ข่มขืนหรือไม่ก็ไม่มีใครควรถูกประหารชีวิต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผมมีสถานการณ์สมมติมาให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณากัน ขอให้ผู้อ่านแต่ละท่านลองคิดดูว่าตัวท่านเองคิดว่าทางเลือกใดเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า

สมมติว่ามีอัยการคนหนึ่งกำลังดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม หลักฐานวัตถุและประจักษ์พยานนั้นยืนยันชัดเจนว่าผู้ต้องสงสัยกระทำผิดจริง และศาลก็พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจริง

ทว่าศาลกลับไม่ได้ตัดสินว่าผู้ต้องหาต้องรับโทษอย่างไร แต่ยื่นข้อเสนอให้อัยการคนนั้นเลือก โดยข้อเสนอมีอยู่ว่าอัยการสามารถเลือกได้ข้อใดข้อหนึ่งในสองข้อต่อไปนี้เท่านั้น

1. ศาลจะลงโทษประหารชีวิตจำเลยทันที แต่ไม่ใช่แค่นั้นศาลจะสุ่มเอาคนทั่วไปมาอีกหนึ่งคน แล้วประหารชีวิตคนนั้นด้วย

2. ศาลจะปล่อยตัวจำเลยไปโดยไม่มีการลงโทษใดๆ

ขอให้ลองใช้เวลาคิดสักนิด ถ้ามีทางเลือกแค่สองอย่างนี้เท่านั้น ท่านคิดว่าอัยการคนนั้นควรจะเลือกข้อใด?

________________________________________

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะตอบข้อสอง ตัวผมเองก็ตอบข้อสองเช่นกัน

ก่อนที่จะเริ่มเขียนบทความนี้ผมได้นำคำถามนี้ไปถามคนจากหลายๆกลุ่ม และแทบทุกคนก็ตอบว่าข้อสองเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เท่าที่ผมเจอมามีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ตอบข้อหนึ่ง และเหตุผลของคนนั้นก็ไม่ใช่เพราะว่ามันยุติธรรมกว่าแต่อย่างใด เขาเลือกข้อหนึ่งเพราะว่ามันคงจะเป็นพล็อตที่น่าสนุกของนิยายหรือเรื่องสั้น

ดังนั้นโดยรวมๆแล้วคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเห็นตรงกันว่าข้อสองเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วคำตอบนี้มันบอกอะไรกับเรา?

มันบอกเราว่าโดยทั่วไปแล้วคนเรานั้นมีกฎในใจเกี่ยวกับความยุติธรรมอยู่ข้อหนึ่งที่ล่วงเกินไม่ได้ นั่นคือผู้บริสุทธิ์ไม่สมควรถูกลงโทษ และกฎข้อนี้ศักดิ์สิทธิ์มากพอที่จะทำให้เรายอมปล่อยผู้กระทำผิดเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษผู้บริสุทธิ์

และกฎข้อนี้แหละที่เป็นพื้นฐานของการแนวคิดต่างๆมากมายในระบบยุติธรรมสมัยใหม่

________________________________________

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 นายทรงกลด ทรัพย์มี ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ที่เขาถูกปล่อยตัวไม่ใช่เพราะว่าเขาใช้โทษครบแล้วแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเขาไม่ใช่คนร้ายตั้งแต่ต้น ทรงกลดเป็นผู้ต้องหาในคดีข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุ 12 ปี และต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต เขาถูกกักขังอยู่เป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีกว่าความจริงจะเปิดเผยว่าจริงๆแล้วเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด

ผู้เสียหายใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่บางบัวทองและถูกข่มขืนโดยนายทรงกลด ไม่ทราบนามสกุล เมื่อบิดาของผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความเจ้าหน้าที่จึงออกเสาะหาข้อมูลของบุคคลที่มีชื่อว่าทรงกลด และแม้ว่าทรงกลด ทรัพย์มีจะไม่ได้อาศัยอยู่ที่บางบัวทองแต่เขาก็มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของบ้านแม่ซึ่งอยู่ในพื้นที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบชื่อของทรงกลดในทะเบียนบ้านจึงออกหมายจับ และซ้ำร้ายไปกว่านั้นทั้งตัวผู้เสียหายและบิดาเองก็ชี้ตัวว่าทรงกลดเป็นผู้ก่อเหตุทั้งคู่  ทรงกลดพยายามสู้คดีอย่างเต็มที่ว่าไม่ได้กระทำผิดแต่ก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์

ภายหลังจากมีการปล่อยตัวแล้ว พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ทำการตรวจสอบรูปคดีและสรุปว่าการดำเนินคดีผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น บิดาของผู้เสียหายยืนยันตัวทรงกลดไปด้วยอารมรณ์โกรธแค้น และเจ้าหน้าที่ก็สรุปคดีตามคำยืนยันของผู้เสียหายและบิดาทั้งที่ไม่มีหลักฐานอื่น  ศาลทั้งสองระดับก็ตัดสินว่าทรงกลดมีความผิดทั้งที่มีพยานมากมายยืนยันว่าทรงกลดไม่ได้กระทำ

คนส่วนใหญ่จะมองว่านี่เป็นความหละหลวมและเลินเล่ออย่างรุนแรงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการและแทบไม่อยากจะเชื่อว่าความผิดพลาดแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ พวกเขาไม่ได้คิดผิด แต่ก็คิดถูกเพียงครึ่งเดียว ความหละหลวมและเลินเล่อมีส่วนในเรื่องนี้จริง ทว่าการจะคาดหวังให้เหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นเลยนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

________________________________________

ก่อนที่จะไปต่อเรื่องระบบยุติธรรม เราลองมาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าเครื่องมือวินิจฉัยกันก่อน เครื่องมือวินิจฉัยก็คืออุปกรณ์หรือวิธีอะไรก็ได้ที่จะช่วยให้เราแยกแยะได้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอะไร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ การซักประวัติและตรวจร่างกายก็เป็นเครื่องมือวินิจฉัยเพราะใช้บอกว่าคนไข้ป่วยหรือไม่ ป่วยเป็นโรคอะไร การตรวจเลือดหรือการอัลตราซาวนด์ก็เป็นเครื่องมือวินิจฉัยเช่นกัน เรื่องนี้เห็นและเข้าใจได้ชัดเจน

แต่สิ่งที่อาจจะไม่ชัดเจนสำหรับบุคคลทั่วไปก็คือไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือวินิจฉัยใดๆก็ล้วนแต่มีโอกาสเกิดผลลวงได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลบวกลวง(บอกว่าเป็นทั้งที่จริงๆไม่ได้เป็น) หรือผลลบลวง(บอกว่าไม่ได้เป็นทั้งที่จริงๆเป็น) อัตราการเกิดผลลวงอาจจะมากน้อยต่างกันไปตามแต่ประเภทเครื่องมือและผู้ใช้งาน เครื่องมือวินิจฉัยที่ดีบางประเภทก็อาจมีอัตราการเกิดผลลวงต่ำจนไม่มีนัยสำคัญในแง่การใช้งานทั่วไป

ทว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่มีบุคลากรทางวิทยาศาสตร์สุขภาพคนใดในโลกนี้กล้าพูดก็คือการบอกว่าเครื่องมือวินิจฉัยใดๆจะถูกต้องเสมอ 100% โดยไม่มีผลลวงเลย

________________________________________

กลับมาที่ระบบยุติธรรมอีกครั้ง เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการพิจารณาคดีก็คือเครื่องมือวินิจฉัยอย่างหนึ่ง คือใช้วินิจฉัยว่าใครคือผู้กระทำผิดและใครคือผู้บริสุทธิ์ แน่นอนว่าเมื่อเป็นเครื่องมือวินิจฉัยแล้วก็ย่อมมีผลลวงเกิดขึ้นได้ทั้งสองแบบ ผลลบลวงก็เหมือนกับการที่ผู้กระทำผิดถูกตัดสินว่าบริสุทธิ์ และผลบวกลวงก็เหมือนกับการที่ผู้บริสุทธิ์ถูกตัดสินว่ากระทำผิด

คงจะเป็นเรื่องไร้เดียงสาเกินไปหากเราจะเชื่อว่ากระบวนการพิจารณาคดีจะไม่มีผลลวงเลย ถึงแม้ว่าวิทยาการในสาขานิติเวชศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้ามากขึ้นจนโอกาสเกิดผลลวงน้อยลงเรื่อยๆ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแต่เป็นสิ่งที่ยังต้องถูกตีความตามบริบทของคดี และยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกมากในกระบวนการที่ทำให้เกิดผลลวงได้

ความสามารถและวาทศิลป์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี, ลักษณะโดยธรรมชาติของคดี บุคลิกและวิธีการพูดของโจทก์ จำเลย และพยานต่างๆ, การฟ้องร้องเท็จเพื่อหาเรื่องกัน, สถานะการเงินและสังคมของบุคคลต่างๆในคดี, วัฒนธรรมความเชื่อ, หรือแม้กระทั่งอัตวิสัยของผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีโอกาสนำไปสู่คำพิพากษาที่ผิดพลาดได้ทั้งสิ้นดังที่เห็นเป็นตัวอย่างได้จากกรณีของทรงกลด

ธรรมชาติที่ไม่ 100% ของการพิจารณาคดีนี่แหละที่ทำให้การลงโทษผู้บริสุทธิ์ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งจุดนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โทษประหารไม่ควรเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นความผิดแบบใดก็ตาม

________________________________________

ในวีดีโอข่าวแสดงให้เห็นพ่อและแม่ของทรงกลดที่ไปรับลูกหน้าเรือนจำทั้งน้ำตา ผมเชื่อว่านั่นเป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปิติที่ลูกชายรอดพ้นจากตราบาปและได้กลับมาบ้าน

แต่ถ้าหากเรามีโทษประหารชีวิตทุกรายสำหรับคดีข่มขืน น้ำตาในวันนั้นคงจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาแห่งความทุกข์โทมนัสที่ลูกชายสุดที่รักต้องตายทั้งที่ไม่ได้กระทำผิด

หากคนเหล่านั้นยังมีชีวิตมันก็ยังมีความเป็นไปได้ที่คดีเหล่านั้นจะถูกรื้อฟื้นใหม่และบุคคลเหล่านั้นจะได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ทว่าหากเขาเหล่านั้นถูกประหารไปแล้วเราคงไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าจุดธูปขอขมาต่อหน้าหยาดน้ำตาที่ไหลรินจากญาติพี่น้อง

คดีที่อุกอาจและสะเทือนขวัญมักจะสร้างความโกรธแค้นให้กับผู้คนทั่วไป และพายุอารมณ์ที่รุนแรงนั้นก็มักจะทำให้เกิดการเรียกร้องให้ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง กรณีข่มขืนและพยายามฆ่าที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้ต่างกัน ผู้คนในสังคมจำนวนมากออกมาเรียกร้องโทษที่รุนแรงแก่ผู้กระทำผิดจนกลายเป็นวาทกรรม "ข่มขืนประหารทุกราย"

แต่ความโกรธแค้นนั้นมักจะบังตาจนทำให้เราลืมไปว่าอีกหนึ่งคมของดาบเล่มเดียวกันที่เรากวัดแกว่งใส่ผู้กระทำผิดอยู่นั้นก็กำลังเชือดเฉือนผู้บริสุทธิ์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ความโกรธจนลืมตัวทำให้พวกเรากำลังทำร้ายกลุ่มคนที่เราควรปกป้อง กลุ่มคนที่ความรู้สึกอันสัตย์จริงจากก้นบึ้งในใจบอกเราว่าควรถูกปกป้องแม้ว่าจะต้องปล่อยผู้กระทำผิดไป

ดังนั้นจึงไม่ควรจะมีโทษประหารสำหรับคดีข่มขืน

ไม่ควรจะมีโทษประหารสำหรับคดีใดๆทั้งนั้น

ถ้าท่านคิดว่าชีวิตผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่สังคมต้องยอมเสียสละเพื่อจะลงโทษผู้กระทำผิดให้ได้ล่ะก็ ขอให้ถามตัวเองดูเถอะครับว่าท่านเองจะยอมเป็นผู้บริสุทธิ์คนนั้นไหม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท