Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การละเมิดสิทธิโดยสื่อมวลชนไทย มักมีประเด็นปัญหาเรื่องจริยธรรมในการนำเสนอค่อนข้างมาก เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการละเมิดสิทธิศักดิ์ศรีของผู้ที่ตกเป็นข่าว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ เช่น กรณีที่เป็นปัญหามากที่สุดจนเป็นที่โด่งดังไปทั่วประเทศและข้ามไปยังนานาประเทศ คือ กรณีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฏ์ธานี ในช่วงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา

ในขณะที่สื่อไทยส่วนใหญ่ลงชื่อนามสกุล รูป และข้อมูลจากพาสปอร์ตของผู้ตาย แต่สื่อตะวันตกไม่ลงข้อมูลเหล่านี้ จนกว่าจะมีการยืนยันว่า ทางการอังกฤษหรือสถานทูต ได้แจ้งให้ญาติของผู้เสียชีวิตทราบแล้ว ซึ่งเป็นมาตรฐานการนำเสนอข่าวของสื่อตะวันตกอยู่แล้ว

การที่สื่อไทยจำนวนหนึ่งลงรูปถ่ายพาสปอร์ตของผู้เสียชีวิต ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างมากในสายตาชาวตะวันตก และยังหมิ่นเหม่ต่อการเปิดเผยความลับราชการด้วย นอกจากนั้นยังมีการนำภาพผู้เสียชีวิตบนเกาะเต่า ไปโพสต์กันในสังคมออนไลน์ ทั้งที่เป็นภาพลักษณะสยดสยอง โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตที่อาจจะมาเห็น ซึ่งความแตกต่างทางวัฒนธรรมเหล่านี้ จึงกลายเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว" ที่ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนที่ทราบเรื่อง ยิ่งมองประเทศไทยในแง่ลบเข้าไปอีก หลังจากเกิดเหตุสะเทือนขวัญบนเกาะเต่าไปแล้ว

กรณีดังกล่าวทำให้ตัวแทนคณะทูตจากสหภาพยุโรป (เดินทางมาด้วย ตัวเอง 8 ประเทศ ลงนามในหนังสือ 21 ประเทศ) เข้าพบตัวแทน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อไทย เพื่อเรียกร้องให้สื่อมวลชน ในไทยทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ ในการเสนอข่าวและภาพจากคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และกรณีอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยคำนึงถึงผลกระทบ ต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้เสียหาย ความรู้สึกของครอบครัวผู้เสียหาย และเคารพกระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากที่ผ่านมามีการนำเสนอเนื้อหาและภาพ ที่ไม่เหมาะสมซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใด

ตัวอย่างล่าสุดที่ผมอยากเปรียบเทียบกรณีของเดวิด โบวี กับ ปอ ทฤษฎี โดยเมื่อเดวิด โบวี่ นักร้องชื่อดังชาวอังกฤษเสียชีวิต สื่อมวลชนรายงานภาพข่าวเชิงสัญลักษณ์ ภาพถ่ายผู้คนไปแสดงความเคารพหน้าภาพวาดนักร้อง ไม่มีภาพของผู้เสียชีวิต หรือแม้กระทั่งญาติพี่น้องที่กำลังเศร้าโศก เพราะเคารพในสิทธิของคนอื่น และเป็นการแสดงความเคารพผู้เสียชีวิตด้วย

ขณะที่กองทัพสื่อไทยรายงานข่าวการเสียชีวิตของ “ปอ ทฤษฎี”ด้วยเป้าหมายเดียวคือมุมภาพ มุมกล้องที่ดีที่สุด รายงานข่าวที่รวดเร็วที่สุด ไม่สนใจว่าจะละเมิดสิทธิของใครมั่ง การละเมิดสิทธิของเหยื่อ หรือผู้เสียชีวิต

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และครั้งสุดท้ายแน่นอน ทุกครั้งที่เกิดเหตุ ไม่ว่าตอนระเบิดที่ศาลเอราวัณ แยกราชประสงค์ หรือกรณีของ “ปอ ทฤษฎี”นี้ สื่อไทยหลายแห่งก็ล้วนแต่ละเมิดสิทธิของผู้เสียชีวิตอย่างเมามัน


1)ปัญหาของการเสนอข่าวของสื่อมวลชน

โดยทั่วไปหลักการสำคัญที่สื่อมวลชนมักผิดพลาดในการรายงานข่าว มี 6 ประการ คือ

(1) การละเมิด “สิทธิ" ของเหยื่อ ผู้ถูกกระทำ ผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยในกระบวนการยุติธรรม

โดยทั่วไปแล้ว ในข่าวอาชญากรรม ปัญหาการละเมิดสิทธิมักเริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้สื่อข่าว หรือตำรวจ เจ้าหน้าที่พนักงานนำเสนอข่าวนั้นสู่สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใด

แม้ผู้ต้องหาจะ "สารภาพ" และถูกตำรวจ เจ้าหน้าที่จับกุมตัวเพื่อนำไปทำแผนประกอบรับคำสารภาพ แต่ก็ยังเป็นเพียง "ผู้ต้องหา/ต้องสงสัย" อยู่ ซึ่งจะรายงานเสมือนว่า "เขาเป็นผู้กระทำความผิด" ไม่ได้ เช่น การใช้คำว่า "คนร้าย", "ผู้ก่อความผิด" ซึ่งในทางหนึ่งเป็นการละเมิดสิทธิศักดิ์ศรีของผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าว โดยทั่วไปจะใช้เพียงแค่ว่า “ผู้ต้องหา” , “ผู้ต้องสงสัย”, หรือ “จำเลย” ในกรณีที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการทางศาล

(2) การให้รายละเอียดของเนื้อหาข่าว ที่เกี่ยวข้องกับคดี กระบวนการยุติธรรมที่เข้าใจผิด หรือบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม

เราจะพบว่าบ่อยครั้งด้วยความไม่รู้หรือเข้าใจผิดของกองบรรณาธิการ หรือผู้สื่อข่าว มักรายงานข้อเท็จจริงในคดีอาชญากรรมผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือเบี่ยงเบนเนื้อหาออกไปจากความถูกต้อง

การรายงานข่าวอาชญากรรมควรเพ่งเน้นไปที่ข้อเท็จจริงที่มีรายละเอียด ไม่เสริมเติมแต่งเชิงเร้าอารมณ์ ไม่เปิดเผยข้อมูลอันนำไปสู่การเสียรูปคดี หรือ การเผปิดเผยรายละเอียดที่อาจนำไปสู่การสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกของญาติ เหยื่อ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีอาชญากรรมนั้น และระมัดระวังภาพการนำเสนอที่อาจมีเด็กและเยาวชน สามารถดูและนำไปเลียนแบบพฤติกรรมอาชญากรรมนั้นได้

(3) ภาษาภาพ มุมกล้อง ภาษาข่าว

อาจพูดได้ว่าการละเมิดสิทธิของผู้ตกเป็นข่าวอาชญากรรมมากที่สุด คือ การเปิดเผยข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลผ่านการเปิดเผยใบหน้า ไม่ว่ากล้องจากสื่อมวลชนจะถ่ายภาพนั้นได้เอง หรือมีชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดให้มีการแถลงข่าว

อันที่จริงแล้วสื่อมวลชนต้องพยายามหลีกเลี่ยงภาพโคลสอัพ (close up) ใบหน้า ของผู้ต้องหา อาจถ่ายเพียงแค่ครึ่งหน้า (ล่าง) ในเวลาที่เขา/เธอ พูดให้การ หลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพที่มีความรุนแรง หรือ โหดร้าย กระทบกระเทือนจิตใจผู้ดู ผู้ชม ซึ่งหลายๆ ครั้งนำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิการเปิดเผยอัตลักษณ์ส่วนบุคคลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าวทุกกรณี

(4) วัตถุประสงค์ของข่าว

เพื่อสืบค้น เปิดเผยเฉพาะข้อเท็จจริงของคดี ควรละเว้นการเปิดเผยข้อมูลเชิงเร้าอารมณ์ที่ไม่จำเป็น ลดการสร้างสื่อข้อมูลที่อาจสร้างความเกลียดแค้นทางสังคม การปลุกปั่นอารมณ์คนดู ให้มีความเกลียดชัง
การรายงานข่าวพึงมุ่งเน้นเฉพาะ ข้อเท็จจริง และ ตั้งคำถามต่อพิรุธ เงื่อนงำ รายละเอียดของคดี ละเว้นการเปิดเผยข้อมูลที่ยังมิได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนรายงาน

(5) การ “ไม่ถูกตีตราประทับเชิงลบต่อสังคม”

บ่อยครั้งที่การนำเสนอข่าวนำไปสู่การสร้างภาพเชิงลบ การตีตราประทับ หรือเหมารวมผู้ที่ตกเป็นข่าว หลายๆ กรณีทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ที่ตกเป็นข่าวในข่าวอาชญากรรม ซึ่งนำไปสู่การสร้างอคติและภาพตัวแทนเชิงลบที่ยากเกินกว่าจะแก้ไขได้

การนำเสนอข่าว หรือรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ สีผิว ควรต้องนำเสนออย่างถูกต้อง ข้อเท็จจริงครบถ้วน ไม่บิดเบือน หรือนำเสนอในลักษณะสร้างความขัดแย้ง โดยต้องไม่นำเสนอในลักษณะการดูหมิ่น หรือสร้างตราประทับเชิงลบ อคติ เหมารวมทางชาติพันธุ์ หรือทำให้กลายเป็นเรื่องตลก

(6) “สิทธิที่จะถูกลืม”

"สิทธิในการถูกลืม" (right to be forgotten) เป็นสิทธิใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ๆ ข้อมูลข่าวสารถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อหลากหลายช่องทาง บ่อยครั้งมันปรากฏซ้ำตามช่องทางสื่อ และปรากฏซ้ำข้ามวันเวลานับยาวนานแรมปี ในกรณีที่ภาพข่าวอาชญากรรมนั้น พิสูจน์แน่ชัดว่าถึงจุดสิ้นสุดในกระบวนการยุติธรรมและปรากฏเป็นหลักฐานคำพิพากษาต่อจำเลย ต่อผู้ต้องหา ว่าไม่มีความผิด ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่อาจจะต้องตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารคำพิพากษานั้นเท่าที่เพียงพอต่อการประกาศความบริสุทธิ์ และหรือหน้าที่ของสื่อในการติดตามลบข้อมูลข่าวสารที่อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อไปให้กับผู้บริสุทธิ์ สื่อจำเป็นต้องลบข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อให้ผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย หรือจำเลยคดีความอาชญากรรมนั้นๆ (ในกรณีที่ไม่ผิด หรือข่าวสารผิด) ถูกลืมข่าวเชิงลบไปจากสังคมเพื่อให้โอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่

เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of Justice of the European Union) ได้มีคำพิพากษาที่สำคัญและเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิที่จะถูกลืมไว้อย่างน่าสนใจมาก ซึ่งคดีที่ว่าก็คือคดีที่นาย Mario Costeja Gonzalez ทนายความชาวสเปนผู้ซึ่งมีปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เมื่อปี 2541 เขาถูกบังคับให้ชำระหนี้ด้วยการนำเอาอสังหาริมทรัพย์ออกมาขาย โดยหนังสือพิมพ์ La Vanguardia ในแคว้นคาตาลันของสเปนฉบับที่ตีพิมพ์ในเดือนมกราคมและมีนาคมปี2541ได้ลงรายละเอียดแทบทุกอย่างของเขารวมทั้งหนี้สินและเอกสารกฎหมายทั้งในฉบับที่เป็นสิ่งพิมพ์และแบบออนไลน์

เมื่อหนี้สินของเขาหมดไป เขาต้องการเดินหน้าและลืมเรื่องเก่าของเขาที่อาจส่งผลกระทบต่อเขา แต่ปัญหาก็คืออินเตอร์เน็ตไม่ยอมลืมด้วย ทุกครั้งที่เขาพิมพ์ชื่อตัวเองลงในกูเกิล ข่าวข้อมูลเกี่ยวกับการขายทอดตลาดสมบัติของเขายังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เขาต้องการกู้ชื่อเสียงของเขาด้วยการขอให้หนังสือพิมพ์ลบเนื้อหาและขอให้กูเกิลลบลิงก์เหล่านั้นออก แต่กูเกิลไม่ยอมเขาจึงต้องไปร้องเรียนต่อสำนักงานคุ้มครองข้อมูลของสเปน (AEPD-Agencia Espanola de Protection de Datos) ซึ่ง AEPD เห็นว่าหนังสือพิมพ์มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะเก็บข้อมูลฉบับตีพิมพ์ไว้(lawfully published)แต่มีคำสั่งให้กูเกิลลบลิงก์เหล่านั้นออกแต่กูเกิลได้อุทธรณ์ต่อศาลสเปนซึ่งศาลสเปนได้ส่งต่อไปยังศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปหรือ ECJ และ ECJ ได้มีคำพิพากษาโดยยึดบรรทัดฐานการปกป้องข้อมูลของสหภาพยุโรปในปัจจุบันที่ว่าผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูลอินเตอร์เน็ตมีความรับผิดชอบในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว

โดยศาลอาจอนุญาตให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับการคุ้มครองได้หากเว็บสำหรับค้นหาข้อมูล สามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เปิดเผยออกมานั้นมีประโยชน์ต่อสาธารณะ ในเรื่องนี้คล้ายกับกฎหมายของบ้านเราในเรื่องหมิ่นประมาท โดยหากผู้ถูกกล่าวว่าหมิ่นประมาท พิสูจน์ว่าเรื่องนั้นเป็นความจริง ถ้าข้อหาที่ว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้นไม่ใช่การใส่ความในเรื่องส่วนตัว และเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

ในประเทศไทย เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลนั้นถูกบรรจุไว้ในพระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ได้บัญญัติในเรื่องของ "ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล" เอาไว้ว่า หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน จะต้องจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น โดยข้อมูลส่วนบุคคลเช่น ชื่อ-นามสกุล อายุ เพศ ที่อยู่ หรือ อีเมลแอดเดรส และรายละเอียดการติดต่ออื่นๆ อาทิ สถานที่ทำงาน รายงานทางการแพทย์ ประวัติอาชญากรรมหรือการประวัติการถูกดำเนินคดี ประวัติทางการเงิน เป็นต้น โดยหน่วยงานรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้

เพราะข่าวอาชญากรรมนั้นเกี่ยวพันอย่างมากกับชีวิต และสภาพข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ข่าวอาชญากรรมที่ด้อยคุณภาพอาจสร้างผลร้ายและผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างคาดไม่ถึง มันอาจทำลายชีวิตคนหนึ่งคน หรือทำลายกระบวนการยุติธรรม หรืออาจส่งผลต่อการกำหนดความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องอาชญากรรมอย่างเข้าใจผิด หนังสือคู่มือเล่มนี้ จึงมุ่งหวังที่จะรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรายงานข่าวอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นกรอบบรรทัดฐานกลางสำหรับสื่อมวลชนไทยในการมีหลักหรือเข้มทิศอ้างอิงในการรายงานข่าวที่ดี

การละเมิดสิทธิที่ดูจะเป็นปัญหามากที่สุด คือ กรณีละเมิดสิทธิเด็กหมายถึง ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และใน พรบ. คุ้มครองเด็ก จะมีเด็ก 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องการสงเคราะห์ เช่น เด็กเร่ร่อน และเด็กที่ต้องคุ้มครองด้านสวัสดิภาพ เช่น เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ ถูกกระทำ หรือประพฤติตัวไม่สมควรแก่วัย

ในกรณีที่พนักงานสอบสวนนำเด็กมาปรากฏตัวให้มีการถ่ายภาพ หรือบันทึกภาพเพื่อการสืบสวน เช่น เพื่อทำประวัติหรือเพื่อให้เด็กไปนำชี้ โดยแสดงท่าทางประกอบ เพื่อพิสูจน์ว่าเด็กทำจริงหรือไม่ หรือมารับผิดเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เหล่านี้เป็นไปเพื่อการพิสูจน์ ทำได้ แต่ในทางปฏิบัติแม้จะปรากฏว่าตำรวจนำตัวเด็กออกมา แล้วสื่อไปถ่ายภาพ ไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกต้อง เพราะไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่การสอบสวน ส่วนการนำไปเผยแพร่ นำเสนอต่อนั้น พรบ.คุ้มครองเด็ก จะระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใด โฆษณา หรือเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ทั้งครอบครัวและตัวเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีเจตนาให้เกิดความเสียหาย ชื่อเสียง เกียรติคุณของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ ดังนั้น สื่อมวลชนต้องตระหนักว่า การที่เรานำเสนอข่าว เป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่

หลายครั้งในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนก้าวพลาดก้าวผิดจังหวะกระทำความผิด หรือตกเป็นเหยื่อ เมื่อมีการแถลงข่าวนำเด็กหรือเยาวชนนั้นไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพต่างๆ ต้องคลุมหน้าเพื่อปกปิดไม่ให้บุคคลจำได้ว่า เด็กหรือเยาวชนนั้นๆ เป็นผู้ใดนั้น

การดำเนินการเช่นนั้น เป็นการมุ่งเน้นความสำคัญการคุ้มครองสิทธิส่วนตัวของเด็กและเยาวชน ผู้ซึ่งอาจถูกตราบาปได้ง่ายเนื่องจากการศึกษาทางอาชญาวิทยาเรื่องกระบวนการตราบาปได้แสดงให้เห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือเยาวชนอย่างชัดเจนว่า เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำผิดหรือเป็นอาชญากร จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเด็กหรือเยาวชนนั้นในระยะยาว


2. สาเหตุการนำเสนอข่าวอาชญากรรมที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน

(1) เกิดจากธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยที่ไม่มีใครโต้แย้งหรือทักท้วง

หากสังเกตการนำเสนอภาพข่าวอาชญากรรม โดยเฉพาะการตั้งโต๊ะแถลงข่าวภายหลังการจับกุม จะเห็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับบังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ผู้ต้องหาที่เปิดเผยหน้า ระบุชื่อนามสกุล ที่อยู่และภูมิลำเนาชัดเจน พร้อมพยานหลักฐานและของกลางวางไว้ตรงหน้า หากเป็นคดียาเสพติดจะมีการระบุจำนวนของการที่จับกุมได้อย่างชัดเจน และไม่ว่าจะเป็นสื่อจากสำนักไหนจะใช้ภาพข่าวเหล่านี้เป็นการเล่าเรื่องเสมอ วิถีการนำเสนอข่าวแบบนี้ทำสืบต่อกันมา โดยไม่มีใครทักท้วง เมื่อมีการทวงถามถึงเรื่องการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องหา ก็ได้รับคำตอบว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะบ้าง ผู้ต้องหาให้การยินยอมแล้วบ้าง เป็นอย่างนี้มาอย่างยาวนาน

(2) ถือเป็นการสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย คือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ผลงาน ผู้สื่อข่าวได้ข่าวเผยแพร่

จากการติดตามการนำเสนอข่าวอาชญากรรม พบว่าในส่วนแรกของเนื้อหาข่าวจะมีการระบุชื่อ-นามสกุล ยศ ตำแหน่ง ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุมผู้ต้องหาในคดีนั้นๆ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสื่อหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ อาจกล่าวได้ว่าเพื่อเป็นการขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นแหล่งข่าวให้กับสื่อมวลชน เพื่อจะได้มีการแจ้งข่าวต่อไปในอนาคต และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำข่าวเหล่านั้นไปใช้เป็นตัวชี้วัดในการนำเสนอผลงานต่อไปและเมื่อสังเกตภาพการแถลงข่าว จะพบว่าประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง ตำรวจชุดจับกุม ผู้ต้องหา และของกลาง

เจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมมีความสัมพันธ์แบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เพราะนักข่าวก็อยากจะได้ข่าว ตำรวจก็อยากจะได้ตัวการ บางครั้งยิ่งข่าวเป็นที่สนใจตำรวจก็จะได้ประโยชน์จากการนำเสนอข่าวนั้น เพราะว่าเกี่ยวข้องกับประโยชน์ในหน้าที่ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ผลงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปในตัว


3)แล้วควรทำอย่างไร

(1) การนำเสนอข่าวและภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนทั้งที่เป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญานั้นควรยึดถือกรอบจริยธรรมวิชาชีพ และกฎหมายเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด

(2) ในการเสนอข่าวหรือภาพใดๆ สื่อมวลชนต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว และพึงละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื้อหาข่าวและภาษาที่ใช้มีส่วนสำคัญในการกำหนดอารมณ์ของผู้รับสาร ในหลายกรณีเมื่อเกิดคดีฆาตกรรมสำคัญๆ สังคมมักจะเกิดความรู้สึกที่รุนแรงและเสนอให้ลงโทษขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิด เพราะสังคมได้พิพากษาไปแล้วว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้กระทำความผิดจริง ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และยังไม่มีการตัดสินจากศาลแต่ประการใด

(3) การนำเสนอข่าวการแถลงข่าวการจับกุม ขอให้นำเสนอภาพข่าวเฉพาะของกลางที่จับกุมได้ โดยไม่มีผู้ต้องหานั่งแถลงข่าวด้วย และไม่นำเสนอภาพข่าวขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมผู้ต้องหา

(4) การนำเสนอข่าวการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ควรมีการใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย เช่น การใช้ภาพแอนิเมชั่นเพื่อจำลองสถานที่ที่เกิดเหตุ จำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่ต้องมีการนำเสนอภาพผู้ต้องหาตอนไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

(5)การนำเสนอภาพข่าวบุคคลตามหมายจับ หรือภาพผู้ต้องหาจากสำเนาบัตรประชาชนนั้นสื่อไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำเสนอ การใช้ภาพแวดล้อมที่ไม่กระทบสิทธิเหยื่อและผู้ต้องหาน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นการนำเสนอที่ถูกต้อง โดยสรุปแล้วไม่ควรมีภาพข่าวปรากฏรูปภาพของผู้ต้องหาและจำเลยทั้งสิ้น

(6) การระบุชื่อ นามสกุลและสถานที่อยู่อย่างชัดเจนของตัวผู้ต้องหา ลักษณะจะคล้ายกับการเสนอภาพข่าวตัวผู้ต้องหาเช่นกัน คือควรใช้หลักปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ต้องหาเด็กและเหยื่อที่เป็นเด็ก หรือขอให้ระบุชื่อแต่สงวนนามสกุล

(7) พึงระมัดระวังการนำเสนอข่าวแบบเหมารวม หรือตีตราคนบางกลุ่มในสังคม อาทิ แรงงานพม่าโหดฆ่านายจ้าง ม้งค้ายา โจรใต้ป่วน เป็นต้น เพราะเป็นการตีตรากลุ่มบุคคลนั้นว่าเป็นคนไม่ดีทั้งกลุ่มโดยไม่แยกแยะ

(8) การนำเสนอเนื้อหาในเชิงสืบสวนสอบสวนที่เป็นข้อมูลลักษณะด้านเดียวนั้นไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งเพราะจะทำให้ผู้รับสื่อเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าข้อมูลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นการเสนอข่าวจึงควรเสนออย่างรอบด้าน เช่นเดียวกับสำนวนการสอบสวนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่พยายามหาหลักฐานที่ผู้ต้องหากระทำความผิดด้านเดียวมาเป็นให้ความเป็นธรรมกับจำเลยในการเสนอพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ตั้งแต่เริ่มต้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ทำงานรณรงค์ เพื่อการเคารพ ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้ใช้วิธีการและรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายในการสื่อสารประเด็นการละเมิดสิทธิสู่สาธารณะเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลัก ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนที่ต้องหยิบยกประเด็นนี้มาพุดคุย เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการทำงานอย่างสร้างสรรค์ นำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงสู่สังคม โดยไม่ละเลยการปฏิบัติงานโดยยึดหลักกฎหมายและคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนควบคู่กันไป



หมายเหตุผู้เขียน: บทควาข้างต้นเป็นเนื้อหาที่ใช้บรรยายในการเสวนาเรื่องสื่อมวลชนกับการละเมิดสิทธิผู้ตกเป็นข่าว เมื่อ 26 ม.ค.59 ที่ จ.เชียงใหม่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net