Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

จอห์น เดรปเปอร์ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสาน วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขียนบทความลงเว็บไซต์ประชาไทอิงลิชถึงกรณีการต่อสู้กับโครงการพลังงานถ่านหินที่มาจากรัฐบาลเผด็จการทหารของไทย โดยเนื้อหามีดังนี้

ข้อเสียอย่างหนึ่งของระบอบเผด็จการทหารคือ ประชาชนมีส่วนร่วมได้น้อยมากในประเด็นทางการเมืองที่มีความสำคัญ เช่น นโยบายเรื่องพลังงาน ไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันเล่มใดในไทยเลยที่สนับสนุนถ่านหิน และพวกเขาก็มักจะเขียนบทความในเชิงต่อต้านการใช้พลังงานถ่านหินในอนาคตเสมอ (ยกตัวอย่างเช่น บทความใน เดอะเนชั่น เมื่อไม่นานมานี้) นอกจากนี้แล้วประชาชนโดยทั่วไปก็ประท้วงต่อต้านโรงงานไฟฟ้าถ่านหินอยู่สม่ำเสมอเช่นในบทวามก่อนหน้านี้เคยเขียนเกี่ยวกับประท้วงโรงไฟฟ้าที่ตำบลเทพา จังหวัดสงขลา และการประท้วงที่จังหวัดกระบี่

สาเหตุหนึ่งที่มีการต่อต้านเรื่องนี้เพราะประชาชนไทยได้รับรู้ข้อมูลมาดีพอสมควรเกี่ยวกับปัญหาที่จะตามมาเกี่ยวกับถ่านหินเช่น ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาสารปรอทปนเปื้อน สารพิษจากอุตสาหกรรมถ่านหินทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 1,550 คน รวมถึงปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนถูกทำลายจากกระบวนการของเหมืองแร่ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลด้านศาสนา เหมืองแร่ถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินดูจะไม่เป็นไปตามแนวทางคำสอนหลักปฏิบัติของพระพุทธเจ้า

ฝ่ายซ้ายใหม่ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในไทย เช่น ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ พรรคสามัญชน และองค์กรแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยอื่นๆ ตั้งแต่สายซ้ายจัดจนถึงสายกลางควรนำแนวความคิดเหล่านี้มาปรับใช้ จริงๆ แล้วน่าจะมีแค่ฝ่ายซ้ายใหม่ในไทยเท่านั้นที่จะสามารถนำนโยบายพลังงานทางเลือกมาปรับใช้ได้ เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสององศานับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม

ในกระบวนทัศน์แบบเสรีนิยมใหม่แล้วมีมนุษยชาติเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ครอบครองโลกและเป็นผู้นำอุตสาหกรรมของโลกซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เพราะพวกคนร่ำรวยมหาศาลเหล่านี้มีทรัพย์สินมากกว่าผู้คนอีกร้อยละ 99 รวมกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นพวกเขาก็แค่แก้ปัญหาให้ตัวเองด้วยการย้ายคฤหาสน์หรูริมทะเลห่างขึ้นไปจากชายฝั่งอีก 10 เมตรเท่านั้น หรือไม่ก็แค่ย้ายไปอยู่บนเรือยอร์ชราคานับล้านลำใดลำหนึ่งจากหลายร้อยลำที่พวกเขามี หรือต่อให้ถ้าความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งทำให้ปะชาชนทนไม่ไหวลุกฮือขึ้นประท้วงคนรวยเหล่านี้ก็แค่จะหนีไปมุดรูอยู่ในที่ปลอดภัยของตัวเองที่เตรียมการไว้แล้วเท่านั้น

ดังนั้นแล้วฝ่ายซ้ายใหม่ในไทยควรจะรณรงค์นโยบายพลังงานชนิดใหม่อย่างไร จริงๆ แล้วประเทศไทยมีการวางแผนข้อมูลเรื่องปริมาณความต้องการใช้พลังงานไว้ค่อนข้างดี จากที่กระทรวงพลังงานจัดทำ 'แผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ' ที่มีทั้ง แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนกลยุทธ์เชื้อเพลิงและน้ำมัน ซึ่งสองอย่างหลังเน้นเรื่องการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ และเลิกให้การส่งเสริมพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์

อย่างไรก็ตาม 'แผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ' ก็มีจุดบอดอยู่ เช่น ไม่มีการพิจารณาปัจจัยที่ว่าในปี 2559 จะมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ชื่อ 'จีเอ็มโบลท์' (GM Bolt) ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าชนิดแรกที่มีการผลิตเป็นจำนวนมาก รวมถึงไม่มีการพิจารณาเรื่องการปฏิวัติเทคโนโลยีแบตเตอรี่ จากที่พวกเราเริ่มเห็นประสิทธิภาพของนวัตกรรมแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน เช่นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ทนได้ต่อทุกสภาพภูมิอากาศ และแบตเตอรี่ลิเธียมซูเปอร์อ็อกไซด์ ที่มีความสามารถในการเก็บกักพลังงานได้มากเป็น 5 เท่าเมื่อเทียบกับแบตเตอร์รีลิเธียมไอออนทั่วไป พูดอีกอย่างหนึ่งคือประเทศไทยขาด 'แผนกลยุทธ์ด้านไฟฟ้า' ที่เกื้อหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่อาศัยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ เมื่อพิจารณาจากขนาดของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยแล้วก็พบว่าเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไปปอย่างใหญ่หลวง

อีกปัญหาหนึ่งคือสถานการณ์เรื่องถ่านหิน 'แผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ' และแผนการที่เกี่ยวข้องระบุถึงการนำเข้าถ่านหิน โดยให้มีการใช้ "เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด" ให้อยู่ในระดับร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานผสมผสานภายในปี 2573 และให้มีการใช้ถ่านหินที่ผลิตภายในอีกร้อยละ 5 รวมกับการนำเข้าพลังงานน้ำและก๊าซอีกร้อยละ 15-20 จากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นไปได้ว่าพลังงานผสมผสานของไทยร้อยละ 40 จะมาจากการนำเข้า เรื่องนี้เปรียบเสมือนเป็นการทำให้ข้ออ้างของรัฐบาลทหารที่บอกว่าพวกเขาส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการพึ่งพาตนเองฟังดูเป็นเรื่องตลก

นอกจากนี้แล้วเราต้องมาพูดถึงกันเรื่องเทคโนโลยีที่อ้างว่าเป็นพลังงานถ่านหินสะอาด ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่มาจากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดก็มีตัวอย่างให้เห็นกันแล้วในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างประเทศจีน ซึ่งผลกระทบของมันออกมาเป็นเช่นนี้

แน่นอนว่ายังไม่มีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดจริงๆ ถูกนำมาใช้ในจีน เหตุผลหลักๆ คือ 1.) มันยังอยู่ในขั้นทดลอง หรือ 2.) มันแพงเกินไป มีการอ้างว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดจะไม่ก่อให้เกิดสารที่ทำให้เกิดฝนกรดอย่าง สารซัลเฟอร์ไดอ็อกไซด์และไนโตรเจนอ็อกไซด์ รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์และฝุ่นละออง นอกจากนี้ยังอ้างว่าจะมีการกำจัดสารเหลือทิ้งจากการผลิตอย่างสารปรอทด้วย ในระดับโลกแล้วยังไม่มีโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินสะอาดในเชิงพาณิชย์เลยแม้แต่โรงเดียว ทุกอย่างอยู่แค่ในระดับนำร่อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานจากการเผาไหม้อ็อกซิเจน มีอยู่สองประเทศที่มีการพัฒนาด้านพลังงานถ่านหินสะอาดอย่างมากแต่ไม่ใช่ประเทศไทย หนึ่งในประเทศดังกล่าวคือสวีเดนแต่ก็หยุดวิจัยเรื่องพลังงานถ่านหินนี้เพราะพบว่ามันราคาแพงเกินไป และในสหรัฐฯ ที่มีโครงการริเริ่มด้านพลังงานและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดอยู่จำนวนหนึ่งแต่ไม่มีโรงไฟฟ้าใดเลยที่ผลิตพลังงานขายได้

ในทางตรงกันข้ามแล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ต่างหากที่กำลังบูมในประเทศไทยเนื่องมาจากนโยบายรับซื้อจากผู้ผลิต (feed-in tariffs) แรงจูงใจด้านภาษี และรายจ่ายด้านการผลิต ทำให้ในปี 2558 มีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์รวมแล้วราว 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกัน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเรื่องราคาน้ำมันตกต่ำและตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศของจีนเองก็อยู่ในจุดอิ่มตัวแล้ว จีนพยายามขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับไทยมากขึ้น ในปัจจุบันแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติของไทยตั้งเป้าหมายผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ได้ 6,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2579 อย่างไรก็ตามไทยจะผลิตพลังงานได้ทะลุเป้าเกินไปมากแน่นอน สถาบันวิจัยบีเอ็มไอระบุว่าในช่วงปี 2558-2568 จะมีการเติบโตด้านพลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉลี่ยร้อยละ 13.2 ซึ่งหมายความว่าพอถึงแค่ปี 2568 ก็จะผลิตได้ 8,600 เมกะวัตต์แล้ว ถ้าหากยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยคงที่ไปจนถึงปี 2579 ก็จะทำให้มีพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 33,000 เมกะวัตต์ มากเกินพอที่จะมาทดแทนพลังงานถ่านหินในไทยได้ทั้งหมด

การพยากรณ์การขยายตัวของศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ในแผนบรูณาการพลังงานแห่งชาติ

นี่ถือเป็นเรื่องที่ทางการไทยไม่มองการณ์ไกล ถึงแม้ว่าการประเมินของบีเอ็มไออาจจะประเมินไว้ต่ำแต่การเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 40 นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยมีประสิทธิภาพรวม 139,000 เมกะวัตต์ จากการสำรวจช่วงปลายปี 2556 และในปี 2557 ทบวงพลังงานโลก (International Energy Agency หรือ IEA) ประเมินว่าถ้าในอนาคตยังอยู่ภายใต้ความเป็นไปได้ที่คนจะหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนสูงมากเนื่องจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและตลาดทางเศรษฐกิจ พลังงานแสงอาทิตย์ก็อาจจะกลายเป็นแหล่งที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับโลกได้มากถึงร้อยละ 27 ภายในปี 2593 ทั้งจากการผลิตพลังงานจากการตกกระทบของแสงบนวัตถุ (photovotaic) ซึ่งมีโรงผลิตหลักๆ ในไทยและวิธีการรวมแสงจากดวงอาทิตย์เพื่อสร้างเป็นพลังงานโดยอาศัยกระจกสะท้อน พุดง่ายๆ คือมันเป็นเรื่องของความประหยัดที่มาจากการลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย (economies of scale) ทำให้มีการเติบโตด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์สูงเป็นประวัติการณ์ตามกราฟนี้

การเจริญเติบโตของการผลิตพลังงานจากการตกกระทบของแสงบนวัตถุ (photovotaic) (จากวิกิพีเดีย)

แผนภาพนี้แสดงให้เห็นว่าเหล่า "กูรู" ของเมืองไทยในด้านพลังงานทั้งหลายไม่ได้อยู่ในร่องในรอยเวลาพูดถึงพลังงานแสงอาทิตย์ อีกหนทางหนึ่งที่จะอธิบายให้กูรูพลังงานทั้งหลายเห็นว่าเหตุใดพลังงานแสงอาทิตย์กำลังจะรุ่ง คือการอ้างกฎของสวอนสัน (Swanson's Law) ที่ระบุว่าการพัฒนาทางเทคโนโลยีและความประหยัดที่มาจากการลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยจะช่วยให้การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มีต้นทุนลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

การลดลงของราคา photovotaic

ในความเป็นจริงแล้วมันก็เห็นได้ชัดมากว่าประเทศไทยละเลยที่จะมองเห็นศักยภาพในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศไทยปิดกั้นตัวเองอยู่กับแนวความคิดที่จะใช้ถ่านหิน ถ่านหินทำให้บริษัทก่อสร้างได้รับสัญญาโครงการขนาดใหญ่ที่ทำกำไรมหาศาลเป็นการกุมอำนาจไว้แต่ในมือของศูนย์กลางและมีโอกาสเสี่ยงมากที่จะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในกระบวนการก่อสร้าง ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์จะมีการกระจายอำนาจมากกว่า มีต้นทุนและการจัดการที่ง่ายกว่าและมีการซ่อมบำรุงน้อยกว่ารวมถึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงในการดำเนินการ นอกจากนี้แล้วประเทศที่อยู่ในกึ่งโซนร้อนอย่างไทยก็มีศักยภาพเป็นแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมากในแทบทุกพื้นที่

สรุปคือในครั้งหน้าถ้ามีการประท้วงเกี่ยวกับถ่านหินในประเทศไทย พวกเขาก็ควรจะมีวิธีการสื่อถึงวิสัยทัศน์ในเรื่องพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคตให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเหล่าอำมาตย์ในกระทรวงพลังงานในฐานะเป็นทางออกอื่นอย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมา พวกเขาควรจะชี้ให้เห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้โรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินตกกระป๋องไปในที่สุดเนื่องจากราคาที่ต่ำกว่ารวมถึงการพัฒนาการเก็บไฟของแบตเตอรี่ พวกเขาควรจะชี้ให้เห็นว่ากระบวนทัศน์ตามที่กล่าวมาข้างต้นไปกันได้กับ 'วิสัยทัศน์สังคมคาร์บอนต่ำ ปี 2573' จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิสัยทัศน์เช่นนี้ที่กลุ่มซ้ายใหม่ในประเทศไทยควรรับไปปรับใช้ นำไปทำเป็นนโยบาย และขีดเส้นแบ่งให้ชัดเจนว่าจะเป็นเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่ล้มเหลวด้านพลังงาน หรือจะเป็นแนวทางเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับอุตสาหกรรมมีความก้าวหน้า

 

บทความฉบับภาษาอังกฤษ

An Energy Policy for the Centre-Left to Combat Coal, John Draper, Prachatai English, 27-01-2016

http://prachatai.org/english/node/5806

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net