Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



หากมนุษยศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีวิทยาที่นำไปสู่การทำความเข้าใจสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์แล้วไซร้ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ คือนักประวัติศาสตร์ไทยคนหนึ่งที่สมควรได้รับการกล่าวถึงเพราะเป็นนักวิชาการผู้คร่ำหวอดในวงวิชาการ โดยเฉพาะในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มาเป็นระยะเวลายาวนาน อาจารย์ฉลองเป็นดัง “เสาหลัก” ของภาควิชาประวัติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเสาหลักของแผ่นดิน -จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย- มาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่ามากว่า 40 เล่ม จน นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวว่า “อาจารย์ฉลองเป็นนักวิชาการที่มีมิตรและศิษย์มากที่สุด...เพราะความสนใจของอาจารย์ฉลองนั้นกว้างขวาง” (ธนาพล และสุวิมล, 2558: 9)

บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะนำเสนอว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาจารย์ฉลองได้ผลิตงานวิชาการเรื่องใดไว้บ้าง และมีความสนใจประเด็นอะไรในทางประวัติศาสตร์ และความสนใจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา เพราะได้มีผู้ทำการสำรวจเบื้องต้นไว้แล้ว (โปรดดูบทความของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ใน ธนาพล และสุวิมล, 2558) แต่ผู้เขียนการต้องจะศึกษาว่า แนวคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ รวมถึงมุมมองที่มีต่อมนุษย์และวัฒนธรรมของอาจารย์ฉลองเป็นอย่างไร โดยทำการสังเคราะห์ผ่านงานเขียนจำนวนหนึ่งของอาจารย์ ทั้งนี้นอกจากจะเพื่อบูชา “ครู” คนสำคัญคนหนึ่งของวงการประวัติศาสตร์ไทยแล้ว การสังเคราะห์แนวคิดและมุมมองทางประวัติศาสตร์ มนุษย์ และวัฒษนธรรมของอาจารย์ฉลองยังเป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง โดยเฉพาะผู้สนใจที่จะก้าวเข้ามาเป็น “นักเรียนประวัติศาสตร์” เพราะการทำความเข้าใจแนวคิดทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์ฉลองย่อมสะท้อนแนวโน้ม ความคลี่คลาย และความเปลี่ยนแปลงของแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่ผ่านมาอีกด้วย


แกะรอยอาจารย์ฉลอง

อาจารย์ฉลองได้กล่าวถึงลักษณะนิสัยของตนเองเอาไว้ว่าเป็นคนที่ “ใช้ชีวิตแบบไร้สาระ อยู่ไปวันๆ อยู่ไปเรื่อยๆ” (ฉลอง, 2553: 10) เกิดในครอบครัวจีนยากจนคนอพยพแถวชุมชนแออัดแถววัดดอนยานนาวา สายตระกูลทั้งปู่ตาและพ่อ รวมถึงพี่น้องของแม่ที่สิงคโปร์ล้วนทำงานรับจ้าง ไม่เป็นเสมียนก็ช่าง ไม่มีเคยมีใครคิดจะเอาดีทางท่องบ่นคำภีร์ขงจื้อสอบจองหงวน การสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเข้ามหาวิทยาลัย จนกระทั่งกลายเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งที่อาจารย์ฉลองเรียกว่า “ไกลเกินฝัน-หล่นไกลต้น” (ฉลอง, 2553: 15)

ตอนเข้าโรงเรียนเตรียมฯ ใหม่ๆ นั้น อาจารย์ฉลอง เคยคิดจะเรียนต่อที่คณะรัฐศาสตร์ วางเข็มอนาคตว่าจะเป็นทูต ยังไม่มีความมคิดที่จะเข้าเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จนกระทั่งได้พบกับผลงานและเรื่องราวของนิสิตเก่าคณะอักษรฯ สองคนซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลให้อาจารย์เลือกเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ในคณะอักษรศาสตร์ นิสิตเก่าคณะอักษรคนแรกนั้นคือ -นิธิ เอียวศรีวงศ์- ที่อาจารย์ฉลองรู้จักผ่านทางงานเขียนทั้งที่เป็นเรื่องสั้น งานเขียนในเชิงวิพากษ์สังคมและมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และงานเขียนทางวิชาการประวัติศาสตร์ จนกระทั่งประทับใจในข้อเสนอและข้อถกเถียง ความรอบรู้ ลุ่มลึก รวมทั้งความกล้าในการคิดวิพากษ์ อย่างที่ไม่เคยทึ่งหรือประทับใจใครในระดับนี้มาก่อน จนทำให้อาจารย์ฉลองหันมาแน่วแน่กับการเตรียมสอบเพื่อเข้าคณะอักษรฯ (ฉลอง, 2553: 31)

นิสิตเก่าคณะอักษรฯ คนที่สองได้แก่ -จิตร ภูมิศักดิ์- ผ่านบอร์ดนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องราว “ความสำเร็จ” ของการปราบปรามคอมมิวนิสต์ และ “การจับตาย” ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่เทือกเขาภูพานซึ่งในนิทรรศการดังกล่าวมีภาพและชื่อของ “ผกค.” (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) ที่ถูกจับตาย พร้อมคำบรรยายต่อท้ายชื่อว่า “อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาฯ” โดยอาจารย์ฉลองได้เล่าย้อนไปถึงเรื่องราวในตอนนั้นว่า “ผมอธิบายความรู้สึกของผมในตอนนั้นไม่ถูก แต่โดยรวมก็คือ ผมได้พบและ “รู้จัก” นิสิตอักษรฯ ที่เป็น “กบฏ” (ผ่านภาพและตัวอักษร) ในช่วงไล่ๆ กันถึง 2 คน...มันกลายเป็นความฝังใจลึกๆ อยากรู้อยากสัมผัสว่าคณะฯ นี้สอนอะไร ถึงสร้าง “กบฏ” ได้มากมายปานนั้น” (ฉลอง, 2553: 32) ความรู้สึกประทับใจกับ “กบฏ” เช่นนี้ได้สะท้อนลักษณะนิสัยและแนวคิดลึกๆ ของอาจารย์ฉลองซึ่งจะปรากฏออกมาในผลงานการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์ฉลองด้วย ดังที่ธงชัย วินิจจะกูล ได้กล่าวไว้ว่า “บุคลิกของ อ.ฉลอง เป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเล่นตลกกับเรื่องซีเรียส ชอบแหย่ ท้าทายแบบทีเล่นทีจริง (แปลว่าจริงจังแบบเราไม่รู้ตัว) อ.ฉลองรักษาความเป็นปัจเจกชนอิสระที่ “ล้อเล่น” กับจารีตธรรมเนียมมาตรฐานได้อย่างคงเส้นคงวา พอเหมาะพอควร และด้วยความสามารถที่คนอื่นต้องเคารพ” (ธนาพล และสุวิมล, 2558: 119)


การเรียนในระดับปริญญาตรีเป็นเวลา 4 ปี อาจารย์ฉลองเลือกเรียนต่อในระดับปริญญาโทเพราะไม่ต้องการถูกเกณฑ์ทหาร วิธีที่จะเลี่ยงการเกณฑ์ทหารได้ชั่วคราวคือรักษาสถานะนิสิตไว้ อาจารย์ฉลองเลยสมัครเรียนต่อปริญญาโทที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และเริ่มตั้งใจร่ำเรียนอย่างจริงๆ จังๆ (ฉลอง, 2553: 37) ในช่วงที่ยังเป็นนิสิตปริญญาโทประวัติศาสตร์อยู่นั้น อาจารย์ฉลองดูจะให้ความสนใจการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์มากเป็นพิเศษ ผลงานวิชาการเรื่องแรกในชีวิตทางวิชาการของอาจารย์ฉลองจึงทำการศึกษาเรื่อง วิวัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทยจากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งนี้เพราะเห็นความสำคัญของการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่า “ปัญหาประวัติและวิวัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ในด้านประวัติศาสตร์ทางความคิด (History of Idea) กลับไม่ได้ความสนใจจากนักศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเท่าที่ควร” (ฉลอง, 2515: 68) และควรจะต้องตระหนักด้วยว่า ในขณะที่อาจารย์ฉลองทำการศึกษาค้นคว้าและอธิบายในประเด็นดังกล่าวนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพิ่งผลิตผลงานที่ศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ออกมาเพียงบทความเดียว คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับอาร์โนลด์ ทอยน์บี (นิธิ, 2512) ส่วนผลงานที่โด่งดังอย่าง ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา นั้นยังไม่แล้วเสร็จจนกระทั่งปี 2523 (นิธิ, 2523) จึงอาจกล่าวได้ว่าอาจารย์ฉลองเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยเป็นคนแรกๆ และการให้ความสำคัญกับการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์เช่นนี้จะส่งผลอย่างสำคัญต่อมุมมองที่อาจารย์ฉลองมีต่อวิชาประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนจะอธิบายต่อไปในภายหลัง

ในบทความดังกล่าว อาจารย์ฉลองมุ่งศึกษาพัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทยในช่วงระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงและเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเป็นแบบแผนในการปฏิรูปปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า

1. ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ทั้งในด้านวัตถุและจิตใจ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทัศนคติและวิธีการศึกษาแบบตะวันตกได้ทำให้แนวทางของประวัติศาสตร์ไทยดำเนินไปในแนวใหม่ ประวัติศาสตร์ของชาติเริ่มมีเค้าโครงใกล้เคียงความหมายที่แท้จริง ผิดจากประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ ที่แสดงออกในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ก่อนหน้านั้น

2. พร้อมๆ กับการที่มีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในทางประวัติศาสตร์ วิธีการเขียนประวัติศาสตร์ไทยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปจากเดิม และการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยก็เริ่มมีฐานะสูงขึ้นและสำคัญมากขึ้น แม้ว่า “นักประวัติศาสตร์อาชีพ” ในความหมายที่แท้จริงจะยังไม่มีก็ตาม แต่สถาบันหลายสถาบันที่ก่อตั้งในระยะเวลาดังกล่าว ก็ได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในแบบแผนตะวันตกมากขึ้น เป็นต้นว่า หอพระสมุด หนังสือพิมพ์วชิรญาณ และโบราณคดีสโมสร เป็นต้น (ฉลอง, 2515: 69-70)

ด้วยเหตุดังนั้น “วิวัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทย” จึงเป็นผลของการที่ทัศนคติและแนวคิดของการศึกษาแบบตะวันตกแพร่หลายเข้ามา แต่พลังทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติก็มิได้ถูกกลืนหายไปกับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกทั้งหมด ลักษณะบางประการของพงศาวดารแบบเดิมยังคงมีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในงานเขียนของระยะที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง (ฉลอง, 2515: 81-82) อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าหลังจากผลงานชิ้นนี้เสร็จสิ้นแล้ว ความสนใจในประเด็นเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ของอาจารย์ฉลองดูจะเบาบางลงไป เพราะไม่ปรากฏว่ามีผลงานศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ตีพิมพ์ขึ้นมาอีก ต้องรอจนกระทั่งปี 2535 อาจารย์ฉลองจึงกลับมาเสนอผลงานในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์อีกครั้งจากบทความเรื่อง งานเขียนประวัติศาสตร์ของของคนพื้นเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคท้องน้ำสมัยจารีต: “หน้าที่” ของอดีต และ “การรับรู้อดีต” ของคนพื้นเมือง (ฉลอง, 2535ก) และ Maha Sila Viravongs Phongsawadon Lao: A Reappraisal ในปี 2542 ก่อนที่จะแปลและพิมพ์เป็นบทความภาษาไทยในปี 2549 (Chalong, 1999; ฉลอง, 2549)

มีความเป็นได้ว่าอาจารย์ฉลองจะนำเวลาทั้งหมดไปทุ่มเทกับวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาของตนเอง จนแล้วเสร็จโดยใช้เวลาในการศึกษาเพียงสองปีเศษ แม้วิทยานิพนธ์ของอาจารย์ฉลองจะไม่ได้สนใประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์อีกต่อไป แต่ก็ยังมีความคาบเกี่ยวกันอยู่บ้างกับความสนใจที่ปรากฏออกมาในบทความวิชาการฉบับแรก นั่นก็คือ ความสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลาที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ สูงเนื่องจากการขยายอิทธิพลเข้าของจักรวรรดินิยมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 - 6 ซึ่งผลงานเรื่อง รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5 - 6 (2518) ของอาจารย์ฉลอง ได้ใช้ความพยายามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศทั้งสองเป็นแกนกลางในการอธิบายที่นำพาผู้อ่านไปสู่ความเข้าใจระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ในการเมืองโลก การสถาปนาความสัมพันธ์สัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรุสเซีย-ไทย จึงไม่ได้เป็นเรื่องของเพียงสองประเทศนี้เท่านั้น เป็นผลมาจากตำแหน่งแห่งที่ของประเทศทั้งสองในระบบการเมืองโลกที่มีทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ ตะวันออกไกล และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย (โปรดดู ฉลอง, 2518)

ประวัติศาสตร์การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของสยามดูจะอยู่ในความสนใจของอาจารย์ฉลองไปอีกนาน เพราะหลังจากหนังสือเล่มดังกล่าวพิมพ์ออกมาแล้ว อาจารย์ฉลองก็ยังผลิตผลงานทางวิชาการในประเด็นดังกล่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ บทวิจารณ์บทความ “ฝรั่งเศสและคลองกระ” (2527ข) สัมพันธภาพไทย-ลาวเชิงประวัติศาสตร์ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 (2529ง) ประเทศไทยกับการเมืองโลก: การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (2533ข) การเมืองเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป (2540) และ ไทยกับการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ค.ศ.1899 (2542) เป็นต้น

หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาแล้ว อาจารย์ฉลองก็ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทันที ภายหลังจากนั้น ความสนใจในงานวิชาการของอาจารย์ฉลองดูแตกต่างหลากหลายและยากที่จะระบุลงไปให้ชัดเจนว่าอาจารย์ฉลองให้ความสนใจประวัติศาสตร์ด้านใดมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากจะลองแบ่งความสนใจของอาจารย์ฉลองช่วงหลังจากการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ออกเป็น 3 ด้านกว้างๆ ด้านที่หนึ่ง คือ ความสนใจอันเกี่ยวกับ “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” ทั้งที่รวบรวมด้วยตนเอง อาทิเช่น การรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉลอง 2529ค; 2530ก; 2530ข) และเขียนคำนำให้กับหนังสือที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ อาทิ หนังสือเรื่อง ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (2529ข) และ ประวัติศาสตร์ลาว ของเติม วิภาคย์พจนกิจ (2530) เป็นต้น

ความสนใจด้านที่สอง ได้แก่ การทำงานประเภท “การสำรวจสถานภาพทางความรู้” ซึ่งพบว่าอาจารย์ฉลองได้ผลิตงานในลักษณะดังกล่าวออกมาหลายชิ้นด้วยกัน อาทิ สถานภาพการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทย (2529ก) สถานภาพการศึกษาด้านประวัติศาสตร์: รายงานการสำรวจเบื้องต้นจากวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ พ.ศ.2515-2534 (2533) สถานภาพงานวิจัยสาขาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ.2503-2535 (2536) และ สถานภาพของความรู้ทางประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยีไทย (2541) ความสนใจทางวิชาการทางด้านนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการเสนอประเด็นหรือข้อถกเถียงในทางวิชาการใหม่ แต่ก็มีคุณูปการแก่วงการวิชาการเป็นอย่างสูง เพราะงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้จะทิ้งข้อสงสัย รอยว่าง ช่องโหว่ ของการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเด็นต่างๆ เอาไว้ให้นักวิชาการรุ่นหลังหรือผู้ที่สนใจได้สานต่อ คุณูปการด้านนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการวิจัยเรื่อง สถานภาพของความรู้ทางประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของผลงานการศึกษาประวัติศาสตร์แพทย์ไทยชิ้นเยี่ยมของ ทวีศักดิ์ เผือกสม จากหนังสือเรื่อง เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ในสังคมไทย (ทวีศักดิ์ 2550) ซึ่งทวีศักดิ์เป็นผู้ช่วยวิจัยคนหนึ่งของอาจารย์ฉลองในการประเมินสถานภาพความรู้ทางประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั่นเอง

ส่วนงานกลุ่มสุดท้าย ที่อาจารย์ฉลองเพิ่งผลิตขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ ที่แม้ว่าจะมีปรากฏออกมาเป็นจำนวนน้อยเพียง 2-3 ชิ้น คือ โหรไทยกับประวัติศาสตร์โลก: เมื่อโหรไทยทำนายดวงพระชาตามกุฎราชกุมารรัสเซีย (2549ข) Small Arms, Romance, Crime and Violence in Post World War II Thai Society (2005) และ The Regionalization of Local Buddhist Saints: Amulets, Crime and Violence in Post WW II Thai Society (2013) แต่ผลงานทั้งหลายเหล่านี้กลับเป็นงานที่โดดเด่นที่สุดของอาจารย์ฉลอง เพราะเป็นผลงานที่ประหนึ่งว่าถูกทำคลอดออกมาจากองค์ความรู้และความสนใจอันหลากหลายที่อาจารย์ฉลองสั่งสมมาตลอดชีวิตทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองบทความหลังที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นผลงานทางวิชาการที่อธิบายสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างรอบด้าน อาจารย์ฉลองนำเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันได้เลย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมและการบูชาพระเครื่อง, นักเลงและอันธพาล, ความรุนแรงและอาชญากรรม, สงครามโลกครั้งที่สอง, ปืนเล็กและความรู้ทางการทหาร, วัฒนธรรมการเขียนนิยาย, ความอ่อนแอของรัฐ ฯลฯ มาเชื่อมโยงจนได้ผลงานทางประวัติศาสตร์ที่ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่รอบด้าน ลุ่มลึก และอ่านสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง โดยที่อาจารย์ฉลองได้กล่าวถึงการศึกษาของตนเองไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่พยายามจะพูดถึงสิ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึงในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักเลย (Chalong, 20013: 207-208)

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าอาจารย์ฉลองเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีความสนใจหลากหลายและกว้างขวางมาก และผลงานทางวิชาการที่อาจารย์ฉลองผลิตออกมานั้นล้วนเป็นผลงานที่มีคุณภาพสูงและมีประโยชน์ต่อวงวิชาการไทยเป็นอย่างยิ่ง ประเด็นที่เราควรพิจารณาต่อไปก็คือผลงานต่างๆ เหล่านี้นั้นสะท้อนมุมมองที่อาจารย์ฉลองมีต่อวิชาประวัติศาสตร์อย่างไรซึ่งผู้เขียนขอยกไว้เล่าในบทความตอนต่อไป

 


บรรณานุกรม

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2515). “วิวัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทย จากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: ศึกษาเปรียบเทียบพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2,” วารสารศิลปากร, (ปีที่ 16 เล่มที่ 4, 2515), น.68-82.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2518). รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5-6. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2527ก). “ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์และกบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน: ข้อสังเกตเบื้องต้นว่าด้วยอุดมการณ์และผู้นำ” ใน พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และอัจฉราพร กมุทพิสมัย (บก.) ความเชื่อพระศรีอาริย์และกบฏผู้มีบุญในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, หน้า 22-32.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2527ข). “บทวิจารณ์บทความ “ฝรั่งเศสและคลองกระ” ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเรื่อง 300 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 14-15 ธันวาคม 2527.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2529ก) “สถานะของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 5 ฉบับที่ 3-4 (เมษายน-กันยายน 2529) หน้า 53-63

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2529ข). “คำนำ,” ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง. เสถียร พันธรังสี และอัมพร ทีขะระ แปล. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2529ค). “รากเหง้าของความเปลี่ยนแปลง: เอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2469-2474.” วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2529) น. 74-112.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์. (2529ง). “สัมพันธภาพไทย-ลาวเชิงประวัติศาสตร์ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20,” ศิลปวัฒนธรรม. ปี่ที่ 8 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2529). น.142-155.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2530ก). “รากเหง้าของความเปลี่ยนแปลง: เอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2469-2474.” วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2530) น. 68-80.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2530ข). “รากเหง้าของความเปลี่ยนแปลง: เอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2469-2474.” วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2530) น. 58-81.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2533ก). “ถิ่นกำเนิดชนชาติไท: สมมุติฐานของนักวิชาการตะวันตก.” เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2533 เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา เรื่อง ชนชาติไทย: คำถามที่ต้องช่วยกันตอบ วันที่ 18-19 ตุลาคม 2533 ณ ห้อง 116 ตึกอักษรศาสตร์ 1 คณะอักษรศาสตร์ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2533ข). “ประเทศไทยกับการเมืองโลก: การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง.” นโยบายต่างประเทศไทยบนทางแพร่ง. ฉันทิมา อ่องสุรักษ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2535ก). “งานเขียนประวัติศาสตร์ของคนพื้นเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคน้ำสมัยจารีต: “หน้าที่” ของอดีตและ “การรับรู้อดีต” ของคนพื้นเมือง.” เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: คาบสมุทรและกลุ่มเกาะ” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และทัศนศึกษาชายฝั่งทะเลคาบสมุทรไทย วันที่ 23-28 มิถุนายน 2535.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2535ข). “สถานภาพการศึกษาด้านประวัติศาสตร์: รายงานการสำรวจเบื้องต้นจากวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ พ.ศ.2515-2534.” วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (กรกฎคม-ธันวาคม 2535)

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2536). รายงานการวิจัยเรื่อง สถานภาพงานวิจัยสาขาประวัติศาสตร์ไทย ระหว่าง พ.ศ.2503-2535. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2540). “การเมืองเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป” รายงานการวิจัยนำเสนอในการประชุมทางวิชาการเรื่อง ยุโรปกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว: โอกาส ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลง จัดโดยสยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมป์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 18-20 ธันวาคม 2540 ณ โรงแรม เจ ดับลิว แมริออท.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2541). สถานภาพความรู้ทางประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2542). “ไทยกับการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ค.ศ. 1899” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 21 ฉบับที่ 2 (2542) หน้า 1-36.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2544). “บทวิจารณ์อานันท์ กาญจนพันธุ์ “สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝัน ในงานของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา,” 60 ปี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง). น. 229-245.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2549ก). “พงสาวะดานลาว ของ มหาสิลา วีระวงศ์,” จักรวาลวิทยา. (กรุงเทพฯ: มติชน). น. 2-37.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2549ข). “โหรไทยกับประวัติศาสตร์โลก: เมื่อโหรไทยทำนายดวงพระชาตามกุฎราชกุมารรัสเซีย.”  ศิลปวัฒนธรรม  ปีที่ 27  ฉบับที่ 3 หน้า 78-91

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2553). ไร้สาระ: บางส่วนของบันทึกและงานเขียนอันปราศจากคุณค่าและไม่สมควรรำลึกจดจำในช่วงชีวิต 43 ปีเศษๆ ในจุฬาฯ. กรุงเทพฯ: ศอฉ.ศูนย์อำนวยการการเกษียณอายุการทำงานของอาจารย์ฉลอง.

ธนาพล ลิ่มอภิชาต และสุวิมล รุ่งเจริญ บรรณาธิการ (2558). เจ้าพ่อ ประวัติศาสตร์ จอมขมังเวทย์. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2512). “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับอาร์โนลด์ ทอยน์บี”, สังคมศาสตร์ปริทัศน์. ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน-สิงหาคม).

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2523). ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.

เติม วิภาคย์พจนกิจ (2530). ประวัติศาสตร์ลาว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ทวีศักดิ์ เผือกสม (2550). เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Chalong Soontravanich (1999). “Maha Sila Viravong’s Phongsawadon Lao: A Reappraisal.” A research paper presented to the 7th International Conference on Thai Studies, University of Amsterdam, July 5-8.

Chalong Soontravanich (2005). “Small Arms, Romance, Crime and Violence in Post World War II Thai Society.” Southeast Asian Studies. Vol. 43, No. 1. 2005.

Chalong Soontravanich (2013). “The Regionalization of Local Buddhist Saints: Amulets, Crime and Violence in Post-World War II Thai Society.” SOJOURN: Journal of Social Issues in Southeast Asia. Vol. 28, No.2 (2013) pp. 179-215.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net