เศรษฐศาสตร์กับการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational Wave) ตอนจบ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความเดิมตอนที่แล้ว
เมื่อวาน (18 กุมภาพันธ์ 2559) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา “คลื่นความโน้มถ่วง: เครื่องมือไขปริศนาจักรวาลและอนาคตแห่งมนุษยชาติ” ขึ้น โดยมีนักวิทยากรหลายท่านเข้าร่วม ประกอบด้วย รศ.ดร.ปิยบุตร บุรีคำ ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ.ดร.ทศพร อังสาชน ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ จาก สวทช. และผม อ.ชล บุนนาค จากคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ...คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากงานนี้ถูกประชาสัมพันธ์ออกไปก็คือ อาจารย์เศรษฐศาสตร์มาเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้

วิชาเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่อง Gravitational Wave ในแง่ของเนื้อหา สิ่งที่เศรษฐศาสตร์พอจะช่วยตอบได้เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ งานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานแบบ Gravitational Wave ลงทุนไปแล้วจะคุ้มหรือ? และอีกคำถามหนึ่งก็คือ การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานลักษณะนี้มีประโยชน์หรือไม่ต่อประเทศรายได้ขั้นกลางอย่างประเทศไทย? (อ่านตอน 1 ที่นี่)

การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานลักษณะนี้มีประโยชน์หรือไม่ต่อประเทศรายได้ขั้นกลางอย่างประเทศไทย?

การศึกษาวิจัยและพัฒนา (R&D) นั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลักการทางเศรษฐศาสตร์นั้นการพัฒนาเทคโนโลยีจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการผลิตต่างๆ เพิ่มขึ้น ในหลายโอกาส R&D นำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตของประเทศนั้นๆ สามารถหารายได้จากสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาได้อีกต่อหนึ่งนอกเหนือจากรายได้จากการขายสินค้าและบริการ ข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของงบประมาณงานวิจัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per Capita) ดังที่แสดงไว้ในกราฟด้านล่าง


ความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนงบประมาณวิจัยและพัฒนากับ GDP และ รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per Capita) ข้อมูลปี 2007 (ที่มา: ไฟล์นำเสนอของบริษัท Booz & Co ปี 2012, ขอบพระคุณ อ.ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์ สำหรับข้อมูล)

จากกราฟ จะเห็นได้ว่า ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่น ประเทศกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD), ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, เนเธอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา และฟินแลนด์ เป็นต้น ต่างมีสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาต่อ GDP สูง (GERP/GDP%) ประมาณ 1.5-3.5 % ต่อ GDP ในขณะที่รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per Capita) ก็สูงอยู่ที่ราว 35,000 - 45,000 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางและประเทศกำลังพัฒนา ต่างมี GERP/GDP% ต่ำ และก็มี GDP per Capita อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน สำหรับประเทศไทยนั้นมี GERP/GDP% ค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มี GDP per Capita ในระดับเดียวกัน

แต่การวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐานมีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นการเฉพาะอย่างไร? หากท่านติดตามข่าวการวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆ อยู่บ้าง ท่านอาจเคยได้ยินคำว่า Middle-Income Trap หรือกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แนวคิดนี้อธิบายว่า ประเทศบางประเทศ เช่นประเทศไทย เมื่อรายได้เพิ่มจนถึงระดับหนึ่งแล้วจะติดกับอยู่ที่รายได้ระดับนั้นและไม่สามารถเพิ่มขึ้นไปได้ สาเหตุหนึ่งของกับดักก็คือ อุตสาหกรรมและการผลิตต่างๆ ภายในประเทศนั้นยังพึ่งพาวิถีการผลิตแบบเก่าที่นำพาประเทศหลุดออกจากความมีรายได้ต่ำ ซึ่งก็คือ การผลิตสินค้าบริการที่ต้นทุนต่ำ พึ่งพาค่าจ้างแรงงานและวัตถุดิบราคาต่ำ และไม่ยอมพัฒนาต่อไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีเข้มข้น และขายสินค้าบริการที่เป็นนวัตกรรมและสร้างสรรค์ ดังประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่างๆ นี่เองที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานเหล่านี้ การค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นำมาซึ่งสินค้าบริการเช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ตที่ไปกับเราได้ทุกที่ในปัจจุบัน ทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ที่ดู abstract ปัจจุบันก็ถูกนำมาประยุกต์กลายเป็น Quantum Computing ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านการประมวลผลที่ล้ำยุคในขณะนี้ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการประมวลผลที่ซับซ้อนให้เร็วขึ้นอีกหลายเท่า

ทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปก็ถูกประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยี Global Positioning System (GPS) ทำให้ระบบติดตามตำแหน่งที่พึ่งพาการโคจรของดาวเทียมมีความแม่นยำ นวัตกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐานในอดีต ซึ่งคงไม่มีใครจินตนาการได้ในขณะนั้นว่าสิ่งเหล่านั้นจะถูกนำมาประยุกต์ใช้และสร้างเป็นเทคโนโลยีที่เรามีในวันนี้

แน่นอนว่าเรายังไม่ใช่ผู้ผลิตองค์ความรู้เหล่านั้นในวันนี้ แต่การที่ส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานเหล่านี้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ของเรามีความเชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้บุคลากรทางวิชาการของเรามีความรู้เพิ่มขึ้น ช่วยในการส่งต่อความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับคนในประเทศให้เพียงพอที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้

เมื่อเราผนวกความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้น ประเทศของเราก็อาจหลุดจากกับดักเหล่านี้กลายเป็นประเทศรายได้สูงได้ และหากผนวกกับนโยบายสาธารณะอื่นๆ ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเราน่าจะมีโอกาสเป็นประเทศพัฒนาแล้วในวันหนึ่ง

การทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นประโยชน์กับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศเป็นหน้าที่ใคร?

จากการคุยนอกรอบกับวิทยากรท่านอื่นทำให้ทราบว่า ในประเทศไทยนั้นการจะขอทุนวิจัยจากรัฐในด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานนั้นค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะเมื่อต้องตอบคำถามว่า ความรู้นั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างไรบ้าง คำถามเหล่านี้สะท้อนความต้องการในสังคมไทยที่ดูจะให้คุณค่ากับงานวิจัยที่ให้ผลโดยตรงกับการวิจัยที่เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจและสังคมค่อนข้างมาก

คำถามคือ การที่ทำให้งานวิจัยไปมีผลประโยชน์กับเศรษฐกิจและสังคมนี่เป็นหน้าที่ของใคร ?

ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์พื้นฐานโดยตรง และพวกเขาไม่ควรจะต้องถูกเรียกร้องให้คิดถึงผลประโยชน์ดังกล่าวเวลาจะทำงานวิจัยด้วย คำถามที่ควรจะถามพวกเขาคือ งานวิจัยของเขาจะไปต่อยอดกับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างไร จะนำมาซึ่งความร่วมมือทางวิชาการภายในและภายนอกประเทศอย่างไรมากกว่า ทั้งนี้เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้สามารถทำงานที่ตนเชี่ยวชาญให้เต็มที่

หน้าที่การทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีประโยชน์ทางสังคมเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของนักเทคโนโลยี (Technologist) และกลุ่มคนที่ทำงานจำพวกการออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) มากกว่า คนเหล่านี้ถูกฝึกมาเพื่อประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ผนวกกับความรู้ด้านอื่นๆ มาสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ฉะนั้นการใช้ประโยชน์จากงานวิทยาศาสตร์พื้นฐานควรจะเป็นหน้าที่ของคนกลุ่มนี้มากกว่า ผมไม่มั่นใจนักว่าเรามีนักวิชาการและคนทำงานในอาชีพกลุ่มนี้มากน้อยเพียงใด แต่ผมทราบว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาผลิตผู้มีความรู้พอจะเป็นนักเทคโนโลยีและนักออกแบบอุตสาหกรรมมาพอสมควร

หากเรามีบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านนี้แล้ว เหตุใดเราจึงยังไม่เห็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีพื้นฐานมาจากวิทยาศาสตร์พื้นฐานมากนัก อันนี้ก็เป็นคำถามต่อมาว่า ประเทศของเรามีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการก่อเกิดนวัตกรรมแล้วหรือยัง ซึ่งอาจจะเกินเลยเนื้อหาที่ตั้งใจของบทความนี้ไปมากจึงขอละเอาไว้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐควรพิจารณาก็คือ การจัดให้มีการส่งเสริมงานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานอย่างจริงจัง รัฐควรมีงบประมาณเฉพาะสำหรับการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน โดยใช้วิธีคิดซึ่งแตกต่างจากการให้ทุนงานวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี เน้นให้เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ สร้างความร่วมมือ และมุ่งให้เกิดการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ หมายถึงมีงบประมาณให้กับการจ้างผู้ช่วยวิจัย และนักวิจัยให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานเติบโต

นอกจากนี้รัฐควรพิจารณาวางโครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้เป็นระบบและครบวงจรมากกว่านี้ ปัจจุบันมีโรงเรียนมัธยมปลายที่มุ่งสร้างนักวิทยาศาสตร์หลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นต้น แต่มีนักเรียนในสัดส่วนที่ไม่มากนักที่จบไปแล้วเป็นนักวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ทั้งนี้เป็นเพราะเส้นทางในอนาคตของนักเรียนนั้นก็ยังถูกกำหนดโดยการจ้างงานและรายได้ที่เขาจะได้รับอยู่ดี หากเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ ก็ยากนักที่ใครจะมาเป็นนักวิทยาศาสตร์
 

Science is a wonderful thing if one does not have to earn one's living at it.

                                                                    Albert Einstein

สรุป: คลื่นความโน้มถ่วงกับนัยต่อสังคมไทย
กระแสความตื่นตัวเรื่องคลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational Wave) บอกอะไรกับเราบ้าง? ความตื่นตัวนี้แสดงให้เห็นว่า คนในสังคมสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่ข้อถกเถียงทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และทางด้านสังคม เศรษฐกิจและนโยบายที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐานจะเกิดขึ้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

บทความนี้ในตอนที่ 1 และ 2 เสนอว่า จากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ งานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานอย่างเรื่อง Gravitational Wave มีความจำเป็นและไม่ได้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนดังที่สังคมอาจมีความเข้าใจกัน เพราะในกระบวนการสร้าง research facility และการวิจัยนั้นมันมีภาคอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างทางตั้งแต่เริ่มต้นแม้ว่าผลของงานวิจัยจะยังไม่ปรากฏก็ตาม

ผลของงานวิจัยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสังคมในทันที เพราะจุดมุ่งหมายของวิทยาศาสตร์พื้นฐานคือการค้นหาความจริงในธรรมชาติและต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ ฉะนั้นควรให้นักวิทยาศาสตร์พื้นฐานทำงานของตนเองไป โดยรัฐและสถาบันการศึกษาต้องจัดสิ่งแวดล้อมและระบบแรงจูงใจให้เหมาะสมทั้งในระยะสั้นและการสร้างนักวิทยาศาสตร์ในระยะยาว เพียงแต่หากการวิจัยดังกล่าวจะมีผลกระทบทางบวกต่อภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้องก็ควรจะกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดขึ้น ส่วนการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานสร้างให้เป็นนวัตกรรมนั้นเป็นหน้าที่ของนักเทคโนโลยีและนักออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยให้รัฐสร้างสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขที่เหมาะสมให้บุคลากรเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพ ให้บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยเริ่มลงทุนในการวิจัยและพัฒนา

การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และการส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์พื้นฐานนี่เองที่จะทำให้ประเทศของเราหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่มีฐานอยู่บนความรู้ ความสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เมื่อผนวกกับนโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม จะทำให้ประเทศของเราพัฒนาไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท