Skip to main content
sharethis

นักวิชาการ 133 คน จากหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลกรวมถึง นอม ชอมสกี ออกจดหมายเปิดผนึกประณามการจับกุมตัว 'กันฮายยา กุมา' ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัย JNU ในนิวเดลี โดยอ้างข้อหายุยงปลุกปั่นแม้จะไม่มีหลักฐานใดๆ โดยระบุว่าการกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมของรัฐบาลนเรนทรา โมดี

(ซ้าย) นอม ชอมสกี (ขวา) เหตุจับกุมตัวกันฮายยา กุมา นักศึกษามหาวิทยาลัย JNU เมื่อ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา (ทีมา: วิกิพีเดีย/NDTV)

19 ก.พ. 2559 เหล่านักวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกอย่าง เคมบริดจ์, ยูซีแอล, มหาวิทยาลัยลอนดอน รวมถึงนอม ชอมสกี นักปรัชญา-ภาษาศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึกประณามรัฐบาลอินเดียที่ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าไปจับตัวผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยชวาหระลาล เนห์รู (JNU) อย่างผิดกฎหมาย โดยอ้างข้อหาว่าผู้นำนักศึกษาคนดังกล่าวทำการยุยงปลุกปั่นทั้งที่ไม่มีหลักฐานใดๆ

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจับกุมตัว กันฮายยา กุมา ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยชวาหระลาล เนห์รู มหาวิทยาลัยของรัฐที่ตั้งอยู่ในกรุงนิวเดลี โดยมีการอ้างใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยที่อินเดียยังตกอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ

อย่างไรก็ตามจดหมายเปิดผนึกของกลุ่มนักวิชาการระบุว่าจากข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่พวกเขาได้รับมา กุมาไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวเลย แต่กุมากลับถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรม "ต่อต้านประเทศชาติ" และละเมิดกฎหมายยุยงปลุกปั่นเนื่องจากถูกโยงกับเหตุการณ์ที่มีนักศึกษาประท้วงเรียกร้องให้ชาวแคชเมียร์ในอินเดียเป็นอิสระจากการถูกกดขี่ของกองทัพอินเดียที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ทั้งที่กุมาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงดังกล่าวแต่อย่างไร

ทั้งนี้กลุ่มนักวิชาการยังมองว่าการจับกุมนักศึกษาเช่นนี้ถือเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลอินเดียมีลักษณะเผด็จการอำนาจนิยมที่ไม่ยอมรับต่อการต่อต้านขัดขืน เป็นการเพิกเฉยต่อความเชื่อมั่นในคุณค่าเรื่องการอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่างและความเป็นพหุนิยมที่ถือเป็นความเชื่อมั่นในอินเดียมานานแล้วกลับถดถอยกลับไปสู่ยุคสมัยที่มีการกดขี่ในยุคอาณานิคมและช่วงสมัยที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในปี 2518-2520

ในจดหมายเปิดผนึกยังมีการวิจารณ์ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยที่ไม่ออกมาประณามการจับกุมนักศึกษาดังกล่าวและยังปล่อยให้มีการสั่งพักการเรียนนักศึกษาอีก 7 คน โดยไม่มีการสอบสวนที่โปร่งใสและยุติธรรม เรื่องนี้จะส่งผลให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียงทั้งในประเทศและในสายตาของต่างประเทศ

มีนักวิชาการจากหลายสาขาวิชารวมถึงผู้สร้างภาพยนตร์ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้รวม 133 คน เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับนักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยชวาหระลาล เนห์รู ในการต่อต้านเหตุการณ์เช่นนี้ และในนามของเสรีภาพพวกเขายังประณามไม่เพียงวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่มาจากรัฐบาลปัจจุบันของอินเดียแต่ยังเรียกร้องให้ผู้คนที่เป็นห่วงอนาคตของอินเดียและมหาวิทยาลัยของอินเดียประท้วงต่อต้านการกระทำของรัฐบาลนี้

กฎหมายการยุยงปลุกปั่นของอินเดียมีมาตั้งแต่ยุคคริสตศตวรรษที่ 19 โดยมาจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เว็บไซต์ข่าว International Business Times รายงานว่าการจับกุมตัวกุมาส่งผลให้เกิดความไม่พอใจลุกลามไปทั่วสถาบันการศึกษาในอินเดีย

แต่ก็มีอีกฝั่งหนึ่งที่แสดงออกในเชิตต่อต้านนักศึกษาด้วยการแสดงความคิดเห็นกล่าวหาอย่างรุนแรงอย่างการเรียกร้องให้ปิดมหาวิทยาลัยโดยอ้างว่าเป็น "แหล่งเพาะผู้ก่อการร้าย" หรือการกล่าวหานักศึกษาว่าเป็น "ผู้ต่อต้านประเทศชาติ" บ้างก็แสดงออกเรียกร้องให้นักศึกษาเน้นการเรียนและอย่ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ในรายงานข่าวของสถานีวิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่านักศึกษาทำการประท้วงอย่างต่อเนื่องหลังจากเกิด เหตุการณ์จับกุมดังกล่าวโดยมีภาพของนักศึกษาถือป้ายเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวคุมาร์ เหตุการณ์นี้ยังส่งผลให้มีการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องงเสรีภาพสื่อในประเทศอินเดียภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ด้วย

เรียบเรียงจาก

JNU events signal culture of authoritarian menace, The Hndu, 18-02-2016 http://www.thehindu.com/news/national/jnu-events-signal-culture-of-authoritarian-menace/article8245492.ece

JNU row: Noam Chomsky and British academics condemn 'unlawful' arrest of Kanhaiya Kumar, International Business Times, 17-02-2016 http://www.ibtimes.co.uk/jnu-row-noam-chomsky-british-dons-condemn-unlawful-arrest-kanhaiya-kumar-1544364

Protests Widen As India Debates When Speech Is Sedition, NPR, 17-02-2016 http://www.npr.org/sections/parallels/2016/02/16/466974582/indian-students-say-its-free-speech-government-calls-it-sedition

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net