Skip to main content
sharethis

24 ก.พ.2559 เมื่อเวลา 19.30 น. เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อ่านแถลงการณ์ยืนยันที่จะดำเนินการคัดค้านคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท หลังจากสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งออกหนังสือพิจารณาไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมตามที่ทางเครือข่ายได้แจ้งความประสงค์ขออนุญาตชุมนุมระหว่างวันที่ 25-28 ก.พ.หน้าสหประชาชาติ

“ไม่สามารถอนุญาตให้มีการชุมนุมดังก่าวได้เนื่องจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 และ 4/2559 ถือเป็นกฎหมายตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล จึงถือเป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแงชาติ ฉบับที่ 7/2557” สน.นางเลิ้งระบุ

นายประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายกล่าวว่า การวินิจฉัยของ สน.นางเลิ้งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ และจะนำไปสู่การปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่การเคลื่อนไหวของเครือข่ายเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2559 และ 4/2559 ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีการชูป้ายหรือแสดงสัญลัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับการเมืองเช่นกัน คำสั่งทั้งสองฉบับได้ไปเปลี่ยนหลักการกฎหมายเดิมซึ่งจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาล และยังขัดกับเจตนารมย์ของมาตรา 44  

"สิ่งที่เครือข่ายดำเนินการยืนอยู่บนหลักการมาตรา 4 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักการระหว่างประเทศ ดังนั้น สิทธิเสรีภาพของเราในการเรียกร้องยังคงอยู่" นายประสิทธิชัยกล่าว

นายสมนึก จงมีวศิน ตัวแทนเครือข่ายกล่าวว่า เครือข่ายมีเจตนารมย์ในการปกป้องฐานทรัพยากรและสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา คำสั่งคสช.ทั้งสองฉบับได้ไปยกเลิกกฎหมายผังเมืองเดิมที่กำหนดเขตการพัฒนา ซึ่งการเรียกร้องของเครือข่ายเป็นสิทธิในการขอให้นำกฎหมายมี่ชอบธรรมกลับมาใช้

ขณะที่นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw ) กล่าวว่า การออกคำสั่งห้ามชุมนุมของ สน.นางเลิ้งเป็นความผิดพลาด เนื่องจากพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะกำหนดให้สถานีตำรวจมีหน้าที่เป็นผู้รับแจ้งในการขออนุญาตการชุมนุม แต่ไม่ใช่ผู้อนุญาต ดังนั้นสถานีตำรวจควรออกเพียงใบรับแจ้งเท่านั้น และอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย จึงขอให้ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมและทำการวินิจฉัยการขออนุญาตชุมนุมใหม่

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายได้เริ่มชุมนุมหน้าอาคาร กพร. เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา และวันที่ 24 ก.พ.เคลื่อนการชุมนุมมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มาที่สหประชาชาติ หลังจากที่ได้มีการยื่นหนังสือเรียกร้องเรื่องนี้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.พ. แต่ไม่มีการตอบสนองใดๆ จากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกลุ่มภาคประชาชนจากหลายจังหวัด อาทิ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครนายก อุดรธานี กระบี่ ซึ่งมีข้อกังวัลว่า ประกาศทั้ง 2 ฉบับจะเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลสามารถเลือกพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้โดยอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับการจัดทำผังเมืองที่มีแต่เดิม และจะทำให้อนุญาตให้มีกิจการที่แต่เดิมไม่อนุญาตให้เกิดขึ้นในพื้นที่ผังเมืองส่วนสีเขียวได้ ได้แก่ กิจการโรงไฟฟ้าทุกชนิดรวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงงานรีไซเคิล บ่อฝังกลขยะ โรงเผาขยะกากอุตสาหกรรมอันตราย ฯลฯ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net