Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th/regional

เมื่อไม่นานมานี้ ภาพหญิงสาวอุ้มตุ๊กตาเด็กไปไหนมาไหนคงเป็นที่สะดุดตาใครหลายคน หญิงสาวหน้าตาสะสวยเหล่านี้พาตุ๊กตาเด็กผู้หญิงหน้าตาจิ้มลิ้มแต่งหน้าแต่งตัวสวยงามซ้อนมอเตอร์ไซค์ ขึ้นรถลงเรือ ทะนุถนอมราวกับเป็นลูกสาวตัวน้อยของพวกเธอ ดาราและบุคคลมีชื่อเสียงในแวดวงสื่อและสังคมไทยต่างมีตุ๊กตาเหล่านี้ไว้ในครอบครองให้ได้อุ้มออกงานหรืออวดประชันกัน ตุ๊กตาเหล่านี้เป็นที่รู้จักในนามว่า “ตุ๊กตาลูกเทพ” ร้านค้าและหน่วยงานหลายแห่งยังประกาศอำนวยความสะดวกในการบริการตุ๊กตาลูกเทพประหนึ่งเป็นมนุษย์จริง ๆ ข่าวที่ฮือฮาสร้างความสนใจในวงกว้างคือ การที่สายการบินไทยสไมล์ประกาศสำรองที่นั่งสำหรับตุ๊กตาลูกเทพบนเที่ยวบินและบริการด้วยอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมเน้นย้ำการรัดเข็มขัดตามมาตรการความปลอดภัย โดยบัญญัติว่า ตุ๊กตาลูกเทพ คือ “ตุ๊กตาที่มีชีวิต”

ตุ๊กตาลูกเทพเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ทางเลือกที่ต่างจากกุมารทอง รักยม และลูกกรอกตรงที่ไม่ได้ทำขึ้นจากสสารที่ชวนขนลุกหรือมีที่มาที่น่าสยดสยอง แต่เกิดจากการอัญเชิญดวงเทพเข้ามาสถิตในตุ๊กตา โดยมีพระที่วัดหรืออาจารย์ตามสำนักปลุกเสกตามวันเดือนปีเกิดของผู้ที่จะเป็นเจ้าของ และผูกดวงเข้าไว้เพื่อนำมาซึ่งโชคลาภและความเจริญก้าวหน้า ย้อนเวลาไปกว่ายี่สิบปีที่แล้ว หลายคนคงจำละครทีวีทางช่องเจ็ดเรื่อง ตุ๊กตา ได้ ละครเรื่องนี้ดัดแปลงจากนวนิยายของวาณิช จรุงกิจอนันต์เรื่อง ตุ๊กตา หนูอยากกลับบ้าน ซึ่งว่าด้วยปัญหาการใช้แรงงานเด็กและวิญญาณอาฆาตในตุ๊กตา อันเป็นหมุดหมายสำคัญในเรื่องของการนำวิญญาณมาใส่ตุ๊กตาในความทรงจำของสื่อสังคมไทย หรือภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายภาคเรื่อง แค้นฝังหุ่น ที่เราเห็นตุ๊กตาผี Chucky ถือมีดวิ่งไล่ฆ่าผู้คน ดังนั้นภาพจำที่ว่าด้วยตุ๊กตาเป็นรูปวัตถุที่มีสิ่งเหนือธรรมชาติมาสิงสู่จึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในจักรวาลวิทยาของความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด แต่สิ่งแปลกใหม่ที่น่าสนใจ คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุบูชาเหล่านี้มากกว่า พฤติกรรมการแสดงออกที่ผู้คนกระทำต่อสิ่งเหล่านี้ต่างหากเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพลวัตของความเชื่อและโลกทัศน์ของของผู้คนในยุคศตวรรษที่ 21

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยุคบริโภคนิยม

ตุ๊กตาลูกเทพเป็นสิ่งศักดิสิทธิ์สะท้อนยุคบริโภคนิยมที่เน้นการตอบสนองความต้องการของปัจเจกชนในระบบตลาด การเลือกหรือสั่งประดิษฐ์ตุ๊กตาลูกเทพที่หน้าตาละม้ายคล้ายคลึงและมีบุคลิกภาพเหมือนกับผู้เป็นเจ้าของรวมทั้งการผูกดวงเข้ากับผู้เป็นเจ้าของสะท้อนวิธีการตลาดแบบมุ่ง “customize” ตามอุปสงค์อันมีความจำเพาะเจาะจงของลูกค้าแต่ละคน การสร้างความรู้สึกมีสิทธิพิเศษ (Exclusive) เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้ครอบครองตุ๊กตาลูกเทพได้เสพกับการเป็นเจ้าของวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างและไม่เหมือนใครในขณะที่ก็เกาะตัวอยู่ในกระแสแฟชั่นเดียวกัน เรียกว่ามีความเหมือนในกระแสนิยมแต่มีความต่างในรูปลักษณ์จำเพาะ เป็นเครื่องประดับเรือนกายที่สะท้อนตัวตน บุคลิกภาพและความนึกคิดของเจ้าของผ่านตุ๊กตาน้อยหน้าตาสวยงามตามแบบอุดมคติ ซึ่งสะท้อนความปรารถนาการศัลยกรรมทางอ้อมและทางจิตวิญญาณผ่านใบหน้าและรูปกายของตุ๊กตาเหล่านั้นตามที่ผู้ครอบครองอยากจะเป็น

แต่เดิม การเข้าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์หมายถึงการที่คน ๆ หนึ่งเดินทางไปยังวัด ศาล หรือหิ้งบูชา เพื่ออ้อนวอนต่อผีสางเทวดาโดยขอร้องให้พระหรือร่างทรงติดต่อกับพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อเอื้ออำนวยโชคลาภ สะเดาะเคราะห์หรือนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง การเข้าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์รูปแบบนี้ต้องอาศัยทุนทางเวลาและค่าใช้จ่ายที่ดูจะไม่เอื้ออำนวยต่อชีวิตผู้คนชนชั้นกลางที่ต้องใช้เวลาในการทำงานแบบเร่งรีบและยาวนานการปลีกเวลาให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการทำบุญหรือฤดูกาลจาริกแสวงบุญเป็นสิ่งยากลำบาก การมีตุ๊กตาลูกเทพ หมายถึงการที่คน ๆ หนึ่งสามารถเข้าถึงแหล่งอำนาจเหนือธรรมชาติโดยตรง ตุ๊กตาลูกเทพจึงเหมือนกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไปไหนมาไหนกับเจ้าของและเอื้ออำนวยพรได้อย่างทันทีที่เจ้าของปรารถนา อนึ่ง วัด ศาลหรือหิ้งบูชาเป็นสมบัติของส่วนรวม เป็นพื้นที่ซึ่งคนในชุมชนแบ่งปันพื่อเข้าถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ การเกิดขึ้นของตุ๊กตาลูกเทพคือการดึงเอาอำนาจเหนือธรรมชาติที่มีอยู่มาอยู่ใกล้ตัวมากขึ้นซึ่งสะท้อนคตินิยมการบริโภคแบบปัจเจกชนในยุคปัจจุบัน

ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับแม่ค้ารายหนึ่งที่เป็นเจ้าของตุ๊กตาลูกเทพและได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ส่วนใหญ่ คนประกอบอาชีพค้าขายจะมีความเชื่อในตุ๊กตาลูกเทพ เธอเล่าว่าเพื่อน ๆ ของเธอและแม่ค้าที่ตลาดแห่งหนึ่งหลายรายต่างก็มีตุ๊กตาลูกเทพ ตุ๊กตาลูกเทพไม่ต้องการการกราบไหว้บูชาเหมือนกุมารทอง ดูแลเอาใจใส่ง่ายกว่า ยิ่งไปกว่านั้นยังทำหน้าที่แทนนางกวักได้ด้วย โดยเธอจะวางตุ๊กตาลูกเทพไว้ที่หน้าร้านค้าแล้วเอาขวดน้ำแฟนต้าแดงให้ “ลูก” ของเธอถือไว้ แม่ค้ารายนี้เล่าว่าตั้งแต่ “เช่า” ตุ๊กตาลูกเทพนี้มาจากสำนักแห่งหนึ่ง การทำมาค้าขายเจริญขึ้นผิดหูผิดตา จะเห็นว่ามีการใช้คำว่า “เช่า” ที่เราคุ้นเคยกับการซื้อพระเครื่องมาใช้กับวัตถุบูชาชนิดใหม่นี้ คืนหนึ่ง ตุ๊กตาลูกเทพมาเข้าฝันแล้วบอกว่าอยากกินน้ำเปล่า พอเธอทำตาม วันรุ่งขึ้นเธอขายของได้กำไรมากเป็นพิเศษ จากนั้นเป็นต้นมา เธอก็จะทำตามที่ “ลูก” ของเธอร้องขอในความฝัน ซื้อของใช้ ซื้อข้าวปลาอาหารเพื่อเอาอกเอาใจตุ๊กตาลูกเทพของเธอ วันหนึ่ง เธอเดินผ่านร้านขายเนื้อหมู แผงทั้งแผงก็หล่นลงพื้น เจ้าของร้านขายเนื้อหมูเลยทักว่า “ลูก” ของเธอคงอยากกินหมู พอเธอซื้อเนื้อหมูมาทำอาหารให้ตุ๊กตาลูกเทพ การค้าขายในวันนั้นก็ได้กำไรมากเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าตุ๊กตาลูกเทพเป็นนวัตกรรมที่รวมเอาความเชื่อในเครื่องรางของขลัง วัฒนธรรมบริโภคนิยมและตลาดเข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ เธอบอกไว้ด้วยว่า ลองเสี่ยงดูกับการเช่าลูกเทพในราคาสี่พันกว่าบาทแล้วจะทำให้การค้าขายเจริญก้าวหน้าตามที่เพื่อน ๆ ของเธอชักชวน ซึ่งก็ดูว่าเธอมีความพึงพอใจอย่างมากต่อผลลัพธ์ทางธุรกิจ

พื้นที่การแสดงออกของเพศหญิง

ตุ๊กตาลูกเทพเป็นรูปเคารพให้มอบความใกล้ชิดสนิทสนมกับอำนาจเหนือธรรมชาติให้กับเพศหญิง แต่เดิมตลาดพระพระเครื่องและกุมารทองอาจเป็นพื้นที่ของผู้ชายในการแสดงอัตลักษณ์ในการเสพและบริโภควัตถุมงคล ตลาดตุ๊กตาลูกเทพเป็นอาณาบริเวณที่ผู้หญิงได้แสดงตัวตนในโลกของความเชื่อโดยสร้างองศาของความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างเพศหญิงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์  จากเดิมความสัมพันธ์เพศหญิงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเป็นแนวดิ่งคือพระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคลจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าและมีระยะห่างของตำแหน่งแห่งที่ของร่างกาย ในขณะที่ตุ๊กตาลูกเทพจะถูกเรียกว่า “ลูก” และเจ้าของจะเรียกแทนตัวเองว่า “แม่” พร้อมทั้งมีความใกล้ชิดกันทางกายอย่างมากผ่านการอุ้ม การคลุกคลีอยู่ด้วยกันในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ เป็นความสัมพันธ์แบบแม่ลูกที่เน้นความใกล้ชิดสนิทสนม (intimacy) ตอนที่ผู้เขียนเผลอยกมือไหว้ตุ๊กตาลูกเทพของแม่ค้าที่ผู้เขียนเอ่ยถึง เธอตกใจและบอกว่า “ไม่ต้องไหว้ เค้า (ตุ๊กตาลูกเทพ) ก็เป็นเหมือนเด็กคนหนึ่ง” นั่นคือคุณสมบัติที่ทำให้ตุ๊กตาลูกเทพไม่น่ากลัวเหมือนกับกุมารทองหรือวิญญาณลูกกรอกที่นอกจากจะให้คุณให้โทษได้แล้ว ยังยากต่อการควบคุมด้วย เรียกว่า ตุ๊กตาเทพเป็นลูกที่น่ารัก อยู่ในโอวาทต้องการความเอาใจใส่ และตุ๊กตาลูกเทพก็จะให้ความอุ่นใจ การป้องกัน และอำนวยโชค อัตลักษณ์เพศหญิงในระบบเศรษฐกิจการค้าถูกยึดโยงอยู่กับพลวัตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่ได้มุ่งเอื้ออำนวยประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมอบความสนิทชิดเชื้อในฐานะแม่ลูกกับตุ๊กตาเทพเหล่านี้อันบอกเล่าอะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเพศหญิงในสังคมไทยร่วมสมัยได้ดี องศาของความสัมพันธ์แบบแนวดิ่งระหว่างเพศหญิงกับเครื่องรางของขลังแบบเดิม ๆ ขยับมาเป็นแนวราบที่ใกล้ชิดกับเหล่าตุ๊กตาลูกเทพซึ่งเป็นการเพิ่งพลังอำนาจ (Empower) ให้แก่เพศหญิงด้วย

ความรุ่งเรืองของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวิกฤตสังคมไทย

ตุ๊กตาลูกเทพคือบูรณาการความเชื่อทางไสยศาสตร์และการบริโภคนิยมที่บอกเล่าวิกฤตในสังคมไทยร่วมสมัย เจ้าของตุ๊กตาลูกเทพส่วนใหญ่ทำอาชีพค้าขายหรืออยู่ในวงการบันเทิงซึ่งความสำเร็จอาจต้องอาศัยดวงหรือโชคลาภ ความไม่แน่นอนคือสัจธรรมในการทำมาหากินของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่คือชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ ที่มีกำลังซื้อและความปรารถนาในการเสพความเชื่อเหนือธรรมชาติที่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้วิถีปฏิบัตินี้แพร่กระจายมากขึ้น ในขณะเดียวกันเจ้าของกิจการร้านค้าก็ยึดถือการการตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ทำให้ตุ๊กตาลูกเทพมีพื้นที่ของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ เหนือสิ่งอื่นใด ผู้เขียนมีความเห็นว่าความไม่แน่นอนของบ้านเมืองเราในเวลานี้เป็นพลังสำคัญที่ผลักในผู้คนหันหน้าเข้าหาพลังอำนาจเหนือธรรมชาติมากขึ้น ความเฟื่องฟูของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือดัชนีชี้วัดความผันผวนทางจิตวิญญาณในห้วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองของไทย



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net