การปฏิวัติในฮังการี ปี 1956

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ ในศตวรรษที่ 21 อย่างเช่น ช่วงการลุกฮือที่อาหรับ (Arab Uprising) โดยเฉพาะซีเรีย ยูเครน หรือแม้แต่ไทย เมื่อหลายปีก่อน ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการนองเลือดอันเกิดจากการปฏิวัติในฮังการี เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีตัวแปรที่แตกต่างกันคือ ในฮังการีเกิดจากกองทัพของต่างชาติเป็นหลัก แต่คล้ายคลึงกันตรงที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิต ด้วยความผิดเพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องอิสรภาพ และประชาธิปไตย การนองเลือดในฮังการี เป็นหนึ่งในมุมมืดของสภาพโซเวียตช่วงสงครามเย็น เช่นเดียวกับการส่งกำลังเข้าไปปราบปรามประชาชนในเชคโกสโลวาเกีย เมื่อปี 1968  (กระนั้นถึงแม้จะรวมกับปฏิบัติการอื่นๆ ของโซเวียตก็ยังไม่น่าจะเทียบได้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งเจ้าหน้าที่หน่วย  ซีไอเอและกองทัพ เพื่อแทรกแซงทางการเมืองและการทหารไปทั่วโลก ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก) อันแสดงให้เห็นว่าค่ายคอมมิวนิสต์นั้นไม่ได้สามัคคีกันดังภาพโฆษณาชวนเชื่อในช่วงต้น ๆ เท่าไรนัก ประชาชนที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบพรรคคอมมิวนิสต์ ต่างดิ้นรนอยากจะเป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับรัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปตะวันออก ต้องการแยกตัวออกจากวงอำนาจของกรุงมอสโคว์ และอาจไม่ได้ตั้งใจจะไปสังกัดอยู่ในวงอำนาจของสหรัฐฯ กับตะวันตก ดังสหภาพโซเวียตหวาดระแวงก็ได้ ดังเช่นยูโกสลาเวีย ภายใต้การปกครองของนายพลโยซิป ติโต

การปฏิวัติในฮังการี ปี 1956 เป็นเหตุการณ์สำคัญของโลกคอมมิวนิสต์ ที่สะท้อนนโยบายต่างประเทศผสมการทหารของสหภาพโซเวียต ในช่วงสงครามเย็นได้อย่างดี  การประชุมที่เมืองยัลตาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1945 ของ 3 ผู้นำชาติมหาอำนาจ ได้ช่วยให้สหภาพโซเวียตสามารถแพร่อิทธิพลเข้ามาในยุโรปตะวันออก สตาลินเคยสัญญาว่าจะเปิดให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีในยุโรปตะวันออก แต่เขากลับสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์เข้ามามีอิทธิพลเหนือประเทศดังกล่าว ตั้งแต่นั้นมา ชาวยุโรปตะวันออกก็ถูกปกครองภายใต้อุ้งมือของโซเวียต และประเทศของพวกเขาได้รับการขนานนามว่า อยู่หลังม่านเหล็ก (Iron Curtain) ดังคำประณามของอดีตนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ใครที่คิดจะท้าทายการปกครองของสตาลิน ต้องพบกับชะตากรรมอันสยดสยอง ดังเช่นฮังการีที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้

เมื่อฮังการีค่อย ๆ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียต ทรัพย์สินและทรัพยากรของฮังการี ก็ถูกรัฐบาลของสตาลินเข้าควบคุม และถ่ายเท เพื่อนำไปบูรณะโซเวียตซึ่งต้องเสียหายอย่างหนัก จากสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพแดงยังสำแดงเดชโดยการนำกองกำลังหลายพันนายรวมไปถึงรถถังหลายร้อยคันเข้าไปในฮังการี ผู้นำของฮังการี คือ มาตยาส ราโกซี นั้น ถูกสตาลินเชิดขึ้นมา เขาเป็นเลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี ตั้งแต่ปี 1945  และมักขนานนามตัวเองว่าเป็น “สาวกชาวฮังการีที่ดีที่สุดของสตาลิน" เช่นเดียวกับบรรดาผู้นำของประเทศคอมมิวนิสต์   ซึ่งฝักใฝ่ลัทธิสตาลิน ราโกซี ได้พัฒนาลัทธิเชิดชูบุคคล (Cult of personality) เพื่อสร้างอำนาจให้กับตน และกำจัดผู้ขวางทางไปสู่อำนาจนั้น ประมาณกันว่ามีปัญญาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายแสนคน ถูกกำจัดออกไปในช่วงระหว่างปี 1948 ถึง 1956 นักเรียนที่แสนดีของสตาลินปกครองฮังการีด้วยรูปแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จผ่านการจับกุม การคุมขัง และการเข่นฆ่าศัตรู ไม่ว่าจริงหรือกล่าวหา อันนำไปสู่การเสียชีวิตของชาวฮังการีจำนวนมาก ราโกซียังได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยตำรวจลับ คือ "องค์กรปกป้องรัฐ” (State Protection Authority หรือ AVH) ซึ่งได้รับการจัดตั้งจากหน่วยเคจีบีของโซเวียต  องค์กรนี้ได้สร้างความเกลียดชังจากประชาชนต่อรัฐบาลอย่างมาก จึงไม่ต้องน่าสงสัยว่าในช่วงปฏิวัติ ประชาชนที่ติดอาวุธก็มุ่งเข่นฆ่าตำรวจลับหน่วยนี้ เพราะความเกลียดชัง

การล่วงลับของสตาลิน ในปี 1953 ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยในยุโรปตะวันออกเริ่มมีความหวังอยู่บ้างว่า พวกเขาอาจจะก้าวออกจากม่านเหล็ก ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1956 ผู้นำของ   โซเวียตในยุคนั้น คือ นิกิตา ครุสชอฟ ได้โจมตีสตาลินผู้ล่วงลับ รวมไปถึงนโยบายทางการเมืองของอดีตเจ้านายตนอย่างรุนแรง ณ ที่ประชุมครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์ ดังที่เรียกว่าการล้มล้างอิทธิพลของสตาลิน (de-Stalinization) และในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกันนั้น ราโกซีก็ถูกกรุงมอสโคว์บีบให้ลาออก เพื่อเป็นการแสดงท่าทีผ่อนปรนต่อชาวฮังการี เขายังถูกบังคับให้ลี้ภัยในสหภาพโซเวียตและเสียชีวิต ณ ที่นั้น ในปี 1971 อย่างไรก็ตามกรุงมอสโคว์เองก็ไม่สามารถมอบในสิ่งที่ชาวฮังการีคาดหวังได้มากกว่านี้  เพราะยังมีปัจจัยอื่นเข้ามามีส่วนทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปอีก ไม่ว่า การเก็บเกี่ยวพืชผลที่ไม่สำเร็จ รวมไปถึงการขาดแคลนเชื้อเพลิง  ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติมาหลายครั้งแล้ว ในรอบหลายร้อยปีของยุโรป  เหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับชาวฮังการีก็คือ การประท้วงครั้งใหญ่ในโปแลนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน ปี 1956 การเดินขบวนตามท้องถนนของชาวโปแลนด์ ได้ทำให้มีการเปลี่ยนผู้นำมาเป็น วลาดิสลอว์ โกมูลกาซึ่งมีหัวปฏิรูป และได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนอย่างมาก แม้จะไม่ได้หลุดจากวงอำนาจของสหภาพโซเวียตก็ตาม

