Skip to main content
sharethis

‘มึนอ-อัจฉรา-แม่บ้านค้านเหมือง-กลุ่มผู้หญิงสู้ชีวิต’ 4 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รับรางวัลเกียรติยศจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมเผยประเด็นปัญหา การต่อสู้ และแง่มุมของชีวิต

7 มี.ค. 2559 ที่โรงแรม VIE Hotel คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดงานประกาศเกียรติยศสตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559 โดยมีผู้ได้รับรางวัลได้แก่

1.กลุ่มผู้หญิงปกป้องสิทธิชุมชนจากการทำเหมืองแร่ กำลังหลักของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย

2.กลุ่มหญิงสู้ชีวิต กลุ่มผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์

3.อัจฉรา อัชฌายกชาติ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ผู้รายงานข่าวด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน

4.มึนอ หรือ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

โดยในช่วงเปิดงาน อังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ระบุถึงความสำคัญของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมขี้ให้เห็นความเสี่ยงที่พวกเธอได้รับ โดยตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีนักสิทธิมนุษยชนถูกสังหารหรือลักพาตัวให้สูญหายจำนวน 51 คนในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 5 คน คดีทั้งหมดไม่มีความคืบหน้า การที่ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษนี้ส่งผลโดยตรงให้นักปกป้องสิทธิมีความเสี่ยงมากขึ้น แม้ที่ผ่านมารัฐไทยจะพยายามจะแสวงหาแนวทางในการปกป้องนักปกป้องสิทธิ แต่พวกเขาก็ยังเผชิญกับการคุกคามกับรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิในท้องถิ่น เธอเชื่อว่าการเริ่มบันทึกประวัติศาสตร์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิร่วมกัน ไม่ใช่เพียงยกย่องเชิดชูสิ่งที่พวกเธอทำ แต่เพื่อหามาตรการในการคุ้มครอง และส่งเสริมการทำงานของพวกเธอในประเทศไทยต่อไป

ภายหลังจากพิธีการมอบรางวัลเสร็จสิ้น ได้มีการจัดวงเสวนาเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในหัวข้อ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน: การขับเคลื่อนในสังคมไทย โดยมีผู้ได้รับรางวัลทั้ง 4 เป็นผู้อภิปราย ดำเนินการอภิปรายโดย อุษา เลิศศรีสันทัด

อัจฉรา บางกอกโพสต์: ผู้รวบรวมแสงหิ่งห้อย

อัจฉรา กล่าวว่า ชีวิตของคนเราไม่ได้เกิดและดำรงอยู่ด้วยตัวเอง แต่การดำรงอยู่ของเราได้แรงบันดาลใจจากคนอื่นๆ และแรงบันดาลที่เราได้รับก็จะส่งต่อไปยังคนอื่นอีกเช่นกัน แรงบันดาลใจสำคัญของเธอคือ “ผู้มาก่อน” ทั้งพ่อแม่ ครูอาจารย์ และผู้อาวุโสหลายคนที่ยังทำงานเพื่อสังคมตลอดมา ไม่ว่า อาจารย์สำลี ใจดี อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์

อัจฉรา กล่าวว่า บทบาทของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในชุมชนต่างๆ นอกจากจะมีประเด็นที่ต่อสู้อยู่แล้ว ก็ยังคงมีภาระที่สังคมมอบให้เป็นตัวกดทับสิทธิอีกที เปรียบเหมือนมรดกทางสังคม ที่กำหนดว่าต้องคิดอย่างนี้ ปฏิบัติตัวอย่างนี้ ต้องยอมจำนน ต้องห้ามก้าวข้าม อีกทั้งยังมีกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่เอื้อกับการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอีก โดยเฉพาะชุมชนในท้องถิ่นจะถูกกดทับอย่างมาก หากกลไกของรัฐร่วมกลุ่มกับกลุ่มนายทุนทั้งใน และต่างประเทศ ทำให้คนเหล่านั้นต้องก้าวข้ามความกลัวหลายชั้นมากในการลุกออกมาต่อสู้

“อยากพูดถึงอีกประเด็น ช่วงที่ผ่านมามีทั้งหญิงทั้งชายต้องออกมาเผชิญหน้าตั้งแต่รัฐประหาร ทั้งนักศึกษา ทนายความ ที่ต้องเผชิญกับกฎระเบียบกฎเหล็กของไทย ดูเป็นสิ่งเล็กๆ ที่เกิดที่ขอนแก่นบ้าง เกิดขึ้นทางใต้บ้าง แต่มันเกิดขึ้นแล้วไม่หายไป มันเหมือนเป็นหิ่งห้อย ทำให้มีแสงแม้เป็นจุดเล็กๆ ทำให้คนเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง คนพวกนี้ต้องขจัดความกลัวแล้วมาทำสิ่งเหล่านั้น มันเป็นสิ่งที่สปาร์คคนอื่นให้คิดต่อ”

“ในแง่การทำงาน หลังปี 2553 หลังรัฐประหาร คนเยี่ยมผู้ต้องขัง การติดตามคดีการเมือง มีคนไม่มากนัก เราได้รับส่งต่อจากคนอื่นแล้วเราก็ได้ช่วยกระจายสิ่งเหล่านี้ จะเป็นแสงที่กระจายต่อไป จะว่าไปตอนนี้ก็ยังมีผู้หญิงในคุกที่มีอยู่อีกไม่น้อย ที่อยู่ยาวสุดคือ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล”

“อยากให้ทุกคนมีกำลังใจดำเนินการต่อไป การไม่ยอมจำนนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องมองเห็นเป้าหมาย มองเห็นความหวัง ก้าวเล็กๆ จะรวมเป็นก้าวใหญ่ๆ ได้ยังไงบ้าง การล้มแล้วลุกขึ้นมาสู้เป็นสิ่งสำคัญมาก”

มึนอ : อยากให้บิลลี่เป็นคนหายคนสุดท้าย

มีนอเล่าถึงชีวิตว่าเธอใช้ชีวิตในหมู่บ้านปกาเกอะญอ ทำไร่หมุนเวียน ต่อมามีโอกาสมาเรียนหนังสือในเมือง และพยายามอย่างยาวนานที่จะทำบัตรประชาชน จนกระทั่งพบบิลลี่  

“ตอนต่อ ม.4 เจออาจารย์คนหนึ่ง ในห้องมีกระเหรี่ยงคนเดียว เขาบอกว่าเรียนสูงแค่ไหนถ้าไม่มีบัตรประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้ ก็เลยท้อแท้น้อยใจแล้วลาออก จากนั้นก็ไปวิ่งทำบัตรประชาชนต่อ ได้เจอกับพี่บิลลี่ เขามาช่วยทำบัตรประชาชน จนได้บัตรประชาชนเมื่อ 2548 บิลลี่เล่าว่าเขาก็ทำบัตรประชาชนเหมือนกัน จนวันหนึ่งไปร้องไห้ต่อหน้าเจ้าหน้าที่เลยได้บัตรประชาชน รู้จักกัน 1 ปีเต็ม ก็ไปอยู่ด้วยกัน ไปอยู่กับครอบครัวเราที่หมู่บ้านปกาเกอะญอ ทำไร่หมุนเวียนกัน แต่เจ้าหน้าที่อุทยานมาจัดสรรให้เป็นล็อคๆ ไม่ให้ทำไร่หมุนเวียน พี่บิลลี่ก็หางานทำข้างนอกแล้วก็สมัครเป็นสมาชิก อบต. เพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือหมู่บ้านเขา ช่วงนั้นมีการเผาบ้าน เผายุ้งข้าวของปู่กออี้ ที่บางกลอยบน เขาก็ทำทุกอย่างที่เขาสามารถจะทำได้ เราก็ติดตามดูงานที่เขาทำมาตลอด จนมีเพื่อนให้เอาน้ำผึ้งลงมาให้ แต่ระหว่างทางก็โดนจับตัวไป”

“สิ่งที่ยากคือ ไม่รู้บิลลี่อยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว บางทีที่เราเดินเรื่องต่างๆ เราก็สงสัยว่าเราไม่มีเงินให้เขา เราคนจน เขาเลยไม่อยู่เคียงข้างเราหรือเปล่า แต่ยังไงก็ตาม เราจะพยายมหาความจริง หาความยุติธรรมให้ถึงที่สุด มาติดตามคดีบิลลี่แต่ละครั้งลูกสาวคนที่สี่ที่มาด้วย เขาจะถามว่าแม่กลับมาแล้วพ่อจะมาด้วยไหม ถ้าแม่ไปหนูจะไปด้วย รู้สึกบางครั้งไม่รู้จะทำยังไง คิดแค่ว่าบิลลี่กับหนูชาติที่แล้วทำบุญด้วยกันแค่ตรงนี้ ชาตินี้ก็เลยจากกันไป”

“หนูก็ไม่อยากให้ใครต้องหายตัวไปแบบบิลลี่อีก อยากให้บิลลี่เป็นคนหายคนสุดท้าย”

เธอไล่เรียงการตามหาบิลลี่ด้วย ดังนี้

17 เม.ย.2557 บิลลี่ถูกจับตัวไป
18 เม.ย. เธอทราบเรื่อง
19 เม.ย. เธอมาแจ้งความที่ สภ.แก่งกระจาน ตำรวจระบุว่ารับแจ้งความไม่ได้เพราะเป็นเรื่องคนถูกจับ ไม่ใช่คนหาย วันรุ่งขึ้นเธอไปอีกรอบหนึ่ง ตำรวจบอกว่าประสานงานแล้ว หัวหน้าอุทยานจับตัวบิลลี่ไปจริงแต่ปล่อยตั้งแต่เย็นวันนั้นแล้ว ตำรวจบอกว่าเขามีหน้าที่รับแจ้งความ แต่ภรรยามีหน้าที่หาข้อมูล
21 เม.ย. ยื่นคำร้องต่อศาล และไปศาลากลางขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าฯ
22 เม.ย. ทำหนังสือถึง กสม.
26 เม.ย. แจ้งความเพิ่มเติม
6 พ.ค. เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาสืบสวนข้อเท็จจริง
12 พ.ค. ยื่นเอกสารที่กรมอุทยาน
14 พ.ค. ชาวบ้านและเครือข่ายกะเหรี่ยงไปยื่นเอกสารที่กระทรวงทรัพยากรฯ
10 ก.ค. ยื่นหนังสือ คสช.ช่วยเหลือติดตามตัวบิลลี่
17 ก.ค. ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
26 ก.ค. ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง

7 ม.ค. 2558 ยื่นเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)
9 ก.ค. ศาลฎีกายกคำร้อง
6 ต.ค. ยื่นเอกสารที่กระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อพิจารณาสั่งพักราชการหัวหน้าอุทยาน 
 

 

แม่บ้านค้านเหมือง การร่วมกลุ่มต่อสู้กับการขู่เอาชีวิต-การฟ้องคดี ฯลฯ

ระนอง กองแสน ตัวแทนผู้หญิงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ จังหวัดเลย กล่าวว่า ครั้งแรกที่รู้ว่าจะมีการทำเหมืองแร่นั้นรู้สึกดีใจ เพราะคิดว่าจะได้มีงานทำ แต่ในความเป็นจริงโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนอย่างมาก ตั้งแต่เริ่มมีการการทำเหมืองก็มีเสียงตลอด 24 ชั่วโมง และจนถึงปัจจุบันสภาพสิ่งแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ได้เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นกลุ่มผู้ทำเหมืองไม่ได้ให้ความใส่ใจดูแลแก้ไข  ทำให้ชาวบ้านจึงต้องตั้งกลุ่มขึ้นมาเองเพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม

“ตอนนั้นเห็นปลาก็นั่งมอง เห็นผักก็นั่งมอง มันกินไม่ได้ ตอนแรกไม่เห็นผลกระทบ ตอนแรกที่ตั้งกลุ่มก็ร้องไห้ คิดว่าทำไมคนถึงไม่มาช่วยกัน เราไปดูที่เหมืองพิจิตรเราเห็นแล้วก็ร้องไห้ กลัวบ้านเราจะเป็นอย่างนั้น พอมีประกาศสาธารณสุขบอกห้ามใช้น้ำประปาบาดาล ห้ามกินกุ้งหอยปูปลา มันทำให้คนในพื้นที่ตื่นตัวมากขึ้นเพราะผลกระทบมาถึงตัว”

ระนองยังกล่าวถึง สภาพแรงกดดันมหาศาลที่พวกเธอเจอ ไม่ว่าการขู่ฆ่าแกนนำ 8 คน การโดนฟ้องคดีมากมาย ซึ่งเป็นผลที่ได้รับการออกมาต่อสู้ปกป้องชุมชน จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทองคำ

“เราลุกขึ้นมาปกป้องชุมชน ทรัพยากรของเราก็โดนหมดทุกอย่าง เดี๋ยวนี้ยิ่งจะเอาที่ใหม่ที่ภูเหล็ก หลุมเก่าก็มีผลกระทบมากแล้ว เราจะต่อสู้มันยากมาก เราไม่มีสิทธิอะไรเลย การจัดเวทีอะไรก็ไม่ให้เราเข้า วันที่ 15 พฤษภาคม (2557) ความทรงจำวันนั้นไม่เคยลืม มีไอ้โม่งไปยึดจุดตรวจเรา สี่ทุ่มก็เอาคนที่ไปอยู่ยาม จับน้องผู้หญิงเราไป เอาไปนอนคว่ำหน้าตั้งแต่สี่ทุ่มจนตีสี่ น้องๆ ก็เสียใจและหดหู่ในการกระทำนั้น โทรหาตำรวจก็ไม่มีมา มันไม่เหมือนอยู่ในบ้านเรา มันประเทศอะไรไม่รู้ มีเสียงปืนดังปัง ปัง”

“เราปกป้องสิทธิของเราแล้วเราก็โดนคดี น้องที่โดนคดีวันนี้ก็ไม่ได้มาก็ต้องไปขึ้นศาล แล้วก็ต้องไปแม่สอด เราพยายามจะปกป้องบ้านเราแต่เราก็โดนคดีเยอะมาก จนจะรับไม่ไหว เวลาทำมาหากินก็ไม่มี วันๆ ต้องขึ้นศาล แต่เราโดนคดีแค่ไหนเราก็ไม่ถอย เราอยากจะสืบทอดทรัพยากรให้ถึงลูกถึงหลานเรา น้องๆ เขาก็เริ่มจะลุกขึ้นมาสู้”

“ฉันถูกฟ้องคดีความมากกว่า 20 คดี ค่าเสียหายรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ถูกทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 บาดเจ็บกว่า 40 คน ในคืนขนแร่ ชายฉกรรจ์ปิดล้อมหมู่บ้าน เหตุกาณณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นอีก ฉันเรียกร้องให้บัญญัติสิทธิชุมชนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย สุดท้ายนี้ขอยืนยันว่าเราจะร่วมต่อสู้ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ”
 

‘ผู้หญิงสู้ชีวิต’ ต่อสู้การค้ามนุษย์ 15 ปีท่ามกลางอคติผู้คน ชนะ 3 ศาลค่าชดเชย 0 บาท


1 ใน 4 ผู้ได้รับการประกาศเกียรติยศ "ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ" จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประจำปีนี้ ได้แก่ กลุ่มผู้หญิงสู้ชีวิต ผู้เสียหายจากการถูกหลอกไปค้าประเวณียังต่างประเทศที่รวมกลุ่มกันต่อสู้เรื่องดังกล่าว ตัวแทนกลุ่มเล่าถึงเส้นทางของกลุ่มและตัวเธอดังนี้

ตัวแทนกลุ่มผู้หญิงสู้ชีวิต กล่าวถึงแรงกดดันหลังจากตัดสินใจลุกขึ้นฟ้องร้องผู้หลอกไปทำงานต่างประเทศว่า นอกจากถูกคุกคามข่มขู่สารพัดจากเอเยนต์ที่หลอกเธอ และตกเป็นจำเลยในคดี ทั้งยังไม่ได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้าง แม้แต่คนในชุมชนก็เห็นว่าเธอไม่รู้จักบุญคุณ เพราะลำพังตัวเองไม่มีทางได้ไปต่างประเทศ

เธอกล่าวด้วยว่า จำเลยที่ในคดีที่เธอเป็นโจทก์นั้น เยาะเย้ยว่าคนอย่างเธอทำอะไรเขาไม่ได้ เขามีเงินเยอะมาก หรือในบางกรณีแย่ยิ่งกว่า เพราะฝ่ายสามีสนับสนุนให้ไปทำงานเองในตอนแรก พอเจอปัญหากลับมาก็เป็นตัวบีบให้ผู้หญิงไม่มีที่ยืน

“การขอความช่วยเหลือจากคนในชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็ไม่ช่วย เพราะเอเยนต์มีอิทธิพล ทอดผ้าป่าใหญ่โตทุกปี ได้รับความนับหน้าถือตา พอศาลตัดสินก็ทำให้คนมองเราดีขึ้น เราเรียกร้องต่อสู้ 4 ปี โดนอะไรสารพัดแทบจะใช้ชีวิตปกติสุขไม่ได้ เราเหนื่อยมากอยากอยู่ลำพัง จนวันหนึ่งทำกิจกรรมกับมูลนิธิผู้หญิงทำกิจกรรมกับผู้หญิงที่ถูกละเมิดสิทธิหลายๆ คน ที่ผ่านมาเหมือนอยู่คนเดียว พอร่วมกิจกรรมฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ได้เห็นเพื่อนๆ ที่ไปหลายประเทศ เรารู้สึกว่าชีวิตเราโหดร้ายแล้วพอฟังจากคนอื่นทำให้รู้สึกว่า จริงๆ แล้วเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับคนไม่น้อย เลยมีความคิดว่าน่าจะเอาประสบการณ์เรามาใช้ช่วยเหลือกับคนอื่นๆ ต่อไป ไม่ต้องสู้คดีโดยรู้สึกโดดเดี่ยวลำพัง จึงตั้งกลุ่มสู้ชีวิตมาตั้งแต่ปี 2549 แต่ประสบการณ์ตัวเอง ใช้เวลา 15 ปี จนสามศาลชนะหมด ค่าเสียหายจนปัจจุบันก็ยังไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมของไทยยังไม่ได้เอื้อให้เกิดความยุติธรรมแท้จริง มีบางคนบอกได้แค่คำพิพากษาสองสามใบมากอดแล้วได้อะไร เรียกร้องตั้งกี่ปี หมดเงินไปเท่าไร เราเลยต้องรวมกลุ่มกันป้องกันและช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาเดียวกัน”

เธอกล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญคือ อคติระหว่างเพศ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกหลอกไปค้าประเวณีต่างประเทศ เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วตัดสินใจไปแจ้งความ การตั้งคำถามของเจ้าหน้าที่ยิ่งเป็นการตอกย้ำซ้ำเติม ไม่มีความละเอียดอ่อน บางทีผู้เสียหายไม่ได้อยากเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก

“เราจะปกป้องสิทธิของตัวเองแต่ก็ต้องโดนย้ำตลอดจากกระบวนการต่างๆ หรือการพิพากษาบางคดีก็ไม่มีทัศนคติแบบ ยินยอมเองไม่ใช่หรือ ไปเองไม่ใช่หรือ”

เธอยังเล่าถึงการคุกคามถึงขั้นที่ถูกขู่ว่าจะอุ้มหายลูกสาวคนโต จึงต้องพาลูกย้ายหนี ตอนนั้นท้อมากถึงบอกว่าพอศาลชั้นต้นจบก็ไม่อยากยุ่งกับใครแล้ว

เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกกรณีตัดสินแล้ว แม้ส่วนมากจะชนะคดี แต่ไม่เคยได้เงินชดเชยจริงเลย ส่วนใหญ่จำเลยจะหนีระหว่างประกันตัว ดังนั้น จึงขอเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมพิจารณาว่าหากตามอายัดยึดทรัพย์อะไรไม่ได้ อยากให้เอาเงินประกันที่วางศาลไว้มาชดเชยให้ผู้เสียหายแทนจะได้หรือไม่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net