Skip to main content
sharethis

อาจารย์ นักศึกษา โครงการวิชาการสนับสนุนการเรียนการสอนในหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง จัดกิจกรรม “ชวนกันอ่าน (ร่าง) รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ (2559)” เพื่อแลกเปลี่ยน และการนำเสนอแง่มุมการวิเคราะห์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในมิติต่างๆ 

เมื่อวันที่  18 กุมภาพันธ์ 2559 โครงการ “ชวนกันอ่าน” ซึ่งโครงการวิชาการสนับสนุนการเรียนการสอนในหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง ได้จัดกิจกรรม “ชวนกันอ่าน” ภาคพิเศษ “อ่าน (ร่าง) รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ (2559)” เพื่อเชิญชวนนักวิชาการ นักศึกษา ผู้สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในมิติต่างๆ และการนำเสนอแง่มุมการวิเคราะห์ และเพื่อใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งสำหรับนักศึกษาวิชานี้ในการทำรายงานปลายภาคเรียน ที่มีโจทย์สำคัญว่า นักศึกษาจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ เพราะอะไร ซึ่งจะเป็นการประมวลความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาใช้วิเคราะห์รัฐธรรมนูญ โดยมีวิทยากรดังต่อไปนี้ อ่านจากมุมนิติศาสตร์  โดย  ตารเกศ แดงงาม อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ อ่านจากมุมรัฐศาสตร์ โดย สุรัช คมพจน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ และ อ่านจากมุมประวัติศาสตร์และเปรียบเทียบ โดย จิรวัฒน์ แสงทอง และ ทรรศนะ นวลสมศรี อาจารย์ประจำหลักสูตรอาเซียนศึกษา ทั้งหมดนี้ เป็นอาจารย์ในสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่สนใจและติดตามการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง

จิรวัฒน์ แสงทอง : การมองเชิงเปรียบเทียบไม่เฉพาะตัวรัฐธรรมนูญ แต่รวมถึงพัฒนาการและประสบการณ์ในภูมิภาคอาเซียน อาจมีส่วนช่วยให้เราเห็นที่มาที่ไปหรือทิศทางของสังคมไทยได้ชัดเจนขึ้นบ้าง เพราะถ้าเราย้อนกลับไปดูในอดีต ภูมิภาคนี้มีจุดร่วมกันหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของพัฒนาการทางการเมือง หลายประเทศในภูมิภาคนี้เคยผ่านประสบการณ์อยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการหรือระบบอำนาจนิยมเหมือนกัน รวมถึงมีความพยายามที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างที่แท้จริงเหมือนกัน ซึ่งในวงอภิปรายในที่นี้ ผมกับอาจารย์ทรรศนะจะเน้นพูดถึงกรณีอินโดนีเซียซึ่งเคยผ่านการตั้งคำถามและผ่านประสบการณ์ในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พวกเราอาจจะไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดต่อรัฐธรรมนูญทั้งของไทยและของอินโดนีเซียมากนัก แต่อยากจะเน้นพิจารณาในประเด็นใหญ่คือบริบททางการเมืองกับการตั้งคำถามต่อ “อุดมการณ์หลัก” ของรัฐธรรมนูญ

ทรรศนะ นวลสมศรี :  ผมอยากเริ่มต้นโดยการเน้นย้ำความสำคัญของการศึกษาเชิงเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของเพื่อนบ้านในภูมิภาค ที่ผ่านมาบ่อยครั้งที่เรามักจะไปอ้างอิงหรือยึดโยงอยู่กับภูมิภาคอื่นๆ ที่ไกลออกไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และพัฒนาการทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนนั้นมีจุดร่วมกันหลายอย่าง  ในที่นี้ ผมจะพูดถึงพัฒนาการทางการเมืองของอินโดนีเซีย ซึ่งหากกล่าวถึงกระแสประชาธิปไตย อินโดนีเซียได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงทั้งจากนักวิชาการและนักสังเกตการณ์ทางการเมือง ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพัฒนาการทางการเมืองค่อนข้างจะก้าวหน้ามากในระดับทวีปเอเชีย หากพิจารณาแค่ในเรื่องที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ลักษณะทางกายภาพของอินโดนีเซียที่ค่อนข้างจะกว้างใหญ่มาก ประกอบด้วยหมู่เกาะประมาณ 17,000 กว่าเกาะ ผู้คนอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย แต่ละเกาะ แต่ละท้องถิ่น ก็มีภาษา มีวัฒนธรรมเป็นของตนเองอย่างค่อนข้างจะเข้มแข็ง กลายเป็นข้อจำกัดพื้นฐานที่ส่งผลต่อความยากลำบากในการสร้างเอกภาพของสังคมอินโดนีเซีย ก็ยิ่งทำให้น่าสนใจมากขึ้นว่าทำไมภายใต้ข้อจำกัดที่ไม่ค่อยเอื้อต่อกระบวนการประชาธิปไตยอย่างนี้ อินโดนีเซียถึงได้สร้างกระบวนการประชาธิปไตยที่ค่อนข้างจะก้าวหน้าได้มาก

ผมอยากจะเริ่มต้นโดยย้อนกลับไปที่จุดกำเนิดของอินโดนีเซีย ตั้งแต่ครั้งประกาศเอกราชในปี 1945 อันเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ก็ค่อยๆ ทยอยได้รับเอกราชด้วยหนทางแตกต่างกันไป  อินโดนีเซียหลังปี 1945 ก็ไม่ต่างกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งการสร้างชาติเต็มไปด้วยความวุ่นวายและความสับสนทางการเมือง  มีการตั้งคำถามว่ารูปแบบทางการเมืองรูปแบบใดที่ควรจะนำมาใช้เพื่อให้มีความเหมาะสม มีความสอดคล้องกับวิธีคิด กับค่านิยมของผู้คนในรัฐ  นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องความแตกแยกของคนกลุ่มต่างๆ ที่ยังคงไม่มีสำนึกเรื่องของความเป็นชาติที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

ในช่วงห้าปีแรกของการสร้างชาติภายใต้ยุค “การปฏิวัติอินโดนีเซีย” นั้น รัฐบาลได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นมาใช้ในปี 1945 เพื่อบังคับใช้ไปก่อน หลังจากผ่านห้าปีแรกที่ชาติเกิดใหม่นี้เริ่มจะมีเสถียรภาพมากขึ้น รัฐบาลภายใต้การนำของซูการ์โน ผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชและประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ได้ทดลองนำการปกครองแบบรัฐสภามาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1950 จนถึงปี 1957 ช่วงเจ็ดปีนี้  รัฐบาลต้องประสบปัญหาไม่สามารถที่จะนำพาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงแข็งแกร่งได้ สาเหตุประการสำคัญกลับมาที่ปัญหาเดิม คือ อินโดนีเซียก่อรูปขึ้นมาด้วยความหลากหลาย กลุ่มชาติพันธุ์และขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลากหลายกลุ่ม กลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุดมการณ์ที่เข้มแข้งอย่างกลุ่มที่ชูศาสนาอิสลามและต้องการให้อินโดนีเซียกลายเป็นรัฐที่มีการนำกฎหมายและหลักการอิสลามมาใช้ กับกลุ่มอุดมการณ์สังคมนิยมที่เคลื่อนไหวอย่างคึกคัก

ความหลากหลายของกลุ่มที่ขยายฐานอำนาจขึ้นมาในช่วงนี้ทำให้รัฐบาลเองเริ่มจะประสบปัญหาในการสร้างความเป็นเอกภาพ  ประกอบกับการเกิดขึ้นของกลุ่มท้าทายใหม่ๆ ในสถาบันสำคัญอย่างกองทัพอินโดนีเซีย ซูการ์โนในฐานะประธานาธิบดีเริ่มมีความขัดแย้งมากขึ้นกับบรรดานายพลบางกลุ่มในกองทัพฯ ซึ่งในประวัติศาสตร์การสร้างชาติอินโดนีเซีย กองทัพฯ ถือว่าเป็นตัวจักรสำคัญในการค้ำจุนอำนาจของประธานาธิบดี เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้อำนาจของตัวประธานาธิบดีเองเริ่มสั่นคลอน

ถึงปี 1957 เมื่อซูการ์โนเองตระหนักว่าตัวเองเริ่มสูญเสียอำนาจจนยากจะควบคุม จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการปกครองใหม่ พยายามจะรวบอำนาจอย่างสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง นั่นนำมาซึ่งการเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” หรือ Guided Democracy ในช่วงตอนใหม่นี้ของยุคสมัยซูการ์โน รัฐธรรมนูญฉบับแรกปี 1945 ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตรงนี้มีความน่าสนใจ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อต่อการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขั้นสูงสุดของประธานาธิบดี พิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์ก็เป็นที่เข้าใจได้เนื่องจากช่วงเวลาที่ถือกำเนิดรัฐธรรมนูญปี 1945 นั้นเป็นช่วงเวลาการสร้างชาติซึ่งเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เอื้ออำนวยให้มีกลุ่มองค์กรต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมหรือตรวจสอบพิจารณา และเป็นบริบทที่ต้องพยายามสร้างความเข้มแข็งและให้อำนาจสูงแก่ตัวประธานาธิบดี การนำรัฐธรรมนูญปี 1945 กลับมาใช้ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของอินโดนีเซีย นั่นคือ เป็นการปูทางไปสู่สู่ยุคเผด็จการอำนาจนิยมอันยาวนานในอินโดนีเซีย สืบต่อจากยุคอำนาจนิยมหลังปี 1957 ของซูการ์โนไปสู่ยุค “ระเบียบใหม่” ของซูฮาร์โต ประธานาธิบดีคนที่สองซึ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1965 ก่อนจะถูกโค่นล้มโดยการเคลื่อนไหวของประชาชนไปในปี 1998

ในการครองอำนาจยาวนานร่วม 30 ปีของซูฮาร์โต ภายใต้ฉากหน้าการปกครองแบบประชาธิปไตย และการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ รัฐบาลยุคระเบียบใหม่ได้สร้างกลไกและวิธีการที่เอื้อให้แก่การอยู่ในอำนาจอย่างสมบูรณ์ยาวนาน เช่น การอนุญาตให้มีพรรคการเมืองที่สามารถแข่งขันในระบบการเมืองการเลือกตั้งได้เพียงแค่สามพรรคเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า พรรคโกลคาร์ ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของซูฮาร์โตและเป็นหนึ่งเดียวกับอำนาจรัฐ ก็จะได้รับการเอื้อประโยชน์มากกว่าอีกสองพรรค เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลออกกฎหมายห้ามไม่ให้พรรคการเมืองลงไปจัดตั้งสาขาในระดับท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับอำเภอลงไปจนถึงหมู่บ้าน พรรคการเมืองตัดขาดกับประชาชน แต่พร้อมกันนั้น รัฐบาลกำหนดให้ข้าราชการของรัฐอินโดนีเซียทุกคนต้องมีสถานะเป็นสมาชิกของพรรคโกลคาร์โดยตำแหน่ง ด้วยเหตุนี้เองข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐจึงกลายเป็นกลุ่มสำคัญที่เชื่อมต่อกับประชาชน คนเหล่านี้อันรวมถึงพรรคโกลคาร์จึงควบคุมเสียงของประชาชน และเอื้ออำนวยต่อชัยชนะของรัฐบาลตลอดมา นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการขจัดคู่แข่งขันทางการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ห้ามการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่างจากรัฐบาล  การห้ามสำนักพิมพ์ สื่อต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 

แต่แล้วยุคซูฮาร์โตที่ยาวนานกว่า 30 ปีก็สิ้นสุดลงในปี 1998 อันเป็นผลเนื่องจากปัจจัยหลากหลาย ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การระเบิดออกของความไม่พอใจของผู้คน รวมถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนซึ่งก่อนหน้านี้เงียบหายไปพักใหญ่เพราะการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยกองทัพอินโดนีเซีย ในช่วงปลายยุคระเบียบใหม่ ซูฮาร์โตเองก็ถูกลดบทบาทหรือถูกบั่นทอนอำนาจของตนเหนือกองทัพฯ ไปไม่น้อย หลายๆ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ในที่สุดซูฮาร์โตต้องก้าวลงจากตำแหน่ง พร้อมๆ กับที่สังคมอินโดนีเซียเข้าสู่ “ยุคปฏิรูป” หรือ Reformasi

ก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูป อินโดนีเซียถูกผลักดันด้วยความคาดหวังว่ากระแสประชาธิปไตยจะเบ่งบาน ผู้คนจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ก็จะเห็นความพยายามในการค่อยๆ ลดบทบาทของกองทัพฯ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของทหารในการเมืองอินโดนีเซีย ประเด็นนี้เป็นผลมาจากการที่ในรัฐธรรมนูญได้กำหนดสำรองที่นั่งในรัฐสภา 25% ให้กับบรรดานายพลจากกองทัพฯ ความพยายามในการแก้ไขข้อกำหนดนี้บรรลุผลสำเร็จในปี 2003 ซึ่งจำนวนที่นั่งในรัฐสภาของอินโดนีเซีย 500 กว่าที่นั่ง ไม่มีโควตาของทหารหลงเหลืออยู่ จะเป็น สส. ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งหมดทุกที่นั่ง ไม่เพียงเท่านั้น ตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปัจจุบัน การแข่งขันในการเลือกตั้งค่อนข้างจะเป็นไปอย่างเสรีและก็โปร่งใส จนกล่าวกันว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา เป็นการเลือกที่ใสสะอาด โปร่งใสที่สุดของอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดกว้างให้สื่อมวลชน นักสังเกตการณ์ หรือประชาชนทั่วไปเข้าไปตรวจสอบการเลือกตั้ง การนับคะแนน ได้อย่างโปร่งใส เข้าถึงได้ ก่อนหน้านี้ การนับคะแนนเสียงทุกพื้นที่ตามเกาะต่างๆ จะไม่อนุญาตให้นักข่าวหรือผู้คนที่สนใจสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ การเลือกตั้งที่ยากต่อการตรวจสอบ เอื้อต่อการทุจริตคอรัปชั่น นอกจากประเด็นเรื่องความสะอาดโปร่งใสแล้ว สิ่งที่ทำให้นักสังเกตการณ์หรือผู้ที่ติดตามการเมืองอินโดนีเซียค่อนข้างรู้สึกทึ่ง คือ ไม่ค่อยเกิดความรุนแรงหลังจากที่สรุปผลการเลือกตั้งอาจมีผู้ไม่พอใจ ผู้สนับสนุนผู้แพ้ออกมาประท้วงบ้าง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างที่จะสงบลงกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก

คำถามที่สำคัญและน่าสนใจ คือว่า นับจากเข้าสู่ยุคปฏิรูปเป็นต้นมา มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ทั้งความคิด กระบวนการ และตัวรัฐธรรมนูญเองจะสามารถกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยค้ำจุนกระแสประชาธิปไตยในอินโดนีเซียได้มากขึ้น หรือให้ยาวนานได้มากที่สุดสักเพียงไหน รัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย 1945 เป็นตัวตั้งสำคัญ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเป็นระยะสามารถสะท้อนความคิดหลายอย่างที่ทำให้เราหวนกลับมาทบทวนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี อาจารย์จิรวัฒน์จะให้รายละเอียดในประเด็นนี้ต่อไปครับ


จิรวัฒน์ แสงทอง : รัฐธรรมนูญอินโดนีเซียฉบับปัจจุบันมีฐานมาจากฉบับแรกปี 1945 ในระหว่างทางนั้นได้มีฉบับอื่นที่ทั้งนำมาใช้หรือไม่ได้ใช้บ้าง แต่ก็หายไปหมด แล้วท้ายที่สุดก็กลับไปที่ฉบับแรก อย่างที่อาจารย์ทรรศนะได้กล่าวไป รัฐธรรมนูญปี 1945 ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาเฉพาะ นั่นคือ ช่วงเวลาที่อินโดนีเซียกำลังเข้าสู่สงครามแห่งการปฏิวัติแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบจากเจ้าอาณานิคมเดิม อินโดนีเซียยังคาดเดาไม่ได้ว่าขอบเขตจริงๆ ของรัฐตนจะถึงไหน ยังไม่ค่อยชัดเจนว่าองค์ประกอบสำคัญของรัฐอย่างประชากร หรือการเป็นประชาชน “ชาวอินโดนีเซีย” นั้นจะนิยามกันอย่างไร ในสถานการณ์ไม่ชัดเจนและระส่ำระสายหมิ่นเหม่เช่นนี้ อำนาจสูงสุดจึงถูกมอบให้แก่ประธานาธิบดีในการจัดการพาชาตินี้ให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ เมื่อถือกำเนิดขึ้นจากบริบทเช่นนี้ ก็สามารถคาดเดาได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวย่อมมีปัญหาอยู่ในหลายๆ จุด อย่างเช่น พร้อมกับการให้อำนาจล้นเกินแก่ประธานาธิบดี ระบบถ่วงดุลตรวจสอบก็ไม่มีความชัดเจน หลายคนยังสงสัยกันอยู่เลยว่า ถ้าว่าตามรัฐธรรมนูญปี 1945 นั้น อินโดนีเซียใช้ระบอบการปกครองแบบใด ระบอบรัฐสภาหรือประธานาธิบดีกันแน่ หรือแม้กระทั่งองค์ประกอบของสภาสูงสุด คือ สภาที่ปรึกษาประชาชน หรือ MPR (People’s Consultative Assembly) ก็ยังไม่ชัดเจนถึงที่สุดว่าผู้ที่จะเข้ามานั่งในสภานี้เป็นคนกลุ่มไหน มีที่มาได้อย่างไรบ้าง ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้จึงมักถูกตีความและนำไปใช้ให้เอื้อต่อการจรรโลงอำนาจของระบอบอำนาจนิยมมาตลอด

ทั้งนี้ ได้มีความพยายามในช่วงแรกที่จะทดลองหรือนำรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้ อย่างเช่น เมื่อได้รับการรับรองเอกราชสมบูรณ์จากดัตช์ในปีสี่ปีต่อมา ก็มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 1949 ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากโต๊ะเจรจากับดัตช์และมหาอำนาจอื่นๆ โดยนัยว่าว่านี่รัฐธรรมนูญ เป็นแบบแปลนของชาติใหม่ แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยังไม่สมบูรณ์มากนัก และซูการ์โนเองก็ไม่ค่อยจะปลื้มกับมันสักเท่าไหร่ แต่ก็นำเอามาใช้กันก่อนเพื่อให้นานาชาติรับรองการถือกำเนิดขึ้นของประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ปีถัดมาก็มีการร่างใหม่ขึ้นมาใช้อีกหนึ่งฉบับ ฉบับปี 1950 นี่ตั้งชื่อชัดเจนเลยว่าเป็น “ฉบับชั่วคราว” ที่จริงแล้ว นักวิชาการหลายท่านเห็นว่าเป็นฉบับที่มีแนวโน้มที่จะเป็นประชาธิปไตยและมีเนื้อหาทันสมัยค่อนข้างมาก มีการนำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาบรรจุไว้ เป้าหมายสำคัญหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งเพื่อให้อินโดนีเซียมีระบอบแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่สถิตสถาวรสักที

การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1950 นั้นได้มีการกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกันไปด้วย การทำงานของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญคณะนี้เป็นการทำงานร่างรัฐธรรมนูญที่ยาวนานมาก จากการศึกษาเอกสารที่บันทึกกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นักประวัติศาสตร์หลายคนยอมรับว่า เป็นการถกเถียงที่เต็มไปด้วยสีสันและความคิดใหม่ๆ มาก ซึ่งบริบททางสังคมการเมืองอินโดนีเซียในช่วงเวลาดังกล่าว เหมือนเป็นช่วงที่เวทีทางการเมืองได้เปิดกว้างให้คนหลากหลายกลุ่มหลากหลายอุดมการณ์แสดงตน แสดงบทบาท รวมถึงในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่อภิปรายกันนั้นรวมถึงเรื่องใหญ่และถกเถียงกันยาวนานมากในอินโดนีเซียจนถึงทุกวันนี้ เช่นคำถามที่ว่า คุณจะเอาชาติแบบใด แบบ Secular ที่แยกศาสนาออกจากการเมือง หรือจะเป็นแบบรัฐอิสลามที่ให้อุดมการณ์ทางศาสนาเป็นอุดมการณ์หลัก การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องด้วยสถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองอย่างที่อาจารย์ทรรศนะได้ให้รายละเอียดไปแล้ว ทำให้ท้ายที่สุด ซูการ์โนตัดสินใจรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ออกประกาศประธานาธิบดีในปี 1959 ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 1950 ยกเลิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังทำงานกันอยู่ แล้วท้ายที่สุดก็นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 1945 ซึ่งเอื้ออำนวยให้สถาปนาระบอบอำนาจนิยมนั้นกลับมาใช้

เมื่อหมดยุคของซูการ์โน ซูฮาร์โตเองก็ชื่นชอบและยินดีที่จะใช้ฉบับนี้ต่อไป และบ่อยครั้งก็ใช้วิธีการตีความให้เอื้อประโยชน์ต่อระบอบของตน อย่างเช่น มีวรรคหนึ่งที่สำคัญมากในรัฐธรรมนูญที่พูดถึงการครองตำแหน่งของประธานาธิบดี ระบุว่าดำรงตำแหน่ง 5 ปี หลังจากนั้นสามารถที่จะ “re-elect” เข้ามาใหม่ มันเป็นคำที่ค่อนข้างคลุมเครือ คนที่ร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าความคิดในตอนร่างนั้น คือ เลือกเข้ามาใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ซูฮาร์โตตีความว่าเลือกเข้ามาใหม่ได้ไปเรื่อยๆ ดังนั้น ซูฮาร์โตก็สามารถจะครองอำนาจอยู่ยาวถึงสามทศวรรษ

เมื่อเข้าสู่ช่วงสมัยของยุคปฏิรูปหลังสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ สิ่งที่น่าสนใจมาก คือ คนที่อยู่ในวงการเมืองระดับสูง แทบไม่มีกลุ่มใดเลยที่แสดงความกระตือรือร้นขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1945 ที่ใช้กันอยู่ เกือบทั้งหมดเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน ค่อนข้างเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การนำไปใช้ กระทั่งในที่สุด ภาคประชาชนต่างหากที่เริ่มเคลื่อนไหวกดดัน จนรัฐสภาจำเป็นที่จะต้องหันมาพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งในรัฐสภาเองก็ถกเถียงกันอย่างมากเช่นกันว่าจะเอาแบบไหน คือ จะแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 1945 หรือร่างใหม่เลย ในที่สุดก็สรุปว่าจะใช้วิธีการแก้ไขปรับปรุง โดยมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนว่าจะมีการแก้ไขกี่ครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดได้จบลงที่สี่ครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์กระบวนการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญในอินโดนีเซีย

ตอนที่ถกเถียงกันว่าจะแก้ไขหรือยกร่างใหม่ ได้นำไปสู่บทสรุปที่เป็นหัวใจสำคัญมากเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ถ้าเลือกวิธีการแก้ไขปรับปรุง แล้วอะไรล่ะที่จะต้องคงมันไว้อย่างเดิม บทสรุป คือ คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิมเป็นสิ่งที่จะต้องเก็บรักษาไว้ ซึ่งในคำปรารภนี้จะบรรจุไว้ซึ่งอุดมการณ์ของช่วงเวลาประกาศเอกราชอินโดนีเซีย อุดมการณ์แห่งการถือกำเนิดชาติอินโดนีเซีย นอกจากนี้การกำหนดลักษณะรัฐของอินโดนีเซียก็ต้องเก็บรักษาไว้ และที่สำคัญคือ หลักปัญจศีล (Pancasila) อันเป็นแกนอุดมการณ์ของชาติที่ถือกำเนิดแล้วนับแต่นั้น โดยสรุป คือ รัฐธรรมนูญอินโดนีเซียจะต้องรักษาไว้ซึ่งหลักการหรืออุดมการณ์สำคัญของชาติ และนั่นคือการตัดสินใจว่าจะดำรงไว้ซึ่งการเป็นรัฐที่แยกศาสนาออกจากการเมือง ด้วยเหตุนี้ แม้กระทั่งกลุ่มโปรอิสลามที่นั่งอยู่ในรัฐสภาก็จำเป็นที่จะต้องยอมรับในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ค่อยไปปรับแก้กัน

ผมชอบคำของสมาชิกสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญสายปฏิรูปคนหนึ่งในช่วงอภิปรายกันถึงประเด็นว่าจะแก้ไขปรับปรุงหรือจะร่างใหม่ เขาบอกว่า เหตุผลหนึ่งที่เขายืนยันในแนวทางการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่คุณจะต้องรักษา original text ของรัฐธรรมนูญเอาไว้ เพราะด้วยวิธีการเช่นนี้ คนรุ่นต่อๆ ไปของอินโดนีเซียจะได้รับรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาตินี้ ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะมีการปรับแก้อะไรก็ต้องสอดเข้ามาในรัฐธรรมนูญฉบับเดิม เพื่อให้เห็นเลยว่าการปรับปรุงแก้ไขเป็นแบบไหน แล้วความคิดดั้งเดิมนั้นเป็นอย่างไร 

สำหรับการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสี่ครั้งในยุคปฏิรูปตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ผมจะลองสรุปคร่าวๆ ในประเด็นสำคัญ เผื่อจะเห็นได้ว่ามีสิ่งใดที่น่าจะขบคิดต่อไปเมื่อมองเปรียบเทียบกับกรณีของไทย

การแก้ไขครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1999 หลังระบอบเก่าล่มไป ครั้งแรกจะเป็นการแก้ไขเรื่องใหญ่ๆ คือ การจำกัดขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดี เพราะ text เดิมนั้นให้อำนาจไว้สูงมาก ถึงตอนนี้ก็เขียนให้ชัดเจนไปเลยว่าอยู่ในวาระได้สองสมัยเท่านั้น จำกัดอำนาจด้านการทูตและการต่างประเทศ พร้อมกันนั้นก็เพิ่มอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร หรือ DPR (People’s Representative Council) ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการออกกฎหมาย

แก้ไขครั้งที่ 2 ปี 2000 ในปีนี้ปัญหาเศรษฐกิจยังค่อนข้างหนักหน่วง ความขัดแย้งทางการเมืองและในจลาจลทางสังคมในระดับล่างยกระดับขึ้นสูงมาก ส่งผลให้กระบวนการการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญชะงักและล่าช้าไปกว่าแผนที่วางไว้ และเริ่มมีเสียงที่จะให้แก้ไขแบบยกเครื่องแทนที่จะแก้ไขแบบทีละเล็กละน้อย ผลการปรับปรุงแก้ไขที่สำคัญของรอบปี 2000 นี้ คือ หลักการและแนวทางการกระจายอำนาจได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ รับรองและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และในที่สุด รวมถึงการค่อยๆ ลดบทบาททางการเมืองของบรรดานายทหาร ซึ่งเคยได้รับโควต้าอยู่ในระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย

หลังจากนั้นไม่นาน ในด้านบริบททางการเมือง ได้เกิดกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีอับดูร์ระห์มัน วาฮิด โดยสภา MPR ในช่วงต้นปี 2001 ซึ่งนี่เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและมีนัยมาก เพราะรัฐธรรมนูญไม่เคยระบุเรื่องการถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งไว้อย่างชัดเจน แต่สภาทั้งสองที่ได้รับการเพิ่มอำนาจขึ้นสามารถที่จะตีความแล้วผนึกกำลังกันจนสามารถถอดถอนประธานาธิบดีได้ สิ่งนี้ได้ส่งผลให้เกิดกระแสคำถามใหญ่ว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีระบบในการจัดการเรื่องนี้อย่างไร สถานะของประธานธิบดียึดโยงกับอำนาจชอบธรรมใด เสียงเรียกร้องจากนอกสภารุนแรงขึ้น การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็เริ่มหนักขึ้น

การแก้ไขครั้งที่ 3 ในปี 2001 ประเด็นใหญ่ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการถอดถอนประมุขของรัฐ ก็เลยนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง เพื่อที่จะยืนยันว่าสิทธิธรรมอันมาจากการได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ จะปลดจะถอดถอนโดยคนจำนวนหนึ่งนั้นไม่ได้ พร้อมกับการกำหนดให้เลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง รัฐธรรมนูญก็ได้จำกัดอำนาจของสภา MPR ซึ่งก็น่าชื่นชมอินโดนีเซียอยู่ไม่น้อย สภา MPR ซึ่งเป็นผู้แก้ไขและรับรองการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญเมื่อมีข้อเสนอให้จำกัดอำนาจของตนเองก็ยินยอมเมื่อข้อเสนอดังกล่าวนั้นมีฐานคิดและหลักการประชาธิปไตยรองรับอยู่ ผมอยากจะยกตัวอย่างในรายละเอียดสักนิดในประเด็นนี้ เช่น จากที่ในรัฐธรรมนูญเนื้อหาดั้งเดิมบัญญัติว่า “สภาที่ปรึกษาประชาชน เป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในการจัดการกิจการต่างๆ ของรัฐ เป็นสภาที่ทำตามฉันทามติของประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่ถืออำนาจอธิปไตยของรัฐแห่งนี้” การแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญครั้งที่ 3 ได้เปลี่ยนข้อความเป็นว่า “อำนาจอธิปไตยอยู่ในอุ้งมือของประชาชน และประชาชนใช้อำนาจนี้ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” จะเห็นได้ว่า การแก้ไขอะไรทำนองนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าความคิดบางอย่างค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว นอกจากนี้ การจำกัดอำนาจของสภา MPR ยังรวมถึงการยกเลิกอำนาจในการตั้งประธานาธิบดีโดยตัวสภา MPR แต่ให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน การถอดถอนประธานาธิบดีก็ถูกระบุให้ชัดเจนมากขึ้นว่าจะทำได้ด้วยเหตุใดบ้าง ไม่ใช่ด้วยการตีความกันเอง รวมทั้งเรื่องที่มาของสภา MPR ซึ่งประกอบด้วยสองสภาที่ยังตีความกันยังไม่ได้ข้อสรุปว่า สภาที่มาจากท้องถิ่นนั้นจะเป็นอย่างไร ก็ได้มีการแก้ไขให้ความชัดเจนขึ้น

การแก้ไขทีละนิดนี้ได้ทำให้หลายระบบลงตัวมากขึ้น การแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 3 ยังรวมถึงการปฏิรูปการเลือกตั้ง ปฏิรูปกฎหมาย และที่อินโดนีเซียถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่มากเลยในการปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้ก็คือ การกำเนิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญ มันเป็นเรื่องขันขื่นอยู่เหมือนกันที่เห็นอินโดนีเซียยินดีกับศาลรัฐธรรมนูญที่เขาได้มา

หลังจากนั้น ในปี 2002 ก็เป็นการแก้ไขครั้งที่ 4  ซึ่งจะเป็นปรับปรุงแก้ไขเก็บรายละเอียดในประเด็นเล็กๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ กล่าวโดยสรุป ผลของการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 1999 จนถึงปี 2002 รัฐธรรมนูญฉบับแรกปี 1945 ได้ขยายเพิ่มขึ้นจาก 37 มาตราเป็น 73 มาตรา โดย 11% ยังคงรักษาเนื้อหาจากต้นฉบับดั้งเดิมเอาไว้

เมื่อได้หวนกลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียและโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของกระบวนการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ฉุกคิดหลายประเด็นที่เราสามารถนำกลับมาคิดต่อในกรณีของไทย สำหรับกรณีอินโดนีเซียนั้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะมองว่าเขาก้าวหน้าไปเสียทั้งหมด นักวิชาการหลายคนก็ยังวิจารณ์และเห็นว่าการแก้ไขสี่ครั้งที่ผ่านมา ยังมีเรื่องใหญ่ๆ บางเรื่องที่ยังไม่ได้ลงไปจัดการ แต่อย่างน้อยเท่าที่เห็นกระบวนการและผลที่เกิดขึ้น ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่ามันต้องมีกระบวนการที่ฟังคนอื่นๆ รับฟังอย่างรอบด้านที่จะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญสามารถตอบโจทย์หลายๆ ด้านได้มากขึ้น ที่สำคัญคือต้องถามคำถามว่า หลักการสำคัญ เจตคติที่ยิ่งใหญ่ และความคิดต่อประชาธิปไตย อยู่ตรงไหนในรัฐธรรมนูญ

ตารเกศ แดงงาม : ถ้าจะอ่านจากมุมนิติศาสตร์ แน่นอนต้องมองถึงความชอบด้วยกฎหมาย ในเบื้องต้น ถ้าจะมีกฎหมายสักฉบับหนึ่งในการกระทำใดการกระทำหนึ่งก็ต้องดูว่ามันมีความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่เมื่อพูดถึงความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญอาจจะฟังดูแปลกหน่อย เพราะรัฐธรรมนูญเนี่ยมันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ดังนั้น จึงขอกล่าวถึงความชอบด้วยหลักพื้นฐานหรือความชอบด้วยความเป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญฉบับนี้  การศึกษาว่ารัฐธรรมนูญแต่ละร่างขัดกับหลักกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องมาดูหลักพื้นฐานของมหาชนเพราะรัฐธรรมนูญเนี่ยก็เป็นกฎหมายมหาชน ซึ่งเป็นหลักทั่วไปเป็นหลักสากลของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ในการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะมีหลักการปกครองที่สำคัญคือ หลักนิติรัฐ เป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายไม่ใช่ปกครองด้วยคน ที่อยากให้พิจารณาเรื่องนี้เพราะถ้าให้ย้อนกลับไปว่า ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่เป็นประโยชน์แล้วเพราะว่ามันมีการรัฐประหาร จนถึงขั้นว่าร่างรัฐธรรมนูญตัวนี้ออกมา ถ้าจะบอกว่าถ้าเราไม่รับหรือรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยมองถึงที่มาของกฎหมายก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว

ดังนั้น จึงมาดูในเชิงเนื้อหารัฐธรรมนูญ และจะหยิบยกบางส่วนที่สำคัญที่คิดว่าขัดกับหลักนิติรัฐ ซึ่งมีหลักการใหญ่อยู่ 2 ประการ คือ การที่รัฐจะต้องถูกจำกัดอำนาจอยู่ภายใต้กฎหมาย การกระทำใดๆ ก็ตามของรัฐจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ก็ต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้   หลักการประการที่สอง คือ การประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจะพูดในเรื่องสิทธิเสรีภาพเพราะว่าร่างฉบับมีเนื้อหาที่มันไม่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นหลักสำคัญของนิติรัฐ แม้จะมีนักวิชาการหรือภาคประชาชนได้ให้ความเห็นไปแล้ว แต่ก็ยังอยากจะยกมาใหม่อีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องคัญที่สำคัญที่สุดเนื่องจากหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักสากล

ถ้าพูดสรุปเลยให้จบในตอนนี้เลย เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากของภาคประชาชน ในร่าง  2559 กำลังทำให้มันถอยหลังลงไป สิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือสิทธิของมนุษยชน ที่ได้รับการคุ้มครอง บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญของไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ปี 2540 คือมีการแต่งตั้งคณะสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการสอดรับกับปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักสากลของโลก ทั้งนี้ เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ อยากให้ประชาชนทั่วไปหรือพวกเราได้คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ต้องมีกฎหมายรองรับให้ เราก็มี เป็นสิ่งที่มีติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดแล้ว สามารถใช้อ้างอิงกับทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร กับทุกรัฐ ทุกศาลทั่วโลก ดังนั้น ไม่ต้องรอให้มีกฎหมายมาให้อำนาจเรา หรือต้องให้มีรัฐมาออกกฎหมายให้สิทธิเสรีภาพ  มาดูมาตรา 4  รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ก็จะพูดถึงการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย แต่ร่าง 2559 ก็มีในมาตรา 4 “ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”  ถ้ามองก็ดูเหมือนจะคล้ายๆกัน ฉบับ  2550 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” อันนี้คือ เรากำลังจะพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสากล เข้าสู่รัฐที่เป็นประชาธิปไตยที่รองรับความเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ตั้งแต่ปี 2540-2550 แต่ว่าร่างนี้ ดูจากหมวดที่ 1 ก็จะทำให้เกิดความสงสัยได้ว่าเป็นการรองรับความเป็นศักดิ์ศรีของมนุษย์ของทุกคนหรือเฉพาะคนไทยภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีบทที่กำจัดสิทธิเสรีภาพอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นความบกพร่อง คือในเรื่องของสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในหมวดที่ 3

ถ้าได้ติดตามการถกเถียงเรื่องนี้ ก็จะการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในทางกฎหมาย คือ ประธานแห่งสิทธิ จากตัวบุคคลไปกลายเป็นรัฐ ก็คือมีการโยกย้าย ปรับ ลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน  โดยเปลี่ยนประธานแห่งสิทธิจากตัวบุคคลเอง  ไปอยู่ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ คือให้รัฐเป็นเจ้าภาพ ให้รัฐมาออกกฎหมายว่าคุณมีสิทธิเสรีภาพอย่างไร คือ บอกว่า  รัฐ “พึง”   ในภาษากฎหมาย เราก็รู้ว่า “พึง”  “ต้อง”    “และ” “หรือ” อะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าในนโยบายแห่งรัฐบอกว่ารัฐ “พึง” ทำอย่างโน้นทำอย่างนี้  คำว่า พึง นั้นก็จะเกิดคำถามต่อมาว่า แล้วรัฐทำได้แค่ไหน มาตรวัดอยู่ตรงไหนว่ารัฐทำได้อย่างสมควรแล้ว ดังนั้น  อาจกล่าวได้ว่า เป็นการย้ายประธานแห่งสิทธิของตัวบุคคลไปเป็นรัฐ ซึ่งกลายเป็นการปรับหรือเปลี่ยนแนวคิดหรือทฤษฎีไปเลย จากสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล เป็นสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ติดมากับเราตั้งแต่กำเนิด แล้วเราสามารถอ้างได้ กลายทฤษฎีว่าให้รัฐเป็นผู้ตรากฎหมายให้ มารองรับสิทธิเรา

สิทธิชุมชน เป็นสิทธิของคนในชุมชนที่สามารถจะเสนอความคิดเห็นในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือว่าอะไรก็ตามที่ตัวเองอยู่อาศัย หรือสิทธิที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนที่ปลอดภัย ก็โยกย้ายเหมือนกัน คือเปลี่ยนประธานแห่งสิทธิ แม้ผู้ร่างจะบอกว่าไม่ได้ตัดออก  แต่เอาไปอยู่ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ถ้าเอาไปเปรียบเทียบดู เมื่อก่อนอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ถ้าจะจำกัดสิทธิของชุมชนที่ให้เสรีภาพ บุคคลจะแสดงความคิดเห็น เพื่อจะยับยั้งสั่งการของรัฐบาลหรืออะไรก็ตามที่อาจจะเกิดผลกระทบที่มันเลวร้ายต่อคนในชุมชนได้ แต่ตรงนี้ เราจะฟ้องรัฐได้หรือไม่ แม้จะบอกว่าได้ แต่การหาหลักฐานอะไรต่างๆ มันจะคุ้มหรือไม่ที่เราให้รัฐเป็นคนเริ่มต้นขึ้นมา

อีกเรื่องหนึ่งคือ สิทธิของผู้พิการ ที่ให้ความสนใจเพราะว่ามีเพื่อนที่เป็นพิการทางสายตาและเป็นผู้มีความสามารถทางกฎหมายมหาชน ก็ได้คุยกันว่า  สิทธิเสรีภาพของพิการเมื่อก่อนที่อยู่ในหมวด 3 ก็ถูกย้ายไปอยู่แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเช่นกัน นั่นก็คือ “รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ยากไร้....” ซึ่งกลายเป็นว่าเราก็ต้องรอว่ารัฐจะให้ความช่วยเหลืออะไร อย่างไร รัฐจะทำหรือไม่ เพียงพอหรือไม่ รัฐอาจจะบอกว่ายังทำไม่ได้เพราะยังไม่ได้ออกกฎหมายลูกอะไรอย่างนี้

ในทางปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ จะทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกบั่นทอนหรือลดลงไปจาก 2540 มีการตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ของความเป็นมนุษย์ แล้วก็มีอีก 10 ปี 2550  กลายเป็นว่า 2559 กำลังถอยลง คือ การเปลี่ยนประธานแห่งสิทธิจากคนกลายไปเป็นรัฐ  กลายเป็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของ Rule of Law และอาจจะนำไปสู่หลักการ Rule by man  เพราะว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัดไป อันนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดแล้วถ้ามองในมุมของทางกฎหมาย นอกจากนั้น ยังมีการตัดมาตรา 28 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้” ในรัฐธรรมนูญปี 2550  ออกไป ซึ่งอันนี้เป็นการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในการอ้างสิทธิ ใช้สิทธิทางศาลกรณีมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพนี้ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ขึ้นต่อสู้ในศาลได้ ร่าง 2559 ไม่มีเรื่องนี้ และอาจทำให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของเรามันไม่ยึดโยงกับอำนาจตุลาการ เรายังจะอ้างอยู่ได้ไหม

ในมาตราที่ 26 ของหมวด 3 “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม...” มีคำว่าหลักนิติธรรมขึ้นมา หลักหลักนิติธรรมนี้ คือหลักที่บุคคลทุกคนเสมอภาคภายใต้กฎหมาย จะไม่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเอาไว้ หรือกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังหรือยกเว้นการกระทำความผิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น การเอาหลักนิติธรรมมาบรรจุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรควรที่จะมีเพราะเป็นการปกครองประเทศที่เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ว่าประเด็นปัญหาที่ตามมา ก็คือว่าการที่รัฐจะออกกฎหมายออกมาแล้วจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วรัฐจะอ้างหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมที่รัฐจะอ้างมันหมายความว่าอะไร เพราะไม่ได้เขียนว่ามีความหมายว่าอะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ไม่อย่างนั้นมันก็จะเปิดโอกาสอย่างกว้างให้มีการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งไม่ควรจะเปิดอะไรที่มันกว้างมาก ต้องตรงตัวมีความชัดเจน เมื่อในเรื่องนี้มีมาตรวัดที่กว้าง สิทธิเสรีภาพตามร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงถือว่าแคบลง จะเห็นได้ว่ามันเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่เรื่องสิทธิเสรีภาพค่อนข้างดีอยู่แล้ว หากจะแก้ไขก็ควรไปแก้ไขในเรื่องของการเมืองการปกครอง การเปลี่ยนย้ายประธานแห่งสิทธิจากประชาชนเป็นรัฐเป็นสิ่งที่ผิดพลาดทั้งด้านแนวคิดและทางทฤษฎีเป็นอย่างมากในการที่จะปกครองด้วยหลักนิติรัฐ

เมื่อพูดถึงประเด็นนี้แล้วก็อยากจะพูดถึงบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ที่ให้การกระทำของ คสช.  ที่เคยทำมาแล้ว หรือว่าที่จะทำในอนาคต ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าจะพูดง่ายๆ คือ ขัดกับหลักนิติธรรมอยู่แล้วในตัว  เพราะฉะนั้นสรุปว่าในมุมมองของกฎหมาย ความชอบด้วยหลักประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ก็สรุปว่าไม่ชอบในเรื่องการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

สุรัช  คมพจน์ : เนื่องจากได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยใช้เวลาน้อย แต่จะลองพยายามตามใบสั่งให้วิเคราะห์ทางการเมืองทางรัฐศาสตร์ดูว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีลักษณะพิเศษยังไง หรือมันมีลักษณะที่เราควรจะรับร่างหรือไม่รับร่าง และนี่ก็คือโจทย์ที่อาจารย์อุเชนทร์มอบให้กับนักศึกษา แล้วเราจะมีเหตุผลอะไรที่จะรับหรือมีเหตุผลอะไรที่ไม่ควรจะรับ เนื่องจากอาจารย์ตารเกศได้ปูทางไว้บ้างในส่วนหนึ่งแล้วว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเป็นแค่ร่างจริงๆ คล้ายๆ เป็นร่างของซากศพ แล้วมันก็ไม่มีวิญญาณโดยเฉพาะวิญญาณสิทธิเสรีภาพ ในการคุ้มครองหลายหลักที่มันถูกตัดออกไป เปลี่ยนองค์ประธานแห่งสิทธิจากการที่ปัจเจกบุคล หลักบุคคลเนี่ยเป็นประธานแห่งสิทธิเองแต่มาเป็นรัฐที่จะต้องมอบสิทธิให้ ประเด็นพวกนี้มันเป็นประเด็นทางเทคนิคหรือทางปรัชญากฎหมาย ทีนี้ในประเด็นที่ผมจะพูดเนี่ยมันมีทั้งหมดสองส่วน แล้วก็เป็นประเด็นที่อาจจะต่างกับอาจารย์ตารเกศคือจุดยืนของผมเวลาเราพูดถึงรัฐธรรมนูญ ผมมองมันในแง่ทั้งของกระบวนการในการยกร่าง และในแง่ของเนื้อหาที่ได้มา

ผมเคยสอนพวกรายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองกับนักศึกษามา 2-3 ปี เวลาผมสอนว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร มันก็จะมีทฤษฎี 3-4 ทฤษฎีที่จะพูดว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร แต่ผมเห็นด้วยกับทฤษฎีหนึ่งคือเวลาเราพูดรัฐธรรมนูญเนี่ยมันหมายถึงการตัดสินใจหรืออำนาจในการตัดสินใจว่าจะออกแบบรูปแบบทางการเมืองเป็นแบบไหน ทีนี้อำนาจในการตัดสินใจนั้นเนี่ยมันก็ย้อนกลับมาสู่คำถามที่ว่า ใครเป็นคนมีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อที่จะจัดทำให้มีรัฐธรรมนูญขึ้น เราลองย้อนกลับมาดูนะครับว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใครเป็นคนมีอำนาจในการจัดทำ อำนาจในการจัดทำให้มีรัฐธรรมนูญมันสะท้อนย้อนกลับไปอีกสเต็ปหนึ่งคือ  มันสะท้อนให้เห็นว่าใครเป็นองค์อธิปัตย์ในทางการเมือง องค์อธิปัตย์เท่านั้นที่จะมีอำนาจในการตัดสินใจว่า ระเบียบในทางการเมืองควรจะเป็นแบบไหน ทีนี้อย่างที่อาจารย์ตารเกศบอกว่า โอเคอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรมากนักในการมาพูดถึงประเด็นในเรื่องพวกนี้ แต่เนื้อหาทั้งหมดของร่างรัฐธรรมนูญเนี่ยมันก็สะท้อนให้เห็นว่าองค์อธิปัตย์เนี่ยมันวาดภาพอะไร ใฝ่ฝันอะไรและมีโครงการทางการเมืองอย่างไร ในขณะเดียวกัน มันพยายามจะให้เรามีปัจจุบัน มีอนาคตยังไง ใช่มั้ยครับ โดยพื้นฐานแล้วหลักการทั่วไปในการออกกฎหมายก็คือบังคับใช้ในปัจจุบันและก็อนาคต ประเด็นก็คือเราจะมีอนาคตในทางการเมืองแบบไหนยังไงก็อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ประเด็นที่ผมจะพูดสองประเด็น คือ เรื่องแรกเป็นเรื่องของกระบวนการ เรื่องที่สองเป็นเรื่องของเนื้อหาซึ่งเป็นของสังเกตบางส่วนที่ยังไม่ได้ลงลึกมากนัก เพราะว่ามีรายละเอียดปลีกย่อย และยังไม่ได้คิดกับมันอย่างละเอียดครบถ้วนเพียงพอ  โดยเฉพาะในเรื่องทางเทคนิคจำนวนมาก แต่ผมมีข้อสังเกตแนวทางรัฐธรรมนูญแบบเร็วๆของผมนะครับอย่างหนึ่ง จากกระบวนการที่เราพูดในรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่งคือเป็นกระบวนการหรือองค์อธิปัตย์ในทางฐานะที่เป็นกระบวนการ (Popular Sovereignty as Procedure) ก็คือ เวลาที่เราพูดถึงองค์อธิปัตย์ถ้าอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย คนที่เป็นองค์อธิปัตย์หรืออำนาจอธิปไตยเนี่ยก็คือเป็นของประชาชน ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่มันเป็นประชาธิปไตยเนี่ย มันหมายความว่า ประชาชนเนี่ยมีอำนาจในการมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา ในกรณีของอินโดนีเซียอย่างที่อาจารย์จิรวัฒน์กับอาจารย์ทรรศนะช่วยชี้ให้เราเห็นก็พยายามที่จะระดมสมองของหลายฝ่าย ในกรณีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผมคิดว่า นี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับที่มีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นเมื่อกระบวนการของการจัดทำรัฐธรรมนูญมันไม่ได้เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมในทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดก็ฝ่ายที่โดนรัฐประหารไป ดังนั้นสิ่งที่เขาพยายามจะทำให้เราเห็นก็คือ การพยายามที่จะจำกัดและกำจัดอำนาจของคนพวกนี้ โดยเฉพาะมีฐานคิดหรือวิธีคิดที่จะพยายามที่จะจำกัดอำนาจของประชาชน ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีพื้นฐานความคิดที่อยู่บนวิธีคิดแบบนี้

ที่นี้เวลาเราวิเคราะห์รัฐธรรมนูญจากมุมมองของรัฐศาสตร์ เราไม่ได้วิเคราะห์ลงไปเฉพาะรายมาตรา ฉะนั้นเมื่อเวลาพูดถึงรัฐศาสตร์เนี่ย เหมือนที่อาจารย์จิรวัฒน์พูด เราจะวิเคราะห์ในแง่ขององค์ประกอบอย่างอื่นนอกเหนือจากตัวบทด้วย เช่น ใน preamble หรือคำปรารภของมันซึ่งมันจะสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของที่มาตัวสปิริตของรัฐธรรมนูญ แต่ละฉบับมันก็จะมีคำ preamble หรือปรารภที่มันมีความแตกต่างกันออกไป บางฉบับ ก็จะสะท้อนให้เห็นว่ามันมีเหตุการณ์หรือวิกฤตทางการเมือง มีความใฝ่ฝันทางการเมืองอะไรที่เราจะต้องก้าวไปให้ถึงหรือก้าวข้ามมันไปให้ได้ หรือมีข้อจำกัดอะไรที่เราจะต้องเรียนรู้จากอดีต ที่นี้วิธีคิดอันหนึ่งที่ผมคิดว่า เนื่องจากสำหรับผม ผมให้น้ำหนักกับรัฐธรรมนูญในฐานะที่มันเป็นกระบวนการมากกว่าตัวเนื้อหาอีกนะครับ เพราะอะไร ก็เพราะเนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้ว่าอันไหนมันเป็นสิ่งที่ดีได้ตราบเท่าที่ของที่เรามีหรือสิ่งที่เราเสนอในทางการเมืองไม่ได้รับการยอมรับ นี่คือความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่สาธารณะ สำหรับการทำให้คนสามารถมาเรียนรู้ร่วมกัน คือเมื่อเปิดพื้นที่สาธารณะมากขึ้นเนี่ย กระบวนการของสิ่งที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตยเนี่ยจะเปิดให้กับทุกๆคน  ให้กับคนทุกๆกลุ่ม ดังนั้น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญสำหรับผมง่ายๆที่สุดเลยคือ เปิดให้สำหรับคนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด อย่างน้อยที่สุดนี่คือกระบวนการในการแชร์ความคิด ความใฝ่ฝัน  หรือกลไกกติกาที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมกัน อันนี้คือกระบวนการหรือไอเดียเรื่องกระบวนการของผม

เรื่องที่สองคือเนื้อหา ซึ่งแน่นอน เนื่องจากการได้รับมอบหมายว่าให้มาชวนอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และก็สายตาผมค่อนข้างที่จะหาเรื่อง เนื่องจากพอเห็นว่ากระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดโอกาสให้กับทุกๆคนแล้ว มีเฉพาะคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนที่ได้รับการแต่ง คสช. มีคณะกรรมาธิการอะไรพวกนี้  ผมคิดว่าแน่นอนคนพวกนี้อาจจะต้องมีความคิดหรือมีความใฝ่ฝันในทางการเมืองบางอย่าง แล้วก็พยายามที่จะซุกซ่อนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่นี้ ผมอยากตั้งข้อสังเกตแค่ไม่กี่ข้อว่ามันซุกซ่อนอะไรบ้าง โดยเฉพาะในแง่มุมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในประเด็นแรกเนี่ยถ้าเราสังเกตในเรื่องโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สิ่งที่สำหรับผมคิดว่ามันพิเศษกว่าร่างรัฐธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆก็คือมันปรากฏหมวดเพิ่มขึ้น เวลาที่เราอ่านรัฐธรรมนูญมันก็จะแบ่งเป็นหมวดหมู่ หมวดที่เพิ่มขึ้นมามีอย่างน้อย 4 หมวด  หมวดแรกคือหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีหมวดนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับไหน หมวดที่สอง คือหมวดที่ 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วอยู่ในหมวดของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  หมวดที่สามอันนี้น่าสนใจคือว่าด้วยเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหมวดที่แยกออกมาจากต่างหากจากศาล คือในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญก็อยู่ในหมวดว่าด้วยศาล แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามแยกศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่ง เพื่อไฮไลท์ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ และอันสุดท้ายนะครับคือ หมวดอัยการ สำหรับผมคือประหลาดใจมาก และก็ยังไม่ได้อ่านหมวดอันนี้

สำหรับผม หมวดที่มันมีความสำคัญมากที่สุดและมันอาจจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าอนาคตของการเมืองไทยเนี่ยก็คือหมวดว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ อาจารย์จิรวัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียมีความก้าวหน้ามาก แต่ไม่แน่ใจว่าของไทยก้าวหน้าหรือเปล่า? ผมสามารถตอบได้เลยครับว่า ของไทยถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้จริงก็มีความก้าวหน้ามากขึ้น คือ ก้าวหน้าในอาชีพการทำงานมากขึ้น และก้าวหน้าในหมวดหมู่ของรัฐธรรมนูญคือแยกออกจากต่างหากเลย  แต่แน่นอนนั่นคือความถดถอยของประชาธิปไตย เพราะว่าอะไรเดี๋ยวผมจะชี้ให้ดู เปิดดูมาตรา 207 มันคือการแปลงมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2550 หรือ 2540 ด้วยเนี่ย ให้มาอยู่ในหมวดของศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่าไง หมายความว่า มาตรา 207 “การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” อันนี้ก็ปรกติ  “ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อันนี้แหละคืออำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกเพิ่มเติมขึ้น พูดง่ายๆ อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ การถ่ายโอนอำนาจซึ่งเดิมเคยเป็นของกษัตริย์เข้ามาอยู่ในหมวดหมู่ของศาลรัฐธรรมนูญ  และในกรณีแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้ที่สามารถออกกฎเกณฑ์หรือออกกฎหมายได้เอง โดยปกติเมื่อพูดถึงศาล ศาลไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย  รัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้นที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย แล้วศาลก็มาตัดสินตามตัวบทกฎหมาย แต่ในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสร้างตัวกฎหมายขึ้นมาได้เอง สำหรับผมอันนี้แหละที่คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีบทบาทหน้าที่เพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนั่นก็คือการหาเจ้าภาพให้กับมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าฯ หรือตัวอย่างอื่นๆ อย่างในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ  เช่น อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการควบคุม สิ่งที่เรียกว่าจริยธรรมของนักการเมือง ส.ส. , ส.ว.  ก็จะอยู่ในหมวดนี้ ซึ่งเป็นหมวดที่ไฮไลท์พอๆกันกับบทเฉพาะกาลในมาตราสุดท้าย ที่ให้อำนาจ คสช. ทุกๆอย่างแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอำนาจในการบังคับใช้แล้ว

ผมลืมพูดไปนิดนึงว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงมีบทบาทมากขึ้น มันวางอยู่บนข้อสมมติฐานภายใต้ข้อสังเกตของที่อาจารย์ตารเกศที่ได้วางไว้ให้กับพวกเรา เวลาเราพูดว่าหลักนิติรัฐ นิติธรรม ก็แล้วแต่นะครับ หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งที่มันมาพร้อมกันที่อยู่ภายใต้ของหลักนิติรัฐ นิติธรรม คือ คุณต้องมีสิ่งที่เรียกว่าการแบ่งแยกอำนาจ และการแบ่งแยกอำนาจนี้ คือ การแบ่งแยกอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตย อำนาจที่แบ่งแยกเนี่ยกลายเป็นอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ทีนี้สำหรับการเมืองไทย อำนาจที่มันยึดโยงกับประชาชนน้อยที่สุด คือ อำนาจของศาลหรืออำนาจตุลาการ แล้วเมื่อเพิ่มอำนาจให้กับอำนาจตุลาการเพื่อตรวจสอบฝ่ายการเมืองมากขึ้นเนี่ย พูดง่ายๆ ก็คือ มันทำให้อำนาจตุลาการมันหลุดลอยจากความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และนี้คือสำหรับผมนี่คือ หนึ่งในความน่ากลัวของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ให้อำนาจกับองค์กรที่มีปัญหาเรื่องความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มาจัดการกับองค์กรที่มาหรือเชื่อมโยงตัวเองกับประชาชน

หลังจากนำเสนอในรอบแรก มีการแลกเปลี่ยนและระดมคำถามจากผู้เข้าร่วม โดยมีคำถามหลัก คือการเปรียบเทียบกรณีอินโดนีเซียบกับไทยในเรื่องการทำให้เป็นประชาธิปไตยและพลังต่อต้านประชาธิปไตย สำหรับวิทยากรจากหลักสูตรอาเซียนศึกษา และจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะอะไร สำหรับวิทยากรทุกท่าน

จิรวัฒน์ แสงทอง : สำหรับคำถามที่ให้ประเมินความสำเร็จของกลุ่มพลังประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวของพลังต่อต้านประชาธิปไตยในทั้งกรณีอินโดนีเซียกับกรณีไทยนั้น ที่จริงในกรณีอินโดนีเซีย หลายคนก็บอกว่ายังเร็วไปที่จะประเมิน มันไม่ได้หมายความว่าถ้วนทุกคนจะเข้าร่วมกับกระบวนการไปสู่ประชาธิปไตยไปเสียทั้งหมด ยังมีคนอินโดนีเซียอีกเป็นจำนวนมากที่ใฝ่ฝันถึงยุคสมัยของซูฮาร์โต ด้วยเหตุนี้จึงดูเหมือนว่า การผลักดันบางเรื่องอาจไม่ถึงขนาดว่าจะต้องหวังให้ไปกันทั้งหมดทั้งสังคม แต่คนที่มีศักยภาพที่จะผลักดันนั้นสามารถที่จะทำให้ความคิดของตนเกิดผลสำเร็จจริงได้ขนาดไหนต่างหาก ในกรณีของอินโดนีเซีย มีคนซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียแน่ พวกเขารู้สึกจริงจังกับความทุกข์ทนกับยุคเผด็จการยุคอำนาจนิยม พอยุคนั้นสิ้นสุดลง ก็มีแรงผลักดันเต็มที่ในการจะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้ได้ ซึ่งมันก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในทันที ก็ต้องมีกระบวนการในการแก้ปรับกันไป เพียงแต่ว่าเจตนารมณ์ในการไปสู่ประชาธิปไตยมันแรง แล้วได้รับการตอบรับจากคนอีกหลายๆ กลุ่ม แม้กระทั่งกลุ่มทหารนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีข้อเสนอให้ออกจากการเมืองแล้วก็ถอนตัวทันทีนะ มีการยื้อกันอยู่นานพอสมควร แปลงรูป แปลงร่าง เปลี่ยนจากทหารไปสู่นักการเมือง แต่ในท้ายที่สุดเจตนารมณ์ของคนที่มีศักยภาพที่จะเคลื่อนไหวและผลักดันประชาธิปไตยมันทำงานผนึกกันได้ค่อนข้างดี มีทิศทาง ต่อให้กระจัดกระจายกันไปบ้าง แต่มันมีเป้าหมายเดียวกัน

กลับมาสู่คำถามของนักศึกษาที่ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของไทย สำหรับผมก็คงไม่อาจรับได้มาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่จะรับหรือไม่รับร่างนี้ แต่ไม่รับตั้งแต่การยึดอำนาจเข้ามา ที่จริงย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยสนธิ บุญยรัตกลิน เสียด้วยซ้ำ กระบวนการมันผิดตั้งแต่ต้น ก็ไม่ต้องมาอ้างเลยว่าจะเอาอะไรมาให้เลือก ถามว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหน ผมเห็นส่วนตัวว่ากลับไปตั้งต้นที่ฉบับ 2540 พกพร่องก็แก้กันไป

สำหรับคำถามว่าภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ คนที่เห็นว่าไม่รับจะทำอย่างไรให้เกิดผลจริงในวงกว้าง ผมเองกลัวว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่าน ฝ่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญมีเครื่องไม้เครื่องมือที่เข้าถึงคนจำนวนมาก สามารถควบคุมสื่อควบคุมทางสังคมได้อย่างกว้างขวาง การที่ฝ่ายไม่รับจะทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่ามันจะไม่ผ่านจริง อาจต้องยกระดับให้การล้มร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นสัญลักษณ์แทนการล้มความชอบธรรมของฝ่ายปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยไปด้วย


ทรรศนะ นวลสมศรี : ต่อคำถามเรื่องพัฒนาการไปสู่ประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย แม้ว่าถึงวันนี้เราอาจจะยังไม่อาจสามารถสรุปลงไปชัดๆ ได้ว่ากระแสความก้าวหน้าของประชาธิปไตยอินโดนีเซียจะมั่นคงไปได้ตลอด แต่อย่างน้อย ในช่วงที่สิบปีที่ผ่านมาเราก็เห็นได้ถึงพัฒนาการที่น่าสนใจหลายๆ ประการ ตัวผมค่อนข้างให้น้ำหนักกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังทางสังคมค่อนข้างสูง บวกกับยุคสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีข่าวสาร การสื่อสารทางโซเชียลเน็ตเวิร์คค่อนข้างมีพลัง เราจะเห็นการรวมกลุ่มของคนปัญญาชน คนรุ่นใหม่ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างน่าสนใจ

ในอินโดนีเซียตั้งแต่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคปฏิรูป กลุ่มขบวนการนักศึกษาก็ยังคงเข้มแข็งอยู่ไม่น้อย อุดมการณ์หรือค่านิยมบางอย่างของนักศึกษาที่วางรากฐานไว้ตั้งแต่ยุคสร้างชาติมาจนยุคปัจจุบันก็ยังสามารถผลักให้เกิดการรวมกลุ่มกันได้ค่อนข้างเข้มแข็ง หากมีกรณีอย่างราคาน้ำมันขึ้นสักห้าสิบสตางค์ มาม่าขึ้นสักห้าสิบสตางค์ ไข่ไก่ขึ้นสักห้าสิบสตางค์ ก็จะออกกันมาแล้วเต็มท้องถนนเพื่อเดินขบวนประท้วงต่อรัฐบาล ซึ่งภาพเหล่านี้เราไม่ค่อยเห็นในสังคมไทยเสียแล้วในปัจจุบัน หรือมีบ้างก็ไม่เข้มแข็งเท่า ผมคิดว่าในกลุ่มปัญญาชนเหล่านี้ของอินโดนีเซียมันได้ขยายพลังไปสู่การพยายามรวมกลุ่มกันไปตรวจสอบการเลือกตั้ง ไปฟังนโยบายปราศรัยของผู้สมัคร แล้วก็มาวิพากษ์วิจารณ์แลกเปลี่ยนกันภายใน ซึ่งก็อีกหนึ่งพลังสำคัญทางการเมืองนอกเหนือไปจากการพยายามปรับเปลี่ยนปฏิรูปตนเองของชนชั้นนำทางการเมือง ในกองทัพฯ หรือตัวนักการเมืองเอง

ถ้าจะเปรียบเทียบกับสังคมไทยกับอินโดนีเซีย อินโดนีเซียโดยเฉพาะในยุคปฏิรูป การแข่งขันทางการเมืองจะรุนแรงดุเดือดเลือดพล่านแค่ไหน มีการจลาจล การประท้วงรุนแรงเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าอินโดนีเซียมั่นใจได้ก็คือ แทบจะไม่มีโอกาสเกิดรัฐประหารขึ้นอีกแล้ว รัฐประหารเกิดขึ้นได้ยากมาก ด้วยสภาพทางกายภาพเป็นหมู่เกาะ ด้วยการไม่สามารถผูกขาดอำนาจของกองทัพจากศูนย์กลางอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะแต่ละเกาะแต่ละภูมิภาคมีลักษณะพิเศษ คือทหารมีอิทธิพลในท้องถิ่นและสามารถสร้างตัวให้มีอำนาจขึ้นมาในแต่ละเกาะในแต่ละภูมิภาคโดยไม่ได้เชื่อมโยงศูนย์กลางอำนาจกับจาการ์ตาหรืออำนาจส่วนรวม จึงทำให้โอกาสการรัฐประหารอะไรพวกนี้ในสังคมอินโดนีเซียมันเกิดได้ยากมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าการแข่งขันทางการเมืองจะรุนแรงแค่ไหนเนี่ยมันไม่น่าจะย้อนกลับมาสู่ยุคเริ่มต้น นั่นก็คือมีการก่อรัฐประหาร  ล้มเลิกรัฐธรรมนูญอีกแล้วครับ

แล้วอีกส่วนหนึ่งคือการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 1945 ยังคงใช้ได้จนถึงปัจจุบัน เหมือนกับที่อาจารย์จิรวัฒน์พูดว่าหลักการสำคัญ คือหลักปัญจศิลาที่ประกาศชัดเจนแล้วว่าอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามจะไม่เอนเอียงไปหรือจะให้ความหวังกับคนจำนวนหนึ่งที่จะทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นรัฐรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่รัฐฆราวาส หรือกล่าวอีกอย่างคือเป็นรัฐศาสนาหรือรัฐทางอุดมการณ์แบบอื่น เพราะฉะนั้นการทำให้อินโดนีเซียเป็นรัฐแบบฆราวาสในแง่หนึ่งมันก็ช่วยส่งเสริมการแข่งขันในเรื่องการเมืองการเลือกตั้งที่ค่อนข้างที่จะเสรีและโปร่งใส ปฏิเสธไม่ได้ว่า อินโดนีเซียมีกลุ่มฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยอยู่ กลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดคือกลุ่มศาสนาอิสลามที่พยายามเคลื่อนไหว ปรารถนาที่จะให้อินโดนีเซียเป็นรัฐอิสลาม ที่มีการนำกฎหมายชารีอะห์มาใช้ หากแต่ตราบใดก็ตามที่รัฐธรรมนูญปี 1945 ยังคงยืนหยัดในหลักการปัญจศิลา ที่คงให้อินโดนีเซียเป็นรัฐฆราวาสอยู่ ซึ่งด้วยลักษณะแบบนี้ในแง่หนึ่งจึงคล้ายๆ เป็นการดึงให้กลุ่มขบวนการทางศาสนาจะต้องปรับตัวและองค์กรเข้ามาสู่การแข่งในทางการเมืองแบบปรกติ ฉะนั้น เราจึงเห็นขบวนการทางศาสนาจำนวนหนึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรมาเป็นพรรคการเมืองที่มีพื้นฐานทางหลักศาสนาอิสลามแทน ผมคิดว่าด้วยลักษณะแบบนี้ก็เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สามารถดึงกลุ่มที่ต่อต้านกระบวนการประชาธิปไตยเข้ามาได้ จากที่เคยเคลื่อนไหวอยู่นอกระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าคุณไม่เข้าสู่การแข่งทางการเมืองในระบบ คุณก็แทบไม่มีสิทธิ์ที่จะทำให้ความปรารถนาของคุณจะเกิดขึ้นได้เลย เพราะอย่างน้อยเมื่อคุณเปลี่ยนขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนามาสู่พรรคการเมือง คุณยังมีสิทธิ์ได้ส่งตัวแทนเข้าไปนั่งเป็น ส.ส. ในรัฐสภาได้ และเมื่อนั้นคุณอาจมีสิทธิเสนออะไรบางอย่างที่สอดคล้องกับหลักการทางศาสนาของคุณได้ และด้วยลักษณะการแข่งขันในทางการเมืองแบบปกติแบบนี้ผมคิดว่ามันก็ช่วยให้กระแสประชาธิปไตยของอินโดนีเซียยังคงก้าวหน้าไปได้ในระดับหนึ่ง คือยังสามารถดึงคนกลุ่มต่างๆ มาร่วมได้มาก

เหตุผลอีกประการคือ บริบททางสังคมการเมืองของอินโดนีเซียมันก็ไม่ได้มีความแตกแยกเหมือนสังคมไทยที่มีการแบ่งแยกขั้วการเมืองค่อนข้างชัดเจน แต่อินโดนีเซียนี่ด้วยความหลากหลายของกลุ่มคนและแนวคิดเรื่องภูมิภาคนิยมอีก  มันแทบจะไม่มีคนกลุ่มก้อนใหญ่ๆ ที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนเหมือนกรณีของไทยที่ขั้วอำนาจใหญ่สองขั้วปะทะกัน และทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงหรือการรัฐประหารอะไรแบบนี้ ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญที่นักศึกษาถามมาจริงๆ ผมก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดมามาก เพราะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้ แต่ว่าจุดยืนของผมก็คิดเหมือนอาจารย์จิรวัฒน์ คือ พอไม่ยอมรับอำนาจจากการรัฐประหารแล้วในเบื้องต้น มันก็ยากที่จะเห็นด้วยกับการรับร่างรัฐนูญธรรมนี้ตามมาด้วย   เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นถ้าถามว่าผมจะรับหรือไม่รับร่างรัฐนูญฉบับนี้ ผมก็คงไม่รับเหมือนกันเพราะเราไม่ได้ยอมรับหลักการนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว


ตารเกศ แดงงาม : จากคำถามของนักศึกษา คำตอบก็เหมือนกับอาจารย์สุรัชกับอาจารย์จิรวัฒน์ การพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องดูต้องตั้งแต่ หนึ่ง ที่มา สอง กระบวนการร่าง สาม เนื้อหา ถ้าผิดกฎหมาย ไม่ชอบด้วยความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ที่มาของกลุ่มคนหรือคณะบุคคลที่มาร่างก็ไม่ต้องไปดูถึงกระบวนการหรือว่าเนื้อหาแล้ว  แต่ว่า ณ ตอนนี้ก็คือในมุมมองของเนื้อหา ในส่วนของสิทธิเสรีภาพซึ่งก็เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดแล้วก็ได้ถูกลดถอนลงไป โยกย้ายประธานแห่งสิทธิจากบุคคลไปให้รัฐ  เป็นหน้าที่ของรัฐ ถ้าแนวทางของพวกเราไม่รับหรือไม่เห็นด้วย เราควรจะยกระดับการต่อต้านหรือยกระดับการเคลื่อนไหวอย่างไร เคยอ่านบทความหนึ่งของอาจารย์กําชัย จงจักรพันธ์  ธรรมศาสาตร์ ที่พูดถึงความชอบธรรมของการรัฐประหาร บทความได้พูดถึงคำพิพากษาฎีกาในการรัฐประหารปี  2501 คณะศาลรับว่า คำสั่งหรือกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหารเป็นสิ่งที่บังคับใช้ได้  เพราะว่า ณ ตอนนั้นเนี่ยเขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์  ทำรัฐประหารแล้วยึดอำนาจได้อย่างสำเร็จ ก็ต้องถือว่าคำสั่ง ความข้อใดๆ คำประกาศใดๆ ที่เขาออกถือว่าเป็นกฎหมาย  แม้พระมหากษัตริย์จะไม่ตราออกมาตามคำแนะนำหรือคำยินยอมสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม แล้วก็ยังมีคำพิพากษาฎีกาอีกหลายกรณีที่มีลักษณะนี้  ดังนั้น ถ้าเรามองถึงวิวัฒนาการ มองในมุมของนิติศาสตร์ก็จะเห็นว่ามีการยอมรับความชอบธรรมของอำนาจหรือกลุ่มบุคคลเหล่านั้น แล้วถ้าเราไม่ยอมรับ จะต่อต้านอย่างไรเนี่ยก็ตอบยาก อ่านบทความของอาจารย์กำชัยแล้วก็ชอบตรงจุดหนึ่งที่บอกว่า ถ้าพวกเราในฐานะที่ไม่เอารัฐประหาร ต้องไม่ยอมรับหรือไม่ให้คุณค่ากับการทำรัฐประหาร ก็ใช้มุมมองของปรัชญาทางกฎหมายกลับไปว่า เรามองสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ความเป็นศักดิ์ศรีของมนุษยชน เป็นหลักสากล ถือมันว่าเป็นหลักทั่วไปที่ตั้งแต่เราเกิดมาเรามีแล้ว แต่ว่าตอนนั้นไม่มีกฎหมายรับรองที่ตราเป็นลายลักษณ์อักษร แต่พอผ่านหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านประสบการณ์อะไรมา  เราไม่อยากถูกปฏิบัติแบบที่มีการเลือกปฏิบัติ  ก็เลยมีการรองรับสิทธิมนุษยชนขึ้นมา ดังนั้น ในมุมมองของอาจารย์กำชัย ถ้าอย่างนั้น เราทำให้การไม่เอารัฐประหารเป็นหลักทั่วไปได้ไหม คือ ถ้าเรามองในมุมปรัชญา ทำให้เป็นสิ่งที่สูงกว่ากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร 


สุรัช คมพจน์ : ก็คล้ายๆ กับของทุกคน ถ้าถามว่าจะรับหรือไม่รับไหม ตั้งแต่แรกก็คือไม่รับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เพราะมาไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่คล้ายๆกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือมันไม่ได้ผ่านกระบวนการที่รับความคิดเห็นในระดับกว้าง เหมือนอาจารย์เชนทร์ไปรณรงค์ก็จะถูกจับอยู่เลย ครั้งนี้ก็ไม่รู้จะโดนไหม คือที่นี้เวลาที่เราไม่รับหรือปฏิเสธอะไร อย่างน้อยเราก็ต้องมีเหตุผล เราก็ต้องมีข้อเสนอ เหตุผลที่ผมไม่รับ แน่นอนอย่างหนึ่งมาจากเนื้อหาที่จะใช้ในอนาคตกับเราเนี่ยก็อีกอย่างหนึ่งแล้วก็เหตุผลอีกสองสามอย่าง อันนี้มันก็ทำให้ไม่รับ ข้อเสนอของผมเนี่ยก็คือเราจะมองไปข้างหน้ายังไง ขอเสนอง่ายๆ เลยก็คือคล้ายๆกับของอาจารย์จิรวัฒน์ก็คือ โมเดลที่เราจะเอามาปรับแก้เนี่ยสำหรับรัฐธรรมนูญเนี่ยมันต้องวางบนไม่โมเดลของปฏิวัติสยาม 2475 ก็ รัฐธรรมนูญ 2540 การปฏิวัติสยามมันยังไม่เคยสิ้นสุด มันยังไม่เสร็จเพราะว่ามันอยู่ได้แค่แปปเดียว  และรัฐธรรมนูญในปี 2540 เนี่ยในแง่ของการปฏิรูปการเมืองนั่นคืออยู่ได้นานกว่ารัฐธรรมนูญ 2475 อีก ซึ่งอยู่ได้เกือบ 10 ปี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net