ร้องขอความเป็นธรรมอัยการทหาร คดี 112 ‘ฐนกร’ ถูกกล่าวหาเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง

29 ก.พ.2559 อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในวันนี้เขาได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแกอัยการทหาร ในคดีของนายฐนกร ผู้ต้องหาแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์ และโพสต์ภาพสุนัขทรงเลี้ยง ซึ่งถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาตามมาตรา 112, 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยในวันที่ 4 มี.ค.นี้จะฝากขังครบ 7 ผัด และอัยการทหารจะมีคำสั่งหรือฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีนี้ต่อศาลทหาร

หนังสือร้องขอความเป็นธรรมระบุว่า ฐนกรเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ทำการแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์ ซึ่งถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ทั้งที่หากมีความผิดควรเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลตามมาตรา 326 นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังต้องการสร้างบรรยากาศความกลัวด้วยการแจ้งข้อกล่าวหากับฐนกรด้วยมาตรา 112 ด้วยโดยกล่าวหาว่าเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงทั้งที่ มาตรา 112 คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น

ทั้งนี้ ฐนกร อายุ 28 ปี ทำงานโรงงานอะไหล่รถยนต์ เขาถูกควบคุมตัวในวันที่ 8 ธ.ค.58 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการ โดยระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค.58 ญาติและทนายความไม่ทราบว่านายฐนกรถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนายฐนกรมาฝากขังต่อศาลทหารในวันที่ 14 ธ.ค.58 ได้นำตัวไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และเคยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสองครั้งโดยมีหลักประกันเป็นเงินสด 300,000 บาทและ 900,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ไปก่ออุปสรรคหรือความเสียหายในการสอบสวน หรือไปก่ออันตรายประการอื่น

 

                                                                                                                              ๑๐๙ ซอยสิทธิชน ถนนสุทธิสารวินิจฉัย                                                                                                                                   แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กทม.

                                                                                ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

เรื่อง        ขอความเป็นธรรมในชั้นอัยการ

เรียน       อัยการเจ้าของสำนวน คดีอาญาระหว่างพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ผู้กล่าวหา
               กับนายฐนกร  ศิริไพบูลย์ ผู้ต้องหา

อ้างถึง     สำนวนคดีอาญาระหว่างพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ผู้กล่าวหา กับนายฐนกร  xxxxxx ผู้ต้องหา

                  ตามที่พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามได้ทำการสอบสวนคดีอาญาซึ่งนายฐนกร xxxxxx ตกเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ , มาตรา ๑๑๖ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งภายหลังจากสอบสวนพนักงานสอบสวนได้มีคำสั่งฟ้องและส่งสำนวนมายังอัยการศาลทหารแล้วนั้น

                  ข้าพเจ้าในฐานะทนายความของผู้ต้องหา ขอเรียนต่อท่านอัยการศาลทหารว่า คดีนี้มูลคดีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่หาได้รับฟังได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแต่อย่างใดไม่ ขอท่านได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังต่อไปนี้

                  ๑) คดีนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าจับกุมผู้ต้องหาอันมีมูลจากกรณีที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อันนำไปสู่การตั้งคำถามของคนในสังคมอย่างกว้างขวาง ต่อมาได้มีการพยายามตรวจสอบการทุจริตในหลายช่องทาง มีการแจ้งความดำเนินคดี ร้องเรียนในหน่วยงานต่างๆของรัฐ รวมทั้งการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การกวาดจับประชาชนจำนวนหลายคนที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ และทางผู้กล่าวหาได้ใช้มาตรการตั้งข้อกล่าวที่เกินกว่าความเป็นจริง เช่น มีการกล่าวหาโดยพยายามเชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือการกล่าวหาเกินเลยเหมารวมการหมิ่นประมาทบุคคลเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖ อันเป็นการทำลายระบบนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม สังคมทั้งในและต่างประเทศต่างเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทนายพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งกระบวนการเช่นนี้อาจได้ผลในระยะสั้นๆ แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยในระยะยาว

                  คดีนี้ผู้ต้องหาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว และส่งเสียน้องสาวที่อยู่ในวัยเรียน  ขอท่านได้โปรดพิจารณารูปคดีโดยปราศจากการเมืองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาด้วย

                  ๒) ผู้กล่าวหาจงใจใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ กล่าวหาผู้ต้องหาเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวและอุปสรรคในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว กล่าวคือ จากคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนครั้งที่ ๑ ระบุชัดเจนว่า ผู้กล่าวหากล่าวหาว่าผู้ต้องหาเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ซึ่ง "สุนัขทรงเลี้ยง" มิใช่บุคคลอันเป็นองค์ประกอบแห่งความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ได้มุ่งหมายที่จะคุ้มครองแต่อย่างใด กล่าวคือ บทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ ตามประมวลกฎหมายอาญานั้น มุ่งหมายคุ้มครองบุคคลผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้เป็นอุปกรณ์ในสถาบันดังกล่าว ได้แก่

                            ๒.๑ พระมหากษัตริย์ (The King) หมายถึง พระมหากษัตริย์องค์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะที่มีการกระทำความผิด มิใช่พระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชบัลลังก์แล้วหรือพระมหากษัตริย์ในอดีต ซึ่งพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดูลยเดชมหาราช

                            ๒.๒ พระราชินี ( The Queen ) หมายถึง สมเด็จพระมเหสีที่เป็นใหญ่กว่าพระราชชายาทั้งหลายซึ่งมีเพียงพระองค์เดียว ได้ผ่านการอภิเษกสมรส โดยเป็นพระมเหสีในพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะมีการกระทำความผิด ไม่ใช่พระราชินีในรัชกาลก่อน แม้ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม ซึ่งพระราชินีในรัชกาลปัจจุบันคือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

                            ๒.๓ รัชทายาท ( The Crown Prince) บางครั้งเรียกว่า "มกุฎราชกุมาร" หมายถึง พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ และจะได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามนัยที่ตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 ( ปัจจุบันคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร )

                             ๒.๔ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ( The Regent ) หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ประมุขแทนพระมหากษัตริย์เป็นการชั่วคราว ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ ( ปัจจุบันไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ )

                  ทนายความผู้ต้องหาขอเรียนต่อท่านอัยการว่า กฎหมายอาญานั้น ต้องมีบทบัญญัติโดยชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบัญญัติความผิดและโทษไว้ในขณะกระทำ และบทบัญญัตินั้นต้องชัดเจนปราศจากความคลุมเครือ  มิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้ ซึ่งหลักการนี้ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา ๒ ที่ว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำการนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้นต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย” ทั้งยังต้องตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ กฎหมายบัญญัติการกระทำใดเป็นความผิดและต้องรับโทษในทางอาญาแล้ว ต้องถือว่าการกระทำนั้นๆ เท่านั้นที่เป็นความผิดและผู้กระทำถูกลงโทษจะรวมถึงการกระทำอื่นๆด้วยไม่ได้ ซึ่งการตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัดดังกล่าว มีความหมายเฉพาะการเคร่งครัดในด้านที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำเท่านั้น มิใช่ในทางที่จะเป็นโทษแก่ผู้กระทำ

                  คดีนี้ผู้กล่าวหาจงใจใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นเครื่องมือในการจัดการกับประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง ขอท่านได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาด้วย

                  สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  ๑๑๖ นั้น ทนายความผู้ต้องหาขอเรียนต่อท่านอัยการว่า  ผู้กล่าวหาได้จงใจกล่าวหาด้วยข้อหาที่เกินจริงและเกินไปกว่าการกระทำของผู้ต้องหา ซึ่งจากข้อเท็จจริงในผังราชภักดิ์ หากจะมีความผิดซึ่งสมควรแก่การพิจาณาในศาล ก็เป็นเพียงข้อพิจารณาว่า "ผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์" นั้น เป็นการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ หรือไม่เท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ศาลทหารกรุงเทพได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วในคดีของนางรินดา ปฤชาบุตร ว่าการโพสต์ข้อความอันอาจหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่ต้องไปพิจารณาว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ หรือไม่เท่านั้น มิใช่เรื่องที่ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖

                  การที่ผู้กล่าวจงใจกล่าวหาด้วยข้อหาที่ร้ายแรงเกินความเป็นจริง และพนักงานสอบสวนก็สอดรับด้วยการสอบสวนในฐานความผิดที่เกินจริง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอท่านอัยการศาลทหารได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมในประเด็นนี้ด้วย

                  ข้อ ๓. ทนายความผู้ต้องหาขอเรียนต่อศาลว่า คดีนี้เป็นที่จับตาของนานาชาติเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายและการพิจารณาคดีในระหว่างที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ซึ่งรัฐไทยก็ได้พยายามอธิบายถึงความจำเป็นในห้วงเวลานี้ว่าต้องประคับประคองประเทศให้เกิดความมั่นคงสูงสุด ทั้งยังยอมรับเงื่อนไขที่จะทรงไว้ซึ่งคำมั่นที่จะดูแลสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม อันเป็นปราการสุดท้ายของการที่จะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว  แต่จากหลายกรณีจะเห็นได้ว่าผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จนทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยในขณะนี้ขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะคดีนี้การณ์อันไม่ชอบนั้นได้ลุกลามมาถึงชั้นพนักงานสอบสวนแล้ว ทนายความผู้ต้องหายังเชื่อมั่นในหลักการแห่งความยุติธรรมแม้ในสถานการที่บ้านเมืองเป็นทุรยุคเช่นนี้ หากแต่เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ยังเป็นที่มั่นสุดท้ายที่จะธำรงเป็นเสาหลักของบ้านเมือง คดีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าข้อกล่าวหาและการสอบสวนเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากปล่อยให้มีการพิจารณาคดีต่อไปย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย การณ์ก็จะกลายเป็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอยุติธรรมไปเสีย

                  ทนายความผู้ต้องหาทราบดีว่าคดีนี้มีความละเอียดอ่อน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญทางวิชาชีพในการพิจารณา ในทางกลับกันก็มีเพียงกระบวนการพิจารณาทบทวนของชั้นอัยการที่จะสามารถยุติกระแสการวิพากษ์วิจารณ์คดีและกระบวนการยุติธรรมได้ ขอท่านได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา ได้โปรดสั่งไม่ฟ้องคดีนี้เพื่อความยุติธรรมด้วย

                                                                                ขอแสดงความนับถือ

                                                                        (       นายอานนท์   นำภา       )

                                                                                 ทนายความผู้ต้องหา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท