Skip to main content
sharethis

เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน ท้ารัฐบาล ประเมินผลกระทบโขง ชี มูน ชี้หน่วยงานที่หาน้ำก็คิดเพียงว่าจะเอาน้ำมาให้ได้โดยไม่เคยสรุปบทเรียนในอดีต โต้ แผนจัดการน้ำรบ. อัดอย่าโทษนักการเมืองฝ่ายเดียว ควรรับฟังความเห็นประชาชน

หลังจาก เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ถึงแผนการจัดการน้ำของรัฐบาล 12 ปี โดยอ้างว่าในอดีตที่ผ่านมา มีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำและระบบส่งน้ำที่ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความต้องการน้ำที่แท้จริง โดยมีการจัดสรรงบประมาณสร้างแหล่งน้ำเฉพาะพื้นที่ที่เป็นฐานคะแนนเสียงของนักการเมือง ขาดการวางแผนแยกแยะอย่างเป็นระบบ ว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่การเกษตรที่มักขาดแคลนน้ำ หรือบริเวณใดเป็นแหล่งชุมชนที่ประชาชนต้องการใช้น้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค ส่งผลให้การเกิดการลงทุนในพื้นที่ซ้ำ ๆ ขาดความเชื่อมโยงในการบริหารจัดการน้ำ

รัฐบาลนี้พยายามแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด และสร้างความยั่งยืนด้วยแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำระยะยาว 12 ปี ภายใต้หลักประชารัฐ เปลี่ยนมุมมองจากการพิจารณาเฉพาะภาพกว้างในระดับลุ่มน้ำ เป็นการเจาะพื้นที่แคบลงในระดับอำเภอและกลุ่มจังหวัด เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริง

“ท่านนายกฯ มองปัญหาอย่างรอบด้าน และต้องการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยไม่ได้สนใจคะแนนเสียง แต่การดำเนินงานจำเป็นต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก รัฐบาลนี้จึงวางรากฐานเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาวและส่งให้รัฐบาลต่อไป จึงขอให้ทุกฝ่ายทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง เพื่ออนาคตของประเทศ ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการ ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและเกษตรกรก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีวันสิ้นสุด และกลับเข้าสู่วังวนเดิม ๆ คือ การทำเพื่อหวังผลทางการเมืองต่อไป” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว (อ้างอิงจาก: MGR Online )

ในวันนี้ (1 ก.พ.) ด้านองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ก็ได้ออกมาโต้ข้อมูลของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การจัดการน้ำที่ผ่านมาไม่ใช่นักการเมืองเพียงฝ่ายเดียวที่จัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ผลักดันในเขตพื้นที่ของตัวเอง แต่มีข้าราชการ และหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชล กรมทรัพยากรน้ำ คอยทำหน้าที่วางแผน ชงเรื่องการจัดการน้ำให้นักการเมือง ซึ่งตนก็อยากเสนอให้ทบทวนงบประมาณต่างๆ ย้อนหลังไป อย่างน้อย 20 ปี ว่าใครบ้างวางแผน เฉพาะแค่งบศึกษาบริหารจัดการน้ำก็หมดหลายพันล้านบาท เพียงแค่ตัดแปะข้อมูล เปลี่ยนหน่วยงานศึกษาเท่านั้นโครงการจัดการน้ำต่างๆ เช่น โขง-ชี-มูน สร้างเขื่อนต่างๆ หน่วยงานเสนอทั้งนั้นประเภทสมรู้ร่วมคิด

สุวิทย์  กุหลาบวงษ์ (แฟ้มภาพ: ประชาไท)

"แผนการจัดการน้ำควรรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างแท้จริงไม่ใช่รับฟังอย่างจัดฉากโดยมีการตั้งธงโครงการไว้แล้วและเอาแต่ผู้ที่สนับสนุนโครงการมาเข้าร่วมเวที และที่สำคัญต้องให้มีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้" เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าว

นายสุวิทย์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ในปัจจุบันที่กำลังมีการผลักดันโครงการต่างๆ เช่น เขื่อน ผันน้ำโขง โดยไม่ศึกษาผลกระทบระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ตนขอฟันธงเลยว่าโครงการดังกล่าวจะล้มเหลวเหมือนอดีตที่ผ่านมาเพราะคนทำคือกลุ่มเดิม กรอบคิดเดิมๆ

"ขอท้าเลยว่ารัฐบาลกล้าประเมินผลกระทบโขง ชี มูน หรือไม่ เช่นอีสานฤดูแล้งจะเอาน้ำจากแม่น้ำโขงมาทำนาได้อย่างไร เพราะเป็นดินทราย ใต้ดินมีแต่เกลือ ดินเค็ม แต่หน่วยงานที่หาน้ำก็คิดเพียงว่าจะเอาน้ำมาให้ได้โดยไม่เคยสรุปบทเรียนในอดีตเลย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net