Skip to main content
sharethis

สปท.เตรียมถก ยุทธศาสตร์ชาติ เสนอตั้ง กก.ยุทธศาสตร์ชาติ ให้”นายกฯ-ประธานสนช.-ประธานสปท.” นั่งคุม 8 ปี ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลใหม่ หากไม่ทำตามแผนงาน และเกิดความเสียหายร้ายแรงมีโทษตามรัฐธรรมนูญ

12 ก.พ. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันที่ 16 ก.พ. นี้ มีระเบียบวาระ พิจารณารายงานการจัดทำการบริหารราชการแผ่นดินว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ และร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เสนอโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สปท. มี พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เป็นประธาน ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศมียุทธศาสตร์ชาติใช้เป็นแม่บทหลักในการกำหนดนโยบายและ แผนต่าง ๆ โดยเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้จัดตั้งองค์กรระดับชาติที่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง เพื่อดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2 องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 25 คน และคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 29 คน พร้อมทั้งให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีสถานที่ทำงาน มีงบประมาณและมีบุคลากรทำงาน

ส่วนอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เช่น จัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐและเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ กรณีไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ หากฝ่ายการเมืองทำให้เสียหายร้ายแรงแต่ไม่ปรากฏว่าทุจริตให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแต่หากเป็นข้าราชการ ต้องมีบทกำหนดโทษทางวินัย หากดำเนินการส่อไปในทางทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้ส่งเรืองให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา 37

องค์ประกอบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ชาติ จำนวน 25 คน ในบทเฉพาะกาลให้ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ อีก 22 คน ซึ่งมาจากการสรรหา วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นให้ใช้บัญชีเดียวกับ ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือประธานศาลฎีกา ส่วนคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 29 คน ประกอบไปด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับสูง เช่น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฯลฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยอำนาจหน้าที่สำคัญ เช่น กำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานของสำนักงานยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดตัวชี้วัด แผนของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น โดยยุทธศาสตร์มีผลผูกพันรัฐสภา และ ครม.ทุกสมัย แม้จะไม่ใช่รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีที่ได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารที่ส่งให้สมาชิก สปท.ระบุว่าแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติมี 4 แผนงาน ได้แก่ 1.ให้ยุทธศาสตร์ชาติได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ได้บัญญัติให้แล้วในร่างเบื้องต้น 2.ให้มีกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ มีผลบังคับใช้ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 3.สนับสนุนความมุ่งมั่นของรัฐที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.เผยแพร่ ทำความเข้าใจต่อสังคมให้ร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ ยังระบุระยะเวลาหรือโรดแมปในการผลักดันยุทธศาสตร์ที่จะต้องดำเนินการอย่าง เร่งด่วนให้เสร็จภายใน 1 ปีครึ่ง ดังนี้ภายหลัง สปท.ลงมติเห็นชอบกับแผนและร่าง พ.ร.บ.นี้ในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ในเดือน มี.ค.-เม.ย. ครม.เห็นชอบกับแผนและร่าง พ.ร.บ. และส่งให้ สนช.พิจารณาให้แล้วเสร็จเพื่อออกเป็นกฎหมายในช่วงเดือนพฤษภาคม –ตุลาคมและช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ให้มีการสรรหาคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ สำหรับการจัดตั้งสำนักงานยุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้กระทำในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2560 ส่วนยุทธศาสตร์ที่เป็นเรื่องเป้าหมาย และแผนต่าง ๆ นั้น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ต้องจัดทำให้เสร็จก่อนมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net