ในวันที่ 23 ตุลาคม ปี 1956 นักศึกษาและคนงานชาวฮังการี ต่างเดินขบวนในท้องถนนของกรุงบูดาเปสต์ พวกเขาได้ประกาศข้อเรียกร้อง 16 ข้อ ยกตัวอย่างเช่น การมอบเสรีภาพให้กับประชาชน การกำจัดตำรวจลับออกไป การปลดแอกประเทศออกจากโซเวียต การเพิ่มปริมาณอาหารในท้องตลาด ฯลฯ การประท้วงเลยเถิดไปถึงการที่นักศึกษาหลายคนได้รื้อทำลายอนุสาวรีย์ของสตาลิน และเอาธงชาติของฮังการีมาวางไว้ตรงฐานของอนุสาวรีย์แทน สำหรับรูปปั้นส่วนหัวของสตาลินถูกวางอยู่บนพื้นอย่างไร้ศักดิ์ศรี อันกลายเป็นภาพถ่ายขาวดำที่แสนโด่งดัง ตัวแทนของนักศึกษายังได้บุกเข้าไปในสถานีวิทยุ เพื่อกระจายเสียงข้อเรียกร้องของพวกตน แต่ก็ถูกจับตัวไว้ เมื่อบรรดาผู้ประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยบุคคลเหล่านั้น พวกเขาก็ถูกกราดยิงโดยหน่วยตำรวจลับ ต่อมาข่าวนี้กระจายไปทั่วพร้อมกับความรุนแรง และความไร้ระเบียบไปทั่วกรุงบูดาเปสต์ และแพร่ไปทั่วฮังการีในไม่ช้า อันนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลนายแอร์โน แกโร เลขาธิการพรรคเวิร์คกิงพีเพิล ซึ่งได้ถูกทูตของโซเวียต บีบบังคับให้ลาออก ตั้งแต่วันที่ 2 ของการประท้วง เพราะเขานั้นมักกล่าวประโยคที่ทำให้มวลชนเกิดความไม่พอใจ คนหลายพันได้รวมตัวกันเป็นกองกำลังติดอาวุธ เพื่อต่อสู้กับหน่วยตำรวจลับและกองทัพโซเวียตในหลายท้องที่

อิมเร นากีย์ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์หัวเสรี และชื่นชอบตะวันตก ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและยานอส กาดาร์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ โดยการเห็นด้วยของทางการโซเวียตเพื่อเป็นการเอาใจชาวฮังการี แม้ว่าก่อนหน้านั้น สื่อของโซเวียตจะเรียกพวกเขาว่าเป็นฝูงชนที่ป่าเถื่อนก็ตาม (ดังเช่นสื่อที่ถูกรัฐครอบงำของรัสเซียยุคปูติน มักกล่าวหาว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันของยูเครนนั้น เต็มไปด้วยพวกนิยมลัทธิฟาสซิสต์) นายนากีย์ ได้เริ่มปฏิรูปให้ประเทศเป็นเสรี เช่น มีระบบพรรคการเมืองอีกครั้ง และประกาศล้มเลิกหน่วยตำรวจลับ บุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในการวิจารณ์โซเวียตถูกปล่อยตัวออกจากคุก นั่นคือ พระคาร์ดินัล มินด์เซ็นตี ท่านคือพระผู้เป็นที่เคารพอย่างสูงจากชาวฮังการีจนถึงปัจจุบัน เพราะถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ลัทธิฟาสซิสต์และลัทธิคอมมิวนิสต์ อันส่งผลให้ท่านต้องติดคุกเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ภายหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัว ท่านก็ได้รับการอนุญาตจากทางสหรัฐฯ ให้ลี้ภัยในสถานทูตของตนประจำกรุงบูดาเปสต์

ในวันที่ 31 ตุลาคม ปี 1956 นากีย์ประกาศว่า ฮังการีจะถอนตัวออกจากองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์ และร้องขอให้ทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษ รับรองฮังการีในฐานะรัฐเป็นกลาง อันถือได้ว่าเป็นการกระทำที่อาจหาญยิ่งนัก เพราะทำให้สหภาพโซเวียตนั้น ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อให้ฮังการีอีกต่อไป ด้วยเป็นการแสดงความอ่อนแอของค่ายคอมมิวนิสต์ และจะทำให้พวกจักรวรรดินิยมอย่างสหรัฐฯ และตะวันตกได้ใจ กาดาร์ลาออกจากรัฐบาลด้วยความไม่พอใจ และหนีไปตั้งรัฐบาลแข่งในฮังการี บริเวณตะวันออก โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพของโซเวียต ในวันที่ 4 พฤศจิกายน รถถังของโซเวียตหลายร้อยคัน ก็แล่นเข้ามาในกรุงบูดาเปสต์ จากนั้นพวกเขาก็เริ่มต้นปราบปรามประชาชนด้วยความโหดเหี้ยม จนถึงขั้นการสังหารแม้แต่คนที่ได้บาดเจ็บ รถถังหลายคันลากศพไปทั่วถนนของกรุงบูดาเปสต์ เพื่อเป็นการปรามคนอื่น ๆ ที่ยังประท้วงอยู่

ประมาณกันว่า ชาวฮังการี จำนวน 2,500 ถึง 3,000 คน ถูกฆ่าตาย ประชาชนกว่า 200,000 คนหนีเข้าไปในประเทศข้างเคียง ดังเช่น ออสเตรีย โดยไม่แยแสต่อทรัพย์สินของตนในฮังการี เพื่อหลบหนีการกวาดล้างของโซเวียตอีกระลอก ชาวฮังการีหลายหมื่นคนถูกจับขึ้นศาล และถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต ติดคุก หรือถูกเนรเทศไปยังสหภาพโซเวียต สำหรับนากีย์นั้น ลี้ภัยไปยังสถานทูตยูโกสลาเวีย ก่อนที่จะถูกจับขึ้นศาล และถูกประหารชีวิตในข้อหาโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนฮังการี ศพของเขาได้รับการฝังในหลุมที่ไม่มีศิลาจารึก (ต้องรอถึงปี 1989 ที่มีการจัดพิธีในการขุดศพของเขาขึ้น เพื่อนำไปฝังอีกที่อย่างสมเกียรติโดยพรรคฝ่ายค้าน อันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ประการหนึ่งของการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในฮังการี) ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ทุกสิ่งทุกอย่างสงบเรียบร้อย กาดาร์ ขึ้นมามีอำนาจ โซเวียตเข้ามาควบคุมฮังการีได้อีกครั้งบนกองหัวกระโหลกของชาวฮังการี

สำหรับโลกตะวันตกนั้น สหรัฐฯ ได้เพียงปลุกระดมให้ชาวฮังการีลุกขึ้นสู้คอมมิวนิสต์ ผ่านสถานีวิทยุยุโรปเสรี โดยใช้ถ้อยคำซึ่งมอบความหวังให้กับชาวฮังการีว่า จะมาช่วย ประธานาธิบดี ดไวน์ เดวิด ไอเซ็นฮาวเวอร์ ของสหรัฐฯกล่าวว่า "ข้าพเจ้าเห็นใจชาวฮังการี" ส่วน จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลัส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า "สำหรับผู้ซึ่งทนทุกข์ทรมานภายใต้การกดขี่เยี่ยงทาสของคอมมิวนิสต์ ขอบอกไว้ว่า พวกท่านสามารถวางใจพวกเราได้" แต่ในที่สุดชาวฮังการีก็พบว่า พวกตนได้แต่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ  เพราะรัฐบาลอเมริกันไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่านี้  ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าสหรัฐฯ เป็นสาเหตุทางอ้อมที่ทำให้ชาวฮังการีเสียชีวิต  เป็นจำนวนมากขนาดนี้ อนึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวยังซ้ำรอยอีกหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ดังเช่นในปี 1991 ที่สหรัฐฯ ได้ยุยงให้ชาวอิรัก และชาวเคิร์ด ลุกฮือขึ้นต่อต้านซัดดัม ฮุสเซน อันส่งผลให้คนเหล่านั้นถูกสังหารไปหลายแสนคน

สาเหตุที่สหรัฐฯ กับตะวันตก ได้เพียงแค่ให้กำลังใจชาวฮังการี และประณามโซเวียต ก็เพราะว่าทางกรุงวอชิงตัน พิจารณาว่า หากเข้าไปแทรกแซงทางทหารในฮังการี ก็จะสามารถทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับสหภาพโซเวียตกับองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์ และอาจนำไปสู่การทำสงครามนิวเคลียร์ต่อกัน อันเป็นตรรกะที่ทำให้สหรัฐฯ กับโซเวียต สามารถดำรงอยู่คู่กันได้หลายสิบปีในขณะที่โลกไม่แตกสลาย แต่ในทางกลับกัน ประเทศขนาดเล็กกลับต้องพบกับหายนะมามากต่อมาก  การยุติการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และการค้าขายกับโซเวียตนั้น ไม่ค่อยมีความหมายนัก เพราะโซเวียตก็สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากบรรดาประเทศที่ตนแผ่อิทธิพลได้อยู่ดี  ที่สำคัญความสนใจของชาวโลกนั้น กลับไปอยู่ที่วิกฤตการณ์คลองสุเอซ[1] ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวและนำไปสู่การประจันหน้าระหว่างค่ายโลกตะวันตกกับคอมมิวนิสต์อีกครั้ง จึงกลายเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้กรุงวอชิงตัน ไม่กล้าจะทำให้กรุงมอสโคว์ รู้สึกไม่พอใจ และหวาดระแวงมากขึ้นกว่านี้

สำหรับผลกระทบจากการปราบปรามการปฏิวัตินั้น สหภาพโซเวียต ได้ทวีอิทธิพลในการควบคุมประเทศยุโรปตะวันออกมากขึ้น แม้ว่าจำนวนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะของฮังการี ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ เช่นเดียวกับมุมมองด้านลบของชาวตะวันตกต่อโซเวียต อันส่งผลให้ผู้นำของประเทศตะวันตก มุ่งมั่นที่จะป้องกันการแพร่อิทธิพลของโซเวียต อย่างไรก็ตามผู้นำคนใหม่ของฮังการี คือ กาดาร์ ได้พิสูจน์ตัวเองว่า เป็นผู้นำที่ดีสำหรับฮังการีกว่าที่ใครคาดคิด ภายหลังการปราบปรามปรปักษ์ในช่วงหลังปี 1956  เขาก็เริ่มผ่อนปรนการกดขี่ทางการเมืองลงในภายหลัง  กาดาร์ยังเป็นผู้คิดค้นสูตรของลัทธิคอมมิวนิสต์แบบใหม่ อันเป็นส่วนผสมระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ดังที่เรียกว่า "คอมมิวนิสต์แบบกูลัช" (Goulash Communism) ซึ่งเน้นการค้ากับประเทศที่ไม่ได้อยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวฮังการีให้ดีขึ้น สำหรับการยึดครองฮังการีของโซเวียต ภายหลังปี 1956 ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นที่กรุงมอสโคว์ รื้อโครงสร้างและช่วยจัดตั้งกองทัพของฮังการีเสียใหม่ จนถึงช่วงปี 1990-1991 ทางโซเวียตได้ถอนกำลังของตนกว่าแสนนาย ออกไปจากฮังการีในที่สุด

ก่อนหน้านี้ในปลายปี 1989 พรรคคอมมิวนิสต์ของฮังการีได้สิ้นสุดอำนาจลง และในช่วงปี 1990  ฮังการี ได้กลายเป็นประเทศประชาธิปไตย อันมีการเลือกตั้งอย่างเสรี และอนุญาตให้คนเยอรมันตะวันออก ใช้ตนเป็นทางผ่านสำหรับเดินทางไปยังเยอรมันตะวันตก ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะล่มสลาย อันเป็นการแสดงถึงคลื่นประชาธิปไตยของประเทศค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งแน่นอนว่าล้วนเกิดจากความทรงจำรวมหมู่ที่เลวร้ายต่อโซเวียต อันมีตัวอย่างที่ชัดเจนคือฮังการีในปี 1956 และยังติดตามด้วยการล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียต ที่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ตอนเที่ยงคืนของปี 1991  อย่างไรก็ตามฮังการีในปี 2016 ถือได้ว่ากำลังพบกับภาวะถดถอยทางประชาธิปไตย เพราะการปกครองแบบประชาธิปไตยเทียมของนายวิคเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ผู้เกิดหลังปฏิวัติเกือบ 1 ทศวรรษ[2]และยังมีความศรัทธาต่อนายวลาดีมีร์ ปูติน ผู้มีความคิดย้อนหลังกลับไปยังยุคโซเวียต อันสะท้อนถึงการล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิปไตย ในอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายอันเกิดจากความอ่อนแอของโครงสร้างสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีช่วงเวลาการพัฒนาที่สั้นและสะดุด ขาดช่วง ไม่เหมือนกับยุโรปตะวันตก รวมไปถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยังยึดติดอยู่กับความเป็นเผด็จการของตัวบุคคล ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การปฏิวัติในฮังการีน่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญซึ่งเตือนใจชาวฮังการีและยุโรปตะวันออกอยู่เสมอว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องแสวงหาอยู่ไม่ใช่เฉพาะช่วงสงครามเย็น  แต่ยังรวมถึงปัจจุบันนี้ด้วย 

 

 

อ้างอิง

[1] วิกฤตการณ์นี้เกิดขึ้นใน 29 ตุลาคม ปี 1956 อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลอียิปต์ตัดสินใจยึดคลองสุเอซมาเป็นสมบัติของชาติ ทำให้อิสราเอลรวมไปถึงอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีผลประโยชน์ในการแล่นเรือผ่านช่องแคบส่งกองกำลังไปยึดคลอง กระนั้นทั้ง 3 ประเทศก็ต้องชะงักงันเพราะอียิปต์ได้รับการช่วยเหลือของสหภาพโซเวียต ซึ่งขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับอังกฤษและฝรั่งเศส ส่งผลให้สหรัฐฯ บังคับให้ทั้งอิสราเอล อังกฤษและฝรั่งเศสถอนกองกำลังออกเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับโซเวียต

[2]  เป็นเรื่องน่าเศร้าว่านายวิคเตอร์นั้นเคยอาศัยคลื่นประชาธิปไตยช่วงปี 1989 ในการก้าวเข้ามาเล่นการเมืองขณะที่เป็นเพียงนักศึกษาในขบวนการหัวรุนแรง เขาได้เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศจากการกล่าวคำปราศรัยอันน่าประทับใจในพิธีการย้ายศพของอิมเร นากีร์ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าเขาทรยศต่อจิตวิญญาณของการปฏิวัติในฮังการี

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนต้องขอแก้ไขข้อความที่คลาดเคลื่อนจากบทความ “ตัวตนอันดำมืดของเลนิน” ในประโยคที่ว่า “เลนินไม่รู้ว่าเนเธอร์แลนด์กับฮอลแลนด์เป็นประเทศเดียวกัน”  ตามความจริงแล้วเป็น  “สตาลินไม่รู้ว่าทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นประเทศเดียวกัน” โดยผู้เขียนบทความต้องการเปรียบเทียบความเป็นผู้ใฝ่รู้ของเลนินกับความด้อยความรู้ของสตาลิน  ผู้แปลจึงขออภัยผู้อ่านและดวงวิญญาณของเลนินมา ณ ที่นี้ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท