Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กระบวนการสรรหาผู้เหมาะสมเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 ดำเนินมาจนมีการประกาศรายชื่อ ‘ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์’ อดีตผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ได้รับเลือกจากคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ด้วยมติ 2 ใน 3 จากทั้งหมด 9 คน

ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ทพ.กฤษดาจะเข้ามารับหน้าที่ผู้อำนวยการสถานีสื่อสาธารณะซึ่งใช้เงินภาษีเหล้าและบุหรี่ในการบริหารงานปีละราว 2,000 ล้าน อย่างเต็มตัว โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

ขณะที่คำถามของพนักงานจำนวนหนึ่งและสาธารณชนถึงคุณสมบัติที่อาจไม่ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส) มาตรา 32 (3) ที่ระบุว่า ผอ.ส.ส.ท.ต้องมีคุณสมบัติ "มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือการสื่อสารมวลชน" ยังคงรอคอยการชี้แจงจากผู้ทำหน้าที่คัดเลือก

00000

วันนี้ (28 ม.ค. 2559) รายการเปิดบ้าน Thai PBS เผยแพร่สัมภาษณ์ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ถึงการพิจารณาคุณสมบัติ ‘ผอ.คนใหม่ของ ส.ส.ท.’

รศ.ดร.ณรงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า “คนที่จะเป็น ผอ.ที่นี่ ประการที่ 1 ต้องเป็นนักบริหารก่อน โดยเฉพาะบริหารคนบริหารเงิน และบริหารงาน แต่การเป็นนักบริหารเพื่อให้องค์กรอยู่รอดไม่พอ เพราะเราเป็นสื่อ คนมาเป็น ผอ.นั้นจะต้องมีความเข้าใจความเป็นสื่อสาธารณะ แม้นตัวเองไม่ได้เป็นผู้มีวิชาชีพด้านนี้ ไม่ใช่เป็นผู้ชำนาญการด้านนี้ แต่จะต้องเป็นผู้มีความเข้าใจเป็นอย่างดี ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็ไม่สามารถเข้าใจคนที่ทำงานด้านนี้ได้

“ในประการที่ 3 เราเป็นหน่วยงานของรัฐ อยู่ได้ด้วยการที่รัฐใช้อำนาจไปหาเงินให้เรา เพราะฉะนั้น ผอ.ที่นั่งต้องมีความเข้าใจระเบียบ กฏเกณฑ์ของราชการอย่างดี

“ประการที่ 4 ความเป็นสาธารณะ เราต้องการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะฉะนั้นคนที่นั่งตรงนี้จะต้องเป็นคนที่มีความเข้าใจประชาชน มีโยนิโสมนสิการ คือน้อมรับฟังจากประชาชน เราไม่ใช่บริษัทหากำไร เราเป็นผู้รับใช้ของประชาชน เพราะฉะนั้น ลักษณะ 4 ประการที่ผมว่ามานี้ หาได้ไม่ง่ายหรอกครับ”

บทสัมภาษณ์ดังกล่าว บันทึกเทปตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2559 ก่อนการประกาศรายชื่อ 5 ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกเพียงหนึ่งวัน

นอกจากนี้ มีการตัดต่อบางส่วนจากสัมภาษณ์ในวันเดียวกันเพื่อเผยแพร่ไปก่อน ในวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาระบุว่า

“การสรรหาและคัดเลือกผู้อำนวยการคนใหม่นี้ ทางกรรมการนโยบายมีฉันทามติร่วมกันว่า เราจะเข้าไปเกี่ยวข้อง แทรกแซงให้น้อยที่สุดเพื่อให้เกิดความเป็นกลางสูงยิ่ง ดังนั้น จากผู้สมัคร 13 ท่าน เราก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกรรมการสรรหาคัดเลือกบุคคลที่กรรมการสรรหาเห็นว่าเหมาะสมให้เรา ซึ่งเขาก็จะส่งรายชื่อผู้ที่ถูกคัดเลือกเบื้องต้นมาให้กรรมการนโยบาย วันที่ 7 ม.ค.นี้ เมื่อเราได้รับรายชื่อเหล่านี้แล้ว เราก็มานั่งพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง พูดคุยอีกครั้งหนึ่งกับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมานั้น

“แล้วเราก็มาตกลงกันว่าจะรับใครเป็น ผอ. ก็คงใช้เวลาอีกสัก 1-2 สัปดาห์ หรือโดยสรุปก็คือว่าภายในสิ้นมกราคมนี้เราก็จะได้ ผอ.ครับ”

00000

ด้วยห้วงเวลาดังกล่าว ทำให้ไม่อาจหักห้ามข้อสงสัยถึงความมุ่งหมายบางประการต่อการมี ผอ.ส.ส.ท.คนใหม่ ที่อาจสื่อได้ถึงการล็อคสเปค

ลำดับเหตุการณ์การสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส
ที่มา: http://news.thaipbs.or.th/content/7565

9 ต.ค.2558 คณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกสัญญาจ้างนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.ไทยพีบีเอส โดยชี้แจงว่านายสมชัยได้กระทำผิดสัญญาจ้าง เรื่องการปฏิบัติงานตามแผนงานที่ได้รับความเห็นชอบให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด และการจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายทุก 3 เดือน

16 ต.ค.2558 ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเปิดทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ สสส.

22 ต.ค.2558 ประธานคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ออกประกาศเรื่องการรับสมัครบุคคลเพื่อรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.-24 พ.ย.2558

24 พ.ย.2558 ส.ส.ท.ประกาศรายชื่อบุคคลผู้สมัครรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการรับสมัครเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2558 มีผู้สมัครทั้งหมด 13 คน

7 ม.ค.2559 คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ซึ่งมีนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการสัมภาษณ์และรับฟังวิสัยทัศน์ผู้สมัครทั้ง 13 คน เพื่อประกอบการพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครและกลั่นกรองคัดเลือกให้เหลือผู้เหมาะสม จำนวน 5 คน ได้แก่
1) ผศ.นลินี สีตะสุวรรณ
2) นายสุระ เกนทะนะศิล
3) นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
4) นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค
5) นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์
หลังจากนั้น คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ส่งรายชื่อทั้ง 5 คนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายให้คณะกรรมการนโยบายเพื่อมีมติคัดเลือกผู้อำนวยการ ส.ส.ท.คนใหม่

14 ม.ค.2559 คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.เชิญผู้ผ่านการคัดเลือก 5 คนมาแสดงวิสัยทัศน์ และมีมติเลือกนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

20 ม.ค.2559 ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ลงนามในประกาศแต่งตั้งนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการ ส.ส.ท. (http://intranet.thaipbs.or.th/main/contents/files/news-20160120-164037-247376.pdf)

26 ม.ค.2559 พนักงานไทยพีบีเอสกลุ่มหนึ่งยื่นจดหมายถึงผู้บริหารเรียกร้องให้ชี้แจงกระบวนการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอสว่าเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ โดยตั้งคำถามว่านายกฤษดามีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่ พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส กำหนดหรือไม่

000

สำหรับคำถามต่อคุณสมบัติของ ว่าที่ ผอ.ส.ส.ท.คนใหม่ ว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส มาตรา 32 (3) หรือไม่ สื่อมวลชนอย่างอมรินทร์ทีวี (https://www.youtube.com/watch?v=wKg06aLCNp0) ได้ทำหน้าที่ไขข้อข้องใจ ด้วยการสัมภาษณ์ อดีตกรรมการนโยบาย 2 คน ซึ่งมองการตีความคุณสมบัติ ผอ.ส.ส.ท.แตกต่างกัน โดย ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่า หากตีความอย่างกว้างแล้วไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ

ขณะที่ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ บอกว่า การตีความคุณสมบัติ ผอ.ส.ส.ท.ควรตีความอย่างแคบ พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้บริหารชี้แจงข้อมูลในเรื่องนี้

นอกจากนี้ อมรินทร์ทีวีได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.แต่ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าไม่ให้ข้อมูลแก่บุคคลภายนอกองค์กร

การตีความกฎหมายดังกล่าวอาจเป็นไปเพื่อปลดล็อคเงื่อนไขสำคัญ นั่นคือคุณสมบัติ "มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือการสื่อสารมวลชน" ซึ่งดูจะเป็นปราการของผู้สมัครเพียงไม่กี่คนจาก 13 คน และนั่นก็คือ ทพ.กฤษดา

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ทพ.กฤษดา เองก็รับรู้ถึงเงื่อนไขดังกล่าวและเคยให้สัมภาษณ์กับ ThaiPBSNews (http://news.thaipbs.or.th/content/7301) ภายหลังเข้าสัมภาษณ์เพื่อสมัครเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ไม่กังวลเรื่องคุณสมบัติส่วนตัว ที่อาจทำให้ไม่ได้เข้ารับตำแหน่ง ผอ.ส.ส.ท. เพราะแม้ไม่เคยทำงานอยู่ในสถานีโทรทัศน์โดยตรง แต่มีประสบการณ์ในเรื่องการออกแบบการสื่อสารมานานกว่า 14 ปี เห็นได้จากผลงานแคมเปญใหญ่ๆ ที่ผ่านมา เมื่อครั้งทำงานอยู่ใน สสส. เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา สวดมนต์ข้ามปี ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ฯลฯ ซึ่งทุกประเด็นใช้การสื่อสารทั้งนั้น อีกทั้งช่วงที่ผ่านมา ได้สนับสนุนการผลิตรายการต่างๆ กว่า 150 รายการ ฉะนั้น จึงเข้าใจวิธีการเลือกคอนเทนต์และมุมมองการเสนอข่าว

000

ทำไมจาก 13 เหลือ 5 แล้วมาเหลือเพียง 1 ซึ่งเป็นคนที่มีคำถามและถูกจับจ้องมากที่สุด

คำถามของพนักงานที่ดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ซึ่งผู้บริหารควรตอบคำถามตามหลักการของการสรรหาด้วยเหตุและผล แต่กลับถูกตอบสนองด้วยความเงียบงันและท่าทีดูแคลนจำนวนเสียงอันน้อยนิดของพนักงานเพียง 32 คน ก่อคำถามของสังคมในภาพใหญ่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในองค์กรสื่อสาธารณะแห่งนี้

ภายใต้บรรยากาศขมุกขมัวทางการเมือง ไทยพีบีเอสกำลังนับถอยหลังสู่การทบทวน ‘พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส’ ในปี 2560 เพื่อเดินหน้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าไทยพีบีเอสยังคงต้องมีอยู่ในสังคมไทย การปล่อยปัญหาภายในให้เรื้อรังอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีต่ออนาคตสื่อสาธารณะ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net