Skip to main content
sharethis

วงเสวนา สกว. วิกฤติภัยแล้ง “เกษตรน้ำน้อย...ทางออกของเกษตรกร” แนะการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ที่ใช้น้ำน้อย แต่ได้ผลผลิต-ราคาดี ชี้เกษตรกรต้องปรับตัวให้เป็น ‘นักธุรกิจการเกษตร’ จึงจะอยู่รอด รู้จักวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตและการตลาด รวมกลุ่มสร้างพลังอำนาจในการซื้อขายและต่อรองราคา

2 มีนาคม 2559 รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะ สกว. เรื่อง “เกษตรน้ำน้อย...ทางออกของเกษตรกร” ซึ่งจัดโดย สกว. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ เพื่อให้เกษตรกรทราบถึงองค์ความรู้การจัดการด้านการเกษตรในภาวะน้ำแล้งที่เหมาะสม เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ทดแทนการปลูกพืชในภาวะปกติ และเสนอทางเลือกเชิงนโยบายแก่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ทั้งนี้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง แต่เกษตรกรจะยืนหยัดอยู่ได้ก็ต้องรู้จักช่วยเหลือตัวเอง สกว.มีงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้ ซึ่งปริมาณฝนของประเทศไทยล่าสุด ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องมองปัญหาในสองมุม คือ น้ำฝนธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในปี 2558 ปริมาณฝนส่วนใหญ่ต่ำกว่าปกติโดยเฉพาะในเขื่อนใหญ่น้อยกว่าปกติทำให้น้ำต้นทุนมีน้อย ปัจจุบันน้ำใน 4 เขื่อนหลักมีน้ำเหลือที่ใช้ได้น้อยมาก ภาครัฐจึงขอความร่วมมือลดการปลูกข้าวนาปรังเพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคถึงเดือนพฤษภาคม แต่หลายพื้นที่ก็ยังปลูกอยู่

ช่วงต้นปี 2559  มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่า 2,000-3,000 ล้านลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าในช่วงต้นปี 2558 ส่วนน้ำต้นทุนและการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พึงระวังว่าน้ำต้นทุนน้อย ต้องรักษาน้ำประปาและระบบนิเวศไม่ให้น้ำเค็มเข้ามา เพราะจะเป็นอันตรายต่อภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยเฉพาะโรงพยาบาล ซึ่งนาข้าวในจังหวัดอยุธยาและนครสวรรค์จะได้รับความเสียหายมากกว่าจังหวัดอื่น คำถามที่พบบ่อยเมื่อนักวิชาการแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่น คือ ปลูกพืชอะไรที่ใช้น้ำน้อย ขายได้เงินเท่าไร และขายใคร รวมทั้งอยากให้อบรมวิธีการปลูกด้วย ดังนั้นนักวิชาการหลายสาขาวิชาจึงต้องร่วมมือกันทั้งเรื่องการให้คำแนะนำป้องกันโรคและแมลง พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ จึงจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

สำหรับทางเลือกอาชีพของเกษตรกรนั้น ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ระบุว่าไทยเคยส่งออกถั่วเขียวมากที่สุดในโลก 30 ปีติดต่อกัน ก่อนจะถูกอ้อยและข้าวโพดแย่งพื้นที่จนกลายเป็นผู้นำเข้า เพราะอาหารไทยใช้ถั่วเป็นส่วนผสมจำนวนมากโดยเฉพาะถั่วงอก ถั่วเขียวสามารถปลูกก่อนข้าวได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เพียง 2 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้ จึงนับเป็นพืชไร่ที่อายุสั้นมาก และปลูกได้รอบสองในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ทั้งนี้ถั่วเขียวมีไนโตรเจนทำให้ดินร่วนซุยช่วยให้ปลูกข้าวได้งามด้วย ปัจจุบันประเทศที่ปลูกมาก ได้แก่ อินเดีย จีน ออสเตรเลีย และเมียนมาร์ซึ่งไทยนำเข้ามากถึงร้อยละ 53

การปลูกถั่วเขียวหลังนาไม่ยาก โดยหลังการเก็บเกี่ยวข้าวให้ไถล้มตอซัง พรวนดิน แช่น้ำข้ามคืนแล้วหว่าน ต้องพรวนหรือคราดกลบเพื่อป้องกันนกพิราบมากิน สามารถปลูกเป็นแถวโดยใช้เครื่องปลูก หากกลัวน้ำท่วมให้ทำร่องเล็ก ๆ เพื่อระบายน้ำ จากสถิติต้นทุนการผลิตถั่วเขียวรวมรุ่นปี 2557 พบว่ามีต้นทุนรวมต่อไร่ 2,246.08 บาท/ไร่ ต้นทุนรวม 19.20 บาท/กก. ราคาขาย 25-30 บาท/กก. ข้อควรปฏิบัติไม่ควรปลูกในพื้นที่ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินเหนียวที่ระบายน้ำได้ยาก หรือที่ลุ่มน้ำขังระบายน้ำไม่ดี จากการวิจัยมี 5 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพสูงแต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์และไม่ได้ทดสอบในแหล่งปลูกสำคัญ จึงได้ขยายผลไปปลูกใน 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี พิษณุโลก และนครปฐม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกรที่อุทัยธานี และขยายเมล็ดพันธุ์หลัก แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องราคา หากพ่อค้ากดราคาก็เกินความสามารถที่นักวิชาการจะจัดการได้ จึงขอฝากผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแลด้วย

ด้าน อ.วีระ ภาคอุทัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการพัฒนาระบบการตัดสินใจและการจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัย ว่าพริกมีต้นทุนค่อนข้างสูงเพราะใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยว จากข้อมูลของกรมศุลกากรพบว่ามีมูลค่านำเข้า 1,933 ล้านบาท มูลค่าส่งออก 4,311 ล้านบาท โดยอันดับหนึ่งคือ ซอสพริก ที่ส่งออกทั่วโลก 121 ประเทศ 2,128 ล้านบาท เครื่องแกงปรุงสำเร็จ 53 ประเทศ 1,483 ล้านบาท แต่ไทยนำเข้าพริกแห้ง 909.70 ล้านบาท การปลูกพริกฤดูฝนนั้นพริกที่มีคุณภาพดีที่สุดคือ พริกยอดสน อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ซึ่งทนแล้ง ได้ผลผลิต 600 กก./ไร่ ราคาขาย กก.ละ 250 บาท แต่ถ้าฝนแล้งผลผลิตจะลดลงเหลือ 300 กก./ไร่ เกษตรกรต้องปรับตัวใช้ระบบน้ำหยดแต่ไม่สามารถทำได้ทุกที่เพราะบางที่ไม่มีน้ำ มีแต่น้ำบาดาลซึ่งเป็นน้ำเค็ม จึงต้องเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม และการบริหารจัดการน้ำ เช่น พริกพันธุ์ลูกผสมให้น้ำระบบสปริงเกอร์ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เพราะตลาดหลักคือมาเลเซีย และต้องพยายามสนับสนุนให้เป็นพริกปลอดภัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มราคาขายได้อีกกก.ละ 5-8 บาท ทั้งนี้การตัดสินใจปลูกพริกต้องมองเรื่องตลาดด้วย โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่เน้นเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัย ขณะเดียวกัน สกว.ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อรวบรวมพริกพันธุ์พื้นเมืองไม่ให้สูญหาย

พริกเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำท่วม น้ำขัง หรือฝนตกบ่อย แต่ขาดน้ำไม่ได้ แม้จะใช้น้ำน้อยกว่าปลูกข้าว ดังนั้นจะปลูกต้องมีแหล่งน้ำประจำไร่นาที่เพียงพอ เช่น สระน้ำ น้ำบาดาล หรืออยู่ในเขตชลประทานที่สามารถส่งน้ำได้ จึงจะได้รับผลผลิตดี การปลูกพริกที่น้ำน้อยลงเกษตรกรสามารถคลุมแปลงด้วยฟางข้าว พลาสติกดำ ระบบสปริงเกอร์ หรือใช้โอ่งแดง มุมมองทางเศรษฐศาสตร์จะจัดสรรทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด จะผลิตสินค้าเกษตรต้องดูปริมาณความต้องการน้ำของพืช ผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิตและผลตอบแทน ราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้ ผลตอบแทนสุทธิ ปริมาณความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

“เราต้องปรับแนวคิดการทำเกษตรเป็นการทำ ‘ธุรกิจการเกษตร’ ที่ต้องมีตลาดเป็นตัวนำ วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การผลิตและการตลาดก่อนตัดสินใจทำการผลิต มีการรวมกลุ่มเพื่อให้มีพื้นที่เพาะปลูกรวมในปริมาณมากพอที่จะให้พ่อค้าเข้ามาซื้อ ซึ่งจะมีผลต่อการแข่งขันและต่อรองราคาได้ แนวทางส่งเสริมคือ ทำได้ อยู่ได้ เช่น จะปลูกพริกปลอดภัยได้ต้องทำอย่างไร ขายได้ มีรายได้พอที่จะทำต่อไปได้ ปริมาณที่เหมาะ พื้นที่น้อย เหลือเงินมาก แข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ สิ่งที่ต้องระวังคือ การส่งเสริมหรือแนะนำการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ต้องแน่ใจว่ามีน้ำเพียงพอ มีตลาดรองรับอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นสินค้าจะล้นตลาดหรือเกินความต้องการ ทำให้ราคาสินค้าตกต่ำ เกษตรกรก็ขาดทุน เป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น และจะมีสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเข้ามาแทนที่เพราะราคาถูกกว่า ประเทศไทยจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว หน่วยงานรัฐต้องสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานและความรู้ที่ทันสมัยไปช่วยเหลือเกษตรกรได้” วีระ กล่าว

ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ กรรมการผู้จัดการบริษั สวีทซี๊ดส์ จำกัด

ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ กรรมการผู้จัดการบริษั สวีทซี๊ดส์ จำกัด กล่าวว่า การปลูกข้าวโพดเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีอนาคตสดใสเพราะไทยส่งออกอันดับหนึ่งของโลก โดยปัจจุบันมี 3 ชนิด คือ 1) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งความต้องการสูงต้องนำเข้าแต่ละปีจำนวนมาก 2) ข้าวโพดหวาน เป็นที่ต้องการมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไทยถือเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายที่สำคัญ และ 3) ข้าวโพดข้าวเหนียว ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนโฉมบรรจุถุงพลาสติกส่งออกต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้การปลูกแต่ละครั้งใช้น้ำประมาณ 96 คิว และทนแล้งมาก ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขายได้ไร่ละ 15,000 บาท ข้าวโพดหวาน 30,000 บาท ข้าวโพดข้าวเหนียว 20,000 บาท ปัจจุบันพยายามปรับปรุงพันธุ์ให้ผลผลิตสูงขึ้นและอายุสั้น รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีออกไปสู่เกษตรกร เมื่อพิจารณาตลาดฝักสดพบว่าขายได้ราคาดีมาก ปลูกเองขายเองได้ แต่ตลาดอาจเล็กและปลูกได้น้อย ขณะที่ตลาดอุตสาหกรรมรับได้จำนวนมากแต่ราคาถูกและมีปัญหาเรื่องระบบการจ่ายเงิน

 รศ.ดร.ศิริพร กีรติการกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้พัฒนาพันธุ์ไก่ประดู่หาง 

ขณะที่ รศ. ดร.ศิริพร กีรติการกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้พัฒนาพันธุ์ไก่ประดู่หาง ระบุว่าภัยคุกคามจากภัยแล้งและการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยให้อยู่รอดได้ จะต้องมีฝีมือในการลดต้นทุนจากน้ำที่น้อยลงและเพิ่มมูลค่าเพิ่มรายได้ ที่สำคัญต้องมีความสุข ไม่เป็นหนี้ เกษตรกรต้องใช้มรดกภูมิปัญญาผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้สามารถอยู่ในวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและมีความยั่งยืน ทั้งนี้ทางรอดขึ้นอยู่กับทางเลือกและภูมิคุ้มกันของไก่พื้นเมือง ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีทั้งด้านพันธุ์ อาหารและการจัดการอาหาร มาตรฐาน สร้างทางเลือกที่หลากหลายและเป็นไปได้ภายใต้ contrains เชิงเศรษฐกิจและการจัดการน้ำจากภาวะภัยแล้ง บริหารความเสี่ยงด้วยการทำให้มีอัตราการรอดตายที่ดี เพื่อทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ งานวิจัยที่ดำเนินการอยู่นำมาสู่การออกแบบด้านการผลิต ลดต้นทุน ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ การวิจัยในการตลาด บริหารจัดการเชิงระบบก่อให้เกิดการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางการตลาด รายได้สม่ำเสมอจนเป็นอาชีพและความมั่นคงทางด้านอาหารแก่เกษตรกรรายย่อย

ผศ.ดร.อมรรัตน์ โมฬี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

เช่นเดียวกับ ผศ. ดร.อมรรัตน์ โมฬี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า ทุกคนต้องปรับตัวให้อยู่ได้ท่ามกลางวิกฤติภัยแล้ง เปลี่ยนวิธีคิดในการทำอาชีพเกษตรให้เป็นนักธุรกิจเกษตรที่มีกิจกรรมในการประกอบอาชีพมากกว่าหนึ่ง เพื่อประกันความเสี่ยงเช่นเดียวกับนักธุรกิจทั่วไป โดยหาทางเลือกอาชีพ เช่น การเลี้ยงไก่โคราชซึ่งเป็นพันธุ์ผสมระหว่างไก่เหลืองหางขาวของกรมปศุสัตว์และไก่ มทส. ที่ให้ผลผลิตสูงและมีเนื้อสัมผัสที่ดี มีไขมันต่ำ คอลลาเจนสูง ใช้น้ำ 3-4 ลิตรต่อช่วงอายุการเลี้ยง 2 เดือน ปัจจุบันสร้างฟาร์มขยายฐานการผลิตเป็น 44,000 ตัว/เดือน จำหน่ายลูกไก่อายุ 1 วัน ราคาตัวละ 19 บาท และกำลังหาผู้ประกอบการที่สนใจซื้อพันธุ์ไปจำหน่าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net