Skip to main content
sharethis


เหตุการณ์วันที่ 23 พ.ค. 57 หน้าหอศิลปฯ - อภิชาต คือชายที่ใส่เสื้อเชิ้ต กลางภาพ (แฟ้มภาพ)

คลิปเหตุการณ์วันที่ 23 พ.ค. 57 ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพมหานคร ช่วงทหารเข้าจับกุมอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ จำเลยคดีความผิดตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ประกาศ คสช. 7/2557 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 215 วรรคแรก, 216 และ 368 วรรแรก

9 ก.พ. 2559 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ส่งใบแจ้งข่าว ระบุว่า ในวันที่ 11 ก.พ. 2559 นี้ เวลา 09.00 น. ณ ศาลแขวงปทุมวัน จะมีนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง จ.ส.อ.อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักกิจกรรมและนักวิชาการด้านกฎหมายรุ่นใหม่ เป็นจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 8, 11 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 215 วรรคแรก, 216 และ 368 วรรคแรก เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 (คดีหมายเลขดำที่ 363/2558) จากกรณีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557

คดีนี้พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลพลเรือน เนื่องจากเหตุการณ์ที่เป็นเหตุในการฟ้องคดีเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร และฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งทั้งสองฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารตามประกาศสองฉบับดังกล่าว

ในกระบวนการดำเนินคดี ได้มีการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยไปเมื่อวันที่ 11 และ 30 กันยายน 2558 และวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบจำนวน 2 ปาก คือ ร.ท.พีรพันธ์ สรรเสริญ นายทหารสารวัตร กองพลทหารที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) และ ร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จ.ส.อ.อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ จำเลย ได้เบิกความยืนยันต่อศาลว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เป็นการแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหารโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ และเห็นว่าขณะนั้นการรัฐประหารยังไม่สำเร็จ จึงเป็นหน้าที่ประชาชนที่จะต้องพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญ คัดค้านการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นอกจากนี้ ฝ่ายจำเลยยังมี รศ.จรัญ โฆษณานันท์ นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติปรัชญา สิทธิมนุษยชน อาชญาวิทยา สังคมวิทยากฎหมาย ได้เบิกความต่อศาลในประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของการประกาศกฎอัยการศึก การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติสำเร็จเมื่อใด ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองขัดต่อรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) หรือไม่ และสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร โดยมีรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

1.  การประกาศกฎอัยการศึกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? : การประกาศกฎอัยการศึกของประเทศไทยมี 2 กรณี คือ กรณีการประกาศใช้กับพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ถือเป็นพระราชอำนาจต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าของพระมหากษัตริย์ และกรณีการประกาศใช้ในแต่ละพื้นที่ ผู้บังคับบัญชาของทหารในแต่ละพื้นที่มีอำนาจในการประกาศใช้ได้ และการประกาศกฎอัยการศึกจะมีผลเมื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันดังกล่าว และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นการประกาศโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก โดยไม่ได้มีพระบรมราชโองการ จึงเป็นการประกาศกฎอัยการศึกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.  การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติสำเร็จเมื่อใด ? : ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1153-1154/2495 ว่า การล้มล้างอำนาจเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลโดยใช้กำลังในตอนต้นอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกว่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชน หมายความว่า การรัฐประหารจะสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการยอมรับและไม่มีการต่อต้านจากประชาชน โดยมีนักทฤษฎีกฎหมายอธิบายไว้ว่า การจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้ คนในประเทศนั้นๆ จะต้องปฏิบัติตามเชื่อฟังอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันอาจจะมีการยึดอำนาจสำเร็จแล้ว แต่ขณะที่มีการฟ้องคดีนี้เห็นว่าการยึดอำนาจยังไม่สำเร็จ

3.  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองขัดต่อรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) หรือไม่ ? : ICCPR ข้อ 19 ได้รับรองคุ้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นไว้ โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้ มาตรา 4 ก็ได้บัญญัติรับรองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ มีผลผูกพันตามพันธกรณีระหว่างประเทศเช่นกัน ซึ่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 มีการจำกัดสิทธิของประชาชนดังกล่าว ประกาศจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 และ ICCPR ข้อ 19 โดยหลักเมื่อกฎหมายลูกมีลักษณะขัดต่อกฎหมายแม่แล้ว กฎหมายแม่ย่อมมีอำนาจมากกว่า

4.   ประชาชนมีสิทธิที่จะต่อต้านการรัฐประหารหรือไม่ ? : อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประชาชนมีสิทธิที่จะไม่เชื่อฟังได้ แม้จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติบังคับใช้แล้ว แต่ประชาชนยังคงมีสิทธิในการที่จะไม่เห็นด้วย การกระทำของจำเลยในคดีนี้ถือเป็นการป้องกันสิทธิในการแสดงออกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 และเมื่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 และ ICCPR ข้อ 19 แล้ว จึงไม่ถือว่าจำเลยกระทำความผิด

ทั้งนี้ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 นั้น ถือเป็นเหตุการณ์แรกที่ประชาชนได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยในวันดังกล่าวได้มีการควบคุมตัวประชาชนจำนวน 5 คน เพื่อดำเนินคดี ซึ่ง จ.ส.อ.อภิชาต ก็เป็นหนึ่งในประชาชนที่ถูกควบคุมตัวและถูกดำเนินคดี ซึ่งสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ จ.ส.อ.อภิชาต อย่างไรก็ดี ภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารยังคงมีประชาชนออกมาทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net