เสวนาเปิดตัว “โครงการนิติธรรมในประเทศไทย” ที่ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน

คลิปไฮไลท์การเสวนาวิชาการเปิดตัว "โครงการนิติธรรมในประเทศไทย" (Rule of Law in Thailand Project) ของศูนย์กฎหมายเอเชียตะวันออก (Centre of East Asian Law) หรือ CEAL ภายใต้ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน (ที่มา: เอื้อเฟื้อวิดีโอจาก CEAL)

ในวาระครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้ง SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน มีการเสวนาวิชาการและงานเลี้ยงรับรองเพื่อเปิดตัว “โครงการนิติธรรมในประเทศไทย” (Rule of Law in Thailand Project) ของศูนย์กฎหมายเอเชียตะวันออก (Centre of East Asian Law) หรือ CEAL ภายใต้วิทยาลัยบูรพศึกษาและการศึกษาแอฟริกา หรือ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม The Court Room อาคาร Senate House มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สำหรับ “โครงการนิติธรรมในประเทศไทย” มุ่งดำเนินการทางวิชาการเพื่อศึกษาความหมายของหลักนิติธรรมและประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เช่น ความเปลี่ยนแปลงในทางรัฐธรรมนูญ ระบบกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และประเด็นอื่นที่มีผลกระทบต่อสังคมไทย เป้าหมายของโครงการคือการผลักดันการศึกษาวิจัยกฎหมายเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนการทำงานของนักวิจัยในช่วงต้นของสายงานวิชาการและนักศึกษาปริญญาเอกที่ศึกษาวิจัยหัวข้อเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและประเทศไทย โดยสามารถติดตามรายละเอียดและกิจกรรมของโครงการได้ที่ http://www.soas.ac.uk/ceal/rolt/ หรือ https://www.facebook.com/soasrolt

ผู้อภิปราย (จากซ้ายไปขวา) Sir Jeffrey Jowell QC, Peter Leyland, Tim Forsyth ดำเนินรายการโดย Carlo Bonura (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพจาก CEAL)

โดยการเสวนาเปิดตัวโครงการซึ่งดำเนินรายการโดย Dr Carlo Bonura จาก SOAS มีวิทยากรประกอบด้วย Prof. Sir Jeffrey Jowell KCMG QC จากศูนย์บิงแฮมเพื่อหลักนิติธรรม (Bingham Centre for the Rule of Law) อภิปรายหัวข้อ “หลักนิติธรรมมีความสากลเพียงใด” (How universal is the rule of law) Prof. Peter Leyland จาก SOAS อภิปรายหัวข้อ “การฟื้นรากฐานของหลักนิติธรรมในประเทศไทย” (Rebuilding the foundations of the rule of law in Thailand) และ Prof. Tim Forsyth จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน หรือ LSE อภิปรายหัวข้อ “ความแตกแยกทางสังคมในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางรัฐธรรมนูญ” (Thailand’s social divisions during constitutional change)

 

Jeffrey Jowell: 4 องค์ประกอบของหลักนิติธรรม ไม่ใช่แค่บังคับใช้กฎหมาย

โดยการอภิปรายของ Jeffrey Jowell (ชมคลิปไฮไลท์ นาทีที่ 0:47) หัวข้อ “หลักนิติธรรมมีความสากลเพียงใด” ตอนหนึ่งถึงองค์ประกอบของหลักนิติธรรม? โดยเสนอว่า ประการแรก หลักนิติธรรมต้องการ “ความชอบด้วยกฎหมาย” ความชอบด้วยกฎหมาย “หมายความว่า พวกเราทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจที่ทำตามอำเภอใจ อำนาจของทรราชย์ พวกเราอยู่ภายใต้กฎหมายไม่ใช่อยู่ใต้อำนาจของชายหรือหญิง รวมถึงพันธะกรณีของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของพวกเราตลอดเวลาด้วย ซึ่งพวกเขาจะต้องปฏิบัติภายในขอบเขตของอำนาจที่กำหนดไว้ พวกเขาไม่ได้มีอำนาจโดยใช้ตามดุลยพินิจของตนเองอย่างไม่จำกัด นี่คือหลักนิติธรรม”

“ประการที่สองของหลักนิติธรรมคือ ความแน่นอน กฎหมายไม่ควรที่จะมีการเปลี่ยนตลอดเวลา มันควรมีความแน่นอน ควรใช่หรือไม่? กฎหมายอาจแก้ไขได้ แน่นอน แต่การแก้ไขต้องอยู่ภายใต้คำเตือนที่ยุติธรรม และสิ่งนี้เองทำให้เราทุกคนสามารถวางแผนกิจกรรมของเราได้ และพวกเราก็ไม่ได้เผชิญหน้ากับกฎหมายที่มีผลย้อนหลัง และบางทีคุณอาจจะถูกจับขังคุกเพราะกฎหมายที่คุณไม่รู้ว่ามันบังคับใช้อยู่ หรือไม่สามารถรู้ได้ว่ามันมีอยู่ หรือบางทีมันไม่มีอยู่ก่อนที่จะถูกนำมาใช้บังคับกับคุณ ดังนั้นแล้ว ประการแรกก็เป็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย อีกประการคือ ความแน่นอนทางกฎหมาย”

Jeffrey อภิปรายต่อว่า “สองสิ่งนี้เองในหลักนิติธรรม ถือเป็นรูปแบบที่เป็นทางการ และมีหลายประเทศที่พวกเขาอ้างว่าพวกเขาอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม เพราะพวกเขามีกฎหมายที่มีโทษรุนแรง และพวกเขามีความแน่นอนในการใช้กฎหมาย จีนอาจเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น และแอฟริกาใต้ในยุคแบ่งแยกสีผิว พวกเขาก็ยังใช้กฎหมายจำนวนมาก แม้ว่ากฎหมายเหล่านั้นจะรุนแรง ไม่ยุติธรรม และเลือกปฏิบัติ และพวกเขาก็พูดว่า “พวกเราปฏิบัติภายใต้หลักนิติธรรมแบบที่ประเทศจีนทำ” แต่ผมเรียกสิ่งนั้นว่า “ปกครองโดยกฎหมาย” ไม่ใช่ “หลักนิติธรรม” เพราะว่าองค์ประกอบเพิ่มเติมอีก 2 ประการของหลักนิติธรรมไม่ได้อยู่ในสิ่งนั้น แล้วองค์ประกอบ 2 สิ่งนั้นคืออะไร?”

โดย Jeffrey เสนอถึงหลักนิติธรรม 2 องค์ประกอบต่อมาได้แก่ “ความเท่าเทียม ที่ว่ากฎหมายจะต้องถูกใช้กับทั้งคนรวยและคนจน กับทั้งคนมีอำนาจและคนชายขอบ หรือผู้อ่อนแอ และภายใต้สิ่งนี้ ก็มีระดับที่ลึกซึ้งของเรื่องความเท่าเทียม ที่จำเป็นต้องมีการตระหนักในความเท่ากันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สำหรับคนทุกคน”

“และสุดท้ายที่เป็นองค์ประกอบที่ 4 ของ “หลักนิติธรรม” ซึ่งทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ก็คือสิ่งที่เราเรียกอย่างหลวมว่า การเข้าถึงความยุติธรรม นั่นคือคุณสามารถที่จะท้าทายการตัดสินที่พวกเขามีคำสั่งกับคุณ ในวิถีทางที่ยุติธรรม ซึ่งทำให้คุณได้รับการพิจารณาคดีที่ยุติธรรม และกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นอิสระ” โดยเขาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

 

Peter Leyland: ชี้ร่างรัฐธรรมนูญสะท้อนว่าไม่มีสัญญาณกองทัพคืนอำนาจ

ต่อมา Peter Leyland (ชมคลิปไฮไลท์ นาทีที่ 03:46) อภิปรายหัวข้อ “การฟื้นรากฐานของหลักนิติธรรมในประเทศไทย” ตอนหนึ่งกล่าวถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีความพยายามอำพรางเนื้อหาและทำให้เกิดความล่าช้าในรัฐบาลปัจจุบัน เขากล่าวด้วยว่า “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เผชิญข้อกล่าวหาที่ว่าพวกเขาเป็นตัวแทนชนชั้นนำพวกเดียวกัน และความชอบธรรมก็มีน้อยลงเพราะถูกตั้งขึ้นโดย คสช. การร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการคุมเข้มอย่างหนัก”

“และในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการเปิดเผย ก็มีรายละเอียดมหาศาล ผมได้ดูคร่าวๆ เลื่อนดูผ่านคอมพิวเตอร์ของผม ซึ่งมันทำให้ผมแก่ไปเลย ผมคิดว่า “พระเจ้า” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แบ่งเป็นหมวดต่างๆ มากกว่าเดิมอีก ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำลังจะถูกบันทึกสถิติโลกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลก ยาวกว่ารัฐธรรมนูญอินเดียเสียอีก” Peter กล่าวตอนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เขาไม่คิดว่าสิ่งนี้จะอยู่ได้นาน เพราะในร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดก่อนที่จะมีการปรับแก้อีกครั้ง มีหลายสิ่งที่พวกเขาตัดแปะมาจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ซึ่งรวมทั้งเนื้อหาที่มีการเน้นเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และคณะกรรมการตรวจสอบชุดต่างๆ แต่ร่างรัฐธรรมนูญยังอนุญาตให้นายพลสามารถรวบคืนอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในเวลาใดก็ได้ ในนามของความมั่นคงแห่งชาติ นี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ และหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็จะอยู่ไปอีกนาน อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังจะต้องพบกับอุปสรรคขัดขวางใหญ่ก็คือการลงประชามติ

Peter ประเมินว่าจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีสัญญาณว่าจะมีการคืนอำนาจอย่างจริง เขายังเสนอด้วยว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องหยุดเบ้าหลอมสร้างวงจรการยึดอำนาจโดยกองทัพ ตลอดจนการปลดเปลื้องตนเองให้พ้นจากความรับผิดชอบและความรับผิดทั้งหลาย”

และดูเหมือนเป็นเรื่องประชดประชันที่ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งกำลังเผชิญกับการดำเนินคดี ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่นำมาปฏิบัติโดยรัฐบาลชุดของเธอ โดยเธอถูกกล่าวหาว่าล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้เกิดคอร์รัปชั่นในการจำนำข้าว โดยเขาเห็นว่า “คำว่า “คอร์รัปชั่น” เป็นคำที่พูดกันไปทั่วในเมืองไทย โดยเป็นคำที่ถูกใช้โดยไม่ต้องนิยามถึงบริบท ดังนั้น จึงมีกลิ่นสองมาตรฐาน การลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน และเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้คนที่มีอำนาจมากและคนรวยมักจะหนีรอดกระบวนการยุติธรรม พูดอีกอย่างก็คือ มีการยกเว้นการใช้หลักนิติธรรมกับคนระดับบนสุด”

 

Tim Forsyth: พฤติกรรมทางสังคมกับหลักนิติธรรม กรณีชุมนุมช่วยทวงเงินจำนำข้าว

ต่อมา Tim Forsyth (ชมคลิปไฮไลท์ นาทีที่ 07.19) อภิปรายเรื่อง “ความแตกแยกทางสังคมในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางรัฐธรรมนูญ” ตอนหนึ่งกล่าวถึงความพยายามในการรณรงค์ในช่วงการชุมนุมของ กปปส. เพื่อชักชวนชาวนาซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าวให้มาเข้าร่วมการต่อสู้ หลังจากที่ในช่วงหลังรัฐบาลรักษาการไม่สามารถจ่ายเงินให้กับชาวนาในโครงการจำนำข้าวได้ โดย Tim อภิปรายตอนหนึ่งว่า

ในขณะที่ชาวนาเลือกพรรคของคนเสื้อแดงในอดีต สิ่งที่น่าสนใจในเวลาเดียวกันก็คือ การขยายขอบเขตของคนเสื้อเหลืองที่เข้าไปชักชวนชาวนาเข้ามาเป็นพวก โดยมีมุมมองที่อยู่บนพื้นฐานของการดูถูกว่า ชาวนาคือคนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากคนเสื้อแดง หรือจากคนเสื้อเหลืองที่กำลังจะมีอำนาจ” แต่ในเวลาเดียวกัน คนเสื้อเหลืองเองก็ต้องการปรากฏตัวอย่างเหมาะสมด้วยภาพลักษณ์ที่ว่า พวกเขาเป็นเพื่อนของชาวนา พวกเขาต้องการเข้าใจความเจ็บปวดของชาวนา พวกเขาต้องการเป็นตัวแทนของชาวนาผู้เป็นคนจนที่เป็นเหยื่อของรัฐบาลคอร์รัปชัน

“ดังนั้น ในที่ชุมนุมของคนเสื้อเหลืองที่สวนลุมพินีในกลางกรุงเทพฯ คุณจะได้พบกับกระบวนการที่มีคนสวมเสื้อยืด และขายเสือยืด ที่พยายามที่จะเป็นพันธมิตรกับชาวนาในฐานะที่เป็นเหยื่อ ในฐานะที่เป็นคนจน ภาพของโครงกระดูกถือเคียว, “ชาวนา” หรือประชาชนแห่งท้องทุ่ง, และเสื้อยืดสีดำรูปแม่โพสพ ซึ่งเป็นเทพของไร่นา และเสื้อยืดในรูปสุดท้ายมีความหมายว่าชาวนาสมควรมีชีวิตที่ดีกว่านี้เพราะพวกเขาเป็นผู้รับภาระของแผ่นดิน (ในสไลด์นำเสนอ ข้อความในเสื้อยืดพิมพ์ว่า - “ชาวนาปลูกข้าวเลี้ยงใคร คนไทยกินข้าวทุกคน ทำไมยิ่งทำยิ่งจน ใครกันมันปล้นคนทำนา”) ทั้งหมดนี้ทำให้ผมคิดว่า ผลประโยชน์ทำให้เปลี่ยนพันธมิตรได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า(การเคลื่อนไหว)ต้องมีจรรยาบรรณมากแค่ไหน และก็แสดงให้เห็นว่าลำดับชั้นก็ทำให้พวกเขาต้องผลิตซ้ำตัวเองโดยไม่คำนึงว่ารัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปอย่างไร”

“สิ่งที่ผมพยายามเสนอก็คือ คุณจะเห็นพันธมิตรของชนชั้นนำที่พยายามรวบรวมพันธมิตรในบรรดาชนชั้นที่ยากจนกว่าด้วยการเสนอตัวว่าเป็นตัวแทนของทั้ง 2 กลุ่ม มีการผลิตภาพซ้ำของความมีลำดับชั้นและความเป็นเหยื่อ เพื่อพยายามรักษาระเบียบทางสังคม มากกว่าที่จะต้องการเปลี่ยนแปลงระเบียบทางสังคม และทั้งสองฝ่ายต่างซื้อไอเดียนี้เพราะว่าพวกเขามองเห็นโอกาสทางการเมือง แต่ในท้ายที่สุดมีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมให้เหตุผลเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงด้านประชาธิปไตยในไทย ร่วมกับคำถามเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมาย ความเท่าเทียม และการเข้าถึงความยุติธรรมว่า คุณอาจจะได้รับสิ่งเหล่านี้หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

 

ตอบคำถามระงับใช้หลักนิติธรรม เพื่อรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่?

สำหรับในช่วงตอบคำถาม วิทยากรได้อภิปรายคำถามจากผู้สื่อข่าวประชาไทที่ว่า  “การระงับการใช้หลักนิติธรรมโดยกองทัพไทยสามารถที่จะอ้างความชอบธรรมว่าเพื่อเป็นการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่?” (ชมคลิปช่วงตอบคำถามนาทีที่ 13.12) โดย Jeffrey Jowell ตอบว่า ศาลอาจจะยอมให้มีการยกเว้นสิทธิเสรีภาพบางกรณีได้ได้ หากการแทรกแซงได้สัดส่วนกับภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น อีกนัยหนึ่งก็คือกองทัพไม่สามารถที่จะมีอำนาจทั้งหมดเพื่อที่จะพูดได้ชั่วนิรันดร หรือเราไม่ได้อนุญาตให้อยู่ได้เป็น 10 ปี หรือระงับการมีรัฐสภา แต่อาจจะยอมให้มีมาตรการที่จำเป็นเพื่อรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย ทุกๆ สังคมอนุญาตให้ทำเช่นนั้น

แต่ก็มีข้อจำกัดที่จะให้ทำอย่างนั้น เช่น บางสังคม หลายๆ สังคม ไม่อนุญาตให้มีการทรมาน บางสังคมอาจยอมรับการทรมานระดับหนึ่ง ผมเลยเสนอว่าเป็นไปได้ว่าก็มีความเป็นไปได้บางระดับให้มีการระงับซึ่งสิทธิมนุษยชน เสรีภาพส่วนบุคคล และหลักนิติธรรม หากเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่การระงับนั้นจะต้องไม่ใช่ข้ออ้างที่จะดำเนินการใช้อำนาจควบคุมแบบไม่จำกัดเวลา ดังนั้นจึงควรจะมีการทบวนตลอดเวลาเพื่อพิจารณาว่าสถานการณ์ฉุกเฉินน่าจะสิ้นสุดแล้ว หรือมาตรการบางอย่างควรจะผ่อนปรน และควรมีความเข้มข้นของมาตรการเหล่านั้น

ขณะที่ Peter Leyland กล่าวว่า มีทางออกสำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นทางออกบางส่วนก็ตาม ทางออกนี้มีความจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้อเขียว หรือเสื้อสีใดก็ตามที่เขาเป็น จนกระทั่งสามารถบรรลุถึงทางออกนี้ รัฐธรรมนูญอาจไม่ได้ผลทั้งหมด แต่ผมเห็นด้วยกับ Jeffrey ที่ว่า ทางออกโดยทหารควรถือเป็นเรื่องเฉพาะกาลไม่ควรเป็นเหตุฉุกเฉิน ทหารไม่ควรถูกพิจารณาเป็นทางออกสำหรับทุกเรื่อง

ด้าน Tim Forsyth กล่าวว่า หากมีวิกฤติ และไม่ว่าจะมีสิ่งใดเข้าไปแทรกแซงหรือต่อรอง สิ่งนั้นจะต้องถูกมองเห็น ได้รับความเชื่อถือและมีความยุติธรรรม ตัวอย่างที่ผมนึกออกคือ ในช่วงสงครามโลกของสหราชอาณาจักร เรามีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะประชาชนให้ความเชื่อถือเนื่องจากเหตุการณ์ในเวลานั้น แต่คุณรู้ไหม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ผมคิดว่าสิ่งนั้นไม่อาจเชื่อถือได้ และไม่ได้สร้างโอกาสเปิดกว้างที่ประชาชนที่ต้องการเพื่อที่จะกำหนดนิยามของนิติธรรมให้เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท