ประวิตรมั่นใจร่างรธน.ผ่าน วิษณุขอกกต.กำหนดความผิดบิดเบือนรธน.ให้ครอบคลุมโซเชียล

16 ก.พ. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประชามติ ว่า ตนดูแลงานด้านความมั่นคง พร้อมทุบโต๊ะและตอบคำถามอย่างมั่นใจว่า ผ่านประชามติ เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นสากล ไม่ได้เข้าข้างใคร เรื่องนี้จะให้ถูกใจคนทุกคนเป็นไปไม่ได้ ต้องมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ

ห้ามเดินขบวน-ห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว ปมรณรงค์ประชามติ

นอกจากนี้ มติชนออนไลน์ ยังรายงานด้วย พล.อ.ประวิตร  ได้ตอบคำถามถึงกรณีที่ว่าคสช.จะเปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “เวลานี้ไม่ได้ให้หรืออย่างไร ปัจจุบันใครบอกว่าไม่ให้ทำ แต่ไม่ใช่ว่าจะออกมาเดินขบวน” ต่อข้อถามว่ากรณีกลุ่มเครือข่ายองค์กรสตรีเองก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารออกมาห้ามไม่ให้จัดเวทีแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ(อ่านรายละเอียด) พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ ผมก็บอกแล้วว่าให้ออกมาถ้าสงสัยในเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้ขอให้ไปคุยกับนายวิษณุดีกว่า เรื่องนี้เขาให้แสดงความเห็นอยู่แล้ว ผมเองก็ไม่ได้ห้าม จะไปห้ามตอนไหน”

เมื่อถามว่าแต่ฝ่ายการเมืองเองก็มองว่าการไม่ให้เปิดประชุมพรรคเป็นการไม่ให้แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ทำไม่ได้ ถ้าพรรคการเมืองเปิดที่เดียวก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าให้เปิดก็จะเปิดทั่วประเทศ ลงไปถึงหมู่บ้าน แล้วใครจะไปคุมไหว ตนจะใช้กำลังที่ไหนไปดูแล มีอะไรเกิดขึ้นแล้วใครจะรับผิดชอบ เวลานี้ก็บอกแล้วว่าต้องยอมกันไปก่อนแต่ถ้าสงสัยอะไรก็ให้ส่งมาเพราะนายวีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ก็อ่านทุกเรื่องอยู่แล้ว จะมาอะไรกันอีก
 
ปธ.สนช.ระบุแก้รธน.ชั่วคราวประเด็นออกเสียงประชามติเร็ว ๆ นี้
 
วันเดียวกัน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ประเด็นการออกเสียงประชามติให้มีความชัดเจนว่าจะใช้เกณฑ์จากการใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ เพื่อไม่ให้มีปัญหา โดยจะแก้ไขในเร็ว ๆ นี้ ก่อนจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
 
“ส่วนจะเพิ่มเติมว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แล้วจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดหรือไม่จะต้องหารือกับคณะรัฐมนตรี( ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก่อน เนื่องจากมีข้อท้วงติงว่าอาจจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของประชาชน และเมื่อรัฐบาลส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาแล้ว สนช. จะต้องใช้เวลาพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 15 วันหลังได้รับร่าง” ประธานสนช. กล่าว
 
กกต. คาดโทษป่วนประชามติ 'ขวาง-โกง' เจอหนัก ติดคุก-ตัดสิทธิ ลต. 10 ปี
 
วานนี้ (15 ก.พ.59) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการพิจารณาว่าจะมีการเพิ่มเติมหรือปรับแก้ลักษณะความผิด และช่องทางการกระทำผิดที่จะมีโทษทางอาญา ในร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ กกต.ได้ยกร่างเสร็จแล้วหรือไม่ รวมทั้งจะมีการปรับเป็นร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีความเห็นในชั้นหารือร่วมกัน หรือเสนอเป็นร่างกฎหมายแล้วให้รัฐบาลไปพิจารณาเองว่าจะตราเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติฯ ที่ กกต.ร่างเสร็จแล้ว มีทั้งสิ้น 16 มาตรา ประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการ ลักษณะความผิดที่มีการกำหนดนั้นส่วนใหญ่จะเหมือน พ.ร.บ. ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 50 ประกอบด้วย

หากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานออกเสียงฯ ตั้งแต่ กกต. จนถึงผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยเหลือในการปฏิบัติงานออกเสียง จงใจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ ขัดขวางมิให้เป็นไปตามกฎหมาย ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางที่ทำให้การออกเสียงไม่สุจริต เที่ยงธรรม มีโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท-สองแสนบาท จำคุก 1-10 ปี และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี แต่ถ้าปฏิบัติโดยสุจริต ก็ได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

อย่างไรก็ตาม กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานออกเสียงฝ่าฝืนกฎหมาย กกต. มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นยุติ หรือระงับการกระทำที่เห็นว่าอาจทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้ ขณะที่ผู้ใดขัดขวางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานออกเสียงทุกระดับมิให้ปฏิบัติ ตามประกาศ กกต. มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการขัดขวางเป็นการขู่เข็ญ ใช้กำลัง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกับผู้บังคับบัญชา นายจ้าง ถ้าขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง ก็ต้องรับโทษในอัตราเดียวกัน

ส่วนผู้ทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงโดยไม่มีอำนาจ หรือทำให้ชำรุดเสียหาย ทำบัตรเสีย ซึ่งเป็นบัตรที่ใช้ได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หากผู้กระทำเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียง มีโทษหนักขึ้น จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงสองแสนบาท

สำหรับระหว่างเปิดการลงคะแนนออกเสียง ผู้ใดรู้อยู่แล้วไม่มีสิทธิออกเสียงในหน่วยนั้น ผู้ที่ใช้นำบัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรออกเสียง หรือนำบัตรออกเสียงออกจากที่ออกเสียง ทำเครื่องหมายใดไว้ที่บัตรออกเสียงเพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นบัตรออกเสียงของตน ใช้อุปกรณ์ใดบันทึกภาพบัตรออกเสียงที่ตนลงคะแนนออกเสียงแล้ว ขัดคำสั่งกรรมการประจำหน่วยที่สั่งให้ออกไปจากที่ออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

นอกจากนี้ หากนำบัตรออกเสียงใส่หีบบัตรโดยไม่มีอำนาจ กระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนออกเสียงผิดไปจากความจริง กระทำการให้บัตรออกเสียงเพิ่มขึ้นจากความเป็นจริง ขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปยังที่ออกเสียง ก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง กระทำการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ส่วนผู้ใดก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้เสนอ ให้สัญญาว่าจะให้ จัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ให้ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทำให้สำคัญผิดในวันเวลาที่ออกเสียง วิธีการลงคะแนนออกเสียง เปิดทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหายไร้ประโยชน์ นำไปหรือขัดขวางการส่งหีบบัตรออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท

หากจัดให้มีการพนัน อันมีผลจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง เรียกหรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนและผู้อื่น เพื่อไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

ขณะเดียวกัน กำหนดห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก จัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนออกเสียง จนสิ้นสุดวันออกเสียง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิไปหรือกลับจากที่ออกเสียงโดยไม่เสียค่าโดยสาร ค่าจ้างตามปกติ รวมถ้าจูงใจ ควบคุมให้ผู้มีสิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ อาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี แต่บทบัญญัตินี้ยกเว้นกับหน่วยงานของรัฐที่จัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิออกเสียง และห้ามเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียง 7 วันก่อนการออกเสียง จนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียงในวันออกเสียง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับกรณีกรรมการประจำหน่วยออกเสียง ถ้าจงใจนับบัตรออกเสียง คะแนนออกเสียง อ่านบัตรเสียง รวมคะแนนออกเสียง ผิดไปจากความจริง หรือทำให้บัตรออกเสียง ชำรุด เสียหาย และทำรายงานการออกเสียงไม่ตรงกับความจริง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงสองแสนบาท

แต่ส่วนที่มีการกำหนดเพิ่มชัดเจนกว่าร่างกฎหมายปี 50 คือ กำหนด ให้ผู้ใดเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ หรือลักษณะอื่นใด โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้ที่กระทำผิดทั้งก่อความวุ่นวาย ให้สัญญาว่าจะให้หลอกลวง บังคับขู่เข็ญ จนทำให้ต้องมีการออกเสียงประชามติใหม่ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการออกเสียงประชามติใหม่ด้วย แต่กรณีผู้ที่รับเงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น แล้วมาแจ้งต่อ กกต. ก่อนหรือในวันออกเสียงไม่ต้องรับโทษและไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยกเป็นข้อสังเกตในการหารือว่า การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจใช้วิธีใส่ร้าย บิดเบือน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะกระทำผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ขอให้ กกต. ไปกำหนดความผิดให้ครอบคลุมการกระทำเหล่านี้ รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. ที่ กกต. ยกร่าง ก็กำหนดความผิดที่กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการใช้คำว่า "ช่องทางอื่น" น่าจะกว้างขวางเพียงพอแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต. พิจารณาอีกครั้ง

ตำรวจขอกลุ่มเส้นทางสีแดงยุติกิจกรรม ‘Vote No’ อ้างคำสั่ง หน.คสช.ห้ามชุมนุม
 
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า กลุ่มเส้นทางสีแดงจัดกิจกรรม ‘Valentine Vote No’ โดยประชาสัมพันธ์ทางเฟซบุ๊ค ฟอร์ด เส้นทางสีแดง เชิญชวนผู้รักประชาธิปไตย ใส่เสื้อ ‘Vote No’ รับสติ๊กเกอร์รณรงค์ ‘ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ’ ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.
 
 
โดย เวลา 13.10 น. ขณะกลุ่มผู้จัดกิจกรรม ซึ่งใส่เสื้อ ‘Vote No’ ประมาณ 7 คน อยู่ในร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมสติ๊กเกอร์ที่เตรียมมาสำหรับแจก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 5 นาย และนอกเครื่องแบบประมาณ 7 นาย เข้ามาเจรจาขอให้ทางกลุ่มผู้จัด ยุติกิจกรรม โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมือง
 
ด้านผู้จัดกิจกรรมกล่าวว่า กลุ่มออกมาจัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้ขอบเขตของกฏหมาย และทำตามที่ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อ 2 วันก่อนว่า การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ตามกฎหมาย โดยในระหว่างการพูดคุย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอตรวจดูบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดกิจกรรม โดยอ้าง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน
 
อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 13.30 น. ทางกลุ่มเส้นทางสีแดงได้ยอมยุติการจัดกิจกรรม และขอให้สื่อมวลชนช่วยเป็นพยานว่า พวกเขาทำตามกรอบของกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือทางกลุ่มก็ยอมยุติกิจกรรม
 
ทั้งนี้ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยกมาอ้างเพื่อขอตรวจดูบัตรของกลุ่มเส้นทางสีแดง คือ พระราชบัญญัติบัตรประจําตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ซึ่งในมาตรา 17 ระบุว่า “ผู้ถือบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป ผู้ใดไม่สามารถแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท”
 
ฟอร์ด เส้นทางสีแดง เป็นที่รู้จักในหมู่นักกิจกรรมว่า มักทำเสื้อรณรงค์ทางการเมือง แล้วนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งบริจาคช่วยเหลือนักโทษการเมืองมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 19 พ.ค.58 เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมที่ร้านแม็คโดนัลด์ แยกราชประสงค์ ขณะนัดพบเพื่อนชาวต่างชาติเพื่อมอบเสื้อรณรงค์ พร้อมทั้งถูกเจ้าหน้าที่บุกค้นที่พัก และยึดเสื้อยืดรณรงค์เพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมืองไป 200 ตัว (ได้รับคืนในภายหลัง) ต่อมา วันที่ 4 ก.ย.58 เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพัก เนื่องจากได้ทำแคมเปญ ‘Vote No’ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยอยู่ในขั้นตอนเตรียมนำโลโก้ดังกล่าวไปทำเป็นเสื้อรณรงค์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท