่งไปยังคนส่วนใหญ่ได้ ที่เรียกว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงพอที่จะกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึง

ดังนั้น หากผู้อ่านยอมรับเรื่องราว สถานการณ์ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็ควรนำไปสู่การถกเถียงวิเคราะห์ในชั้นเรียน โดยทำความเข้าใจในหัวข้อ 1) สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในชีวิตประจำวัน  2) การปรับตัวและแก้ไขปัญหารายวันและในช่วงวิกฤติ 3) การบริหารจัดการที่กระจายความมั่งคั่งแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ด้วยแนวคิดสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค  เพราะสังคมไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีการปะทะกันระหว่างความเป็นสังคมแบบแผนจารีต (สังคมเก่า) กับสังคมสมัยใหม่ที่มีลักษณะปัจเจกนิยม มีความหลากหลายทางความคิดและพฤติกรรม ที่ต้องใช้เหตุผลและความอดทนในการถกเถียงรับฟังปัญหา ยอมรับความแตกต่างระหว่างกันและกัน อันควรเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนยุคนี้ และนั่นคือคุณลักษณะของพลเมืองที่พึงประสงค์ด้วยเช่นกัน

คุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่สำคัญในยุคนี้ คือ สมรรถนะในการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ ที่ต้องอยู่ในห้องเรียนที่มีบรรยากาศเปิดกว้าง มีการบูรณาการวิชาต่างๆ ได้ เช่น ประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา การงานอาชีพ คณิตศาสตร์ในประเด็นหัวข้อที่กำหนด ที่ผู้เรียนสามารถตั้งคำถาม ถกเถียงและช่วยกันหาคำตอบ ซึ่งคำตอบไม่จำเป็นต้องสำเร็จรูปหรือมีเพียงคำตอบเดียว และความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนควรมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น คือลดความสัมพันธ์จากบนลงล่างหรือลักษณะอนุรักษ์นิยมของครู เราอาจกล่าวได้ว่า ห้องเรียนนั้นคือการจำลองของระบบสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ดังจะกล่าวต่อไปในส่วนที่ 2 และ 3

ส่วนที่ 2 การสร้างคุณภาพการศึกษา

จากยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์เพื่อรองรับสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงของสภาปฏิรูปแห่งชาติ มี 2 กรอบคือ 1) ยุทธศาสตร์การปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาและพัฒนามนุษย์อย่างต่อเนื่องเพื่อผลการพัฒนาในระยะยยาว และ 2) มาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูคุณภาพการศึกษา  โดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายใหญ่คือ การปฏิรูประเทศ กล่าวคือ สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา ประเพณี ในขณะที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงโอกาส เศรษฐกิจ และการเข้าถึงทรัพยากรของคนไทย โดยมีระบบการเมืองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการปฏิรูปประเทศจึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างคามเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม[21]

หากสรุปจากความข้างต้น คือ ในการบริหารจัดการความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยุติธรรมจึงต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเสมอภาคกันตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และการศึกษาที่จะสร้างคนจึงเป็นเครื่องมือของชาติที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ รวมถึงสร้างอำนาจการต่อรองระดับปัจเจก ระดับชุมชนและระดับประเทศให้เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด “พลเมืองที่มีคุณภาพตามระบอบประชาธิปไตย”  ดังนั้น ในส่วนที่ 2 จะอธิบายความสำคัญของความเป็นปัจเจก (Individuality) หรือความเป็นตัวของตัวเอง ที่เป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมก่อน โดยจะทำอย่างไรให้คนแต่ละคนมีสมรรถนะในการคิดวิเคราะห์และกล้าแสดงออกทางจริยธรรม

ส่วนที่ 2 แบ่งเป็นหัวข้อ 2.1 กรอบคิดและทิศทางการศึกษาเพื่ออนาคต  และ 2.2 ตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก ที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์และการแสดงออกทางจริยธรรม เป็นการอธิบายภาพกว้างของการเปลี่ยนแปลงในสังคมระดับโลก ภูมิภาคและภายในประเทศไปแล้วลงไปสู่สังคมระดับห้องเรียน ที่มีองค์ประกอบปัจเจกบุคคลที่สัมพันธ์กันในการแสวงหาความรู้ และผลิตพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

2.1 กรอบคิดและทิศทางการศึกษาเพื่ออนาคต

สถานการณ์โลกในศตวรรษที่ 21 แตกต่างจากศตวรรษที่ 20 และ 19 ระบบการศึกษาต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง ในประเทศสหรัฐอเมริกาแนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยภาคส่วนที่เกิดจากวงการนอกการศึกษา ประกอบด้วยบริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อๆว่า เครือข่าย P21[22]

หน่วยงานเหล่านี้มีความกังวลและเห็นความจำเป็นที่เยาวชนจะต้องมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 จึงได้พัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ขึ้น สามารถสรุปทักษะสำคัญอย่างย่อๆ ที่เด็กและเยาวชนควรมีได้ว่า ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม หรือ 3R  และ 4C ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้

- 3 R ได้แก่ Reading (การอ่าน) การเขียน (Writing) และเลขคณิต (Arithmetic)

- 4 C (Critical Thinking - การคิดวิเคราะห์, Communication- การสื่อสาร Collaboration-การร่วมมือ และ Creativity-ความคิดสร้างสรรค์) รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ 

นอกจากนี้ มีนักการศึกษาอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องการฎิรูปการเรียนรู้ดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้น คือ เซอร์เคน โรบินสัน นักการศึกษาระดับโลก โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดการศึกษาระบบโรงงานมาเป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดอย่างสร้างสรรค์และเข้ากับบริบทของโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงไป และกรอบแนวคิดนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตใหม่ในประเทศไทยและผู้ที่ริเริ่มในการผลักดัน ได้แก่ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช โดยเขียนหนังสือชื่อ “วิถีสร้างการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21” นั่นคือ การนำเข้าแนวคิดทักษะดังกล่าวเพื่อไปกำหนดคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งได้แก่ ความสามารถในการคิด วิเคราะห์เป็นและมีความคิดสร้างสรรค์

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวว่า "การศึกษาที่ถูกต้องสำหรับศตวรรษใหม่ ต้องเรียนให้บรรลุทักษะ คือ ทำได้ต้องเรียนเลย จากรู้วิชาไปสู่ทักษะในการใช้วิชาเพื่อการดำรงชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง การเรียนจึงต้องเน้นเรียนโดยการลงมือทำ หรือการฝึกฝนนั่นเอง และคนเราต้องฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นตลอดชีวิต” โดยอยู่บนพื้นฐานความเป็นไทยและฐานคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เข้าใจตัวตนความเป็นไทยอย่างเข้มแข็งก่อนเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน[23]

ดังนั้นการสร้างเครื่องมือเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จึงได้ถูกสร้างขึ้นผ่านฐานปรัชญาความคิดและกระบวนการทางการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กไทยให้บรรลุ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21”  ที่เน้นทักษะการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะมีครูมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้แนะนำและทำโครงการการเรียนรู้ร่วมกันกับเด็ก ซึ่งเด็กจะได้ทั้งความสนุกสนานและแนวทางการคิดและสร้างองค์ความรู้ร่วมทั้งนวัตกรรมต่างๆ จากความคิดที่เปิดกว้างจากครูที่เป็นผู้เปิดโลกทัศน์นั้นให้เด็ก เพราะเครื่องมือเป็นเพียงตัวช่วยนำทางให้ครูเท่านั้น แต่ “ความสำเร็จในการเรียนรู้ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ หากอยู่ที่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างสรรค์องค์ความรู้ด้วยตนเอง”

จากแนวคิดข้างต้น เป็นการสร้างคุณภาพการศึกษาตามแนวทางของการปฏิรูปการศึกษา 2 ประการคือ 1) การสร้างความสามารถของกำลังแรงงานกับการพัฒนาประเทศให้มั่งคั่ง พร้อมๆ กับ 2) การสร้างความพร้อมในการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ คุณภาพผู้เรียนที่สังคมต้องการจากกรอบคิดการปฏิรูปการศึกษาข้างต้น ยังมีระบุไว้อย่างชัดเจนในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 6 ที่ว่า “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ (หมายถึง สุขกาย สุขใจ) สติปัญญา ความรู้ (หมายถึงเป็นคนเก่ง) และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (หมายถึง เป็นคนดีของคนรอบข้างและสังคม)” และในมาตรา 7 ที่ว่า “ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝัง จิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริม สิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย

และเพื่อให้ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคที่ความรู้และเทคโนโลยีเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทรวงศึกษาธิการในยุคของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) ได้ประกาศวิสัยทัศน์เกี่ยวกับคนไทยยุคใหม่ว่า คนไทยยุคใหม่ต้องได้เรียนรู้ตลอดชีวิต มีสติรู้ทัน มีปัญญารู้คิดมีสมรรถนะและมีคุณธรรม รับผิดชอบต่อครอบครัว ประเทศชาติ และเป็นพลเมืองดีของโลก ซึ่งสอดรับกับจุดหมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่ได้มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ[24]

            หากพิจารณาถึงทางออกของวิกฤติการศึกษาไทย พบว่า มีแนวทางการปรับปรุงระบบการศึกษาไทย ดังนี้

1) การปรับตัว/บทบาทของผู้บริหาร ครูผู้สอนและผู้เรียน ในลักษณะกลับหัวกลับหาง คือ ผู้สอนปรับเป็นผู้แนะแนว อำนวยความสะดวกมากขึ้น

2) การสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยน  ไม่ใช่การป้อนข้อมูลฝ่ายเดียว กล้าคิดกล้าแสดงออก กล้าคิดต่างจากเพื่อน[25]

3) กระบวนการเรียนการสอนแบบ Problem-based  เรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้เหมาะสม ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้บทเรียนและต่อยอดจากผู้อื่นได้

สิ่งที่ผู้เขียนจะอภิปรายต่อไป คือ

1) สิ่งที่ถูกละเลยในกระแสของการปฏิรูปการศึกษา คือ ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนที่ครูมีลักษณะอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม การเปลี่ยนแปลงบทบาทของครูมาเป็นผู้คอยชี้แนะช่วยเหลือ ต้องมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนจริยธรรมให้พ้นไปจากลักษณะแบบอำนาจนิยมด้วย

2) ควรยอมรับว่าการที่การศึกษาเน้นอุดมการณ์ชาตินิยม วัฒนธรรมนิยม เป็นสิ่งที่ขัดแย้งโดยตรงต่ออิสรภาพทางความคิด และความสามารถในการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ของผู้เรียน การที่ ศ.วิจารณ์ พานิช นำเสนอว่าเราต้องเรียนรู้โลกยุคใหม่และมีความคิดสร้างสรรค์ แต่อยู่บนฐานคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และความเข้าใจตัวตนความเป็นไทย เป็นเรื่องที่ผู้เขียนมองว่าอาจเข้ากันไม่ได้ในหลายเรื่อง ความเป็นไทยคือการเชื่อในไสยศาสตร์ เรื่องที่เหนือธรรมชาติ พิธีกรรมตามแบบแผนจารีตประเพณี การเคารพนอบน้อมยำเกรงต่อผู้มีอำนาจใช่หรือไม่? นี่ย่อมขัดแย้งกับการเคารพในหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา คำว่ามาตรฐานศีลธรรม ความเป็นไทย สิทธิมนุษยชน จึงเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์หาเหตุผลกันอย่างลึกซึ้ง มีรูปธรรมรองรับ และประเด็นเหล่านี้ควรได้รับอนุญาตให้ถกเถียงในห้องเรียนเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางจริยธรรมของปัจเจกบุคคล

3) การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนคืออะไร การคิดวิเคราะห์เป็น คิดต่างจากเพื่อนคืออะไร เชื่อมโยงกับการกล้าคิดกล้าแสดงออกทางจริยธรรมอย่างไร และจะวัดและประเมินผลด้วยวิธีใด

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ต้องมองไปข้างหน้า สิ่งที่ต้องเข้ามาแทนที่คือ หลักการใช้เหตุผล การคิดวิเคราะห์วิพากษ์ ที่รวมอยู่ในวิชาปรัชญาทั่วไป ที่ประกอบด้วยวิชาทฤษฎีความรู้หรือญาณวิทยา ความหมายของความรู้ วิชาอภิปรัชญา หรือวิชาว่าด้วยความจริง วิชาจริยศาสตร์ หมายถึงวิชาว่าด้วยความดีและความหมายของชีวิต วิชาปรัชญาสังคมและการเมือง ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคม ที่มาและข้อจำกัดของอำนาจรัฐ วิชาประเภทนี้คนเปิดโอกาสให้คนค้นหาความหมายของชีวิตด้วยตัวเอง ไม่ใช่ไหลไปตามกระแสสังคม

ในการสอนศีลธรรมของไทยที่เป็นอยู่ แม้แต่นักเรียนมัธยมศึกษาก็ยังสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งจอมปลอม ผู้เขียนมองว่าการเปลี่ยนไปเรียนวิชาปรัชญาจะสอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคห์ลเบิร์กที่จะอธิบายในหัวข้อต่อไป

2.2  ตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์และการแสดงออกทางจริยธรรม

· กลุ่มตัวบ่งชี้พื้นฐาน ในการประเมินคุณภาพภายในและภายนอก ที่คล้ายกัน ได้แก่

การให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น, ประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ, ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง, ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง, ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ คิดสร้างสรรค์ ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้อย่างมีสติสมเหตุผล[26] และผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมพึงประสงค์[27] โดยมีกลุ่มตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ของสถานศึกษาว่าสามารถดำเนินงานตามพันธกิจและบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษาหรือไม่

ตัวอย่างแนวคิดของการประเมินคุณภาพการศึกษา ในเรื่องค่านิยมที่พึงประสงค์ มีการประเมินคุณค่า (Value) ของนักเรียนด้วยการตรวจสอบกฎระเบียบ ความอดทนและความสามารถที่จะทำงานกับผู้อื่น เช่น นักเรียนทำงานช่วงปิดเทอม ที่แสดงความรับผิดชอบ ความอดทนและมีวินัย แต่ถ้าเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะดี อาจขอให้เขาเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาปีละ 50 ชั่วโมงได้[28]  ในประเด็นการอุทิศตนของศิษย์เก่า อาจวัดระดับการให้ความเสียสละบริจาคเงินหรือสนับสนุนทรัพยากรที่ให้แก่สถานศึกษา ที่เป็นการส่งเสริมบัณฑิตให้กลับมาช่วยเหลือสถานศึกษาของตัวเอง  

·วิธีการหาข้อมูลประกอบการพิจารณา

ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การพิจารณา รวมถึงการหาข้อมูลประกอบจากเอกสารของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เช่น คู่มือการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558) และการประเมินคุณภาพภายใน  พบว่าใช้วิธีวิเคราะห์แบบปฏิฐานนิยม (Positivism) เป็นหลัก คือใช้ช้อมูลเชิงสถิติ สังเกต สัมภาษณ์ สมุดบันทึกความดี การเข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็จประโยชน์[29] หรือที่เรียกว่าข้อมูลเชิงประจักษ์ในระยะเวลา 3 วันที่เข้าทำการประเมิน ไม่มีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและต่อเนื่อง ทำให้ได้ข้อมูลจริงเชิงกายภาพมากกว่าเชิงลึก  ซึ่งควรมีการเพิ่มเติมเรื่องการหาเกณฑ์การพิจารณาให้เข้าถึงความเป็นจริงเชิงคุณภาพ นอกเหนือจากข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยทฤษฎีการหาความรู้ความจริงแบบสัจนิยม (Realism)

กระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยมกับแบบสัจนิยมในการประเมินและวัดผลการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณาใช้ให้ถูกต้อง เช่น การวัดตามหลักวิทยาศาตร์ (ประจักษ์นิยม-ปฏิฐานนิยม) อาจไม่สามารถวัดคุณค่าที่มีลักษณะนามธรรม เช่น คุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนได้ วิธีการสังเกตแบบรู้ตัว การดูสถิติ การกำหนดให้ทำสมุดบันทึกความดี ที่จริงแล้วขัดแย้งโดยตรงกับหลักแห่งความจริงแท้ของความดี เพราะเมื่อใดก็ตามที่ความดีเป็นสิ่งที่ผู้ทำๆ เพราะถูกกำหนดและทำเพื่อผลได้ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ความดีนั้นก็กลายเป็นความดีปลอมๆ ทันที หากต้องการวัดเกี่ยวกับเรื่องของศีลธรรม การสัมภาษณ์ตั้งคำถามกับผู้เรียนถึงวิธีคิดของเขาต่อสถานการณ์ปัญหาหนึ่งๆ ตามวิธีของนักจิตวิทยาพัฒนาการเป็นข้อมูลที่พอยอมรับได้มากที่สุด เช่น ทฤษฏีของโคห์ลเบิร์ก

ผู้เขียนจะนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างความดีกับความรู้ด้วยทฤษฎี 3 ทฤษฏี ในเรื่องของการกำหนดชั่วโมงจิตอาสาแล้วนำมาให้คะแนนวัดผลอธิบายว่าคนนั้นมีจริยธรรม ดังนี้

1) แนวปฏิฐานนิยม

ปฏิฐานนิยม หมายถึง ทัศนะที่เชื่อว่า การทำความเข้าใจในการกระทำของมนุษย์ควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ นั่นคือ ทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดที่จะถือว่ามีคุณค่าความเป็นจริง ถูกต้องต่อเมื่อพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า ทฤษฎีนั้นสามารถพยากรณ์ผลลัพธ์ได้ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือวิธีการทางประจักษ์นิยมเชิงตรรกะ เป็นกระบวนทัศน์ที่เคร่งครัดต่อการออกแบบการทดสอบข้อมูลในเชิงทดลอง และสถิติ การพยายามพยากรณ์และควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ความเชื่อของปฏิฐานนิยมมองความเป็นจริงในเชิงบริสุทธิ์ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ สามารถจับต้องได้ ดังนั้นในการตั้งคำถามเชิงญาณวิทยาก็จะเป็นไปในทางวัตถุวิสัยหรือปรนัย ผู้แสวงหาความรู้ความจริงก็จะทำตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มีกระจกด้านเดียว สังเกตพฤติกรรมและปรากฎการณ์โดยไม่เอาตัวเองไปเกี่ยวข้อง ใช้เครื่องมือการศึกษาที่ชี้วัดความเป็นจริงนั้นได้ การวัดจึงเน้นดูพฤติกรรมมากกว่าความคิดของคน

ผู้ที่คิดวิชาสังคมวิทยาคือ ออกุสต์ กองต์ ช่วงปี ค.ศ.1830 พิจารณาปรากฏการณ์ทุดอย่างสอดคล้องไปตามกลไกทางธรรมชาติ เขาอธิบายสังคมให้มีความเป็นรูปธรรม แต่ปัญหาคือ ใช้วิธีลดรูป (Reductionism) สิ่งที่ค้นพบนั้นให้อยู่ในรูปตัวเลขที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้[30] ซึ่งในบริบทยุคนั้นเป็นยุคความทันสมัยที่วงการวิทยาศาสตร์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ ไสยศาสตร์ลดลง  แต่ลักษณะกลไกทางวิทยาศาสตร์ ตรรกะเหตุผลที่อาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้า ไม่เพียงพอในการอธิบายสังคมที่ซับซ้อนกว่า เช่น หากจะอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ ไม่สามารถมองได้ด้วยตา อ่านบันทึกทางสถิติ จำนวนของพฤติกรรมที่นับได้ เช่น การตัดสินใจทำงานสถานที่ทำงานแห่งหนึ่ง ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลเดียวว่าด้วยเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการที่สูง แต่อาจมีเหตุผลอื่น เช่น ระบบการบริหารที่ดี ความเป็นเพื่อนในสถานที่ทำงาน ที่ทำงานใกล้บ้าน ซึ่งนั่นคือ มีปัจจัยอื่นที่เข้ามาอธิบาย เช่น คุณค่า ความเชื่อ อุดมการณ์ สภาพแวดล้อมของแต่ละคน และบางครั้งบางพฤติกรรมไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลตรงไปตรงมาแบบกลไก เช่นซื้อสินค้านั้นเพราะราคาถูกคุ้ม  ดังนั้นจึงเกิดการปรับปรุงแก้ไขฐานคิดของปฏิฐานนิยม เป็นปฏิฐานนิยมยุคหลัง ที่ยังยึดหลักปรนัย แต่เปลี่ยนจุดยืนจากการมองโลกแห่งความจริงอย่างบริสุทธิ์มาเป็นความจริงเชิงวิพากษ์ (Critical realism) ยอมรับว่าความจริงแท้มีอยู่ ที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ไปไม่ถึง คือ มีข้อจำกัด แต่รู้ว่ามีความจริงนั้นอยู่ เช่น ความยุติธรรมที่ต้องใช้ทฤษฎีทางจิตวิทยา สัจนิยม ทฤษฏีวิพากษ์

2)    แนวสัจนิยม

การอธิบายปรากฏการณ์สังคมด้วยแนวคิดสัจนิยมทางวิทยาศาสตร์สำคัญนื่องจากการศึกษาในทางสังคมศาสตร์ ไม่อาจใช้วิธีการศึกษาเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะสังคมศาสตร์ประสบปัญหาในแง่ของสิ่งที่ศึกษา อยู่สองประการหลักๆ ประการแรก คือ พฤติกรรมมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลง มิใช่วัตถุ หรือสสารที่มีลักษณะคงที่ ตายตัว อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมมนุษย์ก็ยังพอคาดการณ์ได้ระดับหนึ่ง และปัญหาประการที่สองคือ สิ่งที่ศึกษาไม่ปลอดจากการรับรู้ของมนุษย์ และบางครั้งมนุษย์ก็เป็นตัวการในการกระทำสิ่งนั้น เช่น การปฏิวัติ[31] การเปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น ปรัชญาในยุคแรกที่เน้นปรัชญาแบบปฏิฐานนิยม ที่มุ่งแสวงหากฎหรือหลักการทั่วไป (law) ที่ใช้ได้ทุกสถานที่และทุกเวลา จึงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้ในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ และนำมาสู่ทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อแสวงหาความรู้ด้านสังคมศาสตร์ นั่นคือ ปรัชญาสังคมศาสตร์ ในสำนักสัจนิยม โดยเน้นที่แนวคิดสัจนิยมทางวิทยาศาสตร์

สำนักสัจนิยม (Realism) ที่นำมาใช้ในการแสวงหาความรู้นั้นเชื่อว่า สิ่งต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายในการแสวงหาความรู้เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้อาจจะมองเห็น สัมผัสได้หรือไม่ก็ได้ แต่เชื่อได้ว่ามีอยู่จริง การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดหรือสิ่งใดเป็นเพียงการหาความเป็นจริงหรือภววิทยาของเรื่องนั้นหรือสิ่งนั้นว่าสภาพหรือธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร และมีปัจจัยใดเป็นกลไกที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น โดยแนวคิดของสัจนิยมนั้นมีพื้นฐานมาจากการยืนยันในการดำรงอยู่จริงของบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งเป็นอิสระจากการรับรู้ของมนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น ความร้อนทำให้นํ้าเดือด หากเป็นสำนักปฏิฐานนิยมจะสนใจเฉพาะสิ่งที่เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ผลเท่านั้น แต่หากเป็นสำนักสัจนิยมสนใจกระบวนการและกลไกการเกิด ในกรณีนี้ สำนักสัจนิยมเน้นว่า ความร้อนทำให้นํ้าเดือดได้อย่างไร การอธิบายจึงต้องพิจารณาถึงกลไกและกระบวนการว่า ความร้อนส่งผลต่อโมเลกุลเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นก๊าซได้อย่างไรด้วย นั่นหมายถึง สำนักสัจนิยมเน้นความรู้จากการเข้าใจความจริง[32]

3)     ทฤษฏีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคห์ลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg’s Moral Development 1927-1987)

ทฤษฏีนี้เป็นทฤษฎีที่มีแนวคิดพื้นฐานจากทฤษฎีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเพียเจต์ แต่โคห์ลเบิร์กได้ปรับปรุงการศึกษาบางด้านและขยายขอบเขตงานวิจัยให้กว้างขวางไปยังทวีปเอเชีย ยุโรป คือ มีการสร้างสถานการณ์สมมติขึ้นมา โดยให้กลุ่มทดลองเป็นผู้ตอบปัญหา ซึ่งปัญหานั้นจะยากต่อการตัดสินใจว่าจะถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร เพราะต้องเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลายประการ ผลจากการวิเคราะห์คำตอบของผู้ตอบในวัยต่างๆ ทำให้โคห์ลเบิร์กสรุปเป็นทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของบุคคลออกเป็น 3 ระดับ และแต่ละระดับแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอน รวมทั้งสิ้น 6 ขั้นตอน[33] ดังนี้

ระดับที่ 1 ระดับก่อนเกณฑ์ทางสังคม (Pre-convention) เป็นระดับที่เด็กจะรับรู้กฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติตนที่ดีและไม่ดีจากคนที่มีอิทธิพลเหนือตน เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ พี่ หรือเด็กที่โตกว่า และมักนึกถึงรางวัลและการลงโทษ ระดับนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ขั้น

ขั้นที่ 1 ขั้นของการเชื่อฟังคำสั่งและหลบหลีกการถูกลงโทษ ขั้นนี้จะเริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 7 ปี เป็นขั้นที่เด็กจะใช้ผลของการแสดงพฤติกรรมเป็นเครื่องตัดสินว่าถูกหรือผิด เช่น ถ้าเด็กหยิบของผู้อื่นมาโดยไม่บอกเจ้าของแล้วถูกลงโทษ เด็กจะรู้ทันทีว่าเป็นการกระทำผิด และจะไม่ทำอีกเพราะกลัวถูกลงโทษ  

ขั้นที่ 2 ขั้นของการแสวงหารางวัล ขั้นนี้จะเป็นเด็กอายุระหว่าง 7-10 ปี เป็นขั้นที่เด็กจะสนใจปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ หรือกระทำพฤติกรรมใดๆ ที่ทำแล้วได้รับรางวัลหรือคำชมเชยเป็นสิ่งตอบแทนเท่านั้น โดยที่เด็กยังไม่คำนึงถึงความยุติธรรม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  

ระดับที่ 2 ระดับจริยธรรมตามกฎเกณฑ์ทางสังคม (Convention) พัฒนาการทางจริยธรรมในระดับนี้ผู้กระทำจะแสดงพฤติกรรมที่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคมที่ตนเป็นสมาชิก โดยไม่คำนึงถึงรางวัลหรือการลงโทษ แต่ถือว่ามาตรฐานทางจริยธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมเดียวกันควรปฏิบัติให้เป็นแนวเดียวกัน  ระดับนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ขั้น

ขั้นที่ 3 ขั้นทำตามเพื่อนและสิ่งที่สังคมยอมรับ ขั้นนี้เป็นเด็กอายุประมาณ 10-13 ปี เป็นระยะที่เด็กเข้าสู่วัยรุ่น ดังนั้นเพื่อนและกลุ่มเพื่อนจึงมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตนเป็นอย่างมาก พฤติกรรมที่ดีตามทัศนะของผู้ใช้หลักการตัดสินขั้นนี้ก็คือ การทำให้ผู้อื่นพอใจและยอมรับ

ขั้นที่ 4 ขั้นกฎและระเบียบ  ขั้นนี้เป็นเด็กช่วงอายุ 13-16 ปี เด็กวัยนี้เริ่มเรียนรู้และมีประสบการณ์ว่าแต่ละสังคมมีกฎระเบียบ และข้อบังคับที่สมาชิกถือปฏิบัติ ดังนั้นคนดีหรือคนที่ทำถูกต้องคือคนที่ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายของสังคม และปฏิบัติตามหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัดมากกว่าคำนึงถึงรางวัลหรือการลงโทษ

ระดับที่ 3 ระดับจริยธรรมเหนือกฎเกณฑ์ทางสังคม (Post-convention) ในระดับนี้เกิดจากการใช้วิจารณญาณของตนในการตัดสินมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมก่อนจะนำมายึดหลักปฏิบัติ  วิจารณญาณที่ปราศจากอิทธิพลของบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมในสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ระดับนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้นเช่นกัน

ขั้นที่ 5 ขั้นทำตามคำมั่นสัญญา ขั้นนี้เริ่มตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ยึดประโยชน์และความถูกต้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก เป็นการกระทำที่เป็นไปตามข้อตกลงและยอมรับกันของผู้ที่มีจิตใจสูง โดยจะต้องนำเอากฎเกณฑ์ของสังคม กฎหมาย ศาสนา และความคิดเห็นของบุคคลรอบด้านมาร่วมในการพิจารณาความเหมาะสมด้วยใจเป็นกลาง เข้าใจในสิทธิของตนและเคารพในสิทธิของผู้อื่น สามารถควบคุมตนเองได้มีความภาคภูมิใจเมื่อทำดีและละอายใจตนเองเมื่อทำชั่ว ผู้มีการตัดสินใจโดยใช้หลักนี้

ขั้นที่ 6 ขั้นอุดมคติสากล ขั้นนี้อยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ขึ้นไป มีลักษณะแสดงถึงความเป็นสากลนอกเหนือจากกฎเกณฑ์ในสังคมของตน มีความยืดหยุ่นทางจริยธรรมเพื่อจุดมุ่งหมายบั้นปลายอันเป็นอุดมคติที่ยิ่งใหญ่มีหลักธรรมประจำใจของตนเอง มีความเกลียดกลัวความชั่ว เลื่อมใสศรัทธาในความดีงาม ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ยึดหลักมนุษยธรรมและความยุติธรรม

โคห์ลเบิร์กเชื่อว่าพัฒนาการทางจริยธรรมของบุคคลจะดำเนินไปตามลำดับขั้น ไม่มีการข้ามขั้น แต่บุคคลอาจจะติดชะงักในขั้นหนึ่งขั้นใดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสติปัญญาและสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้น และโดยทั่วไปบุคคลทั้งหลายจะพัฒนาทางจริยธรรมได้เพียงขั้นกฎและระเบียบเท่านั้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่เพียงพออีกต่อไป

สรุป : ความดีที่สัมพันธ์กับความรู้

จากข้างต้นสามารถสรุปประเด็นได้ว่า ความดีไม่ใช่การดูที่พฤติกรรมการแสดงออกเพียงเท่านั้น แต่ต้องดูที่ลักษณะอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งด้วย นั่นคือ ต้องเข้าไปดูที่จิตใจ ว่ามีระดับการคิดวิเคราะห์ตามหลักการทางจิตวิทยาอยู่ที่ระดับใด

การกำหนด/บังคับให้แสดงออกทำความดี หรือจิตอาสาที่ถูกล่อด้วยคะแนนเป็นสิ่งผิวเผิน จากการถูกกำหนด เพราะความดีต้องทำด้วยเจตจำนงค์อิสระ ประกอบด้วยความจริงใจ ความดีไม่ใช่การพยายามวิ่งหาสถานการณ์ แต่คือการถูกสถานการณ์และจิตสำนึกส่วนตนเรียกร้องให้กระทำความดี  และสิ่งที่จะช่วยยกจิตใจให้สูงขึ้นได้ ที่ดีกว่าการพร่ำเทศนาหลักศีลธรรม ก็คือ 1) การเข้าใจความทุกข์ยากในสังคมตามความเป็นจริงในระดับกว้าง และ 2) การอ่านวรรณกรรมที่กระทบอารมณ์ พร้อมกับวิเคราะห์ปมแห่งความขัดแย้งทางจริยธรรมของตัวละคร

ดังนั้น ในการวัดประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในสถานศึกษา ไม่อาจใช้เกณฑ์วัดเหมือนกันทุกแห่ง  ตัวชี้วัดด้านศีลธรรมจริยธรรมที่ใช้พฤติกรรมเป็นตัวตั้งไม่เพียงพอ จำเป็นต้องค้นหาแนวความคิด (concept) เบื้องหลังที่จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ ปัญหารายวันได้ เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง ที่มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวชี้วัดที่สามารถประเมินตามความเป็นจริง เป็นที่ยอมรับของสถานศึกษา[34]

               

ส่วนที่ 3 ข้อเสนอแนะ

จากการอธิบายและสรุปประเด็นของส่วนที่ 1 และ 2 หากจะสรุปรวบยอดส่วนที่ 3 นี้ คือ การคิดวิเคราะห์เป็น มีตรรกะเชื่อมโยงกับการแสดงออกทางจริยธรรมที่ออกมาจากใจอย่างแท้จริง และเป็นทักษะจำเป็นของพลเมืองในยุคนี้ ที่ต้องแก้ไขปัญหาความไม่ยุติธรรมทางสังคมที่มาจากการพัฒนาที่ไม่สมดุลและทั่วถึง รวมทั้งปกป้องตัวเองได้จากการถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกครอบงำ ส่วนการผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพก็เริ่มต้นที่ห้องเรียน ที่ผู้เรียนและครูอยู่ร่วมกันวันละ 8 ชั่วโมงทุกวันทำการ ห้องเรียนในสถานศึกษาจึงถือว่าเป็นการจำลองของระบบสังคม (ทั้งแง่การผลิตและการอยู่ร่วมกัน) ที่เป็นประชาธิปไตย

ยุทธศาสตร์ คือ จุดเปลี่ยนที่ห้องเรียน การสร้างบรรยากาศถกเถียงแลกเปลี่ยน ที่อาจมีอยู่แล้วแต่ควร เพิ่มการถกเถียงและข้อถกเถียงในกระบวนการเรียนการสอน ด้วยการ

ตั้งคำถาม (ปลายเปิด) – ถกเถียงหาคำตอบ (มีหลายข้อได้ ยอมรับกันได้) - หาข้อสรุปร่วมกัน

ในกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นอยู่ อาจมีกระบวนการข้างต้น แต่ผู้เขียนขอเน้นย้ำให้มีการพัฒนากระบวนการนี้  ที่ผู้บริหารต้อง “เปิดกว้าง” ให้มีบรรยากาศการถกเถียงกันในชั้นเรียน พร้อมกับเปิดกว้าง “ข้อถกเถียง” ที่จะเกิดขึ้น และระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาก็ต้องคำนึงถึงกระบวนการนี้ บรรยากาศในห้องเรียนที่ว่าคือบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ทุกคนมีเสรีภาพที่แผนการศึกษาควรระบุ ซึ่งบทความนี้ต้องการทำให้เป็นจุดหลักภายใต้แนวคิดประชาธิปไตยในห้องเรียน ที่สามารถนำไปศึกษาต่อหรือวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำไปประยุกต์กับผู้เรียนทุกระดับชั้นในอนาคต

ทั้งนี้ สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่คนเคารพความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ เพศ อายุ การศึกษา ศาสนา เชื้อชาติของปัจเจกบุคคล  และใช้เหตุผลตัดสินปัญหาร่วมกัน  ในการศึกษาตามหลักการแสวงหาความรู้ความจริงที่เป็นเหตุเป็นผล คือ ผู้เรียนต้องไม่ถูกป้อนข้อมูลเนื้อหาฝ่ายเดียว และให้เชื่อคำตอบเพียงข้อเดียวหรือเป็นสูตรสำเร็จ ที่ไม่อนุญาตให้ถกเถียงอย่างจริงจัง ดังเช่น ค่านิยม 12 ประการ นโยบายการศึกษาที่มาจากรัฐบาลทหารเพื่อจัดการกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีข้อจำกัดในการอธิบายถึงความพยายามดิ้นรนแสวงหาความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนากับการกระจายความมั่งคั่งที่เป็นธรรม หรือความเป็นคนดีที่ครูผูกขาดการตีความเพียงฝ่ายเดียว การฝึกฝนกระบวนการคิดถกเถียงอย่างที่ครูยอมให้นักเรียนเถียงตนได้ จะช่วยให้ผู้เรียนมีนิสัยไตร่ตรอง วิเคราะห์ วิจารณ์มากขึ้นอันเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษนี้

อ้างอิง

 

[1] ขยายความจากบทความเรื่อง “การศึกษาไทยกับการรับมือความเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ตีพิมพ์ในเว็บไซด์ประชาไท เมื่อ 15 ก.ย.58.

[2] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.). (กรกฎาคม 2558).  ทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ฉบับที่ 12;  หน้า 1.  สืบค้นจากเว็บไซด์ สศช. http://www.nesdb.go.th/Portals/0/news/plan/P12/Book_Plan12.pdf

[3] สภาปฏิรูปแห่งชาติ. (3 สิงหาคม 2558).  วาระปฏิรูปที่ 16 : การปฏิรูประบบการจัดการศึกษา, วาระปฏิรูปที่ 17 : การปฏิรูประบบการคลังด้านการศึกษา (ด้านอุปสงค์), วาระปฏิรูปที่ 18 การปฏิรูประบบการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร; หน้า 10.

[4] ชัชพันธุ์ ยิ้มอ่อน.  การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในยุคหลังสมัยใหม่.  ใน วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์. ปีที่ 3; ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2556.  สืบค้นจาก  http://acad.vru.ac.th/Journal/journal%203-2/3_2_12.pdf

[5] สภาปฏิรูปแห่งชาติ.  (3 สิงหาคม 2558).   วาระปฏิรูปที่ 16 : การปฏิรูประบบการจัดการศึกษา, วาระปฏิรูปที่ 17 : การปฏิรูประบบการคลังด้านการศึกษา (ด้านอุปสงค์), วาระปฏิรูปที่ 18 การปฏิรูประบบการเรียนรู้.  กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร; หน้า 19.

[6] วันเพ็ญ แก้วสกุล.  (20 กันยายน 2558).  สองมุมคิดวิกฤติการศึกษาไทย.  กรุงเทพธุรกิจ, หน้า 5.

[7] ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ (นักวิชาการโลกาภิวัฒน์ศึกษา).  (8 กันยายน 2556).  อันดับด้านการศึกษาไทยในเวทีโลกและอาเซียนปี 2556.  สืบค้นจากเว็บไซด์สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) http://www.qlf.or.th/Home/Contents/749

[8] -เรียนรู้จาก “สิงคโปร์-เยอรมนี”ระบบการศึกษาที่ตอบสนองอุปสงค์ภาคอุตสาหกรรม-บริการ.  (22 กันยายน 2558) สืบค้นจากเว็บไซด์สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์ www.siamedunews.com/articles/42255578/เรียนรู้จาก-สิงคโปร์-เยอรมนี.html

  -สิงคโปร์คว้าการเรียนม.ปลายดีสุดในโลก เวียดนามแซงโค้ง ไทยอันดับร่วง.  (19 พฤศจิกายน 2558).  สืบค้นจากเว็บไซด์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1447925897

[9] กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน FTA Watch.  (5 เมษายน 2558)  ชำแหละมายาคติ “สิงคโปร์โมเดล” ความสำเร็จราคาแพง.  สืบค้นจาก http://www.ftawatch.org/node/46028

[10] พิธุวรรณ กิติคุณ (วิทยากรชํานาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สานักวิชาการ รัฐสภา).  (ไม่ระบุปีที่พิมพ์).  ลีกวน ยู : ความสําเร็จของการสร้างชาติด้วยการเมือง.  สืบค้นจากเว็บไซด์รัฐสภา www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20150708093034.pdf

[11] สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา.  (22 เมษายน 2557).  สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของอาเซียน.  สืบค้นจาก www.itd.or.th/สถานการณ์ความเหลื่อมล้/

[12] โครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).  (2555).  มาเลเซียกับความสำเร็จในการบริหารจัดการพหุสังคมและวัฒนธรรม : บทเรียนต่อจังหวัดชายแดนใต้.   สืบค้นจาก prp.trf.or.th/trf-policy-brief/มาเลเซียกับความสำเร็จใ/

[14] OECD.  Retrieved from http://www.oecd.org/pisa/aboutpisa/

[15] สํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. (ก.ค.2557).  สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก ปี 2557 . กรุงเทพฯ: สกศ.  สืบค้นจาก https://www.m-society.go.th/article_attach/12409/16721.pdf

[17] Sonali  Kholi. (December 12, 2014).  Students in these countries spend the most time doing homework.  Retrieved from Quartz  http://qz.com/311360/students-in-these-countries-spend-the-most-time-doing-homework/

[18]Julia Kollewe.  (23 January 2009).  Recession Britain: It's official. The Guardian, Retrieved from http://www.theguardian.com/business/2009/jan/23/recession-uk-unemployment

[19] จัสติน ยีฟู หลิน.  นโยบายรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก. ในนิตยสาร Development Outreach ฉบับเดือนธันวาคม 2552.  สืบค้นจาก http://go.worldbank.org/926A0ZQHQ0

[20] Causes of Economic Recession.  Here's the 11 Biggest Causes of a Recession.  Retrieved from   http://useconomy.about.com/od/grossdomesticproduct/a/cause_recession.htm

[21] สภาปฏิรูปแห่งชาติ.  (3 สิงหาคม 2558).   วาระปฏิรูปที่ 16 : การปฏิรูประบบการจัดการศึกษา, วาระปฏิรูปที่ 17 : การปฏิรูประบบการคลังด้านการศึกษา (ด้านอุปสงค์), วาระปฏิรูปที่ 18 การปฏิรูประบบการเรียนรู้.  กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร; หน้า 19.

[22] สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.).  (20 มิ.ย. 55).  ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ อย่างไร?.  สืบค้นจาก http://www.qlf.or.th/Home/Contents/417

[23] ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์และปวีณา จันทร์สุข.  (21 ตุลาคม 2556).  รายงานโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของเด็กและเยาวชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน.  สืบค้นจาก https://qlf-production.s3.amazonaws.com/uploads/project/file_en/1394622022-โครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21ของเด็กและเยาวชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน.pdf. , หน้า 8.

[24] สำนักทดสอบการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.  (2554).  แนวทางการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.  สืบค้นจาก http://bet.obec.go.th/bet/wp-content/uploads/2014/01/a-9.pdf , หน้า 4.

[25] 2 มุมคิด ‘วิกฤติ’ การศึกษาไทย.  (20 กันยายน 2558).  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์.  สืบค้นจากเว็บไซด์ Enconcept www.enconcept.com/main_index/กรุงเทพธุรกิจ-มุมคิด-วิ/

[26] สำนักทดสอบการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.  (2554).  แนวทางการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.  สืบค้นจาก http://bet.obec.go.th/bet/wp-content/uploads/2014/01/a-9.pdf , หน้า 18-19.

[27] สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.).  (พฤศจิกายน 2555).  คู่มือการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับสถานศึกษา (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ย. 2554).  พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ: สมศ., หน้า 17.  สืบค้นจาก http://203.144.163.91/onesqa/th/download/index.php?DownloadGroupID=3

[28] Chularat Saengpassa.   May 19, 2014.  ONESQA director rejects criticism.   The Nation.  Retrieved from

http://www.nationmultimedia.com/national/ONESQA-director-rejects-criticism-30233944.html

[29] เพิ่งอ้าง หน้า 27, 28

[30] ดร. กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์.  (พฤษภาคม 2554).   การวิจัยเชิงคุณภาพในสวัสดิการสังคม: แนวคิดและวิธีวิจัย.  พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  หน้า26-27

[31] ศิริสุดา แสนอิว.  (2557).  การวิเคราะห์ทฤษฎีสัจนิยมใหม่ของเคนเน็ธ วอลซ์ ผ่านวิธีวิทยาการพิจารณาแบบย้อนกลับของแนวคิดสัจนิยมทางวิทยาศาสตร์.   ใน วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม 2557 สืบค้นจาก http://www.ubu.ac.th/web/files_up/08f2015021010183968.pdf  จากเว็บไซด์สำนักงานส่งเสริมบริหารงานวิจัย บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  http://www.ubu.ac.th/web/content.php?content=0800001605

[32] เพิ่งอ้าง

[33] เติมศักดิ์ คทวณิช.  (2546).  จิตวิทยาทั่วไป.  กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.  หน้า 72-74.

[34] เปิดปัญหาการศึกษาไทย 3 ข้อใหญ่ สมศ.พบสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ผ่านรับรองร้อยละ 37. (14 ตุลาคม 2558).  มติชนออนไลน์.  สืบค้นจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1444806336

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท