Skip to main content
sharethis

 

จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบันมักมีคำว่า "ปอเนาะ" เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการสั่งปิดปอเนาะญีฮาด หรือโรงเรียนญีฮาดวิทยา ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 บ้านท่าด่าน ตำบลตะโล๊ะกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี หลังจากที่ถูกเจ้าหน้าด้านความมั่นคงมีคำสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2548

ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้สั่งปิดสถาบันดังกล่าวนั้น ยิ่งทำให้ปอเนาะถูกมองจากรัฐและสังคมภายนอกตลอดจนบุคคลทั่วไปว่า สถานศึกษาปอเนาะมีการบ่มเพาะความคิดบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติอย่างเหมารวม ทั้งๆที่ สถาบันปอเนาะคือ ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านศาสนาและวัฒนธรรม ของชุมชน ซึ่งปอเนาะ กับ สังคมมุสลิมนั้น เปรียบได้กับความเค็มของน้ำทะเล การที่น้ำทะเลไม่เน่าเสียเพราะมีความเค็มของน้ำทะเลได้ปกป้องรักษาไว้ เปรียบเสมือนกับปอเนาะที่ช่วยรักษาไม่ให้สังคมมุสลิมเน่าฟอนเฟะจากอบายมุขต่างๆ

ปอเนาะ ญีฮาด แห่งนี้ก่อตั้ง ตั้งแต่ปีพ.ศ.2511 โดยมีบาบอเฮง ซึ่งเป็นผู้รู้ศาสนาในเวลานั้นเป็นผู้ก่อตั้ง เมื่อท่านกลับจากการศึกษา ชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการเปิดปอเนาะ ท่านก็ได้ทำการเปิดปอเนาะโดยชาวบ้านอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ตั้งแต่การก่อสร้างปอเนาะและอาคารที่ใช้ร่ำเรียนกีตาบ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปอเนาะดังกล่าวก็ได้มีบทบาทในการแก้ปัญหาหมู่บ้านผ่านการเรียนรู้ศาสนา ดังชื่อ ปอเนาะญีฮาด ที่หมายถึง “(มุญาฮาดะห์)  การมุ่งมั่งในการพัฒนาตนเอง การปรับปรุงตนเอง”  ซึ่งไม่ได้มีนัยยะเกี่ยวข้อง กับคำว่า ญีฮาด ที่แปลว่า “การต่อสู้”ที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด

เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเริ่มเข้ามา

ในปี พ.ศ.2520 บาบอเฮง ได้ถูกยิงเสียชีวิต ทำให้ปอเนาะขาดผู้ดูแล ชาวบ้านได้เห็นควรให้มีการแต่งตั้ง นายดุลเลาะ แวมะนอ ซึ่งเป็นศิษย์ที่บาบอเฮงรักและไว้ใจมากที่สุด  นายดุลเลาะเป็นลูกชายของโต๊ะอิหม่ามในหมู่บ้านท่าด่าน ที่ชาวบ้านยอมรับและให้ความไว้วางใจมากที่สุด  จึงให้นายดุลเลาะ รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลโรงเรียนญีฮาดวิทยา ต่อมาในปี พ.ศ.2521 ได้รับความไว้วางใจให้เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนญีฮาดวิทยา

ต่อมาในปี พ.ศ.2523 นายดุลเลาะ ได้แต่งงานกับนางสาวยาวาฮี แวมะนอซึ่งเป็น ลูกสาวของบอบอเฮง

นายดุลเลาะ ในฐานะครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยาได้มีการบูรณาการระบบการศึกษาจากระบบปอเนาะแบบดั้งเดิม(เรียนกีตาบ)ให้มีการนำเอาหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนหรือ (กศน.)มาใช้ ตั้งแต่นั้นมาปอเนาะญีฮาดที่ชาวบ้านเรียก ถูกเปลี่ยนเป็น “โรงเรียนญีฮาดวิทยา”

12  ปีไฟใต้ 12 ปี  ในมุมมองของรัฐ

เหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนล็อตใหญ่ 413 กระบอกได้ปะทุขึ้น เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หรือที่ทหารและชาวบ้านเรียนกันติดปากว่า "ค่ายปิเหล็ง" อย่างปริศนา และในปลายปีเดียวกันนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาปิดล้อมโรงเรียน ค้นปอเนาะแต่ช่วงนั้นยังไม่ไม่ได้ตั้งข้อหาแต่อย่างใดเนื่องจากไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย

ต่อมา ช่วงกลางเดือน พฤษภาคม 2548 เจ้าหน้าที่ทหารได้มาอีกครั้ง ครั้งนี้ก็ไม่ได้พบสิ่งผิดกฎหมายเช่นกัน แต่ครั้งนี้เข้ามาพร้อมกับหมายจับ นาย ดุลเลาะ แวมะนอ ซึ่งเป็นครูใหญ่ของโรงเรียน แต่ครั้งนั้นด้วยความบังเอิญที่ครูใหญ่นายดุลเลาะ ไม่อยู่เนื่องจากไป เยี่ยมญาติ ซึ่งป่วยที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส 2 วันก่อนหน้านี้แล้ว

เจ้าหน้าที่ทหารใช้เวลา 4 วันในการตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่เวลานั้นมีการออกข่าวว่า ทางเจ้าที่ได้ ตำราบันได 7 ขั้นและวีซีดีการฝึกอาวุธของ นายอุซมะห์ บิน ลาเดน ซึ่งเป็นวีซีดีที่การวางขายตามตลาดทั่วไป  พร้อมกับอาวุธปืน 2 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน ซึ่งเรื่องนี้

นางยาวาฮี แวมะนอ ภรรยาครูใหญ่ดุลเลาะ ยืนยันว่า เป็นปืนของอดีตกำนัน ชื่อ มะนุ ศรีท่าด่าน โดยเจ้าหน้าที่นำมาแถลงข่าวด้วย ทั้งๆที่อาวุธนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนญีฮาดแต่อย่างใด

จากนั้นก็ได้นำตัว นายอาดือนัน เจะอาแซ ที่เพิ่งกลับจากมาเลเซียได้สองวัน อาดือนันเป็นน้องเขยครูใหญ่ดุลเลาะ แวมะนอ และเป็นลูกบาบอเฮง พร้อมเด็กนักเรียน 3 คนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร บ่อทอง ปัตตานี และยึดรถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งเป็นรถของน้องชายครูใหญ่ดุลเลาะ และอีกคันเป็นของครูใหญ่ดุลเลาะเอง  เพื่อนำไปตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาว่า ในโรงเรียนญีฮาดวิทยาเป็นที่ฝึกกองกำลัง RKK

หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ รายการวิทยุนายกทักษิณ คุยกับประชาชน ได้มีการประกาศยึดใบอนุญาตโรงเรียนผ่านรายการที่ออกอากาศในวิทยุทั่วประเทศ แม้ยังไม่ทราบถึงรูปของคดีก็ตาม

และหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ก็ได้มีคำสั่งจากกระทรวงการศึกษาให้มีคำสั่งเปิดโรงเรียนต่อไปได้ แต่ทางโรงเรียนไม่อยากเปิดเนื่องจากขาดบุคลากร และคดีที่ทางเจ้าหน้าที่กล่าวหาก็หนักมาก จึงยังไม่พร้อมทำใจเปิดโรงเรียนหลังจากมีคำสั่งดังกล่าว

หลังจากที่โรงเรียนญีฮาดวิทยาหรือปอเนาะญีฮาด ถูกสั่งให้ปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในเวลานั้น ทำให้โรงเรียนญีฮาดวิทยาหรือปอเนาะญีฮาดเสมือนถูกพิพากษาให้เป็นจำเลยของเหตุการณ์ความไม่สงบอันเนื่องมาจากเหตุผลของคำสั่งปิดนั้น คือ มีพฤติการณ์แห่งการกระทำเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามเอกสารของทางราชการของฝ่ายความมั่นคง กล่าวคือ โรงเรียนญีฮาดวิทยา บ้านท่าด่าน หมู่ที่4 ตำบลตะโล๊ะกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งดำเนินกิจการบริหารโดย นายดูนเลาะ แวมะนอ มีพฤติการณ์สนับสนุนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ปีที่ 11 ของเหตุการณ์ไฟใต้ กับกระบวนการต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรม

นายบันยาล แวมะนอ บุตรชายคนที่สามของนายดูนเลาะ ครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยา เปิดเผยว่า “ตั้งแต่ปี 48 ทางหน่วยงานรัฐสั่งปิดอย่างเดียวโดยหลังจากสั่งปิดสองสัปดาห์ก็มีคำสั่งสั่งให้เปิดแต่ทางครอบครัวไม่ยอมเปิดเพราะขาดบุคลากรและรับไม่ได้กับข้อหาที่ถูกตั้งไว้ถัดจากนั้นไม่นานก็มีคำสั่งเปิด โดยบอกว่าเปิดสัปดาห์เดียวก็ได้ แล้วถ้าจะปิดก็ปิดอีก  ซึ่งเราคิดว่ามันเหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการสั่งปิด”

นายบันยาล เปิดเผยต่อว่า ในช่วงเวลาของการปิดโรงเรียนและอายัดทรัพย์สินฯชั่วคราวนั้น หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานด้วยกัน ได้เข้ามาเพื่อที่จะยื่นมือช่วยเหลือในทางคดี พร้อมกับพูดให้กำลังใจว่าเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะยึดทรัพย์สินดังกล่าว อีกทั้งจะช่วยจ่ายค่าเสียหายกรณี ริดวาน แวมะนอ พี่ชายที่ถูกยิงเสียชีวิต แต่ทางครอบครัวได้กล่าวกับทางหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เข้ามาว่า ขอแค่ให้ได้ทราบว่าใครเป็นคนยิงพี่ชายเสียชีวิต ขอรับทราบว่าโรงเรียนผิดอะไร ครูใหญ่มีความผิดอย่างไร ถึงต้องปิดโรงเรียน

นายบันยาล กล่าวต่อไปว่า “ครอบครัวของเราคิดว่าเราไม่ได้ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐแต่อยากให้รัฐให้คำตอบ ในข้อที่เรากังขามากกว่าการช่วยเหลือเยียวยาในด้านวัตถุหรือเงินตรา ก่อนที่รัฐจะมาเยียวยา ขอให้จัดการเรื่องราวให้เคลียร์ก่อน ไม่ใช่มาเยียวยาก่อน แล้วค่อยไปจัดการให้ความเป็นธรรมทีหลัง อย่างนั้นเราไม่ต้องการ”  นายบันยาล กล่าว

อย่างไรก็ตาม เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะหลังจากมีคำสั่งปิดโรงเรียนญีฮาดวิทยา ต่อมาในเดือนตุลาคม ปีพ.ศ.2555 ศาลปัตตานีก็ได้มีคำสั่งให้นายดูนเลาะ แวมะนอ ครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยา เป็นบุคคลสาบสูญ และเดือนพฤศจิกายน ในปีเดียวกัน ก็มีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว โดยคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามพรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ปปง. 3 คนได้ลงมาดูที่ดินหรือทรัพย์สินที่ถูกอายัดชั่วคราว ปรากฏว่า ที่ดินที่เข้าใจว่าคือเนื้อที่ 14 ไร่ของปอเนาญีฮาดนั้น กลับไม่ใช่ของครูใหญ่ดูนเลาะ แวมะนอ ตามกฎหมายการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว เพราะที่ดินของครูใหญ่ดูนเลาะตามโฉนดทั้งหมด 6 ฉบับเป็นที่ดินที่ไม่เกี่ยวข้องกับปอเนาะเลย  แต่เจ้าของที่ดินปอเนาะญีฮาดนั้นมีรายชื่อเจ้าของถึง 5 คนซึ่งเป็นญาติพี่น้องกัน จากนั้น ทั้งห้าคนที่เป็นเจ้าของที่ดินได้รับหนังสือเชิญไปให้ถ้อยคำแก่เจ้าหน้าที่ ปปง. ที่สภ.เมืองปัตตานี

สำหรับในทางกฎหมายเรื่องของการการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวนั้นคนในครอบครัวแวมะนอ ได้มอบหมายให้มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าของคดี เป็นผู้ดูแลในเรื่องคดี

ในเดือนสิงหาคมปีพ.ศ.2558 ศาลแพ่งได้มีการสืบพยาน เริ่มมีการตรวจสอบพยานฝ่ายค้าน ทางปอเนาะญีฮาดหรือครอบครัวแวมะนอยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ พร้อมที่จะสู้คดีเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวดังกล่าว ในขณะที่ปอเนาะที่ได้รับผลกระทบมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมว่าให้ความเป็นธรรมแก่เขาได้  แต่ในพื้นที่ก็มีหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้ความเป็นธรรมในทางการเมือง โดยได้มาพบกับ นายบัลยาลแวมะนอ ด้วยตัวเอง และเสนอขอช่วยไกล่เกลี่ยในเรื่องคดีความให้ ซึ่งทางนายบันยาล ได้ให้คำตอบไปว่า “ตนได้ปรึกษากับทางทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมแล้ว ตอนนี้เรื่องคดีอยู่ที่ศาลแพ่งและใกล้จะถึงที่สิ้นสุดแล้ว ยังไงก็ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ถ้าศาลตัดสินออกมาอย่างไร ทางครอบครัว ชุมชน บรรดาลูกศิษย์ ตลอดจนสังคมมลายูปาตานีในพื้นที่ รับได้อยู่แล้ว และนี่คือทางออกที่ดีที่สุดแล้วเพื่อยุติปัญหาการตกเป็นจำเลยความหวาดระแวงของรัฐ”

นายบันยาล เล่าว่า ต่อมามีทีมงานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนดังกล่าว ได้โทรศัพท์มาคุยให้ไปที่หน่วยงานต้นสังกัดเพื่อคุยเรื่องมอบหมายให้ดูแลคดีความ แต่ตนก็ตอบไปตามที่เคยตอบข้างต้น ทางทีมงานนั้นจึงถามตนว่า “ถามจริงๆคุณยังเชื่อในกระบวนการยุติธรรมของภาครัฐอยู่อีกเหรอ” นายบันยาลตอบไปว่า “ผมและครอบครัวยังเชื่อมั่นอยู่ครับและพร้อมน้อมรับการตัดสินของศาลในทุกกรณีครับ” ทางปลายสายก็ตอบกลับว่า “ถ้าจะเอายังงั้นก้ได้” พูดเสร็จแล้วก็วางสาย

“ผมยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐว่า คงจะไม่รังแกประชาชนของตนเอง เรื่องคดีถ้าแพ้ ก็ขอยอมรับ ถ้าชนะคดี ก็ขอขอบคุณพระเจ้า (อัลฮัมดุลิลละห์)” บันยาล กล่าวกล่าวทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net