Skip to main content
sharethis

คำแถลงพรรคเพื่อไทย "ข้อเสนอในการจัดทำและแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ" ชี้ว่าการตั้งโจทย์หรือปัญหาในการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ผิดพลาดตั้งแต่ต้น จะทำให้เกิดปัญหาและวิกฤติในอนาคต หากไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอใช้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. แบบรัฐธรรมนูญ 40, 50 ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวแทนประชาชน

21 ก.พ. 2559 - วันนี้ (21 ก.พ.) ในเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย มีการเผยแพร่คำแถลง "ข้อเสนอในการจัดทำและแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ" ชี้ตั้งโจทย์ร่างรัฐธรรมนูญผิด พร้อมเสนอประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาและสมควรปรับปรุงแก้ไข เช่น ระบบการได้มาซึ่ง ส.ส. ระบบการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่มาของนายกรัฐมนตรี การสร้างข้อจำกัดในการบริหารราชการแผ่นดินให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง   เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญจนกลายเป็น “ซูเปอร์องค์กร” อำนาจองค์กรอิสระ (กกต. , ปปช. , คตง.) มีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภา การกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากที่สุด จะก่อให้เกิดวิกฤตของชาติในอนาคต และ  การคงอำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. ไว้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยมีรายละเอียดของข้อเสนอดังนี้

 

คำแถลงพรรคเพื่อไทยข้อเสนอในการจัดทำและแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับเต็ม)

ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จสิ้นและส่งให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงพรรคการเมืองได้พิจารณาและเสนอข้อคิดเห็นตลอดจนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้เกิดความเหมาะสมต่อไปนั้น

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีผลต่อทุกคนในสังคม กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงควรให้ประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย แต่พรรคเพื่อไทยเข้าใจและยอมรับต่อความจำเป็นของสถานการณ์ เนื่องจากเป็นการร่างรัฐธรรมนูญภายหลังที่มีการรัฐประหาร อย่างไรก็ดีเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก็ควรที่จะมีความเป็นประชาธิปไตย และมีสาระสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมยอมรับได้ แต่เมื่อได้พิจารณากรอบแนวคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แสดงออก  ผ่านการให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชนและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว มีหลักการ  และสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็นที่นับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของประเทศ อันจะนำไปสู่ปัญหา  และวิกฤตของชาติรอบใหม่ พรรคเพื่อไทยจึงขอสรุปประเด็นอันเป็นปัญหาสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้

 

1. การตั้งโจทย์ในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด

การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีนั้นจะต้องเข้าใจปัญหาของประเทศ  ให้ถูกต้องว่าต้นเหตุของปัญหานั้นคืออะไรเสียก่อน การตั้งโจทย์หรือปัญหาในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด นอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาแล้ว ก็จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น และซับซ้อนเข้าไปอีก

เมื่อพิจารณาปัญหาของประเทศไทย จะเห็นได้ว่าปัญหาสำคัญคือ ปัญหาปากท้องของประชาชน มีประชาชนจำนวนมากยังมีฐานะยากจนมีความยากลำบากในการดำรงชีวิตจากผลของรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ขณะที่การปรับตัวของราคาสินค้าและค่าครองชีพ  สูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในภาคเกษตรต้องประสบกับปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่  ไม่แน่นอน ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกรัฐบาลได้รับรู้ถึงปัญหาและได้ช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด จนปัญหาดังกล่าวได้ลดระดับความรุนแรงลงและทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้จากการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งประชาชนมักจะเลือกพรรคการเมืองที่มีแนวคิดที่มุ่งให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของตนเอง และรัฐบาลก็ต้องบริหารประเทศให้ได้ตามนโยบายที่ได้สัญญาไว้ แต่เจตนาของพรรคการเมืองและนักการเมืองรวมถึงความหวังของประชาชนได้ถูกบิดเบือนและทำลายลงไปทุกครั้งเมื่อมีการทำรัฐประหาร โดยคณะรัฐประหารที่มุ่งจะได้อำนาจการปกครองของประเทศได้สร้างเงื่อนไขและความชอบธรรมให้กับตนเอง โดยการโจมตีใส่ร้าย ทำลายความชอบธรรมของนักการเมืองและรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น ทั้งข้ออ้างเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอ้างว่ามีการใช้นโยบายประชานิยมบ้าง หรือการทุจริตเชิงนโยบายบ้าง เป็นต้น

และเมื่อทำรัฐประหารได้สำเร็จ ก็มีการสร้างกฎกติกาของตนเองเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย มุ่งเอาผิดกับนักการเมืองและผู้บริหารประเทศที่ตนเองไปยึดอำนาจเขามา ซึ่งกฎกติกาเหล่านั้น แม้โดยรูปแบบและเนื้อหาจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างชัดแจ้ง  ก็รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จนยากที่ศาลจะพิจารณาให้เป็นอย่างอื่นได้

นอกจากนี้ก็รับรองผลการกระทำของคณะรัฐประหารว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ตนเองต้องถูกตรวจสอบ เมื่อเอาผิดกับนักการเมืองได้สำเร็จก็อ้างคำพิพากษาของศาลเพื่อโจมตีนักการเมืองและพรรคการเมืองว่าเป็นต้นตอของปัญหา ทั้งที่ข้อเท็จจริงปัญหาต่างๆ ของประเทศและของประชาชนที่ผ่านมา ก็มีนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นผู้แก้ปัญหา  ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แล้วเข้ามากำหนดนโยบายของรัฐบาลอันเป็นหลักการสากลที่ทั่วโลกยอมรับ

ในการบริหารราชการ อาจมีนักการเมืองบางคนมีปัญหาบ้าง แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายก็มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการถอดถอนจากตำแหน่งหรือการดำเนินคดีอาญา และรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรียุบสภาเพื่อแก้ไขปัญหาได้ แต่มิใช่ว่านักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งหมดจะเป็นคนเลวหรือเป็นคนไม่ดีตามวาทกรรมที่ฝ่ายผู้ยึดอำนาจโจมตีใส่ร้าย

หากพิจารณาจากพื้นฐานของข้อเท็จจริงแล้ว  ต้องยอมรับว่าต้นเหตุสำคัญที่ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศต้องหยุดชะงัก ก็เนื่องมาจากการที่ทหารไม่ทำหน้าที่ของทหาร แต่มุ่งจะได้อำนาจรัฐและเข้าบริหารประเทศเสียเอง ด้วยการทำรัฐประหารบ่อยครั้ง เป็นการไม่ยอมรับในรัฐธรรมนูญและกระบวนการประชาธิปไตยที่มีอยู่ จึงทำให้เป็นปัญหาซ้ำซาก

การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ทำนองเดียวกัน ข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่าหากทหารได้ทำหน้าที่ของตนเองตามที่รัฐบาลร้องขอก็จะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงใดๆ ขึ้น แต่ทหารกลับเลือกแนวทางรัฐประหารแล้วเข้าบริหารประเทศเสียเอง ในวันที่ทำการรัฐประหารข้ออ้างสำคัญคือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมและการปฏิรูป แต่แม้จะบริหารราชการมาเกือบ 2 ปีแล้ว ปัญหาทั้งสองก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างใดเลย กลับยิ่งจะสร้างปัญหาความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลและ คสช.กลายเป็นคู่ขัดแย้งของประชาชน เสียเอง

ส่วนการทุจริตของรัฐบาล ไม่ใช่เป็นข้ออ้างในขณะยึดอำนาจ แต่เมื่อได้อำนาจบริหารมาแล้ว ก็มีการหยิบยกข้ออ้างนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองและนำไปบรรจุ  ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 ที่มุ่งจำกัดบทบาทของนักการเมือง เสมือนกับนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นผู้ร้ายและตนเองเป็นพระเอก ซึ่งกรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 ประกอบกับแนวคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นอัตตาสูง จึงได้ทำให้เกิดเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญผิดเพี้ยนไปจากหลักการสากลและปัญหาของประเทศอย่าง  มีนัยสำคัญ มุ่งทำลายนักการเมืองและพรรคการเมือง สร้างกลไกและกระบวนการเพื่อสร้าง  กลุ่มอำนาจใหม่ในการบริหารประเทศให้กับตนเองและพวกพ้องถึงขนาดตั้งชื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า “ฉบับปราบโกง”

สำหรับข้ออ้างเรื่องความขัดแย้งของคนในสังคมนั้น เมื่อพิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของปัญหาแล้ว ก็มิใช่สิ่งที่รัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจได้เป็นผู้สร้างปัญหา แต่ต้องศึกษาย้อนไปตั้งแต่เมื่อมีการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจและสร้างกลไกเพื่อมุ่งไล่ล่าทำลายล้างนักการเมืองที่เป็นปรปักษ์ จนส่งผลไปถึงกระบวนการยุติธรรมที่ต้องใช้กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นนั้น ทำให้เกิดปัญหาความยุติธรรมสองมาตรฐานขึ้นในหลายคดี แม้จะสร้างกลไกสกัดนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามผ่านรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว แต่ประชาชนก็ยังเลือกตัวแทนของตนเข้ามาเป็นรัฐบาล แต่กลับมีการสร้างเงื่อนไขไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจนมีการบุกยึด ปิดล้อมหน่วยงานสำคัญ จนถึงทำเนียบรัฐบาลและ  ท่าอากาศยานสำคัญๆ ของชาติ แต่ผู้ที่กระทำการดังกล่าวได้รับการปกป้องจากกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตยได้ถูกดำเนินการอย่างเร่งรีบ เฉียบขาด ไร้ความปราณี เมื่อออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมกลับต้องถูกปราบปรามจนเสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก โดยรัฐบาลและทหารที่มีส่วนในการกระทำก็ไม่ต้องรับผิดใดๆ ในส่วนขององค์กรอิสระก็ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติมุ่งลงโทษเฉพาะกลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่งและช่วยเหลืออีกฝ่ายหนึ่ง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

จึงเห็นได้ว่าปัญหาสำคัญของบ้านเมืองเป็นปัญหาจากการไม่ยอมรับกติกาตามรัฐธรรมนูญของทหารและกลุ่มการเมือง การไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนนักการเมืองหากบริหารประเทศผิดพลาดอย่างไรก็มีกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่กลุ่มต่างๆ ที่กล่าวมาไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบได้เลย หรือจะตรวจสอบก็มีการช่วยเหลือกันอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อมีการตั้งโจทย์ว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นต้นตอของปัญหา จึงทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญมุ่งจำกัดบทบาทของนักการเมืองและพรรคการเมือง ขณะเดียวกันก็เพิ่มอำนาจและบทบาทให้องค์กรอิสระและศาลโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น สร้างกระบวนการเพื่อถอดถอนหรือให้นักการเมืองรวมทั้งรัฐบาลพ้นจากตำแหน่งง่ายขึ้น ตั้งแต่สร้างระบบเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลผสมหลายพรรคและสร้างกลไกให้องค์อิสระและศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในเครือข่ายอำนาจที่สามารถประสานประโยชน์กับผู้มีอำนาจปัจจุบันได้ เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เพื่อเตรียมการให้กลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบันได้เข้า  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ หากบุคคลเหล่านี้ได้เป็นผู้นำรัฐบาล บรรดาองค์กรอิสระ  และศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นเครื่องมือปกป้องให้ได้อยู่ในอำนาจนานๆ แต่หากฝ่ายตรงข้ามได้เป็นรัฐบาลก็จะใช้กระบวนการทางรัฐธรรมนูญปลดออกจากตำแหน่งได้โดยง่าย ทั้งที่องค์กรอิสระต่างๆ และศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีที่มาที่เชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน จึงเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนหลักการสำคัญที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมาเป็นขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งบุคคลในองค์กรดังกล่าวส่วนใหญ่ก็มาจากอดีตข้าราชการ ขณะที่ประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนได้ถูกลดบทบาทการทำหน้าที่ผู้แทนลงอย่างมาก

พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าการตั้งโจทย์หรือปัญหาในการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญผิดพลาดตั้งแต่ต้น อันจะทำให้เกิดปัญหาและวิกฤตในอนาคต หากไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ

 

2.   ประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาและสมควรปรับปรุงแก้ไข

2.1   ระบบการได้มาซึ่ง ส.ส. และ ส.ว.

ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.

ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้สร้างระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” มาใช้โดยที่ยังไม่เคยมีประเทศใดในโลกนำมาใช้เลยนั้นจะสร้างปัญหาตามมามากมาย ดังนี้

1.) การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกทั้งผู้สมัครแบบแบ่งเขตและเลือกพรรค (บัญชีรายชื่อ) ไปพร้อมกันนั้น เป็นการปิดโอกาสหรือทางเลือกของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่จะเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน ผลการเลือกตั้งจะไม่สะท้อนถึงความต้องการอันแท้จริงของประชาชนในการเลือกผู้แทน เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

2.) การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการซื้อเสียง แต่จะทำให้การซื้อเสียงง่ายขึ้น

3.) การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวไม่ได้สัมพันธ์กับข้ออ้างที่ว่าจะทำให้พรรคการเมืองส่ง  คนดีมีความรู้ลงสมัคร เพราะโดยปกติการส่งผู้ใดลงสมัครนอกจากพรรคจะดูว่าผู้สมัครเป็นคนที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความไว้วางใจแล้ว ก็ย่อมต้องเลือกตามที่เห็นว่าดีที่สุดอยู่แล้ว

4.) ผลคะแนนที่ได้รับ ไม่ได้สะท้อนถึงคะแนนความนิยมที่มีต่อพรรคการเมือง คะแนนที่ได้อาจเป็นเพราะประชาชนชอบผู้สมัคร แต่ไม่ชอบพรรคการเมืองนั้นก็ได้

5.) การนำคะแนนเสียงทุกคะแนนเสียงแม้จะเป็นคะแนนที่แพ้การเลือกตั้งในเขตมารวมคำนวณเพื่อคิดคะแนนให้กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ขัดต่อหลักประชาธิปไตยที่ถือเสียงข้างมากเป็นตัวชี้ขาด และไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน

6.) จะทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบในการเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถส่งผู้สมัครครบ  ทุกเขตได้

7.) ประชาชนจะไม่ให้ความสำคัญกับผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ แต่จะดูผู้สมัครแบบแบ่งเขตเป็นสำคัญ ทำให้พรรคการเมืองไม่ให้ความสำคัญกับรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ

ผลที่จะเกิดจากการใช้ระบบเลือกตั้งดังกล่าว

1.) จะทำให้ได้รัฐบาลผสมหลายพรรค ส่งผลให้รัฐบาลอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพในการบริหารประเทศ

เนื่องจากความมีเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่นำมาใช้จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใด  ที่จะสามารถชนะการเลือกตั้งและมีเสียง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งได้ แต่จะเกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค

พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดอาจไม่ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งขัดต่อความต้องการของประชาชน จะเกิดการต่อรองตำแหน่งในคณะรัฐบาล แม้แต่ตัวผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีก็อาจมีการต่อรองเอาบุคคลของพรรคที่ได้จำนวนที่นั่งรองๆ ลงไปมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมิฉะนั้นจะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงอาจเกิดการฮั้วกันทางการเมืองและเกิดระบบผลประโยชน์ตอบแทนทางการเมืองขึ้น ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องยอมให้พรรคการเมืองต่างๆ ในการบริหารราชการ มิฉะนั้นจะเกิดการถอนตัวจากรัฐบาลเหมือนเช่นในอดีต รัฐบาลต้องเสียเวลากับการบริหารการเมืองเพื่อความอยู่รอดของตนมากกว่าการที่จะบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

ที่ผ่านมาได้มีบทพิสูจน์แล้วว่า รัฐบาลผสมหลายพรรคนั้นมีปัญหาทั้งทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดิน แต่รัฐบาลที่มีเสถียรภาพสามารถแก้ปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ  และสร้างความเจริญก้าวหน้าในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนและประเทศได้

เมื่อระบบการเมืองและพรรคการเมืองอ่อนแอ นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาการเมือง  และการบริหารประเทศแล้ว การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศก็ไม่อาจเดินหน้าไปได้ เพราะพรรคการเมืองต้องมาคอยดูแลประสานประโยชน์กับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ไม่มีโอกาสสร้างเสริมนโยบายใหม่ๆ หรือเพื่อช่วยเหลือประชาชน เพราะนโยบายต่างๆ จะต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบด้วย อันจะทำให้นโยบายดีๆ ของบางพรรคอาจไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะ  แต่ละพรรคจะมุ่งสร้างฐานคะแนนความนิยมของพรรคตนเองเป็นหลัก

นอกจากนี้เมื่อรัฐบาลซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในฝ่ายบริหารอ่อนแอ ก็จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติเป็นไปได้ยาก กลไกการปฏิบัติราชการก็จะขาดความเป็นเอกภาพ กลายเป็นว่ากระทรวงใด พรรคใดรับผิดชอบก็ดูแลกันเอาเอง

ในที่สุดรัฐบาลก็ไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ ถ้าไม่ยุบสภาก็ต้องถูกทำรัฐประหารเหมือนเช่นอดีต

ข้อเสนอ

ควรนำระบบการเลือกตั้งแบบผสมที่ใช้ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาใช้ซึ่งจะส่งผลดีหลายประการ ดังนี้

1.) เนื่องจากมีการแยกบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ระหว่างการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้ประชาชนมีความเป็นอิสระ  สามารถใช้สิทธิเลือกตัวแทนของตนตามที่ชอบ และเลือกพรรคที่ตนเองศรัทธาได้

2.) ระบบเลือกตั้งดังกล่าว สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ส.ส.ที่ได้ สะท้อนความเป็นผู้แทนของประชาชนมากที่สุด

3.) ระบบเลือกตั้งดังกล่าว จะทำให้ประชาชนให้ความสำคัญต่อทั้งผู้สมัครแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อของพรรค ทำให้พรรคการเมืองต้องเข้มงวดในการคัดเลือกผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อจะได้คนที่ดีและมีความรู้เป็น ส.ส.

4.) ระบบเลือกตั้งดังกล่าวได้ใช้ในการเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้ว จนประชาชนมีความคุ้นเคย สถิติการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนก็เพิ่มสูงขึ้นและก็ไม่ปรากฏว่าเกิดปัญหาใดๆ ในการใช้ระบบดังกล่าว  คงมีเพียงข้ออ้างของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าระบบนี้จะเกิดเผด็จการรัฐสภา ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวไม่มีอยู่จริง หรืออ้างว่ารัฐบาลเข้มแข็งเกินไปอาจใช้อำนาจในทางมิชอบ ก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะมีระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลอยู่แล้ว

5.) ระบบเลือกตั้งดังกล่าว ได้มีข้อพิสูจน์ถึงผลลัพธ์ที่ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน แล้วเหตุใดจึงจะเปลี่ยนไปใช้ระบบอื่น ซึ่งยังไม่มีใครเคยใช้ เป็นการไม่คุ้มที่จะลองผิดลองถูก เพราะนั่นคือการเอาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นตัวประกันของระบบที่จะสร้างขึ้น

6.) ระบบเลือกตั้งดังกล่าว ได้สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกพรรคการเมือง เพราะแยกการเลือกตั้งทั้งสองแบบออกจากกัน ทำให้พรรคการเมืองเล็กๆ สามารถเลือกส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งได้

2.2   ระบบการได้มาซึ่ง ส.ว.

กำหนดให้ ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหาของคนเพียงกลุ่มหนึ่ง โดยให้มีอำนาจสำคัญในการเป็นสภากลั่นกรอง มีอำนาจให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและบุคคล  ในองค์กรอิสระ แสดงให้เห็นนัยยะว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อต้องการสร้างระบบอำนาจใหม่ ให้เกิดการควบคุมและครอบงำศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ จึงมีการเชื่อมโยงกระบวนการได้มาของ ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในลักษณะดังกล่าว การที่ให้อำนาจสำคัญแก่ ส.ว. ดังกล่าว จึงควรที่จะพิจารณาให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพราะศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีหน้าที่สำคัญที่จะชี้ถูกชี้ผิด ส.ส. และ ครม. ซึ่งเป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การใช้ระบบการได้มาซึ่ง ส.ว. แบบนี้ จึงเป็นการไม่เคารพในอำนาจและการตัดสินใจของประชาชน แต่เป็นการเปิดโอกาสให้มีการสร้าง  กลุ่มอำนาจใหม่ที่เป็นข้าราชการ นักวิชาการ ขุนนาง ชนชั้นนำที่เป็นพวกพ้องของกลุ่ม  ผู้มีอำนาจได้สร้างระบบตัวแทนของตัวเองขึ้นมามีอำนาจเหนือประชาชน ถือเป็นการนำประชาธิปไตยที่พัฒนามาไกลแล้ว กลับถอยหลังไปอีกหลายปี

ข้อเสนอ

ควรให้การได้มาซึ่ง ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งทำให้ได้ ส.ว. ที่มีความหลากหลายในวิชาชีพได้ เพราะเปิดโอกาสให้บุคคลในทุกสาขาอาชีพสมัครได้ และยังถือเป็นผู้แทนของปวงชนอย่างเต็มภาคภูมิด้วย

2.3   ที่มาของนายกรัฐมนตรี

โดยที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้พยายามอย่างยิ่งที่จะคงบทบัญญัติในส่วนของที่มาของนายกรัฐมนตรีว่า ไม่จำต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ แม้จะได้กำหนดว่าให้พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 คน หรือจะไม่เสนอก็ได้ โดยอ้างว่าเพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ในชั้นการเลือกตั้งก็ตาม สาระสำคัญก็คือยังคงให้ผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นั่นเอง

กรณีดังกล่าวย่อมมีนัยสำคัญว่า เป็นการเตรียมแผนรองรับผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบัน หรือบุคคลที่ผู้มีอำนาจเตรียมการไว้ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากคาดหมายได้ว่า  หลังการเลือกตั้งต้องได้รัฐบาลผสมแน่นอน และต้องมีการต่อรองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ การเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้เป็นการหมกเม็ดเพื่อหวังสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน เพราะหลักการที่เขียนไว้นั้นไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย เนื่องจาก  ที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง จนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น การมาเปลี่ยนหลักการเดิมนอกจากจะทำให้ประชาธิปไตยถดถอยแล้ว ยังเป็นการปูทางเพื่อให้บางคนได้สืบทอดอำนาจต่อ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการยอมรับของประชาชนได้

ข้อเสนอ

ควรต้องกำหนดให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาในการเลือกตั้ง แต่ละพรรคก็ต้องชูผู้นำพรรคของตน หรือแกนนำ  ในการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งอยู่แล้ว ประชาชนก็ทราบ  กันอยู่ จึงสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ไม่จำต้องมากำหนดให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีล่วงหน้า เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นการสืบทอดอำนาจเช่นนี้

2.4   การสร้างข้อจำกัดในการบริหารราชการแผ่นดิน ขณะที่กำหนดอำนาจหน้าที่ให้แก่รัฐบาลจำนวนมากจนทำให้เกิดปัญหาเป็นรัฐบาล “เป็ดง่อย” นอกจากทำอะไรไม่ได้แล้ว ยังอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้โดยง่ายด้วย

นอกจากระบบเลือกตั้งที่ทำให้ได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอไร้เสถียรภาพในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐบาลอย่างเข้มงวดจนเป็นข้อที่ทำให้กังวลว่า จะมีการใช้ช่องทางดังกล่าวในการล้มรัฐบาลได้โดยง่าย เช่น

1.) การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อใช้กับองค์กรของตนและกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย และการฝ่าฝืนจริยธรรมเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้โดยการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง จากเดิมที่ต้องให้วุฒิสภาเป็นผู้ถอดถอนจากตำแหน่ง

2.) การจำกัดบทบาทพรรคการเมืองและรัฐบาลในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศไว้ตั้งแต่ในชั้นการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ให้ กกต. ตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมือง  ได้ด้วย

3.) การกำหนดว่านโยบายที่จะใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับการ  ของบประมาณรายจ่ายประจำปี และในบทเฉพาะกาลให้อำนาจรัฐบาล คสช. จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (ซึ่งมีเป้าหมายไว้ 20 ปี) กรณีนี้ย่อมเข้าใจได้ว่า คสช. จะกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องปฏิบัติตามเป็นระยะเวลาอีกนาน ทำให้รัฐบาลที่มาจาก  การเลือกตั้งไม่สามารถที่จะกำหนดนโยบายอื่นๆ ได้เอง ตามที่เห็นว่าเป็นความจำเป็น  และเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นได้ ถือเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของรัฐบาล

4.) การพิจารณางบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎรที่ห้าม ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขที่มาในรายการหรือจำนวนในรายการ ซึ่งรวมถึงห้าม ครม.ด้วย หากฝ่าฝืนผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง ส่วน ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้สภาหรือรัฐบาลไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือจำนวนในรายการของงบประมาณรายจ่ายตามที่ ส.ส. ส.ว. กรรมาธิการ หรือรัฐบาลเห็นสมควรปรับปรุงได้ อันจะทำให้โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในระหว่างนั้นไม่อาจทำได้ ต้องไปเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภาก็จะกลายเป็น  สภาตรายางไป ทั้งที่เรื่องงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ

ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญบังคับให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่รัฐสภา  ศาล องค์กรอิสระและองค์กรอัยการ โดยจะมีการตราหลักเกณฑ์ไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยเหตุนี้รัฐบาลในอนาคตจะมีข้อจำกัดในการพัฒนาเศรษฐกิจและดูแลช่วยเหลือประชาชน เพราะนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนจะถูกกล่าวหาว่าเป็นประชานิยม  และไม่สามารถนำมาใช้ในการหาเสียงหรือบริหารราชการแผ่นดินได้ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของรัฐไว้มากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. กกต. และ คตง. สามารถทักท้วงนโยบายดังกล่าวได้ หน่วยงานเหล่านี้จะเป็นผู้ฉุดรั้งนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ นโยบายช่วยเหลือประชาชน

5.) รัฐบาลมีข้อจำกัดในการลงทุนในโครงการสำคัญๆ

เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนด เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ต้องแสดงที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยรัฐบาล คสช. จะตรากฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ  จะทำให้รัฐบาลใหม่มีข้อจำกัดในการที่จะริเริ่มในการจัดทำโครงการ  อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือการพัฒนาด้านต่างๆ ที่จะต้องใช้เงินกู้มาดำเนินการ  ไม่อาจพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง คิดนโยบายระยะยาวไม่ได้ ไม่อาจแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนได้

ข้อเสนอ

ควรให้อิสระแก่รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในการที่จะกำหนดนโยบายได้  ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ของประเทศในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ผูกพันรัฐบาลไว้กับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาล คสช. กำหนดไว้ ทั้งนี้เพราะไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมถึงสถานการณ์โลกด้วย การกำหนดข้อผูกพันในรัฐบาลต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล คสช. จะเป็นข้อผูกมัดประเทศไว้ ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ได้

นโยบายของรัฐบาลเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำพาประเทศและประชาชนไปสู่  ความเจริญก้าวหน้า จึงควรให้รัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดนโยบายได้เอง เพียงแต่กำหนดกรอบเรื่องวินัยการเงินการคลังไว้ก็น่าจะเพียงพอ ไม่ควรสร้างข้อจำกัดจนรัฐบาล  ไม่สามารถกำหนดนโยบายหรือบริหารประเทศได้

2.5   เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญจนกลายเป็น “ซูเปอร์องค์กร”

โดยเจตนารมณ์ของการจัดตั้งศาลก็เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่เฉพาะในเรื่องการวินิจฉัยกรณี พิพาทเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น และเป็นศาลที่มีอำนาจจำกัดเฉพาะที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น ไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจทั่วไปดังเช่นศาลยุติธรรม ที่ผ่านมาพบว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจหน้าที่วินิจฉัยหลายคดีที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องเที่ยงธรรม ใช้อำนาจ  เกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แทนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะปรับปรุงโครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีที่มาที่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชนและให้มีอำนาจหน้าที่เฉพาะในการตัดสินหรือวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น กลับเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนักการเมืองได้ แทนที่อำนาจดังกล่าวควรจะเป็นของวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะเป็นผู้แทนของปวงชน

นอกจากนี้ยังให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตีความรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวาง มีสิทธิชี้ขาดว่าในยามประเทศมีวิกฤติสามารถวินิจฉัย และให้บังคับตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้  มีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และองค์กรอิสระ ซึ่งทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจดังกล่าวอาจตีความได้ถึงการให้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือการตรากฎหมายของรัฐสภา  ตลอดจนอาจชี้ขาดให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้ เป็นต้น

ข้อเสนอ

ควรจำกัดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญให้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เช่น วินิจฉัยว่าบทบัญญัติกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือกรณีวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. / ส.ว. / หรือกรณีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิและ  ไม่มีหนทางเยียวยาโดยวิธีการอื่นเท่านั้น ไม่ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ประเพณีการปกครองประเทศตามที่ร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้

นอกจากนี้ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ควรจะเปิดช่องให้มีการสมัครและสรรหาได้อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่ให้ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้เสนอชื่อจาก  ผู้พิพากษาจำนวนถึง 5 คนซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการสรรหาก็ไม่ควรจำกัดเพียงประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุดและบุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระแต่งตั้งเท่านั้น แต่ควรมี  ภาคส่วนของสังคมที่ไม่มีส่วนได้เสีย เข้ามาเป็นกรรมการสรรหาด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้  เกิดปัญหาตุลาการภิวัฒน์เหมือนในอดีต ส่วนองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คนนั้นก็มีปัญหา เพราะคดีรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ให้บุคคลเพียง 5 คนเป็นองค์คณะ  ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีตุลาการเสียงข้างมากเพียง 3 คน ใน 9 คน ตัดสินวินิจฉัยประเด็นสำคัญ  ของบ้านเมืองได้ จึงควรกำหนดให้องค์คณะมีไม่น้อยกว่า 7 คน

อนึ่ง พรรคเพื่อไทยเห็นว่า องค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ควรอยู่ในระบบเดียวกันกับศาลทั่วไป สมควรแยกเป็นอิสระจากหมวดศาล แล้วตั้งเป็น “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” เหมือนเช่นในอดีตที่เคยมีมาตั้งแต่ปี 2489 ถึง 2539 เป็นเวลากว่า 50 ปี เพื่อจำกัดบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ ในเรื่องที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้นโดยองค์กรดังกล่าวจะมีตัวแทนทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ มาทำหน้าที่ ซึ่งอาจรวมถึงตัวแทนจากองค์กรอิสระด้วยก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีตัวแทนจากทุกฝ่าย ผลคำวินิจฉัยจะได้เกิดการยอมรับและทุกฝ่ายปฏิบัติตาม ไม่มีองค์กรใดที่เป็น “ซูเปอร์องค์กร” อีกต่อไป

2.6   ให้องค์กรอิสระ (กกต. , ปปช. , คตง.) มีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภา

โดยการชี้ทิศทาง โดยการท้วงติง ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล โดยอ้างว่ามีการทุจริต ทำให้รัฐบาลและรัฐสภาขาดความเป็นอิสระในการบริหารราชการแผ่นดินและในการ  ตรากฎหมาย องค์กรเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่อต้านนโยบายของรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศและประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะขัดขวางนโยบายสำคัญๆ ของรัฐบาล แม้จะแถลงต่อรัฐสภาแล้วก็ตาม  ขณะที่ให้กรรมการในองค์กรอิสระเป็นกรรมการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระเอง เป็นการเปิดช่องการสืบทอดอำนาจ

ข้อเสนอ

เนื่องจากระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ขององค์อิสระแต่ละองค์กร ครอบคลุมในเรื่องต่างๆ ไว้หมดแล้วไม่ว่าการตรวจสอบนโยบายซึ่งจะต้องแถลงต่อรัฐสภา เรื่องการทุจริตก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องการใช้จ่ายเงินแผ่นดินเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งกระบวนการตรวจสอบในแต่ละเรื่องมีขั้นตอน  การปฏิบัติอยู่แล้ว แต่การให้อำนาจพิเศษแก่องค์อิสระข้างต้นในการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลหรืออ้างว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องนั้น จะทำให้องค์อิสระสามารถ  เข้ามาแทรกแซงองค์กรฝ่ายบริหารได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จึงเห็นควรยกเลิกอำนาจในส่วนนี้  ขององค์อิสระและให้อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่

2.7   การกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากที่สุด จะก่อให้เกิดวิกฤตของชาติในอนาคต

ตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่า การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่า  ที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และต้องมีจำนวน ส.ส. จากพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 10 คนเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรค นอกจากนี้ หาก ส.ส. ของทุกพรรคที่มี ส.ส. อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าพรรคละ 10 คน ถ้ารวมทุกพรรคแล้วมีจำนวนเกิน 10 คน ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวน ส.ส. ทุกพรรค และต้องมี ส.ว. เห็นด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด การกำหนดเงื่อนไขการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ดังกล่าว จึงทำให้โดยข้อเท็จจริงแล้วจะทำให้รัฐธรรมนูญที่จะใช้บังคับไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้อย่างแน่นอน เพราะโดยวิธีปฏิบัติหาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล หรือ ครม. เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านก็ย่อมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขนั้นอยู่แล้ว การกำหนดเช่นนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญ  ที่แก้ไขไม่ได้ และจะเป็นการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการลงคะแนนได้ หากต้องการให้รัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบ หลักการเช่นนี้ ผิดหลักการของการ  ร่างรัฐธรรมนูญทั่วไป ที่จะกำหนดให้รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ แม้จะแก้ไขได้ยากกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป แต่ก็มิใช่ว่าจะแก้ไขยากที่สุดหรือแก้ไขไม่ได้ การกำหนดเช่นนี้  จะก่อให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นในบ้านเมืองได้ เมื่อยามที่บ้านเมืองต้องการเปลี่ยนแปลง  ให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ข้อเสนอ

ควรยึดหลักการเดิมในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะแม้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจคาดหมายได้ทั้งหมดว่าในวันข้างหน้าสถานการณ์ของประเทศและของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จึงควรให้ผู้มีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในขณะนั้นได้พิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้พลวัตรไปตามสถานการณ์ การจะให้รัฐธรรมนูญหยุดนิ่ง ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนกับเป็นการหยุดประเทศไว้กับที่

2.8   การคงอำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. ไว้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

การที่บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช. และหัวหน้า คสช. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งรวมถึงอำนาจพิเศษของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ด้วยนั้น แสดงถึงการไม่ยอมปล่อยวางอำนาจของ คสช. ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร เมื่อยังคงอำนาจดังกล่าวไว้ จึงทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญยังคงมีข้อจำกัดด้วยอำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. และ คสช. สามารถใช้อิทธิพล  และอำนาจของตนไม่ว่าทั้งโดยเปิดเผยหรือทางลับชี้นำผลการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. หรือการได้มาซึ่ง ส.ว. การสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ได้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจะ  เข้ารับหน้าที่ หากไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก็สามารถสร้างเงื่อนไขเพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ กรณีเช่นนี้จะทำให้การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่อาจดำเนินการไปด้วย  ความโปร่งใสและเป็นธรรมได้ เพราะ คสช. ยังมีอำนาจควบคุมกลไกอำนาจรัฐไว้ทั้งหมดได้

ข้อเสนอ

ควรตัดบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ คสช. และหัวหน้า คสช. ออก  โดยให้ คสช. สิ้นสุดลงทันทีเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว

ด้วยปัญหาต่างๆ ที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์อิสระ ซึ่งเป็นองค์กรในระดับบนที่ใช้อำนาจหน้าที่สำคัญมีปัญหาสำคัญ เพราะหากการจัดวางโครงสร้างอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ เหล่านี้ไม่เหมาะสมก็จะทำให้เกิดปัญหาที่จะทำให้กลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนหน้าที่ต่างๆ ของรัฐ ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญได้ การบริหารราชการแผ่นดินไม่อาจสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญเกิดปัญหาความไม่เที่ยงธรรม  จะเกิดการใช้เงื่อนไขทางรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่ง  ฝ่ายใดและเป็นโทษกับอีกฝ่ายได้ง่าย พรรคเพื่อไทยจึงขอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขหลักการและสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามข้อเสนอของพรรคฯ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่ง

พรรคเพื่อไทย
21 กุมภาพันธ์ 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net