‘ไชยันต์ ไชยพร’ เป็นพยานคดี ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’

'ไชยันต์ ไชยพร' อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย”  ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” 
 
 
(ที่มาภาพ: เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
 
เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมาที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย”  ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.58 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองผู้ต้องหาในคดีนี้ ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ อีก 4 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้คดี 
 
ไชยันต์ ไชยพร ได้นัดหมายเข้าพบพนักงานสอบสวนเมื่อวานนี้ และได้นำข้อเขียนเรื่อง ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ที่เคยเขียนลงตีพิมพ์ในนิตยสารเวย์ มายื่นเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประกอบสำนวนคดีนี้ ส่วนคำให้การเกี่ยวกับคดีพร้อมจะให้การเป็นพยานในชั้นศาลต่อไป ถ้าหากมีการส่งฟ้องคดี
 
ในบทความดังกล่าว ไชยันต์อภิปรายถึงหลักเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ โดยเห็นว่าเสรีภาพในการพูดและแสดงออกมีนัยที่กว้างกว่าเสรีภาพทางวิชาการ กล่าวคือ เสรีภาพทางวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการพูด-คิดหรือแสดงออก ขณะเดียวกัน เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้หมายความว่า นักวิชาการเท่านั้นที่มีเสรีภาพนี้ เพราะคนที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการก็มีเสรีภาพทางวิชาการได้  สิ่งที่นักวิชาการแสดงออกก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นวิชาการเสมอไปด้วย บางครั้ง การที่นักวิชาการใช้เสรีภาพ อาจจะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก โดยเนื้อหาที่แสดงออกมานั้นไม่ได้สามารถเรียกได้ว่าเป็นเนื้อหาและวิธีการที่เป็น“วิชาการ” และบางครั้ง การที่คนที่ไม่ใช่นักวิชาการใช้เสรีภาพ ก็อาจจะเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ    
 
ไชยันต์ระบุในบทความว่าในโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ในโลกสื่อสมัยใหม่แล้ว ยิ่งยากจะหาบรรทัดฐานต่อขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงออก โดยในพื้นที่ที่จำกัดและคนจำกัด คนในพื้นที่นั้นก็สามารถบอกหรือสร้างหรือกำหนดขอบเขตของเสรีภาพขึ้นมาได้  แต่สิ่งที่พวกเขา (จำนวนหนึ่ง) กำหนดภายใต้พื้นที่ (ขนาดหนึ่ง) ณ เวลานั้นๆ ย่อมไม่สามารถจะขยายไปครอบคลุมคนอื่นๆ ในพื้นที่อื่นและเวลาอื่นได้  ต่อให้ใช้อำนาจรัฐ อาจจะสามารถควบคุมสังคมที่เจอตัวกันได้  แต่สังคมเจอตัวก็มี “จำนวนคนหนึ่งๆ” “พื้นที่หนึ่งๆ” และ “เวลาหนึ่งๆ” จำกัดอยู่เสมอ แต่สำหรับโลกหรือพื้นที่ในสื่อสมัยใหม่ เป็นการยากที่จะควบคุม                            
 
ไชยันต์ระบุด้วยว่าในประเด็นปัญหาหนึ่งๆ หากมีผู้คนนำไปถกเถียงกัน โดยพยายามใช้เหตุผลหรือชุดความคิด ชุดจริยธรรม ศีลธรรม จารีต ฯลฯ และพยายามตัดสินว่า ขอบเขตควรอยู่แค่ไหนและอย่างไร ในลักษณะของข้อเสนอเพื่อการหารือถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปที่พอเป็นไปได้ หรือถ้าหาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็เสวนากันต่อไป อย่างนี้ เรียกได้ว่า เป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งคนที่ไม่ใช่นักวิชาการก็สามารถแสดงออกทางความคิดผ่านการพูดหรือเขียนในลักษณะนี้ได้เช่นกัน
 
ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ต้องหายังเหลือพยานบุคคลที่ต้องการจะนำเข้าให้การเพิ่มเติมอีกหนึ่งคน ได้แก่ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แต่เนื่องจากพยานยังไม่สะดวกเดินทางมาประเทศไทยในช่วงนี้ และพนักงานสอบสวนระบุว่าต้องเร่งจัดทำสำนวนส่งต่ออัยการทหาร ทำให้ทางฝ่ายผู้ต้องหาจะประสานพยานเพื่อจัดส่งคำให้การเป็นหนังสือมายื่นต่อพนักงานสอบสวนต่อไป
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท