นักวิเคราะห์เตือน ระวังความขัดแย้งเกาหลีเหนือ-ใต้รุนแรงจนเข้าสู่ยุคมืด

บทความในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ (FPIF) ระบุถึงสถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ โดยเฉพาะบนพื้นที่พรมแดนเขตปลอดทหาร (DMZ) เรียกว่าผ่านพ้นช่วงยุคสมัยตะวันฉายแสง (sunshine era) แล้วและอาจเข้าสู่ยุคอันมืดมิด

20 ก.พ.2559 จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ (FPIF) ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาแย่ลงเรื่อยๆ และแย่ลงเป็นพิเศษในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือมีการทดลองนิวเคลียร์ 4 ครั้ง ตามมาด้วยการส่งกระสวยอวกาศซึ่งทางประชาคมโลกแสดงการประณามและต่อต้านด้วยการคว่ำบาตรแบบเดียวกับทุกครั้ง เกาหลีใต้ก็ร่วมต่อต้านด้วย แต่ในคราวนี้เกาหลีใต้มีท่าทีต้านหนักขึ้นด้วยการตัดสายใยทางเศรษฐกิจเส้นสุดท้ายที่เชื่อมสองประเทศนี้ไว้ด้วยกันนั่นคือการสั่งปิดย่านนิคมอุตสาหกรรมแกซองชั่วคราว

นิคมอุตสาหกรรมแแกซองเป็นมรดกที่มาจาก "นโยบายตะวันฉายแสง" (Sunshine Policy) สมัยรัฐบาลคิมแดจุง โดยมีการตั้งธุรกิจของเกาหลีใต้และมีการจ้างงานชาวเกาหลีเหนือ แต่เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐบาลปาร์คกึนเฮของเกาหลีใต้ก็ประกาศปิดย่านแกซองชั่วคราวโดยมีการเรียกคนงานกลับทั้งหมดรวมถึงมีการระงับการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อตอบโต้การกระทำของเกาหลีเหนือ อีกทั้งยังมีการอ้างว่าเกาหลีเหนือใช้รายได้จากโครงการของแกซองเป็นทุนในการสร้างขีปนาวุธและนิวเคลียร์แต่ต่อมาก็บอกว่าไม่มีหลักฐานต่อข้ออ้างดังกล่าว ฝ่ายเกาหลีเหนือเองก็มีการตัดการสื่อสารช่องทางด่วนระหว่างสองประเทศ ซึ่งเฟฟเฟอร์มองว่าทั้งสองประเทศกำลังทำให้แสงสุดท้ายของ "ยุคสมัยตะวันฉาย" ดับลง

เฟฟเฟอร์ระบุว่าการปิดย่านนิคมแกซองถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเพราะโครงการนิคมอุตสาหกรรมนี้ถือเป็นโครงการเดียวที่ทำให้ทั้งสองประเทศสามารถจับมือไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ดำรงมายาวนานแม้ว่าเกาหลีเหนือจะแสดงการทดลองนิวเคลียร์หลายครั้งและเกาหลีใต้จะเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลฝ่ายขวา แกซองจึงเป็นสัญลักษณ์ของการที่หลักปฏิบัตินิยมอยู่เหนือโฆษณาชวนเชื่อ

บทความใน FPIF ระบุต่อไปว่าความขัดแย้งระหว่างสองชาตินี้ส่งผลต่อกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกแล้ว คือกรณีที่เกาหลีเหนือตอบโต้การคว่ำบาตรครั้งใหม่ของญี่ปุ่นด้วยการประกาศยกเลิกการสอบสวนในเรื่องที่เคยมีคนถูกลักพาตัวจากญี่ปุ่นไปยังเกาหลีเหนือในช่วงคริสตทศวรรษที่ 1970-1980 ขณะที่จีนและรัสเซียก็มีความกังวลว่าเกาหลีใต้จะติดตั้งระบบขีปนาวุธป้องกันชนิดใหม่เพื่อตอบโต้การกระทำของเกาหลีเหนือ และสหรัฐฯ ก็ส่งเครื่องบินอำพรางตัว F-22 เพื่อเสริมกำลังเหนือน่านฟ้าเกาหลีใต้เพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้เคยส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อการซ้อมรบ

มีการตั้งข้อสังเกตว่าปาร์คกึนเฮเปลี่ยนท่าทีการใช้นโยบายความเชื่อใจ เกาหลีใต้หันมาบอกว่าต้องใช้วิธีที่ "กล้าหาญมากขึ้น" ในการเปลี่ยนแปลงเกาหลีเหนือ ซึ่งฟังดูเป็นคำสื่อถึงการต่อสู้ ทั้งหมดนี้จึงชวนให้เฟฟเฟอร์กังวลว่าอาจจะเกิดการปะทะสู้รบกับเกาหลีเหนือได้ในอีกไม่นานนี้

ความสำคัญของนิคมอุตสาหกรรมแกซอง

เฟฟเฟอร์ระบุถึงความสำคัญของย่านนิคมอุตสาหกรรมแกซองที่ประกอบด้วยคนงานชาวเกาหลีเหนือมากกว่า 50,000 ชีวิตที่สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ในปี 2558 และชาวเกาหลีเหนือที่ทำงานในนิคมนี้ก็มีรายได้ต่อเดือนมากกว่าคนงานทั่วไปที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจของเกาหลีเหนือ ถึงแม้ว่าคนงานเกาหลีเหนือในนิคมแกซองจะถูกรัฐบาลเกาหลีเหนือหักหัวคิวไปเสียราวร้อยละ 70-80 จนทำให้เงินเดือน 150-160 ดอลลาร์ต่อเดือน เหลือ 30-48 ดอลลาร์ต่อเดือน แต่เมื่อเทียบกับคนงานในรัฐวิสาหกิจเกาหลีเหนือที่ได้เฉลี่ย 1 ดอลลาร์ต่อเดือนแล้วนี่ถือเป็นเงินจำนวนมาก 

แต่น่าเสียดายที่ประชาคมโลกกับมองว่าแกซองเป็นสิ่งเลวร้ายที่กำเนิดมาจากความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ จึงทำให้สินค้าจากแกซองไม่สามารถส่งขายยังประเทศที่เป็นสมาชิกเขตการค้าเสรี (FTA) ได้ อีกทั้งยังไม่มีการอนุญาตให้มีการลงทุนจากชาติอื่นนอกจากเกาหลีใต้เข้าไปทำกิจการในนิคมแกซองด้วย ทั้งๆ ที่เฟฟเฟอร์มองว่านิคมอุตสาหกรรมแกซองเป็นสิ่งที่ส่งผลประโยชน์ทั้งกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ และในเกาหลีใต้เนื่องจากเป็นเขตที่ห้ามก่อตั้งสหภาพแรงงานซึ่งเป็นกลุ่มที่พวกอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ไม่ชอบ ทำให้นิคมแกซองเป็นพื้นที่ที่ทุนนิยมสามารถรุกล้ำเข้าไปสู่ประเทศที่หลายคนมองว่าเป็น "ปราการสุดท้ายของคอมมิวนิสต์" ที่ยังเหลืออยู่ในโลก แม้ว่าเฟฟเฟอร์เองจะมองว่าเกาหลีเหนือเป็น "บรรษัทชาตินิยม" (corporatist nationalism) ก็ตาม

ทั้งนี้พื้นที่แกซองยังมีประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์เนื่องจากเป็นเขตสกัดกั้นเส้นทางการรุกรานของเกาหลีเหนือสู่เกาหลีใต้ แต่หลังจากสั่งปิดพื้นที่ดังกล่าวทำให้เกาหลีเหนือส่งทหารเข้าไปควบคุมพื้นที่ดังกล่าว การปิดแกซองจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อเกาหลีใต้หรือสหรัฐฯ เลย

ภัยจากเกาหลีเหนือ

ในการโต้วาทีของผู้สมัครพรรคเดโมแครต เบอร์นี แซนเดอร์ส หนึ่งในผู้สมัครตอบคำถามของชัค ทอดด์ ผู้ดำเนินรายการจากเอ็มเอสเอ็นบีซีที่ถามว่าระหว่าง รัสเซีย, อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ประเทศใดที่เป็นภัยต่อสหรัฐฯ มากที่สุด แซนเดอร์สตอบว่าเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะสหรัฐฯ กับรัสเซียยังคงดำเนินการความร่วมมือในหลายประเด็นและเมื่อไม่นานมานี้ก็สามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านได้สำเร็จ

แซนเดอร์สกล่าวในการโต้วาทีว่า "เกาหลีเหนือกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่แปลกประหลาดมากเพราะเป็นประเทศที่แยกตัวโดดเดี่ยวปกครองโดยกลุ่มเผด็จการไม่กี่คน หรืออาจจะแค่คนเดียว ที่ดูเหมือนค่อนข้างหวาดระแวง แล้วก็มีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย"

แซนเดอร์สสนับสนุนให้สหรัฐฯ ใช้วิธีการผลักดันให้จีนช่วยกดดันเกาหลีเหนือในฐานะที่ประเทศจีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สนับสนุนเกาหลีเหนือ แต่ถึงแม้ว่าแนวคิดของแซนเดอร์สจะฟังดูชวนให้ได้รับการสนับสนุน แต่เฟฟเฟอร์ก็มีข้อกังขาในประเด็นนี้อยู่สองประการคือ หนึ่ง ถ้าหากการถูกโดดเดี่ยวทำให้เกาหลีเหนืออันตราย การคว่ำบาตรจากประชาคมโลกซึ่งเสมือนเป็นการโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือมากขึ้นจะยิ่งทำให้พวกเขาอันตรายมากขึ้นหรือไม่ สอง ถ้าหากจีนมีจุดยืนต่อต้านการกดดันไม่ยอมช่วยเปลี่ยนแปลงเกาหลีเหนือมาตลอดสองทศวรรษ อะไรที่จะทำให้จีนเปลี่ยนแปลงจุดยืนนี้

เฟฟเฟอร์ระบุว่าจีนเองก็ไม่ชอบใจเช่นกันในเรื่องที่เกาหลีเหนือมีโครงกาอาวุธนิวเคลียร์ แต่การคว่ำบาตรหนักขึ้นก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จากการที่เกาหลีเหนือระแวงว่าโลกภายนอกพยายามจะทำลายพวกเขาทำให้อาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย

เฟฟเฟอร์จึงเสนอในบทความว่าประชาคมโลกควรจะดำเนินการปฏิสัมพันธ์เกาหลีเหนือมากขึ้นกว่าเดิมโดยเน้นเรื่องการเจรจาหารือเรื่องการบรรลุข้อตกลงเรื่องการยับยั้งการสร้างอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มในเกาหลีเหนือ ควรมีการเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะทำให้เกิดการปะทะจนทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้าสู่ความมืดมิด

 

เรียบเรียงจาก

Darkness at High Noon in Korea, John Feffer, FPIF, 17-02-2016

http://fpif.org/darkness-high-noon-korea/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท