Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกฉบับ จะเริ่มต้นที่เหมือนกัน คือ

มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม


แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับร่างฯมีชัย จะมีความไม่เป็นประชาธิปไตย และเขียนไว้ให้อาจเข้าใจได้ว่า เพื่อสืบทอดอำนาจ โดยเข้าข่ายลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยเขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจอธิปไตยแทนประชาชนทั้งประเทศ ทั้งบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามแนวทางรูปแบบเผด็จการหรือไม่ เพราะให้มีอำนาจตามมาตรา 44 กล่าวคือ

ร่างนี้มีบทบัญญัติ เกี่ยวกับ ศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ

ร่างฯนี้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความโดยไม่ต้องมีกฎหมายหรือตามตัวอักษรได้ และมีอำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ

มาตรา 207 การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาจากประชาชน และแต่มาจากกลุ่มคนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 500 คน ที่มีสิทธิ์ คนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นพลเมืองไทยแต่ได้รับอภิสิทธิ์เหนือบุคคลอีก 68 ล้านคน ได้อย่างไรและรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ คน 3 คน มีอำนาจเหนือคน 68 ล้านคน


มาตรา 195 ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้

(1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนสามคน

(2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนสองคน

(3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และมีผลงานทางวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมหาชนเป็นที่ประจักษ์ จำนวนหนึ่งคน

(4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย ในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และมีผลงานทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์เป็นที่ประจักษ์ จำนวนหนึ่งคน

(5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี จำนวนสองคน

การที่รัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ "พิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าห้าคนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก" ทำให้เสียงข้างมาก คือ 3 เสียง(ที่ไม่ได้มาจากประชาชน) มีอำนาจมากกว่าเสียงของประชาชน 68 ล้านคน

มาตรา 206 องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าห้าคนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

กรณีตัวอย่างการตัดสินคดีที่ดูแล้วเกิดเคลือบแคลงถึงมาตรฐานทางคดี เช่น

คดีนายสมัคร สุนทรเวช กรณีไปออกรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า ในคดีนี้เท่ากับว่ามีความเห็นส่วนตนของตุลาการเพียง 2 คน ที่ใช้พจนานุกรม ส่วนอีก 7 คน ไม่ปรากฏ ซึ่งโดยปกติสาระสำคัญของคดีจะต้องมีการประชุมและมีข้อสรุปจากตุลาการเสียงข้างมากระบุให้ใช้พจนานุกรม นิยามคำว่า “ลูกจ้าง” จึงถือเป็นคำวินิจฉัยกลางโดยปราศจากข้อสงสัย หากเป็นเช่นนี้จะถือว่าคำวินิจฉัยกลางมาจากเสียงข้างน้อยแต่ไปเป็นเสียงข้างมากได้อย่างไร

หรือ คดียุบพรรคพลังประชาชน,พรรคชาติไทย พรรครวมใจไทย และตัดสิทธิทางการเมือง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์กับพวก เป็นต้น

การวินิจฉัยคดีสำคัญที่ผ่านมา ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้หลักกฎหมายในการพิจารณา แต่ใช้อำนาจตุลาการที่อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่า เป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายที่ต้องการยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และผลของการใช้อำนาจตุลาการเช่นนี้ ย่อมสร้างความเคลือบแคลงใจและเป็นคำถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญหรืออำนาจตุลาการเข้ามาเป็นคู่กรณีในทางการเมืองเสียเองหรือไม่?

เหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่อาจยอมให้กระบวนการยุติธรรมที่มีอำนาจและสร้างบทบาทมากเกินไปในการกำหนดชะตากรรมประเทศจากองค์คณะตุลาการที่อาจต้องดำรงสถานะอยู่อย่างในร่างฯ นี้ได้ และถึงเวลาแล้วหรือไม่(จริงๆก็ถึงนานแล้ว) ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักการของศาลให้ยึดโยงกับประชาชน ไม่สมควรให้ตุลาการเพียง 3-4 คน (เสียงข้างมาก) สามารถกำหนดทิศทางของประเทศหรือตัดสินใจแทนคนไทยทั้ง 67 ล้านคนได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญใช้กระบวนวิธีพิจารณาตามข้อกำหนดที่ศาลกำหนดขึ้น ไม่มีการถ่วงดุลตรวจสอบจากหน่วยงานใด ๆ เลย แต่ขอบเขตอำนาจการวินิจฉัยมากมาย สมมุติว่าถ้ามีกลุ่มบุคคลหรือบุคคลที่มีอำนาจสามารถขอต่อศาลนี้ได้ทุกเรื่อง เพราะเรื่องทุกเรื่องที่เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญจะเรื่องใหญ่เรื่องเล็กก็มีเพียง 9 ท่านนี้ที่เป็นองค์คณะตุลาการ ที่ทำการวินิจฉัยอรรถคดีต่าง ๆ และไม่ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเหมือนศาลฎีกาในแผนกคดีต่าง ๆ อย่างนี้อาจเรียกว่า "ใช้อำนาจตามอำเภอใจ"

อีกทั้ง วาระการดำรงตำแหน่งมีถึง 9 ปี ระยะเวลาดังกล่าวยาวนานสามารถค้ำฟ้าค้ำดินได้ และชะตากรรมของประเทศเหมือนถูกแช่แข็งตามวาระที่ต้องจำยอมเช่นนั้นหรือ?

การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจมากสามารถยุบพรรคการเมือง ตัดสินนักการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งมาได้ ชี้ขาดชะตากรรมประเทศไม่มีการเลือกตั้งได้ ไม่ต้องใช้นโยบายที่หาเสียงได้ ฯลฯ เพราะกลไกของระบอบที่อ้างว่าปฏิรูปประเทศนี้ ก็โดยการกำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวนทั้งสิ้น 9 ท่าน หากเกิดเหตุต่าง ๆ คณะตุลาการจำนวน 5 ท่าน สามารถวินิจฉัยอรรถคดีต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของศาล นั่นหมายความว่าเสียงส่วนใหญ่ก็คือ 3 ใน 5 คน มีเพียงแค่ 3 คน วินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ถือเป็นที่สุด เพราะคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร และถือเป็นที่สุด อย่างนี้ก็คงต้องหมายความว่า คุณภาพของบุคคลจะต้องประเสริฐ เป็นคนดี(ตามนิยามของใคร?) และต้องปราศจากการแทรกแซงใดๆได้ เพราะนั่นอาจเป็นเพียง"อุดมคติ" เท่านั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net