หนึ่งศตวรรษขบวนการสหกรณ์ไทยกับอนาคตในศตวรรษที่สอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทนำ: สหกรณ์นิยม

ในทางเศรษฐศาสตร์ถือกันว่านอกเหนือจากการประกอบการธุรกิจที่เอกชนและรัฐเป็นเจ้าของแล้ว ธุรกิจที่ประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าของแบบสหกรณ์ก็จัดเป็นธุรกิจที่สำคัญหนึ่งในระบบเศรษฐกิจโลก ธุรกิจแบบสหกรณ์มีลักษณะเป็นองค์การจัดการตนเองของมวลสมาชิกอันเป็นเจ้าของทุนร่วมกัน จึงโน้มเอียงไปในทางสังคมนิยมมากกว่าทุนนิยมปัจเจกชน และดำเนินการตามหลักการประชาธิปไตยของสมาชิก โดยผู้ที่สมาชิกเลือกตั้งบริหารงาน และเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิก แต่แม้จะเน้นประโยชน์แก่สมาชิกผู้เป็นเจ้าของเป็นหลัก เมื่อรวมกันมากๆก็ย่อมมีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมไปด้วย ในรอบสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา พอจะกล่าวได้ว่าโลกเศรษฐกิจไม่ห่างหายจาก “สหกรณ์นิยม” ด้วยประเทศทุนนิยมก็ดี หรือสังคมนิยมก็ดีต่างก็สนใจเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ผิดไปจากที่ Charles Gide นักเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ชาวฝรั่งเศสคนสำคัญฟันธงมาร่วม 100 ปี แล้วว่า สหกรณ์เป็นองค์การที่อยู่ได้ทั้งในระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมและสังคมนิยม

ในประเทศไทยของเรา อันสับสนยุ่งเหยิงและวิปลาสเหลือประมาณในทางการเมืองปัจจุบันนี้ ก็มีธุรกิจสหกรณ์อยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การเมืองการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชกึ่งประชาธิปไตย ก็ตาม แต่กระแสความคิดระบบงานสหกรณ์ไทยในยุคแรกๆมีสองสาย สายแรกมีขึ้นมาก่อน คือ รัฐสร้างระบบงานสหกรณ์ในควบคุมของรัฐตามข้อเสนอของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ในความร่วมมือกับ เซอร์ เบอร์นาด ฮันเตอร์ หัวหน้าธนาคารแห่งมัดราช ประเทศอินเดีย ผู้ให้คำแนะนำรัฐบาลไทยให้ใช้วิธีจัดตั้งสมาคมสหกรณ์ รวมทั้งแนวคิดธนาคารสหกรณ์ให้กู้ยืมแห่งชาติในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร สายที่สองมีขึ้นมาทีหลัง คือ ระบบสหกรณ์สมควรดำเนินการในรูปการประกอบการโดยรัฐ คือเป็นการประกอบการเศรษฐกิจที่เป็นงานราชการ ราษฎร (ผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์ – ผู้เขียน) เป็นข้าราชการของรัฐตามข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่เสนอในสมุดปกเหลือในลักษณะเค้าโครงเศรษฐกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย

ในรอบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาสายแรกยังคงครองความยิ่งใหญ่ สายที่สองไม่เป็นจริง และในทัศนะของข้าพเจ้าแล้ว การไม่เป็นจริงของสายที่สองนับว่าโชคดีมากต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เพราะหากเป็นไปตามสายที่สอง ระบบสหกรณ์ไทยโดยรัฐเป็นผู้ประกอบการสหกรณ์เองจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในที่สุด เพราะรัฐเช่นนั้นย่อมทำในสิ่งที่แตกต่างจากหลักสหกรณ์สากล อันควรเรียกได้ว่าเป็นสายที่สาม (ดังที่จะกล่าวต่อไป) แต่สายแรกที่รัฐควบคุมแต่ไม่ประกอบการเสียเองก็มีปัญหามิใช่น้อย คือเป็นสหกรณ์แบบที่เรียกได้ว่า “สหกรณ์ในควบคุมของรัฐ (State controlled cooperative)” การส่งเสริมสหกรณ์ของรัฐจึงเป็นการส่งเสริม กำกับดูแล และให้การสนับสนุนสหกรณ์แบบควบคุมพร้อมกันไป การจดทะเบียนและยุบเลิกสหกรณ์ในอำนาจของทางราชการตลอดมาก็ดี และ การจัดวางบทบาทเจ้าหน้าที่รัฐในงานสหกรณ์ก็ดี แสดงถึงการเน้นหนักที่การควบคุมและกำกับ ดังที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ รัชนี แจ่มจรัส (นมส.) ผู้ริเริ่มนำเอาระบบสหกรณ์มาใช้ในประเทศไทย ในฐานะแผนกหนึ่งในกรมพาณิชย์ (ภายหลังยกระดับเป็นกระทรวงพาณิชย์) เอง ก็มีมุมมองในกรอบรัฐควบคุมและชี้นำว่า “การสหกรณ์จะเป็นหรือตายอยู่ที่การเลือกตั้งเจ้าพนักงาน” ผู้จะเป็นสายชะนวน พาความรู้แลความคิดในทางการงานไปสู่มันสมองชาวนา (หนังสือพระนิพนธ์บางเรื่องเกี่ยวกับการสหกรณ์ ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ วันที่ 22 มีนาคม 2549 หน้า 18 - 25)

อุปมาอุปมัยแล้วก็คือว่าสหกรณ์ไทยมิได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง แต่ดำเนินไปได้เท่าที่ เจ้าของรัฐเก่า (รัฐราชการไทยดั้งเดิมที่ปรับตัวใหม่ = Neo-Thai Bureaucratic Polity) และกลไกของรัฐ (และข้าราชการ) ผู้ถูกทำให้เข้าใจว่าทรงภูมิปัญญากว่าประชาชนจะอนุญาตให้ไปได้เท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับประชาธิปไตยไทยที่ถูกควบคุมโดยรัฐราชการดังกล่าว ทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดมาเช่นกัน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกๆปี ถือเป็นวันสหกรณ์แห่งชาติและมีการจัดงานเพื่อให้ความสำคัญแก่สหกรณ์โดยหน่วยงานของรัฐและองค์การสหกรณ์เองประจำปีเสมอมา การที่ชาวสหกรณ์นับเอาวันนี้เป็นวันสำคัญดังกล่าว ก็เนื่องมาจากสหกรณ์แห่งแรกคือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ซึ่งเป็นสหกรณ์ประเภทหาทุน ได้รับการจดทะเบียนจากทางราชการขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 (ปัจจุบันสหกรณ์วัดจันทร์ผู้เฒ่ายังคงเปิดดำเนินกิจการ แต่เน้นธุรกิจรวมทุน ขายสินค้าบริโภค และปั้มน้ำมัน)

ในปี พ.ศ. 2559 นี้ จึงเป็นปีแห่งการเข้าสู่การเฉลิมฉลองครบ 100 ปี ของขบวนการสหกรณ์ไทยในปีหน้า (โปรดดูหมายเหตุท้ายบทความที่ 1 ประกอบ) ชาวสหกรณ์ทั้งหลายและสังคมไทยจึงสมควรหันมาดูและทำอะไรให้แก่ขบวนการสหกรณ์ไทยกันเป็นพิเศษ ซึ่งผู้เขียนใคร่ขอเสนอประเด็นที่สมควรพิจารณาก็คือ ขบวนการสหกรณ์ไทยดำเนินการอยู่บนหลักการอะไร ประสบความสำเร็จหรือไม่และอย่างไร เผชิญกับปัญหาสำคัญๆอะไรบ้าง และในการเคลื่อนสู่ศตวรรษที่สอง เราสมควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้างเพื่อทำให้ขบวนการสหกรณ์ไทยประสบความสำเร็จมากขึ้น

         

ขบวนการสหกรณ์ไทยกับหลักการสหกรณ์สากล

ขบวนการ (Movement) คืออะไร ขบวนการย่อมหมายถึงขบวนการขับเคลื่อนหรือเคลื่อนไหวก็ได้ บางท่านจึงเรียกรวมกันไปเลยว่า “ขบวนการเคลื่อนไหว” และย่อมเป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุเป้าหมาย สามารถปรับตัวให้อยู่รอด และทำให้เกิดความรุ่งเรืองของขบวนการนั้นๆ

ลักษณะทั่วไปของขบวนการเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร เท่าที่ทราบและพอมีประสบการณ์อยู่บ้างกับขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ (อาทิ ขบวนการแรงงาน ขบวนการสหกรณ์ ขบวนการองค์การพัฒนาเอกชน และ ขบวนการประชาธิปไตยแบบพรรคการเมือง) ข้าพเจ้าขอเสนอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาคุณลักษณะทั่วไปของขบวนการเคลื่อนไหว (สำหรับขบวนการที่ใช้แนวทางประชาธิปไตย) ดังต่อไปนี้

1. มีระบบสมาชิกโดยสมัครใจคู่กับการมีปัญหากับพวกชอบตีตั๋วฟรี (Free Riders)

2. สมาชิกออกค่าใช้จ่ายให้แก่ส่วนรวมเพื่อองค์การและการเคลื่อนไหว

3. มีการแสวงหาและปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมแก่สมาชิก

4. มีการแสดงออกแบบรวมหมู่ (Collective Action) เพื่อการระดมพลัง (Mobilization) เคลื่อนไหวโต้ตอบฝ่ายตรงข้ามและผู้มีอำนาจรัฐ

5. มีการสร้างความเป็นสากลกับขบวนการทางสังคมอื่นๆในระดับนานาชาติ

6. มีการดำเนินการที่มีลักษณะจัดตั้ง-เคลื่อนไหว-งานเชิงสถาบัน สลับกันไป

7. มีการผลิตอุดมการณ์ใช้ในขบวนการเพื่อความมั่นคงของการดำรงอยู่ในระยะยาว

8. มีการสร้างอิทธิพลทางการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองและรัฐมีนโยบายเพื่อประโยชน์ของขบวนการ

9. มีการเคลื่อนไหวในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของสังคมสลับกับผลประโยชน์ของสมาชิก

10.มีการเติบโต-ตกต่ำไปตามปฏิสัมพันธ์กับสภาวการณ์ของสังคม

ตามคุณลักษณะทั้ง 10 ประการเหล่านี้ของขบวนการเคลื่อนไหวนั้น (ขอไม่อธิบายขยายความรายละเอียดของลักษณะต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร เพราะจะทำให้บทความนี้ยืดยาวเกินไป) หากขบวนการนั้นๆมีครบ (ข้อ 1 – 9) ก็ย่อมมีพลังการขับเคลื่อนสูง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนหลายขบวนการที่อาจไม่สามารถดำรงคุณลักษณะเหล่านี้ได้บางข้อหรือส่วนใหญ่ โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ๆ (New social movements) ที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย เคลื่อนไหวเฉพาะกิจ และมิใช่องค์การประชาธิปไตยของมวลสมาชิก แต่ก็ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่นำโดยองค์การพัฒนาเอกชนต่างๆ และ ขบวนการชุมชนนิยมในโอบอุ้มของรัฐ

สำหรับขบวนการสหกรณ์แล้ว หากนำคุณลักษณะทั้ง 10 ประการที่กล่าวถึงมาเทียบเคียง ข้าพเจ้าเห็นว่าขบวนการสหกรณ์ไทยยังแผ่วเบาคือไม่ปรากฏความเด่นชัดในคุณลักษณะที่ 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 หากในอนาคตประเด็นคุณลักษณะดังกล่าวจะได้รับการสนใจมากขึ้นจากชาวขบวนการสหกรณ์ประชาธิปไตยว่าควรดำเนินการพัฒนากันไปอย่างไรก็น่าจะดีไม่น้อย

นอกจากนี้ ขบวนการสหกรณ์อันเป็นประชาธิปไตยและมีลักษณะเป็นขบวนการสากลนั้น ยังกำกับไว้ด้วยหลักการสหกรณ์สากล 7 ประการ (ณ ปัจจุบัน) ตามการกำกับขององค์การสัมพันธภาพสหกรณ์สากล หรือ ICA (ซึ่งสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเป็นสมาชิก) คือ

1. การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง :

“สหกรณ์เป็นองค์การแห่งความสมัครใจ เปิดกว้างสำหรับบุคลทั่วไปที่สามารถเข้ามาใช้บริการจากสหกรณ์นั้นๆได้และที่เต็มใจจะรับผิดชอบในฐานะเป็นสมาชิก โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ สถานภาพทางสังคม เชื้อชาติ การเมือง หรือ ศาสนา”

2. การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย :

“สหกรณ์เป็นองค์การประชาธิปไตยที่มีการควบคุมโดยสมาชิกซึ่งมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดและตัดสินใจเรื่องนโยบาย ชายและหญิงใดที่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกจะต้องรับผิดชอบต่อสมาชิก ในสหกรณ์ขั้นปฐมสมาชิกมีสิทธิในการออกเสียงเท่าเทียมกัน (สมาชิกหนึ่งคนหนึ่งเสียง) และสำหรับสหกรณ์ในระดับอื่นๆย่อมจะดำเนินการตามแนวทางประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน”

3. การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก :

“ในฐานะที่เงินทุนย่อมเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของสหกรณ์ สมาชิกจึงย่อมมีส่วนร่วมกันอย่างเสมอภาคกัน และโดยการควบคุมอย่างเป็นประชาธิปไตยต่อเงินทุนของสหกรณ์ และโดยปกติสมาชิกจะได้รับผลตอบแทน (ถ้ามี) ในอัตราที่จำกัดจากเงินลงทุน (หุ้น) ตามเงื่อนไขของการเข้าเป็นสมาชิก สมาชิกสามารถจัดสรรเงินส่วนเกินของสหกรณ์เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่างดังนี้คือ: เพื่อการพัฒนาสหกรณ์โดยอาจจัดตั้งเป็นเงินทุนสำรองขึ้น ซึ่งอย่างน้อยที่สุดของเงินทุนสำรองนี้พึงจะกันไว้ส่วนหนึ่งที่มิให้นำมาแบ่งปันกัน  และเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่มวลสมาชิกเห็นชอบ”

4. การพึ่งตนเองและความเป็นอิสระ :

“สหกรณ์เป็นองค์การที่พึ่งพาตนเองและช่วยเหลือตนเองโดยมีการควบคุมจากมวลสมาชิก เมื่อใดที่สหกรณ์จะต้องมีข้อผูกพันกับองค์การอื่นใดซึ่งรวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลด้วย หรือจะต้องแสวงหาเงินทุนเพิ่มจากแหล่งทุนภายนอกสหกรณ์ สหกรณ์จะต้องกระทำการดังกล่าวในสถานภาพที่มั่นใจได้ว่ามวลสมาชิกจะยังคงธำรงไว้ซึ่งอำนาจในการควบคุมสหกรณ์ตามแนวทางประชาธิปไตยและสหกรณ์ยังคงดำรงความเป็นอิสระ”

5. การให้การศึกษา ฝึกอบรม และข้อมูลข่าวสารแก่สมาชิก :

“สหกรณ์พึงให้การศึกษาและการฝึกอบรมแก่สมาชิก ผู้แทนสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งผู้จัดการและพนักงาน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถเกื้อหนุนการพัฒนาสหกรณ์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิผล และสหกรณ์พึงให้ข่าวสารแก่สาธารณชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนและบรรดาผู้นำทางความคิดทั้งหลายในเรื่องคุณลักษณะและคุณประโยชน์ของสหกรณ์”

6. การร่วมมือระหว่างสหกรณ์ :

“สหกรณ์จะสามารถให้บริการแก่สมาชิกได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการสหกรณ์ได้ โดยร่วมมือกันผ่านโครงสร้างการทำงานในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และ ระดับนานาชาติ”

7. การเอื้ออาทรต่อชุมชน :

“สหกรณ์พึงดำเนินกิจการต่างๆเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนตามนโยบายที่มวลสมาชิกเห็นชอบ”

ในรอบ 100 ปี ที่ผ่านมาของขบวนการสหกรณ์ไทยปรากฏว่าหลักการข้อสี่ ในส่วนความเป็นอิสระยังไม่เป็นจริงเพราะกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ของทางราชการยังควบคุมขบวนการสหกรณ์ไทยอย่างยากจะปล่อยวาง และหลักการข้อเจ็ดยังพบเห็นได้น้อยที่สหกรณ์ได้ดูแลชุมชนที่สหกรณ์นั้นตั้งอยู่

 

ความสำเร็จของขบวนการสหกรณ์ไทย

หากวัดความสำเร็จของสหกรณ์ในเรื่องจำนวนสหกรณ์ จำนวนสมาชิก เงินทุน และผลการประกอบการ การยกระดับคุณภาพชีวิตสมาชิก และผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยแล้ว พอจะกล่าวโดยประมาณๆ ได้ดังนี้

1. จำนวนสหกรณ์ไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าล้มเลิกไป แต่เป็นไปอย่างช้าๆ ไม่ถึงหลักหมื่น จากสถานประกอบการธุรกิจทั่วประเทศประมาณ 2.5 ล้านแห่ง

2. จำนวนสมาชิกสหกรณ์มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่เป็นไปอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับจำนวนสหกรณ์

3. เงินทุนมีการเพิ่มสินทรัพย์จำนวนมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์ มีความร่ำรวยมากที่สุดในบรรดาสหกรณ์ต่างๆ

4. ผลการประกอบการส่วนใหญ่มีกำไรมากกว่าขาดทุน และหนี้เสียมีน้อยกว่าธุรกิจเอกชน (เว้นแต่กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นอันเป็นกรณีปัญหาพิเศษ)

5. คุณภาพชีวิตสมาชิกได้รับการยกระดับให้สูงขึ้น โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยลดปัญหาหนี้สิน (สถิติเหล่านี้พอจะหาจากทางราชการได้)

6. ในเชิงประโยชน์ทางสังคมยังไม่สามารถประเมินได้ชัด แต่ก็พอจะมีแนวประเมินได้ด้วยการวิจัยสืบหา เช่น สัดส่วนการก่ออาชญากรรมของบุคคลในครอบครัวสหกรณ์ต่อปริมาณการก่ออาชญากรรมรวมของประเทศ และการทำประโยชน์แก่สังคมของสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ และบุคคลในครัวเรือนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ เป็นต้น 

7. ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยย่อมมีในทางบวกมากกว่าทางลบ แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ ต้องอาศัยการวิจัยอย่างรอบด้าน เช่น ดูสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ที่เศรษฐกิจสหกรณ์เกื้อกูลให้กับมูลค่ารวมของ GDP ทั้งประเทศ  ดูสัดส่วนการจ้างงานในสถานประกอบการสหกรณ์ต่อการจ้างงานทั้งหมดในตลาดแรงงานของประเทศ และ ดูระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของสมาชิกสหกรณ์เทียบกับขนาดมูลค่า GDP และ ดูดัชนีวัดการกระจายรายได้ (Gini Index/Coefficient) เฉพาะสมาชิกสหกรณ์เทียบเคียงกับดัชนีวัดการกระจายรายได้ของประชาชนประเทศ เป็นต้น

8. ปัจจุบัน สหกรณ์ไทย (เกษตร ประมง นิคม ร้านค้า บริการ ออมทรัพย์ และเครดิตยูเนี่ยน) มีจำนวนประมาณ 8,000 กว่าแห่ง (หรือร้อยละ 0.4 ของสถานประกอบการธุรกิจเสรีนิยมของประเทศ) มีจำนวนสมาชิกรวมทั้งสิ้นประมาณ 11 – 12 ล้านคน และเงินทุนดำเนินงานทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท สหกรณ์ที่มีรายได้สูงสุดสองลำดับแรกคือ สหกรณ์การเกษตร (ประมาณร้อยละ 60) และสหกรณ์ออมทรัพย์ (ประมาณร้อยละ 30) และสหกรณ์ประเภทอื่นๆ (ประมาณร้อยละ 10) แต่สินทรัพย์ส่วนใหญ่ก็คือเงินฝากของลูกหนี้และสมาชิก ซึ่งมีประมาณ (ประมาณร้อยละ 80)  โดยเงินทุนร้อยละ 74.51 มาจากแหล่งภายในคือขบวนการสหกรณ์เอง และทุนดำเนินงานร้อยละ 30-40 มาจากเงินฝากและทุนเรือนหุ้นของสมาชิก (ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์รวยหุ้นมากที่สุด รองลงมาคือสหกรณ์การเกษตร) จึงนับว่าสหกรณ์ไทยพึ่งสมาชิกค่อนข้างสูง

9.คนจำนวนมากมักรับรู้มาผิดๆว่าสถานประกอบการสหกรณ์ของประเทศไทยล้มเหลว แต่แท้จริงแล้วประสบความสำเร็จมากกว่าล้มเหลว และสหกรณ์มีประสิทธิภาพในการทำกำไร ถึงประมาณร้อยละ 20 โดยสหกรณ์นอกภาคเกษตรทำกำไรในอัตราที่สูงกว่าสหกรณ์ในภาคเกษตร ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์มีอัตรากำไรสุทธิประมาณร้อยละ 60 - 65 รองลงมาคือ สหกรณ์เครดิตยูเนียน (ซึ่งก็คือสหกรณ์ออมทรัพย์ตามพื้นที่) ประมาณร้อยละ 30  โดยสหกรณ์นิคม และสหกรณ์การเกษตร และ สหกรณ์ประมง มีอัตรากำไรสุทธิต่ำสุดตามลำดับ คือ ในช่วงประมาณร้อยละ 2 - 3  และนอกจากนี้ในภาพรวมสหกรณ์ไทยมีกำไรมากกว่าขาดทุน 5 - 6 เท่า

ณ ปัจจุบัน สหกรณ์ไทยจึงพอไปวัดไปวาได้ แต่ไปอย่างเชื่องช้า ยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับสถานประกอบการเอกชนและอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจรวม หากมีการขยายสหกรณ์มากๆแต่มีคุณภาพก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นแหล่งเสริมสร้างความมั่งคั่งและการกระจายรายได้แก่ประชากรได้มากและทั่วถึงมากขึ้น

 

ปัญหาสำคัญๆของขบวนการสหกรณ์ไทย

ในขบวนการสหกรณ์ไทย เราพอจะพบปัญหาสำคัญๆของขบวนการสหกรณ์ดังต่อไปนี้

1. การขยายตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้าเกินควร เฉลี่ยปีละไม่ถึง 100 แห่ง ในขณะที่ธุรกิจเอกชนเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว

2. ถูกควบคุมโดยทางราชการมากเกินไป

3. การทะเลาะกันเองของผู้นำในระดับองค์การนำ โดยเฉพาะสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยมีการฟ้องร้องกันและกันอย่างยืดเยื้อหลายคดี

4. องค์การกลาง คือ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยยังไม่ได้รับศรัทธาที่มากพอจากสมาชิกส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีงบประมาณใช้จ่ายประจำปีที่เพียงพอ เนื่องจากสมาชิกประมาณครึ่งหนึ่งไม่จ่ายค่าบำรุง รวมทั้งไม่ชำระค่าบำรุงอย่างสม่ำเสมอ

5. การจัดโครงสร้างการรวมตัวทั้งขบวนการยังไม่ลงตัว เช่น แต่ละชุมนุมหรือประเภทสหกรณ์ยังไม่ความเป็นเอกภาพอย่างแท้จริง ชุมนุมสหกรณ์หลายแห่งยังไม่มีสาขาระดับภูมิภาค รวมทั้งสันนิบาตสหกรณ์ก็เช่นกัน และบางประเภทสหกรณ์ก็ยังไม่สามารถรวมตัวเป็นชุมนุมที่เข้มแข็งและมั่นคง เช่น สหกรณ์นิคม และ สหกรณ์ประมง

6. สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยที่เป็นองค์การกลางของขบวนการสหกรณ์ไทยยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาของสหกรณ์ทั่วประเทศได้อย่างมีน้ำหนัก เนื่องจากปัญหาสมรรถนะของผู้นำสหกรณ์ กฎหมายไม่สนับสนุนอำนาจหน้าที่ที่เพียงพอ และในขณะเดียวกันก็ขาดทรัพยากรที่เพียงพอ

7. รัฐบาลขาดการสนับสนุนสันนิบาตสหกรณ์สหกรณ์ที่เหมาะสม เช่น ไม่ช่วยแก้ปัญหาการที่สมาชิกไม่จ่ายค่าบำรุงแก่สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยอย่างจริงจัง และสนับสนุนงบประมาณแบบไม่ติดตามผลเท่าที่ควร (แม้จะให้น้อยก็ตาม) ในกิจกรรมเพื่อสหกรณ์ส่วนรวมของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

8. การขัดแย้งและแย่งชิงบทบาทกันระหว่างสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยหน่วยงานราชการยังทำงานในเรื่องที่ควรเป็นภารกิจของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย หรือในเรื่องที่องค์การกลางของประชาชนควรรับผิดชอบตนเองหรือทำแทนหน่วยงานราชการได้แล้ว เช่น การกำกับดูแลมาตรฐานสหกรณ์ การจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ การตรวจและรับรองบัญชีสหกรณ์ (โดยความร่วมมือกับสภาวิชาชีพนักบัญชี) เป็นต้น

9. ประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมเป็นสมาชิกและใช้บริการสหกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการด้านการซื้อสินค้าเพื่อบริโภคก็จะนิยมใช้ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไป มากกว่าเข้าร้านค้าสหกรณ์ ทั้งๆที่ หากซื้อจากสหกรณ์จะราคาถูกกว่า และหากสมัครเป็นสมาชิกด้วยก็จะได้ส่วนลดเพิ่มเติมอีก

 

แนวทางการพัฒนาขบวนการและธุรกิจสหกรณ์ไทยในศตวรรษที่สอง

1. ในทุกๆ ปี จากนี้ไป สัดส่วนผลผลิตมวลรวมประชาชาติมาจากสหกรณ์ควรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถวัดได้ในทางตัวเลขที่ชัดเจน

2. สมควรปรับปรุงแก้ไขและผ่อนคลายกฎหมายในหลายประเด็น เช่น ให้ประชาชนสามารถตั้งสหกรณ์ได้ง่ายขึ้น เพื่อขยายประมาณสหกรณ์ โดยประชาชนตั้งแต่หนึ่งคนก็ให้สามารถจัดตั้งสหกรณ์ได้ ไม่ต้องกำหนดว่าต้องมีตั้งแต่ 10 คน ตามกฎหมายสหกรณ์ในปัจจุบัน และสามารถรับสมาชิกเพิ่มเท่าใดก็ได้ ตามมติที่ประชุมสมาชิก  ไม่ปิดกั้นตามกฎหมายที่ประชาชนจะเป็นสมาชิกสหกรณ์ได้มากกว่าหนึ่งแห่ง รวมทั้งให้บทบาทหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมสหกรณ์แก่องค์การของสหกรณ์กันเองมากขึ้น

3. ภายใต้กระแสเศรษฐกิจโลกที่เน้นการแข่งขันอย่างเต็มสูบในปัจจุบันและยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต ทำให้สหกรณ์ต่างๆ ซึ่งไม่ถูกกับระบบแข่งขันโดยเสรีมากนักตกอยู่ในสภาวะสามสถานะคือ

1) การล้มเลิกสหกรณ์เพราะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ท่ามกลางธุรกิจสมัยใหม่

2) การสูญเสียสถานภาพของความเป็นสหกรณ์บริสุทธิ์ จากที่เคยอยู่ได้ด้วยสมาชิกมาเป็นการพึ่งพาทุนภายนอกระบบสหกรณ์มากขึ้น เช่น นักลงทุนเอกชน และหากธุรกิจเอกชนเป็นเจ้าของหรือเป็นใหญ่มากขึ้นก็จะปรับตัวเข้าหาระบบธุรกิจสมัยใหม่ที่เน้นการทำธุรกิจด้วยแรงจูงใจทางผลกำไรสูงสุด อันจะทำให้สหกรณ์ออกไปจากผลประโยชน์อันมีค่ายิ่งแก่สังคม

3) การดำรงอยู่ต่อไปได้ตามหลักการของสหกรณ์สากล มีความเป็นไปได้สูงที่การล้มลงของสหกรณ์จะมีสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าในอดีต ในขณะเดียวกันสหกรณ์จำเป็นต้องขยายภารกิจให้บริการบุคคลทั่วไปมากขึ้น อย่างไม่มีข้อสงสัย เพียงแต่สมาชิกจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของธุรกิจสหกรณ์ที่ต้องปรับตัวให้อยู่รอดได้ดีเพียงใด แต่ชาวขบวนการสหกรณ์ยังมีหลักการของสหกรณ์สากลเป็นที่พึ่ง นับเป็นเรื่องสำคัญ ที่ชาวสหกรณ์คงจะร่วมกันยืนยันให้หนักแน่นในหลักการเหล่านี้ต่อไป

กระนั้นก็ตาม ข้าพเจ้ายังใคร่ขอให้ขบวนการสหกรณ์สากลมีหลักการเพิ่มอีกสัก 2-3 ข้อ คือ ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม ความร่วมมือระหว่างสหกรณ์กับองค์การที่มิใช่สหกรณ์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และ การเป็นพันธมิตรกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในสังคม  หากจะเพิ่มเติมได้ก็จะทำให้ขบวนการสหกรณ์เป็นที่พึ่งของคนทุกชนชั้นอย่างแท้จริง (ข้าพเจ้าจะพยายามนำเสนอความเห็นนี้ต่อองค์การสัมพันธภาพสหกรณ์สากลในโอกาสที่จะเป็นไปได้ในอนาคต)

4. จำเป็นต้องปฏิรูปองค์การกลางของขบวนการสหกรณ์ไทย สมควรดำเนินการให้ชัดเจนว่าจะเป็นเช่นไร ภายใน 3 – 5 ปี นับจากนี้ไป ซึ่งมีสามทางเลือกสำคัญ คือ  ทางเลือกแรก  - ดำเนินต่อไปเช่นเดิม คือ มีกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  และสันนิบาตสหกรณ์ฯ แต่ปรับปรุงทั้งสามองค์การให้มีโครงสร้างและภารกิจที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ทางเลือกที่สอง  - ยุบเลิกกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมกับผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตสหกรณ์ โดยให้องค์การสหกรณ์เป็นใหญ่และเป็นเจ้าขององค์การกลางหรือสันนิบาตสหกรณ์อย่างใหม่ของบรรดาสหกรณ์ต่างๆ (ตามแนวประเทศฟินแลนด์) ทางเลือกที่สาม  -  ปรับเปลี่ยนกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้เป็นองค์การอิสระของรัฐเพื่อเป็นองค์การในการพัฒนาสหกรณ์ 

นอกจากนี้ ควรพิจารณาประยุกต์ตัวแบบองค์การกลางเพื่อการพัฒนาสหกรณ์ของประเทศฟินแลนด์และสวีเดน มาใช้กับการปฏิรูปโครงสร้างขบวนการสหกรณ์ไทยและองค์การสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง (โปรดดูเพิ่มเติมหมายเหตุท้ายบทความข้อ 2) แต่การปรับเปลี่ยน หากดำเนินการตามทางเลือกที่สองและสามที่กระทบให้ข้าราชการในกรมทั้งสองต้องพ้นสภาพการทำงานในระบบราชการของรัฐก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจว่าทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเป็นไปในทางบวกมิใช่ทางลบ อาทิ คำนึงถึงว่าเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีใหม่และผลประโยชน์จากการทำงานที่มิใช่ข้าราชการคืออะไรที่ไม่ด้อยกว่าเดิม รวมทั้งการผ่องถ่ายข้าราชการของกรมทั้งสองในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ไม่ประสงค์จะออกนอกระบบราชการไปอยู่หน่วยงานอื่นอย่างสมัครใจและอย่างมีระยะเวลาในการปรับตัว โดยคงเหลือเฉพาะผู้ที่ประสงค์และมีความสุขกับการที่จะสร้างสรรค์ระบบงานสหกรณ์ไทยแบบใหม่ที่มิใช่โดยควบคุมของทางราชการแบบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลก็ยังต้องสนับสนุนระบบสหกรณ์ต่อไปในทางที่เคารพความเป็นอิสระของสหกรณ์อย่างแท้จริง เป็นต้น

5. ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสวัสดิการที่สมบูรณ์ อันจะช่วยถ่วงดุลอิทธิผลของธุรกิจเอกชนในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม เราจึงควรทำให้ธุรกิจสหกรณ์มีความหมายแก่ชีวิตประวันต่อประชาชนที่ชัดเจนมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และหากเป็นไปได้ควรทำให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เพิ่มจากประมาณ ¼ ของประชากรในปัจจุบัน เป็น ¾  ของประชากรทั้งประเทศในรอบสองร้อยปีข้างหน้า

6. การจัดตั้งธนาคารสหกรณ์ที่สหกรณ์ต่างๆร่วมกันเป็นเจ้าของให้สำเร็จ หลังจากที่ริเริ่มกันมาร่วม 100 ปี แล้ว แต่ไม่เคยเป็นจริง ไม่ว่าจะใช้วิธีเปลี่ยนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นธนาคารสหกรณ์ หรือ จัดตั้งขึ้นใหม่ก็ตาม

7. เสริมสร้างระบบการเรียนรู้เกี่ยวกับสหกรณ์ที่นำไปสู่ความสามารถของผู้เรียนในการจัดตั้งและบริหารงานสหกรณ์ หรือทำงานในสหกรณ์ต่างๆได้จำนวนมากของผู้จบการศึกษาได้สำเร็จผลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอาชีวศึกษาและปริญญาตรี

8. เสริมสร้างค่านิยมสหกรณ์ให้เกิดขึ้นแก่คนทุกระดับชั้น และรายได้ (สหกรณ์มิได้มีขึ้นเพื่อคนจนเท่านั้น แต่สามารถเป็นองค์การของคนรวยปานกลาง และรวยมากก็ได้)

9. กระตุ้นธุรกิจสหกรณ์เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเศรษฐกิจทั้งในส่วนอุปสงค์และอุปทาน ทั้งในเขตเมืองและชนบท และในทางการจัดวางระบบ สภาพแวดล้อม และเงื่อนไขที่จูงใจให้ประชาชนเข้าร่วมในกิจกรรมและการใช้บริการและสินค้าสหกรณ์มากขึ้น

10.   จัดให้มีทศวรรษขบวนการสหกรณ์เป็นระยะๆ ตามประเด็นสำคัญๆและสอดคล้องกับกิจกรรมทางสากลของขบวนการสหกรณ์นานาชาติ

11. สนับสนุนข้อเสนอของอาจารย์อาบ นคะจัด ปรมาจารย์ของสหกรณ์ไทยและนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์สหกรณ์แห่งประเทศไทย ที่ว่าควรปรับปรุงระบบการจ้างเจ้าหน้าที่สหกรณ์ทั้งหลายให้สามารถโยกย้ายระหว่างสหกรณ์ต่างๆได้ อันหมายถึงมีเส้นทางการเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ ไม่จำกัดการจ้างงานอยู่เพียงสหกรณ์แห่งใดแห่งเดียวเท่านั้น เพื่อจูงใจให้มีคนที่มีความรู้และความสามารถสูงคงอยู่ในระบบสหกรณ์ ส่งเสริมการรวมตัวของสหกรณ์ในประเภทต่างๆ ให้ทำธุรกิจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาการวิจัยด้านสหกรณ์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงให้มีมากขึ้น

12. สนับสนุนข้อเสนอของอาจารย์จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการ สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ว่าจะต้องพัฒนาผู้นำสหกรณ์ให้มีทัศนคติที่สอดคล้องกับหลักการสหกรณ์สากล การเปลี่ยนกระบวนทัศน์การจัดการสหกรณ์ และ การพัฒนานวัตกรรมของสหกรณ์ให้ลงลึกถึงระดับกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลผลิตหรือผลงานของสหกรณ์

13. สนับสนุนข้อเสนอของนายเชิญ บำรุงวงศ์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนการควบคุมสหกรณ์ของรัฐมาให้สหกรณ์ดำเนินงานได้โดยตนเองและเป็นอิสระมากขึ้น แก้ไขกฎหมายสหกรณ์ในหลายประเด็น รวมทั้งคำนิยามสหกรณ์ในกฎหมายไทยที่ครอบคลุมนัยสำคัญ โดยยึดตามหลักสากล และเปิดให้มีสหกรณ์ได้หลายประเภทมากขึ้นด้วย

14. สนับสนุนข้อเสนอของนายวิเชียร แท่นธรรมโรจน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์สารสนเทศ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ว่ามาตรฐานสหกรณ์เป็นสิ่งสำคัญและจะต้องช่วยกันทำให้สหกรณ์ยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานจากระดับต่ำไปสู่ระดับสูงให้ได้ทั้งหมด

15. สนับสนุนข้อเสนอของนายประยูร อินสกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์  ที่ว่าการพัฒนาผู้นำคือกรรมการสหกรณ์เป็นภารกิจสำคัญในอนาคตที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบแบบใหม่ที่ชัดเจน

16. สนับสนุนข้อเสนอของนายสกุล สิงหนาท และนายสุรพล ชัยมาลา กรรมการสมาคมเศรษฐศาสตร์สหกรณ์แห่งประเทศไทย ที่ว่าการพัฒนาสมาชิกเป็นเรื่องต้องทำร่วมกันไปกับการพัฒนาผู้นำ เพราะสมาชิกคือเจ้าของกิจการสหกรณ์อันเป็นองค์การประชาธิปไตยของสมาชิกที่แท้จริง และชุมชนใดชาวบ้านมีวิถีชีวิตร่วมแบบชุมชนอันสอดคล้องกับหลักการสหกรณ์อยู่แล้ว การส่งเสริมสหกรณ์ต้องไม่ไปทำลายวิถีทางดังกล่าวให้หมดไป

17. สนับสนุนข้อเสนอของศาสตราจารย์ ดร. ฮาเกน เฮนรี มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ และหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายของ ICA ที่ให้ระวังการสูญเสียการควบคุมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของชาวสหกรณ์แก่องค์การที่แข่งขันกับสหกรณ์ ใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลข่าวสารแบบดิจิตัลสมัยใหม่มาช่วยสร้างสรรค์สหกรณ์ และเห็นควรยึดหลักสหกรณ์สากลอย่างน้อยทั้ง 7 ประการต่อไป ในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างธุรกิจทั่วไปกับธุรกิจแบบสหกรณ์ และในการพัฒนากฎหมายและสร้างสรรค์ขบวนการสหกรณ์ในประชาคมอาเซียนโดยบรรดาประเทศสมาชิกร่วมกัน

 

สรุป

กล่าวโดยสรุปแล้ว ขบวนการสหกรณ์ไทยในฐานะขบวนการทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันเป็นจริง อายุมากแล้ว แต่เรายังดูเหมือนเด็กหนุ่มที่ยังต้องปรับปรุงวิถีชีวิตตนเองอีกมากให้เป็นผู้ใหญ่ผู้มีประสบการณ์สูงเพื่อเป็นที่พึ่งของคนจำนวนมหาศาล สหกรณ์เอง ทั้งผู้นำและสมาชิก รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆในแนวทางประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและธุรกิจสหกรณ์อย่างชาญฉลาดกว่าที่ผ่านมา

ในศตวรรษที่สองและต่อไปนั้น (นับจากพ.ศ. 2560) เป็นต้นไป ขบวนการสหกรณ์ไทยจะต้องไม่เหมือนเดิมเช่นในศตวรรษแรก สามารถแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ กระโดดออกจากการโอบอุ้มด้วยอ้อมแขนของรัฐโดยแขนขาของตนไม่หัก และเป็นขบวนการประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคมในสังคมประชาธิปไตยที่มั่นคง ด้วยการเดินตามกระแสความคิดสายที่สามคือหลักการสหกรณ์สากลและการสร้างนวัตกรรมของตนประกอบในการดำเนินการท่ามกลางโลกาภิวัตน์และการร่วมมือกันในแทบทุกด้านในทุกภูมิภาคของโลกให้สำเร็จผลมากขึ้นอย่างไรนั้น จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายคนไทยทุกคน

 

หมายเหตุท้ายบทความ

1. นักสหกรณ์บางส่วนเห็นด้วยกับอาจารย์สวัสดิ์ แสงบางปลา (อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และ ผู้ก่อตั้งชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย จำกัด) ว่าในปี 2559 ขบวนการสหกรณ์ชาวสหกรณ์ไทยยังมีอายุเพียง 99 ปี เนื่องจากใน พ.ศ. 2483 รัฐบาลเปลี่ยนการขึ้นปีใหม่จากเดือนเมษายนเป็นเดือนมกราคมตามสากลนิยม ทำให้จำนวนเดือนในปีนั้นมีเพียง 9 เดือน ทั้งเมื่อนับจำนวนปีก็ยังไม่ครบ 100 ปี แต่จะครบในปี 2560 ในขณะที่ส่วนใหญ่เห็นแบบคร่าวๆว่าปี 2559 คือปีที่ครบ 100 ปี ขบวนการสหกรณ์ไทยแล้ว ผู้เขียนจึงเห็นว่าจะฉลอง 99 – 100 ปี ก็ใช้ไปด้วยกันได้

2. องค์การกลางเพื่อการพัฒนาสหกรณ์ในประเทศฟินแลนด์ คือ Pellervo (สมาคมพัฒนาสหกรณ์แห่งฟินแลนด์) และในประเทศสวีเดน คือ Coompanion (สมาคมพัฒนาสหกรณ์แห่งสวีเดน) ทั้งสององค์การเป็นของสหกรณ์ มิใช่หน่วยงานของรัฐ แต่สามารถช่วยเหลือดูแลการจัดตั้งและดำเนินงานของสหกรณ์ให้ประสบความสำเร็จได้จำนวนมาก – ข้าพเจ้าผู้เขียนได้ไปดูงานทั้งแห่งมาด้วยตนเอง เมื่อคราวไปเยือนฟินแลนด์และสวีเดนเมื่อวันที่ 7 – 16 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา

3. ข้อเสนอที่ 11-17 เกิดขึ้นในงานสัมมนาเรื่อง “หนึ่งศตวรรษขบวนการสหกรณ์ไทยในบริบทสากลและสังคมไทย: นโยบาย กฎหมาย กลไกการพัฒนาและแนวทางการดำเนินงานในอนาคตภายใต้ประชาคมอาเซียน” วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ห้องกันภัย คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท