สตรีมุสลิมในอินเดียต่อสู้เพื่อต่อต้านการขลิบอวัยวะเพศหญิง

กลุ่มสตรีมุสลิมในอินเดียรวมตัวกันเพื่อต่อต้านประเพณีการสุหนัตหญิง หรือขลิบอวัยวะเพศหญิง เนื่องจากสร้างความเจ็บปวด เป็นการลดทอนทำให้ผู้หญิงไม่มีความสุขทางเพศและส่งผลกระทบทางจิตใจ ทั้งนี้ยังมีการนำศาสนามาอ้างทั้งๆ ที่การขลิบดังกล่าวเป็นเพียงวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาแต่อย่างใด

2 มี.ค. 2559 สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานเรื่องการต่อสู้เพื่อหยุดยั้งการขลิบอวัยวะเพศสตรีในอินเดีย โดยในอินเดียมีวัฒนธรรมของมุสลิมนิกายชีอะฮ์ สาย 'ดาวูดี โบห์รา' ที่บีบบังคับให้ผู้หญิงและเด็กหญิงตองขลิบอวัยวะเพศมาเป็นเวลานาน

ในรายงานข่าวของอัลจาซีราระบุถึงกรณีของมาซูมา รานัลวี ที่เคยถูกหลอกให้ไปขลิบอวัยวะเพศตั้งแต่ตอนที่เธออายุ 7 ปี เมื่อราว 40 ปีที่แล้ว เธอเล่าถึงกระบวนการขลิบอวัยวะเพศหญิงที่เธอต้องเผชิญว่ามีวิธีการที่ป่าเถื่อนโดยการใช้มีดโกนซึ่งดูน่ากลัวและสร้างความเจ็บปวดให้กับเธอ หลังจากนั้นเธอก็ต้องทาผงดินปืนที่แผลของเธอไปอีก 10 วัน ทำให้เธอต้องทนกับความเจ็บปวดอยู่เงียบๆ เรื่องราวของเธอไม่เคยมีการพูดถึงจนถึงตอนนี้

รานัลวีเป็นผู้หญิงหนึ่งใน 200 ล้านคนในโลกที่เคยผ่านการขลิบอวัยวะเพศ หรือที่เรียกว่าการทำสุหนัตหญิง (Female Genital Mutilation หรือ FGM) อันหมายถึงการตัดอวัยวะเพศหญิงบางส่วนหรือทั้งหมดบ้างก็เป็นหนังหุ้มคลิตอริส ตัวคลิตอริส รวมถึงบางกรณีมีการตัดแคมเล็กและแคมใหญ่ ตัวเลขดังกล่าวมาจากข้อมูลล่าสุดขององค์กรยูนิเซฟ

ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการนำเสนอเรื่อง FGM จากประเทศอย่างอียิปต์ เอธิโอเปีย และอินโดนีเซีย แต่ในอินเดียเรื่องนี้กลับถูกปกปิดเป็นความลับมาโดยตลอด โดยถึงแม้ว่าในอินเดียจะมีประชากรชาวมุสลิมร้อยละ 14 แต่มีอยู่ส่วนเดียวที่ยังคงทำการขลิบอวัยวะเพศสตรีคือกลุ่มนิกายชีอะฮ์สายดาวูดี โบห์รา

รานัลวีเพิ่งทราบว่าสิ่งที่เธอถูกกระทำเมื่อตอนอายุ 7 ปี เป็นสิ่งที่เดียวกับที่เกิดขึ้นในแอฟริกาตอนที่เธอได้อ่านเจอเมื่ออายุราว 20 ปี และเธอก็รู้สึกแตกสลายมื่อทราบว่าในร่างกายเธอมีสิ่งที่เรียกว่าคลิตอริสถูกตัดบางส่วน

เรื่องการขลิบอวัยวะเพศหญิงในอินเดียจะถูกปิดลับต่อไปถ้าหากไม่มีรานัลวีและกลุ่มสตรีร่วมกันออกมาเปิดเวทีพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับการขลิบอวัยวะเพศสตรีในชื่อ "สปีคเอาท์ออนเอฟจีเอ็ม" ที่มีการบอกกล่าวถึงประสบการณ์ถูกขลิบที่พวกเธอเคยประสบมาและส่งเสริมให้ผู้หญิงคนอื่นๆ กล้าออกมาพูดเรื่องนี้ด้วย ซึ่งรานัลวีกล่าวว่ามีผู้หญิงจำนวนมากต้องการออกมาพูดในเรื่องนี้และพวกเธอต่างก้รู้สึกมีบาดแผลรวมถึงรู้สึกถูกหลอกลวงจากการปกปิดมาโดยตลอด

นอกจากนี้เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาผู้หญิงมุสลิมชีอะฮ์สายดาวูดี โบห์รา 17 คนก็ยื่นคำร้องให้มีการออกกฎหมายสั่งแบนการขลิบอวัยวะเพศหญิงในอินเดีย

ถึงแม้ว่าการขลิบในอินเดียจะเกิดขึ้นแต่ในหมู่ประชากรนิกายย่อยนิกายหนึ่งของศาสนาอิสลามแต่ ซีนัท เชาคัท อาลี ศาตราจารย์ด้านอิสลามศึกษา วิทยาลัยเซนต์ซาเวียร์ ในมุมไบ กล่าวว่าเรื่องการขลิบนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาอิสลามเพราะไม่มีระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน แต่เป็น "ประเพณี" ของวัฒนธรรมกลุ่มนี้มากกว่า ทำให้มีคนสับสนเรื่องระหว่างวัฒนธรรมกับศาสนา อาลีกล่าวอีกว่าวัฒนธรรมเช่นนี้ถือเป็นการกดขี่ผู้หญิงโดยพยายามใช้อำนาจเหนือพวกเธอ การขลิบอวัยวะเพศหญิงยังถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับในมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ในอินเดีย และอาลีก็บอกว่าเธอภูมิใจที่ผู้หญิงลุกขึ้นต่อต้านประเพณีเช่นนี้

หญิงอีกรายหนึ่งที่ถูกล่อลวงให้ไปทำสุหนัตตั้งแต่อายุ 7 ปี ชื่อทัสนีมกล่าวว่าพวกเธอต้องทำลายมายาคติที่ว่าประเพณีนี้เป็นเรื่องทางศาสนา และถึงแม้ว่าจะมีการอ้างศาสนาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป ทัสนีมและผู้หญิงโบห์ราคนอื่นๆ บอกว่ามีการอ้างใช้ศาสนาเพื่อหาความชอบธรรมให้กับการขลิบผู้หญิงเท่านั้น โดยมีการอ้างว่าเพื่อ "ป้องกันการสำส่อน"

"พระเจ้าสร้างพวกเรามาเป็นแบบนี้ แล้วยังไงล่ะ การมีเพศสัมพันธ์ไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงมีความสุขด้วยอย่างนั้นหรือ? พวกเราแค่ต้องถูกทำให้แสดงออกเหมือนหุ่นยนต์แล้วก็ทำงานแต่ในบ้านเพียงเท่านั้นหรือ?" ทัสนิมกล่าว เธอเล่าอีกว่าเธอรู้สึกเสียใจที่น่าจะรู้ตัวเร็วกว่านี้เพราะเธอยอมให้ลูกสาวของเธอถูกนำไปทำสุหนัตเช่นกัน เธอบอกว่าเธอน่าจะต่อสู้เพื่อปกป้องลูกสาวของเธอ

นักข่าวในมุมไบชื่อ อาเรฟา โจฮารี กล่าวต่อต้านการขลิบอวัยวะเพศหญิงว่ามันส่งผลกระทบทางจิตใจผู้หญิงอย่างมาก จากการที่ทำให้พวกเธอประสบปัญหาความสัมพันธ์ทางเพศจนนำมาซึ่งปัญหาในกาแต่งงานและเกิดความวิตกกังวลจากการเข้าสังคม โจฮารีกล่าวอีกว่าพวกเขาไม่มีสิทธิในการควบคุมเรื่องเพศวิถีของผู้หญิงเพราะไม่มีการขอความยินยอมจากผู้หญิงในเรื่องนี้เลย

ก่อนหน้านี้โจฮารีและผู้หญิงโบห์รายังได้ตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า 'ซาหิโย' ที่มีเป้าหมายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในการพูดถึงสิ่งที่พวกเธอประสบมาและเพื่อเรียกร้องให้ล้มเลิกพิธีกรรมสุหนัต อย่างไรก็ตามถึงแม้พวกเธอจะต้องการให้มีการออกกฎหมายห้าม แต่ก็มองว่ายังไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง รานัลวีเห็นด้วยในเรื่องนี้ โดยบอกว่าถึงม้จะมีกฎหมายห้ามแต่การขลิบก็จะกลายเป็นการลักลอบทำแบบใต้ดิน พวกเธอจึงต้องรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดและความเข้าใจของคนในสังคมด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Fighting female genital mutilation among India's Bohra, Aljazeera, 01-03-2016 http://www.aljazeera.com/indepth/features/2016/02/fighting-female-genital-mutilation-india-bohra-160225093408129.html

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Female_genital_mutilation

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท