สำนักพุทธฯยันคณะสงฆ์ทั่วประเทศศรัทธา 'สมเด็จช่วง' รบ.เผยไม่ทำประชาพิจารณ์ตั้งพระสังฆราช

สำนักพุทธฯ ยัน คณะสงฆ์ทั่วประเทศเคารพศรัทธา 'สมเด็จช่วง' เจ้าคุณพิพิธ - รองอธิการ มมร ค้านประชาพิจารณ์ฉะไม่เหมาะสม แนะทางออกดีสุด ทำตาม พ.ร.บ.สงฆ์ ด้านพล.อ.สมเจตน์ สนช. แนะสมเด็จช่วงให้เสียสละ 'ไม่รับตำแหน่ง-ปัญหาจบ' ขณะที่รัฐบาลยันไม่มีแนวคิดทำประชาพิจารณ์ตั้งพระสังฆราช วอนทุกฝ่ายหยุดสร้างความสับสน 

26 ก.พ. 2559 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกระแสข่าวเรื่องการทำประชาพิจารณ์การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดในเรื่องดังกล่าว และยืนยันมาโดยตลอดว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องยึดหลักกฎหมายและระเบียบเป็นที่ตั้ง ทั้ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กฎหมายปกติ หรือพระธรรมวินัย เพราะการนำความรู้สึกนึกคิดหรืออคติส่วนตัวมาตัดสินคงเป็นการไม่เหมาะสม และวอนทุกฝ่ายหยุดสร้างความสับสน

“หากบางกลุ่มมองว่าปัญหาของคณะสงฆ์เป็นเรื่องที่พระควรจัดการแก้ไขกันเอง รัฐบาลก็สนับสนุนให้คณะสงฆ์พูดคุยหารือเพื่อหาข้อยุติ บนเงื่อนไขที่ต้องไม่สร้างความขัดแย้งและเป็นที่ยอมรับภายใต้กฎหมาย ก่อนดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนรายละเอียดว่า หากประพฤติผิดวินัยสงฆ์แล้วจะขาดจากความเป็นพระหรือไม่นั้น ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องไปพิจารณากันตามหลักฐานและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ไม่ว่าบุคคลใดในประเทศนี้ ทั้งพระภิกษุ ข้าราชการ หรือประชาชน หากกระทำผิดกฎหมายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในทุกกรณีเมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่หากพิสูจน์ได้ว่าไม่มีความผิดจริง โปร่งใส ไม่มีสิ่งใดแอบแฝงหรือสร้างความขัดแย้ง รัฐบาลก็ยินดีรับฟังและดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนปกติ”  พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
 
สำนักพุทธฯ ตอบรัฐบาล กรณีสังฆามติ 5 ข้อจาก คสพ. ยัน คณะสงฆ์ทั่วประเทศเคารพศรัทธา 'สมเด็จช่วง'
 
ก่อนหน้านี้ ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ตามที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับข้อเสนอสังฆามติ 5 ข้อจากกลุ่มเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ ที่มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐมและได้นำข้อเสนอดังกล่าวให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สอบถามไปยัง พศ. ล่าสุด พศ.ได้พิจารณาและสรุปแล้วดังนี้
 
1.กรณีข้อเสนอห้ามหน่วยงานภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องสงฆ์ ขอให้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาตามแบบอย่างบรรพบุรุษไทย ข้อพิจารณาคือ เหตุชนวนคือการที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และดีเอสไอ เข้ามากดดันมติมหาเถรสมาคมให้พิจารณาอธิกรณ์กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย คณะสงฆ์มองว่าเป็นการก้าวก่ายการปกครองสงฆ์ 2.กรณีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการปกครองสงฆ์ต้องปรึกษาและได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรฯ ข้อพิจารณาคือ รัฐบาลได้เคยแถลงต่อสาธารณชนมาแล้วว่ารัฐบาลจะปรึกษามหาเถรฯก่อน เมื่อครั้งมีข้อเสนอให้แก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ตรวจสอบทรัพย์สินวัด พระ
 
3.กรณีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีเสนอนาม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ข้อพิจารณาคือ คณะสงฆ์ทั่วประเทศทุกระดับชั้นเคารพนับถือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์มาก เพราะเป็นพระมหาเถระที่มีศีลาจารวัตรงดงาม ไม่ถือตัว พบง่าย เมตตาต่อชนทุกชั้น ช่วยเหลือ อุปถัมภ์ต่อวัดต่างๆทั่วประเทศ มีอายุ 91 ปี บวชมาแล้ว 77 พรรษา เมื่อมีกระแสคัดค้านจากคนบางกลุ่ม ทำให้คณะสงฆ์ทั่วประเทศอึดอัด รู้สึกว่าคณะสงฆ์และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์โดนรังแก จึงเป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมที่พุทธมณฑล
 
4.กรณีขอให้รัฐบาลสั่งเป็นนโยบายให้หน่วยงานราชการ ปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพ ไม่ข่มขู่ คุกคามด้วยกฎหมาย ข้อพิจารณาคือ เมื่อมีบุคคลไม่กี่คนโจมตีคณะสงฆ์ และไปยื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการกลับได้รับการต้อนรับอย่างดีจากบุคคลระดับสูง ทำให้คณะสงฆ์รู้สึกว่ารัฐบาลเลือกข้าง 5.กรณีขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ข้อพิจารณาคือ ภายใต้ภาวะที่คณะสงฆ์ถูกรังแก ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม จึงทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
 
เจ้าคุณพิพิธ - รองอธิการบดี มมร ค้านประชาพิจารณ์
 
ขณะที่ พระราชวิจิตรปฏิภาณ หรือเจ้าคุณพิพิธ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม (มหานิกาย) กล่าวว่า การจะทำประชาพิจารณ์การตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น มีกฎหมายหรือกฎมหาเถรสมาคมฉบับไหนที่ให้ทำ อะไรเป็นแนวคิดที่จะต้องทำเช่นนั้น ทางรัฐบาลไปถามคนไม่ศรัทธา แล้วไปฟังเสียงคนไม่ศรัทธา อย่าลืมว่า สังฆราช ตั้งให้พระสงฆ์ บริหารกัน ส่วนพระสงฆ์บางรูปที่ไม่ศรัทธามีกี่เสียง แล้วเหตุใดต้องฟังเสียงที่ไม่ศรัทธา และหากหนังสือเสนอรายชื่อเพื่อสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ถูกส่งย้อนมาให้ มส. ทำใหม่ แสดงว่ารัฐบาลเป็นผู้รังเกียจ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ แล้ว มส. ก็จะไม่ทำมติใหม่ด้วย
 
ด้าน พระเมธาวินัยรส รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) (ฝ่ายธรรมยุต) กล่าวว่า การทำประชาพิจารณ์ตั้งสมเด็จพระสังฆราช ไม่ควรและไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง อะไรที่เป็นเรื่องภายใน เฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะเรื่องการปกครองชั้นสูง เช่น กฎมณเฑียรบาล ประเพณีพระราชวัง เป็นต้น จะนำมาทำประชาพิจารณ์ไม่ได้ เพราะปากคนไม่เท่ากัน ภูมิรู้ ภูมิธรรม ก็ไม่เท่ากัน ส่วนกรณีที่ นายสุวพันธุ์ ไม่เชื่อมั่นใน มส. ต้องมองว่ามีเบื้องหลังอะไร กระแสที่เกิดขึ้นไม่ใช่การกระทำผิดของ มส. แต่เกิดจากคนกลุ่มหนึ่ง พระกลุ่มหนึ่ง ซึ่ง นายสุวพันธุ์ น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ชัดเจนที่สุด และต้องถามตัวเองว่าทำตามกระแสอะไรอยู่หรือไม่
 
ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดเกี่ยวกับเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ต้องทำตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ซึ่งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีคุณสมบัติครบตามที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กำหนด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องรถ มีคนไปโยงเข้ามา เพราะที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เจ้าของรถตัวจริง มีคนนำมาถวายและนำไว้ในพิพิธภัณฑ์ ทางเจ้าหน้าที่ต้องไปดำเนินการกับผู้เป็นเจ้าของตัวจริงจึงจะถูก ซึ่งจุดนี้มีอะไรเป็นเบื้องหลัง ที่จะไม่ให้ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่

พล.อ.สมเจตน์ สนช. แนะสมเด็จช่วงให้เสียสละ 'ไม่รับตำแหน่ง-ปัญหาจบ'

ขณะที่วันนี้ (26 ก.พ.59) พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวกับ "เดลินิวส์ออนไลน์" ถึงปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ที่อาจจะเป็นปัญหาลุกลามบานปลายว่า คนที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เนื่องจากตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช" เป็นตำแหน่งของความศรัทธา ซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากพุทธศาสนิกชนทุกคน ถ้ามีใครมาชี้ว่า ท่านมีมลทิน แม้ว่าท่านจะคิดว่าท่านบริสุทธิ์ก็ตาม แต่หากต้องการรักษาพุทธศาสนาเอาไว้ ควรออกมาประกาศเลยว่า ท่านจะไม่รับตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช" หากดำเนินการเช่นนี้ ประวัติศาสตร์จะจารึกท่านว่า เป็นผู้เสียสละอย่างยิ่งต่อพุทธศาสนา
 
"ถ้าท่านประกาศว่าไม่รับตำแหน่ง ปัญหาจบ ความขัดแย้งต่างๆ ก็จบ ยกเว้นว่าท่านอยากเป็น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ต้องเอาเหตุผลจากตัวท่านเองว่า แต่เดิมก่อนท่านจะบวช ท่านมาจากไหน ขณะนี้เป็นถึงสมเด็จ มีความอาวุโสสูงสุด ชีวิตท่านเคยคิดหรือไม่ว่า จะมีแบบนี้ สิ่งที่ท่านควรปรารถนามากที่สุดคือ ทำอย่างไรให้พุทธศาสนานี้ดำรงอยู่อย่างความมั่นคง ใช้สิ่งที่ท่านมีอยู่ หันมาปรับพระสงฆ์ให้เป็นที่ยอมรับของศาสนิกชน เพราะในปัจจุบันพระสงฆ์ทำอะไรไม่ดีเยอะ แต่บทแห่งการลงโทษไม่เห็นมีปรากฎ เพราะฉะนั้นถ้าท่านยังมีอำนาจอยู่ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมเด็จพระสังฆราช ท่านอยู่ราชาคณะ จัดการวินัยของสงฆ์ได้ เสียสละมาจัดการเรื่องวินัยสงฆ์ จะทำให้ท่านจะเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า จรรโลงพุทธศาสนาอย่างแท้จริง" พล.อ.สมเจตน์กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท