Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เคยกล่าวไว้ว่า ระบบเลือกตั้งตาม รธน 40 และ 50 เอื้อพรรคการเมืองอันดับหนึ่ง มากเกินไป จึงเห็นสมควรทบทวนระบบเลือกตั้งเพื่อแก้จุดอ่อนที่เรียกว่า “ความไม่สมดุลระหว่างคะแนนที่ประชาชนเลือกกับที่นั่งในสภา” (Disproportionality) ดูตารางประกอบ


ระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่กรรมการยกร่างเรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า MMA (Mixed Member Apportionment) ดูผิวเผินเหมือนจะช่วยลดจุดอ่อนเรื่องความไม่สมดุลระหว่างคะแนนที่ประชาชนเลือกกับที่นั่งในสภา แต่ เป้าหมายของระบบเลือกตั้งไม่ได้มีเพียงเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างคะแนนและจำนวนที่นั่งของพรรค (หากไม่ถึงกับพลิกทำให้พรรคที่ได้คะแนนโหวตน้อยกว่ามีที่นั่งในสภามากกว่าอย่างนิวซีแลนด์) แต่ต้องพิจารณาตรรกะหรือความสมเหตุสมผล ดูเจตนารมณ์และผลกระทบที่ตามมาประกอบด้วย ประเด็นที่พึงพิจารณามีดังนี้

การให้มีเพียงบัตรเดียวกา ส.ส.เขต แล้วเอาคะแนน ส.ส.เขตไปคิดเป็นที่นั่งบัญชีรายชื่อของพรรค เป็นกลไกที่เบี่ยงเบน ส.ส. เขตได้รับเลือกตั้งมาโดยตัวบุคคล คุณสมบัติ และฐานเสียงของตน (+ครอบครัว) หรือหากจะมีนโยบายก็เป็นนโยบายของตนในพื้นที่ ขณะที่ บัญชีรายชื่อ พรรคหาเสียงด้วยนโยบายภาพรวมของพรรค ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา การเลือกพรรคของประชาชนนอกจากเพราะเลือกนโยบายแล้ว ยังเสมือนการเลือกคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

เมื่อไม่ให้เลือกพรรค แต่ให้เอาคะแนนผู้สมัครระบบเขตไปนับเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อ และให้พรรคเสนอชื่อผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึง 3 คน ยุทธศาสตร์ที่พรรคจะใช้คือโฆษณา ส.ส. เพื่อให้ได้คะแนน ส.ส.เขตมาแปลงเป็นที่นั่งบัญชีรายชื่อ

ฉะนั้น จึงทำนายได้ว่า การซื้อเสียงจะสูงขึ้น การกว้านซื้อตัวผู้สมัครจะเข้มข้น นโยบายพรรคจะลดความสำคัญลง กลุ่มอิทธิพลในท้องที่ เจ้าพ่อ เจ้าแม่จะกลับมา พรรคขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะไม่มี ส.ส. เขตมากพอ ทั้งหมดนี้ล้วนบั่นทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับประชาชนและเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ดีกว่า

ขอเรียนว่า การนำระบบบัญชีรายชื่อใช้ร่วมกับระบบเขต ที่เรียกว่าระบบเลือกตั้งแบบผสม ไม่ว่าจะผสมแบบคู่ขนาน (Parallel) หรือผสมแบบคิดคะแนนร่วมกัน (MMP--Mixed Member Proportional) ไม่ได้มีที่มาจากความต้องการสร้างสมดุลของคะแนนกับที่นั่งในสภาเป็นเบื้องต้น แต่เป็นการผสมเพื่อให้ได้ **The Best of Two Worlds** กล่าวคือดุลยภาพระหว่าง ส.ส.เขตที่ยังทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เน้นนโยบายและส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง จึงให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เยอรมันเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันขื่นข่มและฉลาดที่จะจัดการไม่ให้ประวัติศาสตร์อันเลวร้ายกลับมาซ้ำรอย จึงประยุกต์ (Hybrid) ระบบเลือกตั้งแบบ MMP ขึ้น เพื่อให้ที่นั่งของพรรคกับคะแนนที่ประชาชนเลือกสอดคล้องกัน ป้องกันปัญหาพรรคใหญ่ได้เปรียบ

ระบบจัดสรรปันส่วนผสม แม้จะ Hybrid มากจากระบบ MMP แต่ได้ละทิ้งหลักการสำคัญที่สุดของระบบเลือกตั้งคือ การเคารพเจตนารมณ์หรือความต้องการของประชาชน โดยการนำคะแนนที่คนเลือก ส.ส. ไปนับเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรค ดังนี้ จึงเห็นว่าตรรกะในการจัดสรรที่นั่งผิดเพี้ยนบิดเบือน เพราะคนเลือก ส.ส. อาจไม่ได้ชอบพรรค-- คนจะเลือกพรรค ไม่มีโอกาสเลือก --คนไม่ได้เลือกนายก แต่อ้างว่านายกผ่านความเห็นชอบจากประชาชนแล้วจากการขายพ่วง ส.ส.เขต

ลองนึกภาพว่า ส.ส.ที่เราชอบ สังกัดพรรคที่เราไม่ชอบ และพรรคเสนอรายชื่อผู้จะเป็นนายกที่เรารังเกียจ หรือ เราไม่ชอบ ส.ส. แต่ชอบพรรค และชอบคนที่พรรคเสนอเพียง 1 คน อีก 2 คน รับไม่ได้เลย เราจะตัดสินใจอย่างไร

ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) คือ การที่เจ้าของอำนาจอธิปไตยเลือกตัวแทนไปทำหน้าที่แทนตน จะใช้ระบบเลือกตั้งแบบไหน (ที่ทุกฝ่ายยอมรับในกติกา) ก็ได้ตัวแทนเหมือนกัน ระบบเลือกตั้งไม่สามารถบอกได้ว่าเลือกจากระบบนี้เป็นตัวแทนมากกว่าระบบโน้น ตราบเท่าที่ระบบเลือกตั้งเป็นอิสระและเปิดให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม

แนวคิดเรื่อง "สัดส่วนของตัวแทน" (Degree of Proportionality) ไม่ได้มองเพียงว่าคะแนนเสียงถูกกระจายให้พรรคต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน แต่หัวใจสำคัญกว่านั้น คือ ดูว่าระบบทำให้ได้ตัวแทนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมหรือไม่ เช่น อาชีพ เพศ ชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

โดยหลักการแล้ว ระบบบัญชีรายชื่อ (PR--Proportional Representation) จะเอื้อให้เกิดสัดส่วนของตัวแทน (กลุ่มต่าง ๆ ในสังคม) มากกว่าระบบเขต ดังนั้น การกระจายคะแนนเสียงให้พรรคขนาดกลางของระบบจัดสรรปันส่วนผสมด้วยการให้เลือก ส.ส. เขต จึงไม่อาจเรียกได้ว่าทำให้เกิดสัดส่วนของตัวแทนที่พึงประสงค์ แต่ส่งผลโดยตรงทำให้พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

สรุปอย่างซื่อ ๆ ว่า การให้กาบัตรใบเดียว และให้พรรคส่งสามชื่อเพื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคขนาดกลางผงาด สุ่มเสี่ยงต่อการเปิดให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่เรียกกันติดปากว่า "คนนอก"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net