Skip to main content
sharethis
26 ม.ค. 2559 เว็บไซต์ TCIJ รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือ ‘ด่วนที่สุด’ เรื่อง ‘โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร’ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ระบุว่า  ด้วยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติกำหนดแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ในปริมาณรวม 800 เมกะวัตต์ ขนาดติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in-Tariff 5.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี ตาม ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2558 นั้น
 
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า ในการนี้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักนายกรัฐมนตรี โดยคณะอนุกรรมการวินิจฉัยกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประชุมครั้งที่ 8/2558 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 สรุปได้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถร่วมโครงการดังกล่าวได้  เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนที่จะให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกประกาศกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในด้านการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะการออกประกาศต้องเป็นภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นแต่อย่างใด แต่เป็นการหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากกำหนดให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ต้องจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้า กรณีดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 
ซึ่งก่อนหน้าที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการออกมานี้ พบว่า มีความพยายามผลักดันให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกประกาศว่าการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น  เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าร่วมโครงการโดยไม่ผ่านขั้นตอนตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพราะใน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ นี้ระบุว่าถ้าเป็นเรื่องที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติสามารถดำเนินการได้เลย  แต่กระทรวงมหาดไทยไม่เห็นด้วยเพราะมีความเสี่ยงด้านกฎหมาย จึงออกหนังสือชี้แจงดังกล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
 
มีการคาดหมายกันว่า หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้  จะทำให้โครงการนี้ถอยหลังลงไปอีก เพราะจะเหลือแค่สถานศึกษาและโรงพยาบาลไม่กี่รายเท่านั้น ที่จะมีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการ โดยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาเปิดเผยว่าเตรียมส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อชี้แจงถึงเหตุผลที่ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ทำให้โครงการพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์และไฟฟ้าจากขยะล่าช้า 2-3 ปี ขณะเดียวกันต้องการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร็ว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net