ทหารมีไว้ทำไม : ข้อสังเกตเชิงกฎหมาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความเรื่อง ทหารมีไว้ทำไมโดย ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจถูกบางฝ่ายเข้าใจผิดว่ามองข้ามหรือลดทอนคุณค่าและความสำคัญของ ‘สถาบันทหาร’

ตรงกันข้าม บทความดังกล่าวมุ่งตั้งคำถามให้สังคมร่วมคิดเกี่ยวกับ ‘สถาบันทหาร’ ในระดับสากลทั้งสองด้าน ดังที่กล่าวว่า “มองด้านล้มเหลวก็ล้มเหลว แต่มองด้านสำเร็จก็สำเร็จมากเหมือนกัน” และปิดท้ายว่า “เรามาช่วยกันตั้งคำถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม” ให้ติดปากทุกคน และช่วยกันหาคำตอบต่อคำถามนี้อย่างเอาจริงเอาจัง โดยไม่ยอมให้ใครสถาปนาแนวคำตอบของตนขึ้นครอบงำคนอื่น

พอน่ายินดีว่าบทความดังกล่าวบรรลุเป้าหมายอยู่บ้าง คือ สามารถกระตุกให้สังคม (รวมถึงผู้กุมอำนาจทหาร เช่น คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา) เริ่มสนใจและถกเถียงถึงหน้าที่และความหมายของ ‘ทหาร’ มากขึ้น

แต่ในการถกเถียงดังกล่าว คำถาม “ทหารมีไว้ทำไม” ควรเป็นการใคร่ครวญปรากฏการณ์ในเชิงโครงสร้างอย่างสร้างสรรค์และไม่ยึดติดกับตัวบุคคล 

ดังนั้น การโต้แย้งว่าทหารมีทั้งดีและไม่ดี ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร แต่สิ่งที่สมควรช่วยกันคิด ก็คือ หน้าที่ของทหารที่ดีหากมีอยู่นั้นคืออะไร (ซึ่งฟังเหมือนจะเป็นคำถามที่ง่าย) แล้วมองกลับไปยังโครงสร้างภาพรวมในความเป็นจริงว่าปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่นั้นเป็นอย่างไรและควรปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอร่วมคิด (แม้อาจไม่ลึกซึ้งเท่ากับบทความฉบับแรก) โดยยกตัวอย่างตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาเป็นแนวทางให้เราคิดถึงคำถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม” พร้อมข้อสังเกตชวนคิดพอสังเขป ดังนี้

 

พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551

มาตรา 6 วรรคหนึ่ง  ทหาร ประกอบด้วย ข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่เป็นข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมที่ขึ้นทะเบียนกองประจำการและบุคคลที่ถูกเรียกเข้ารับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา 8  กระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ปราบปรามการกบฏและการจลาจล โดยจัดให้มีและใช้กำลังทหารตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามที่มีกฎหมายกำหนด

(2) พิทักษ์รักษา ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์

(3) ปกป้อง พิทักษ์รักษาผลประโยชน์แห่งชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงตลอดจนสนับสนุนภารกิจอื่นของรัฐในการพัฒนาประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชน

(4) ศึกษา วิจัย พัฒนา และดำเนินการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และด้านกิจการอวกาศเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนภารกิจของกระทรวงกลาโหมและความมั่นคงของประเทศ

(5) ปฏิบัติการอื่นที่เป็นการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงครามเพื่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือปฏิบัติการอื่นใด ทั้งนี้ ตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามมติคณะรัฐมนตรี

มาตรา 24 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหม และจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้

 

ข้อสังเกต:

พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ถูกตราขึ้นในสมัยที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนและมีปัญหาเชิงหลักการหลายประการ เช่น ปัญหาโครงสร้างสภากลาโหมที่อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน แต่สาระสำคัญของ มาตรา 6 และ มาตรา 8 ที่กล่าวถึง “ทหาร” ในฐานะที่เป็น “ข้าราชการกระทรวงกลาโหม” และสาระสำคัญของ มาตรา 24 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีอันเป็นข้าราชการฝ่ายการเมืองที่มาจากประชาชนเป็นผู้บังคับบัญชา  ก็ไม่ถือว่าผิดไปจากหลักการสากลนัก

เมื่อได้พิจาณาตัวบทกฎหมายเหล่านี้ คำถามว่า "ทหารมีไว้ทำไม" อาจทำให้เราใคร่ครวญต่อไปถึงคำถามอื่น เช่น

หน้าที่พิทักษ์ความมั่นคง : ปัญหาความขัแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องเดียวกันกับภัยความมั่นคงหรือไม่และทหารได้แก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและรุนแรง เช่น ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ หรือ ภัยคุกคามจากกรณีการวางระเบิดในกรุงเทพมหานคร ได้คืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด ?

หน้าที่ปราบปรามการกบฏและการจลาจล : ทหารได้เข้าจัดการหรือปล่อยให้มีการจลาจลเกิดขึ้นหรือไม่ มีกรณีใดที่ก่อให้เกิดความล้มตาย มีกรณีใดที่เพิกเฉย หรือมีกรณีใดที่ทหารได้กลายเป็นผู้ร่วมก่อกบฎเสียเอง ?  

หน้าที่พิทักษ์ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ : ทหารได้เปิดเผยการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนในภารกิจมากน้อยเพียงใด เงินนั้นตกเป็นประโยชน์ของใคร และทหารได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการใดที่พบความผิดปกติจนนำมาซึ่งความเสียหายจากการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ?

หน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์ชาติ ประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศ : ทหารได้มีบทบาทต่อความสุขของประชาชน สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการปกป้องสิ่งแวดล้อมของประเทศมากน้อยเพียงใด ?

หน้าที่ศึกษา วิจัย พัฒนา และดำเนินการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ : ทหารได้แสดงขีดความสามารถของกองทัพให้เป็นที่เชื่อถือ เช่น การตรวจสอบวัตถุระเบิด หรือการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับมากน้อยเพียงใด ?

หน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามมติคณะรัฐมนตรี : ที่ผ่านมาทหารได้ปฏิบัติตามกฎหมายและคณะรัฐมนตรี หรือกฎหมายและคณะรัฐมนตรีกลับต้องเป็นไปตามที่ทหารกำหนด ?

นอกจากหน้าที่ของทหารในภารกิจด้านกลาโหมที่กล่าวมาแล้ว ทหารยังมีหน้าที่สำคัญอีกประการ อันได้แก่ “หน้าที่ในการมีวินัย

พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476

มาตรา 5  วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด

ตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหาร มีดังต่อไปนี้

1) ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน

2) ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย

3) ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร

4) ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร

5) เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ

6) กล่าวคำเท็จ

7) ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร

8) ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ

9) เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

หากมองในแง่ว่าวินัยของทหารคือสิ่งที่กระทบต่อภารกิจที่สังคมพึ่งพา เราย่อมคิดถามต่อไปว่า ที่ผ่านมาทหารได้ทำหน้าที่ดำรงอยู่ในวินัยเพียงใด เช่น เคารพผู้บังคับบัญชา เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มาจากประชาชนหรือไม่ ? หรือผู้บังคับบัญชาได้ใช้กิริยาวาจาที่สมควรหรือประพฤติสมควรให้เป็นตัวอย่างมากน้อยเพียงใด ?

อนึ่ง นอกจากตัวบทกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว อาจมีผู้อ้างถึง “กฎอัยการศึก” ว่าให้อำนาจทหารสามารถยกเว้นหน้าที่ให้แตกต่างไปจากกฎหมายข้างต้นได้ ซึ่งผู้เขียนได้เคยแสดงความเห็นหักล้างไปแล้วในบทความหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับเช้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 หรืออ่านได้ที่ http://bit.ly/ML220514

คำถามชวนคิดทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของคำถามใหญ่ โดยหากทหารปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเต็มความสามารถจนสังคมรับรู้ ความกังขาต่อความมีอยู่ของทหารย่อมมีน้อย แต่หากทหารไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว ก็ย่อมกลับกลายเป็นทหารเสียเองที่ทำให้เกิดข้อสงสัยยิ่งขึ้นว่า “ทหารมีไว้ทำไม ?”

ดังนั้น ผู้ใดที่ประสงค์จะรักษาสถาบันทหารไว้จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงคำถามเหล่านี้ได้ เว้นเสียว่าพวกเขาเองรู้ตัวว่าแท้จริงแล้วพวกเขาไม่ได้ต้องการทหารที่เป็นทหาร

และนั่นย่อมนำไปสู่คำถามสำคัญถัดไปจากนี้ว่า เราจะจัดการกับทหารที่ไม่ทำตัวสมเป็นทหารตลอดจนบรรดาผู้ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ทหารไม่เป็นทหารอย่างไร ?

สุดท้าย ผู้เขียนขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ทหารทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาธิปไตยและประชาชน โดยเฉพาะพลทหารชั้นผู้น้อยจำนวนมากผู้ยอมเสียสละเสี่ยงชีวิตของตน แม้จะต้องแลกกับการฝืนใจปฏิบัติตามคำสั่งของบุคคลที่ไม่สนใจว่า 'ทหารมีไว้ทำไม' เลยก็ตาม.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท