ชาวญี่ปุ่นในไทยทำบุญรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการสร้างทางรถไฟสายมรณะ

ชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่เสียชีวิตในการก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า "ทางรถไฟสายมรณะ" ซึ่งมีเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและแรงงานชาวเอเชีย เสียชีวิตเนื่องจากสภาพที่ทารุณและเลวร้ายระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้

7 มี.ค. 2559 ที่ จ.กาญจนบุรีเมื่อวานนี้ (6 มี.ค.) ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่เสียชีวิตในการก่อสร้างทางรถไฟสายพม่า หรือที่เรียกว่า "ทางรถไฟสายมรณะ" ซึ่งก่อสร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการใช้เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และแรงงานเอเชียได้แก่ชาวจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า อินเดีย รวมทั้งแรงงานในไทย

ทั้งนี้มีการวางพวงมาลาไว้อาลัยโดย สมาคมชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ขณะที่พิธีทางศาสนา มีการนิมนต์พระสงฆ์ใน จ.กาญจนบุรี และทำพิธีแบบพระสงฆ์ญี่ปุ่น โดยพิธีใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ

 

ทางรถไฟสายมรณะ และพื้นที่ความทรงจำในกาญจนบุรี

สำหรับทางรถไฟไทย-พม่า ก่อสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2486 เปิดใช้งานเดือนธันวาคม พ.ศ. 2486 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การก่อสร้างเริ่มต้นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่านกาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่เมืองตันบูซายัด รัฐมอญ ประเทศพม่า โดยระยะทางมีความยาวจากสถานีชุมทางหนองปลาดุกถึงสถานีตันบูซายัดรวม 415 กิโลเมตร เป็นรางขนาด 1 เมตร อยู่ในเขตประเทศไทยประมาณ 303.95 กิโลเมตร และอยู่ในเขตพม่า 111.05 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 37 สถานี

อนึ่งการสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก มีการใช้แรงงานเชลยศึกสัมพันธมิตร 61,811 ราย และแรงงานเอเชียที่เกณฑ์มา รวมทั้งผู้ที่มาเพราะถูกโฆษณาว่าเป็นงานได้รับค่าตอบแทนที่ดี ทั้งนี้มีแรงงานชาวจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า อินเดีย รวมทั้งแรงงานในไทย โดยบางช่วงมีแรงงานเอเชียทำงานมากกว่า 300,000 ราย โดยญี่ปุ่นเรียกแรงงานจากเอเชียรวมๆ กันว่า "โรมูฉะ" (Romusha) หรือ "แรงงาน" เมื่อแปลเป็นไทย

ทั้งนี้ในช่วงการก่อสร้างมีการทารุณเชลย ความโหดร้ายของสงคราม โรคภัย และการขาดแคลนอาหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในจำนวนนี้เป็นเชลยศึกสัมพันธมิตร 12,621 คน และในบรรดาแรงงานเอเชีย 300,000 รายมีบางข้อมูลที่ประเมินว่าอาจมีสถิติเสียชีวิตในช่วงที่ก่อสร้างทางรถไฟสูงถึงร้อยละ 50

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเจ้าหน้าที่ทหารชาวญี่ปุ่นถูกดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรสงคราม 111 ราย เนื่องจากการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อเชลยศึกในช่วงที่มีการก่อสร้างทางรถไฟ โดยในจำนวนนี้มีทหารญี่ปุ่น 32 รายที่ถูกตัดสินประหารชีวิต

ขณะที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นทางรถไฟถูกรื้อจากชายแดนด้านด่านเจดีย์สามองค์มาถึงสถานีน้ำตก อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ส่วนของพม่ามีการรื้อจนถึงสถานีตันบูซายัด เส้นทางในไทยส่วนหนึ่งปัจจุบันจมอยู่ใต้เขื่อนวชิราลงกรณ์ ปัจจุบันมีการเปิดการเดินรถช่วงสถานีชุมทางหนองปลาดุกจนถึงสถานีน้ำตก โดยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนรถไฟสายธนบุรี-น้ำตก และชุมทางหนองปลาดุก-น้ำตก

ในส่วนของสุสานทหารสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตในช่วงก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่า มีการสร้างสุสานไว้ที่ จ.กาญจบุรี 2 แห่ง คือที่สุสานดอนรัก และสุสานช่องไก่ และมีการสร้างสุสานที่ตันบูซายัด ฝั่งพม่า 1 แห่ง

สถูปใหญ่บรรจุกระดูกของแรงงานชาวเอเชียที่เสียชีวิตในช่วงก่อสร้างทางรถไฟ ที่สุสานของวัดถาวรวราราม อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสุสานดอนรัก ที่เป็นที่ฝังศพเชลยสัมพันธมิตร (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ/เมษายน 2557)

นอกจากนี้บริเวณสุสานของวัดถาวรวราราม ซึ่งเป็นวัดอันนัมนิกาย หรือวัดญวน โดยในสุสานมีสถูปใหญ่เป็นที่บรรจุกระดูกของแรงงานผู้เสียชีวิตในช่วงของการก่อสร้างทางรถไฟ โดยเป็นการรวบรวมซากกระดูกของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นแรงงานเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2491 โดยรวบรวมได้กว่า 4,500 ราย โดยชุมชนรอบวัดถาวรวรารามมีการจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลเป็นประจำทุกปีในช่วงใกล้เคียงกับเทศกาลเชงเม้ง

อนุสรณ์สถานที่ฝ่ายญี่ปุ่นสร้างไว้ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 โดยรอบอนุสรณ์สถานมีข้อความจารึกเป็นภาษาต่างๆ ที่เป็นภาษาของแรงงานชาวเอเชียทั้งภาษาจีน ภาษาเวียดนาม ภาษาทมิฬ และภาษามลายู เป็นต้น (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ/มีนาคม 2558)

ในส่วนของญี่ปุ่นมีอนุสรณ์สถานที่ก่อสร้างไว้ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว จุดที่มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลดังกล่าว โดยในป้ายจารึกหน้าอนุสรณ์สถานดังกล่าวระบุว่า "สร้างโดยกองทัพญี่ปุ่นใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว โดยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อไว้อาลัยให้ดวงวิญญาณทหารสัมพันธมิตรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เสียชีวิตในการก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่า" ในป้ายระบุด้วยว่าในเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี จะมีชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย มาร่วมชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีรำลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

 

ข้อมูลประกอบ

Burma Railway, Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Burma_Railway

รำลึกถึงทางรถไฟสายมรณะความทรงจำของคนในท้องถิ่น, พิพิธภัณฑ์ hellfire-pass http://hellfire-pass.commemoration.gov.au/thai/remembering-the-railway/local-memories.php

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท