Skip to main content
sharethis

9 มี.ค. 2559  ในงานรำลึก 100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการนำเสนอบทความ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ "ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน" ในประเด็น "ป๋วยกับสังคมการเมืองไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน" มีหัวข้อดังนี้

(1) “กรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ชื่อ ‘ป๋วย’”
โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นิฐิณี ทองแท้ โปรแกรมวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

(2) “สันติวิธีของป๋วย อึ๊งภากรณ์: ยุทธวิธี เป้าหมาย และความหวัง”
โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(3) “มองสิทธิมนุษยชนไทยผ่านการ(ไม่)หาความจริงและการ(ไม่)รับผิด: กรณีความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำต่อขบวนการประชาธิปไตย”
โดย เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ดูบทบาทป๋วย ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่าง รธน. 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอบทความ “กรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ชื่อ ‘ป๋วย’” ซึ่งเขียนร่วมกับ นิฐิณี ทองแท้ โปรแกรมวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ว่า เวลาอ่านงานที่มีคนเขียนหรือวิพากษ์ถึง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะพบว่ามีการทบทวนหรือพูดถึงในหลายเรื่อง ทั้งในฐานะนักสิทธิมนุษยชน นักสันติวิธี นักเศรษฐศาสตร์ เทคโนแครต แต่บทบาทที่ไม่ถูกพูดถึงคือ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2517

คำถามคือ ทำไมจึงไม่มีใครศึกษา เพราะกระบวนการไม่สำคัญ หรือ อ.ป๋วยไม่ได้แสดงบทบาทใดๆ ในหน้าที่นี้เลย

งานนี้จะพิจารณาจากคำอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนลงมติในวาระที่ 3 (ส.ค.-ต.ค.2517)

แบ่งเป็นสามประเด็น

หนึ่ง ป๋วยกับรัฐธรรมนูญฉบับฟ้าสีทองผ่องอำไพ ความเกี่ยวข้องของป๋วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้
สอง บทบัญญัติในอุดมคติของป๋วย
สาม พรรคฝ่ายแพ้กับโศกนาฏกรรมของความรู้

หนึ่ง
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีการแต่งตั้งสภาสนามม้า 2,347 คน ซึ่งต่อมา คัดเลือก สนช. 299 คน

ป๋วยได้เป็น สนช. โดยมีคะแนนอันดับสองรองจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กรณีนี้ถูกตีความว่าเขาได้รับความนิยมจากปัญญาชน ชนชั้นนำพอสมควร  

รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ เสนอร่างต่อ สนช. สนช.ลงมติรับร่างพิจารณา ต่อมาตั้ง กมธ.วิสามัญ 35 คน ทำหน้าที่รับฟังความเห็น และปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี ไพโรจน์ ชัยนาม เป็นประธาน โดย ป๋วย เป็นหนึ่งใน กมธ. ชุดนี้ด้วย

จากการอ่านคำอภิปรายพบว่า ป๋วยแสดงความเห็นและอภิปรายอย่างกว้างขวางใน 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ หนึ่ง เสรีภาพในความคิดและมโนธรรม สอง อำนาจอธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน สาม เยาวชนและคนรุ่นใหม่ในระบบการเลือกตั้ง

เนื่องจากเวลาจำกัด ในที่นี้จะพูดถึงประเด็นเรื่อง เสรีภาพในความคิดและมโนธรรม

ในร่างรัฐธรรมนูญ 2517 เขียนไว้ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญหลายฉบับ 

แต่ป๋วยเสนอสิ่งที่มีนัยสำคัญมาก คือ ให้ใช้ถ้อยคำว่า เสรีภาพในความคิดและความเชื่อถือ โดยไม่ต้องเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนา

ข้อเสนอนี้ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวาง มีผู้อภิปรายว่า ถ้าเขียนเช่นนี้ จะทำให้เกิดเสรีภาพซึ่งสุดขอบฟ้า บ้างว่าถ้าเปิดโอกาสให้เขียนเช่นนี้ จะทำให้แนวความทางการเมือง ซึ่งหมายถึงสังคมนิยม ได้รับการยอมรับ สมาชิกสภาบางคนบอกว่าจะทำให้บ้านเมืองเกิดความรุนแรงขึ้น

ข้อเสนอนี้ถอยห่างจากอุดมการณ์หรือความคิดทางศาสนา อย่างไรก็ตาม ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในที่ประชุม  ต่อมา ป๋วยและสมาชิกบางคน เสนอให้ปรับแก้เป็นบุคคลย่อมมีเสรีภาพในมโนธรรมและการเชื่อถือในลัทธินิยมใดๆ แต่ก็ถูกโต้แย้งว่า อาจทำให้เด็กไทย หนุ่มไทย รับใช้ชาติไม่ได้ การเกณฑ์ทหารเป็นหมัน แต่ป๋วยแย้งว่า การทำประโยชน์ให้สังคมทำได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารแต่เพียงอย่างเดียว พร้อมชี้ว่าการจะพิจารณาว่าใครจะกระทำอะไรขึ้นกับเจ้าตัว และความจำเป็นของบ้านเมือง

ข้อเสนอของป๋วยเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้า แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญในปัจจุบันก็ไม่เคยมีใครเสนอเรื่องเสรีภาพในมโนธรรมอีก

ข้อเสนอของป๋วย ทั้งเสรีภาพในความคิดและความเชื่อถือแทนการนับถือนิกายศาสนา เพิ่มเติมเสรีภาพในมโนธรรมและการเชื่อถือในลัทธินิยมใดๆ รวมถึงข้อเสนอให้การทำประชามติเป็นอำนาจของรัฐบาล  ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้นโดยเสนออายุขั้นต่ำ ที่ 18 ปี และ 20 ปี 

ทั้งสามประเด็นที่ลุกขึ้นอภิปราย แพ้หมด ทั้งที่ป๋วยได้รับความนิยมในลำดับสองรองจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

สาม 
บทเรียนและประสบการณ์ของปัญญาชนสาธารณะในกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

สิ่งที่เห็นคือ ป๋วยให้ความสำคัญกับการขยายขอบเขตสิทธิเสีภาพของประชาชนด้านต่างๆ ปัจจุบัน ยังเถียงกันอยู่ เช่น ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง หรือเรื่องเสรีภาพในมโนธรรม ที่ไม่เคยมีใครหยิบประเด็นนี้ขึ้นมา

ความไม่สำเร็จนี้ สะท้อนบทบาทอันจำกัดของการใช้ความรู้ในพื้นที่สภานิติบัญญัติ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้สัมผัสกับประชาชน แม้จะถูกบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับฟ้าสีทองฯ แต่คนร่างฯ ไม่ได้มาจากกระบวนการที่สัมพันธ์กับประชาชน

มีข้อสังเกตว่าช่วงแรก ป๋วย อภิปรายด้วยเหตุผล เขาไม่ใช่ดาวสภา ในประเด็นที่เห็นด้วย ก็บอกเพียงเห็นด้วยและไม่อภิปรายต่อ แต่ในประเด็นที่ไม่เห็นด้วย เขาจะลุกขึ้นอภิปราย ขณะที่ช่วงท้าย ท่าทีของป๋วยต่อการอภิปรายเปลี่ยนไป ถ้อยคำดุเดือดมากขึ้น เมื่อมีคนอภิปรายแย้งเรื่องการกำหนดอายุลงคนสมัครเลือกตั้ง โดยอ้างถึงพระพุทธเจ้าสมัยกึ่งพุทธกาล ป๋วยอภิปรายว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะได้เห็นความเห็นที่เพ้อเจ้อและเลอะเทอะเยี่ยงนี้ในที่ประชุมแห่งนี้

นอกจากนี้ ป๋วยยังอภิปรายว่า จะไม่ขออธิบายเหตุผล ไม่ใช่เห็นว่าสภาฯ นี้ไม่ชอบฟังเหตุผล แต่คิดอีกทีก็ไม่แน่ เพราะที่แล้วมาจากรายงานประชุมสภาก็ดี การฟังอภิปรายก็ดี จะเห็นว่าเวลาลงมติ ฝ่ายชนะจะไม่อภิปรายใดๆ ปล่อยให้พวกเรา "พรรคฝ่ายแพ้" พูดไป นั่นคือ ป๋วยพบว่า ที่นี่ (สภา) อยากพูด พูดเลย แต่สภาแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องของการใช้เหตุผล และเมื่อลงมติ ก็ไม่เปลี่ยนทิศทางได้เลย

"ผมคิดว่า การอภิปรายของอ.ป๋วยในช่วงท้ายน่าจะเป็นอนุสติให้กับปัญญาชนจำนวนมากที่คาดหวังว่าจะเข้าไปอยู่ใน สนช. กมธ. ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วคิดว่าจะใช้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ดีเลิศประเสริฐให้เกิดขึ้น ขนาด อ.ป๋วยซึ่งมีอนาบารมีมากกว่าเป็นจำนวนมาก ยังประสบความล้มเหลวอย่างมาก" สมชายกล่าว


สันติวิธีของป๋วย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทความเรื่อง “สันติวิธีของป๋วย อึ๊งภากรณ์: ยุทธวิธี เป้าหมาย และความหวัง” โดยกล่าวถึงประเด็นสันติวิธีที่เกี่ยวกับป๋วยว่า ป๋วยเป็นคนแรกๆ ที่ใช้คำว่าสันติวิธีในเมืองไทย หนังสือหรืองานเขียนที่พิมพ์ในปี 2516 จนถึงปี 2519 ทำให้เห็นความเฟื่องฟูของคำและปฏิบัติการสันติวิธี

งานนี้จะลองอ่านงานอาจารย์ป๋วยทั้งหมดแล้วลองนึกแทนอาจารย์ป๋วยว่าเขาจะตอบโจทย์ปัจจุบันอย่างไร สันติวิธีใช้เป็นเครื่องมือการต่อสู้เท่านั้นหรือ ถ้าไม่สำเร็จ เปลี่ยนไปใช้กำลังก็ได้หรืออย่างไร สันติวิธีใช้ไปเพื่ออะไร สุดท้ายมันคือการยกระดับไปสู่จุดที่ปกครองไม่ได้ และสรุปแล้วสันติวิธีคืออะไร

ประเด็นสำคัญ อาจารย์ป๋วยคิดถึงสันติวิธีในแง่ยุทธวิธีในฐานะเครื่องมือต่อต้านรัฐประหาร, สันติวิธีเป็นกลไกหนึ่งในโครงสร้างใหญ่ในสังคมไทยที่จะนำไปสู่เป้าหมายของอาจารย์ป๋วยคือ สันติประชาธรรม, คำว่าสันติประชาธรรมของป๋วย หลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นอุดมคติ ซึ่งจริงๆ แล้วอุดมคติสำคัญต่อสันติวิธีและการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร

สันติวิธีในฐานะเครื่องมือการต่อสู้ อาจารย์ป๋วยเห็นว่าประชาชนสามารถใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงเพื่อปกป้องการฉีกรัฐธรรมนูญได้ สามารถทำให้คนตื่นรู้จากภัยรัฐประหารได้ ช่วงนั้นมีประสบการณ์หลายประเทศที่ต่อต้านการรัฐประหารได้โดยสันติ ล่าสุดคือ เบอร์กินา ฟาโซ ประชาชนรวมตัวกันกดดันไม่ให้รัฐประหารประสบความสำเร็จและต้องคืนอำนาจสู่ประชาชน

เวลาพูดว่าจะใช้สันติวิธีต้องคิดถึงยุทธศาสตร์ระดับใหญ่ด้วยว่าต้องการอะไร และวิธีที่ใช้นำมาสู่ผลอะไรในระยะสั้น การต่อต้านรัฐประหารของอาจารย์ป๋วยแบ่งเป็นระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นเวลาเกิดการฉีกรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ ประชาชนต้องรวมตัวกันให้มากพอ ใช้สันติวิธีบอยคอต และระยะยาวต้องให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ

แม้สถานการณ์ความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ยาก แต่อาจารย์ป๋วยบอกว่าต้องทำ การใช้สันติวิธีไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ต้องพากเพียรทำต่อไปและการใช้สันติวิธีเป็นวิธีของคนกล้า คนต่อต้านอาจโดนลงโทษ แต่นั่นเป็นการบอกว่าเราไม่กลัวคุณ

อาจารย์ป๋วยคิดว่า สันติวิธีต้องนำไปสู่สังคมประชาธรรม คือ มีประชาธิปไตยและมีความเป็นธรรม เปิดโอกาสให้คนได้แสดงความเห็นต่าง คนรากหญ้าคนชั้นล่างของสังคมได้ลืมตาอ้าปาก โครงการของอาจารย์ป๋วยจึงใหญ่มาก และสันติวิธีเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น

ข้อเสนอของป๋วยจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจกับทั้งฝ่ายรัฐบาลทหารและฝ่ายซ้าย เพราะฝ่ายซ้ายอยากได้ความเป็นธรรมแต่ก็ใช้ความรุนแรง แต่อาจารย์ป๋วยไม่เห็นด้วยเพราะความรุนแรงนำไปสู่ความรุนแรงเป็นวงจรเรื่อยไปจนไม่รู้ว่าเมื่อไรจะถึงสังคมประชาธิปไตย

สำหรับอาจารย์ป๋วย เป้าหมายสำคัญพอๆ กับวิธีการ ถ้าวิธีการเป็นประชาธิปไตยเป้าหมายก็จะเป็นประชาธิปไตย สันติวิธีเป็นเครื่องมือแต่เครื่องมือนี้ช่วยหล่อหลอมสังคมดีงามที่เราอยากได้

สุดท้าย เวลาป๋วยเสนอความคิดสันติประชาธรรม คนจำนวนหนึ่งที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารในเวลานั้นบอกว่า เท่ากับพาคนไปตายบ้าง เป็นอุดมคติกินไม่ได้บ้าง อาจารย์ป๋วยก็ตอบว่า อุดมคติไม่ได้มีไว้กิน แต่มีไว้ทำ แนวคิดเรื่องสันติวิธีของป๋วยไปไกลถึงขนาดบอกว่า สังคมไทยถ้าต้องการเปลี่ยนเป็นสันติประชาธรรมอย่างยั่งยืน ต้องเปลี่ยนระดับวัฒนธรรมสังคมการเมืองที่คิดว่าทุกคนเหมือนกัน ต้องเชื่อฟังอำนาจเดียวเหมือนๆ กัน

อาจารย์ป๋วยพูดถึงนักปรัชญาที่อภิปรายกันเรื่องอุดมการณ์หรืออุดมคติของชาติไทย ตัวเขาเองเชื่อว่าอุดมคติเป็นของส่วนตัว แต่มีผู้พยายามใช้ลัทธิเผด็จการไม่ว่าซ้ายหรือขวา ทำให้คนคิดและทำเหมือนกัน จึงเห็นอันตรายในการกำหนดให้ชาติไทยมีอุดมการณ์อย่างเดียวกันหมด เป็นการทำลายอุดมคติของปัจเจกชน เพราะอุดมคติเกิดจากสมองอันประเสริฐของมนุษย์ซึ่งมีความแตกต่าง เราต้องสนับสนุนให้มนุษย์แต่ละคนใช้ความคิดอย่างมีเสรีภาพโดยไม่ต้องกลัวการออกนอกลู่นอกแถว นั่นจึงเป็นการสนับสนุนให้อุดมคติกำเนิดได้

การขาดไร้อุดมคติจะทำให้ไม่อยากใช้สันติวิธี ซึ่งโดยตัวมันเองต้องอาศัยการจินตนาการถึงอนาคต เราต้องเห็นว่ามันเป็นไปได้ และเชื่อว่ามันจะผลักดันให้หลุดออกจากสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ได้


สำรวจสิทธิมนุษยชนผ่านการ(ไม่)หาความจริงและการ(ไม่)รับผิด กรณี 14 ต.ค16-พ.ค.53

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว นำเสนอบทความเรื่อง “มองสิทธิมนุษยชนไทยผ่านการ(ไม่)หาความจริงและการ(ไม่)รับผิด: กรณีความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำต่อขบวนการประชาธิปไตย” โดยหยิบยกผลงานที่โดดเด่นของ อ.ป๋วยในการพยายามจะพูดความจริงเกี่ยวกับกรณีความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เพื่อให้มีการรับผิดของผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม

เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 มีการกระทำความรุนแรงต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีผู้ที่ต้องรับผิด จึงโยงประเด็นเรื่องเสรีภาพในการค้นหาความจริง เรื่องความรุนแรงและการไม่ต้องรับผิดกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าด้วยกัน

ในงานศึกษาชิ้นนี้มองย้อนสิทธิมนุษยชนไทย จากกรณีที่รัฐกระทำต่อประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516, 6 ต.ค. 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และการปราบปรามผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553

เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์เหล่านี้จะพบว่า มีภาวะความไม่คืบหน้าหรือการย่ำอยู่กับที่ของการค้นหาความจริงและการสร้างกระบวนการรับผิดและการลอยนวล ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างต่อการสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

ในงานศึกษานี้พยายามจับคู่สี่เหตุการณ์โดยไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา แต่เรียงตามสถานะของเหตุการณ์และสถานะของผู้ชุมนุมในประวัติศาสตร์การเมืองไทยฉบับที่ค่อนข้างเป็นทางการ คือ จับคู่กรณี 14 ต.ค. 2516 กับ พฤษภาทมิฬ 2535 ไว้ด้วยกัน เพราะผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องค่อนข้างได้รับการยอมรับว่ามีความชอบธรรมและเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขณะที่กรณี 6 ต.ค. 2519 กับการชุมนุมของ นปช.หรือคนเสื้อแดง ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังค้างคา เพราะตัวผู้ชุมนุมถูกรัฐและสังคมมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในกรณี 6 ต.ค. และผู้ก่อการร้าย ในกรณีคนเสื้อแดง

แต่สถานะของเหตุการณ์เหล่านี้ในความรับรู้ทาง ประวัติศาสตร์การเมืองแบบเป็นทางการ มีนัยต่อการจัดการความจริงในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่แทบไม่ส่งผลใดๆ เลยในแง่การเอาผิดกับผู้ละเมิด 

กรณี 14 ต.ค. 2516  เป็นกรณีที่น่าสนใจมาก หลังเหตุการณ์ไม่ถึง 1 เดือน รัฐบาลแถลงผลสอบสวนของกระทรวงกลาโหม โดยมีการสอบสวนบุคคลระดับผู้บังคับบัญชาอย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร มีการแถลงว่า บุคคลทั้งสามปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับระเบียบแบบแผนของทางราชการ และแฝงด้วยโทสะจริตที่มุ่งทำลายล้างนิสิต นักศึกษา และประชาชน นั่นคือมีการยอมรับว่าผู้บังคับบัญชากระทำผิด มีความมุ่งหมายที่จะทำร้ายประชาชน แต่ถ้าอ่านทั้งฉบับจะพบว่า นัยที่ซ่อนอยู่คือ แถลงการณ์ไม่ได้บอกว่าการปราบปรามประชาชนนั้นเป็นความผิดในตัวของมันเอง รัฐบาลไม่ได้ปฏิเสธหากจะมีการปราบปราม "การซ่องสุมกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาล" แต่รัฐบาลอธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค. เป็นแค่เรื่องความผิดส่วนบุคคล คือบอกว่า จอมพลถนอมและจอมพลประภาสตัดสินใจผิด เนื่องจากได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดจากพันเอกณรงค์ ซึ่งไปได้ข้อมูลบิดเบือนมาว่า นักศึกษาเป็นผู้ก่อการจลาจล ความผิดของทั้งสามอีกประการ คือบอกว่า ผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงขอร้องไม่ให้รัฐบาลใช้อาวุธปราบปรามประชาชน ในมุมมองเช่นนี้ การกระทำความผิดดังกล่าวจึงเป็นความผิดต่อผู้บังคับบัญชาและผู้มีอำนาจเหนือ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ใช่ความผิดต่อพลเมืองที่รัฐมีพันธกรณีที่จะต้องให้การคุ้มครองและปกป้องสิทธิ 

ในแง่การเอาผิด รัฐบาลยอมรับว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น แต่รัฐบาลดูจะพอใจการที่พันเอกณรงค์ที่สำนึกถึงความผิดพลาดและเดินทางออกนอกประเทศ และไม่สนใจจะสืบสาวหาความต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้น ความที่ไม่สนใจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดปรากฏชัดในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการเดินขบวน ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ลดทอนความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นเพียง "ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่าง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล" ไม่ใช่ความรุนแรงที่กระทำต่อนักศึกษา นอกจากนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวให้เหตุผลในการนิรโทษกรรมด้วยว่า เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ เมื่อได้กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว

สรุปว่า กรณี 14 ต.ค. มีผู้เสียชีวิต 60 กว่าคน ได้รับการยกย่องเป็นวีรชน ได้รับพระราชทางเพลิงศพที่สนามหลวง แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการรับผิด นอกจากการเยียวยา ให้เงินชดเชยช่วยเหลือ

กรณี 14 ต.ค. ไม่ต่างจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนัก พฤษภาทมิฬ ค่อนข้างมีสถานะในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าเป็นต่อสู้ที่ชอบธรรม เพื่อประชาธิปไตย มีการเรียกว่าเป็นวันพฤษภาประชาธรรม มีมติ ครม.ว่าต้องจัดงานรำลึก เพื่อเชิดชูเกียรติวีรชนทุกปี แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในแง่การเอาผิด มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นหลายชุดเพื่อหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 17-20 พ.ค. แต่ข้อค้นพบของคณะกรรมการเหล่านั้นก็มีนัยสำคัญต่อการรับผิดและการลอยนวลเช่นกัน

ในคณะกรรมการชุดแรกๆ ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 คณะกรรมการ สรุปว่า เนื่องจากตำรวจไม่มีความพร้อมในการจัดการผู้ชุมนุม จึงจำเป็นต้องใช้ทหาร แต่มีความผิดพลาดตรงที่ทหารที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เป็นการใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงเกินควร แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม คณะกรรมการดังกล่าวก็พูดถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดเลย มีแต่ข้อเสนอไปข้างหน้าว่า ต้องปรับปรุง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจัดการรับมือกับผู้ชุมนุม

ในทำนองเดียวกัน พล.อ.สุจินดา ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำผิดที่เกี่ยวเนื่องในการชุมนุม ในเวลาสองวันหลังเหตุการณ์ สุดท้าย พ.ร.ก.ดังกล่าวตกไปเพราะกระบวนการออกไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ที่น่าสนใจ คือ หลังยกเลิก พ.ร.ก. แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กิจการที่เป็นไประหว่างใช้ พ.ร.ก. ซึ่งในกรณีนี้คือการยกโทษให้คนผิดและการไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปราบปราม ไม่ได้รับผลกระทบจากการตกไปของพระราชกำหนด นั่นหมายความว่าแม้ พ.ร.ก.นี้จะถูกยกเลิกเพราะออกมาโดยมิชอบ แต่ผลที่ทำให้เกิดขึ้นระหว่างมี พ.ร.ก.ยังคงอยู่ เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้กระทำความรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 44 คน สูญหาย 48 คน บาดเจ็บเกือบ 500 คน ทุพพลภาพ 700 กว่าคน ซึ่งนี่คือตัวเลขทางการของรัฐ จำนวนจริงไม่รู้ว่ามากกว่านี้เท่าใด เจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้รับการนิรโทษโดยไม่ต้องรับผิด

ขณะที่ รายงานการสืบสวนของกระทรวงกลาโหมที่เผยแพร่ออกมาในปี 2543 ก็ไม่ได้มีประโยชน์เช่นกัน มีการขีดฆ่าชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องออกไปหมด

กล่าวโดยสรุป ในกรณีที่มีการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ที่รัฐยอมรับว่ามีการกระทำผิดขึ้น รัฐมีการสอบสวนระดับหนึ่ง แต่ไม่มีความพยายามใดๆ ในการนำผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ และมีการนิรโทษกรรม

กรณี 6 ต.ค. ต่างจากกรณี 14 ต.ค. อย่างมีนัยสำคัญ เพราะนอกจากมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ แล้วยังมีพลเรือนฝ่ายขวาที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม  และ 6 ต.ค. ก็ไม่ได้มีสถานะทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบฉบับทางการว่าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย และแทบจะไม่มีกระบวนการของรัฐเลยในการค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษา เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงได้รับนิรโทษกรรม โดย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งออกมาเกือบจะในทันทีหลังวันที่ 6 ต.ค.

บทบัญญัติของ พ.ร.บ.กว้างขวางมาก นิรโทษกรรมให้กับกรณีความรุนแรงต่างๆ คือนอกจากนิรโทษกรรมให้คนที่ยึดอำนาจในวันนั้น ยังนิรโทษกรรมให้การใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษาด้วย ด้วยข้ออ้างว่า ใครก็ตามที่ทำเพื่อให้เกิดความมั่นคงของราชอาณาจักร ของราชบัลลังก์ และเพื่อความสงบสุขของประชาชน ไม่ว่าในฐานะใด ไม่ว่าจะทำในวันนั้นหรือก่อนหน้านั้น ก็ได้รับนิรโทษกรรม

นอกจากนี้ ต่อมามีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม คือดูราวกับว่า นิรโทษกรรมให้นักศึกษาที่ออกมาชุมนุม แต่สิ่งที่ปรากฏกลับกลายเป็นว่านิรโทษกรรมให้กับพลเรือนที่กระทำความรุนแรงต่อนักศึกษา และอธิบายเหตุการณ์ 6 ต.ค. ว่าเกิดจาก "ความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด" ทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาเมื่อ 6 ต.ค.เป็นแค่ปัญหาของคนหนุ่มคนสาวที่ไม่เข้าใจโลก และคนที่ได้รับนิรโทษกรรม คือนักศึกษาที่ชุมนุมก็ไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกสิทธิใดๆ จากความรุนแรงที่เกิดขึ้น

บุคคลที่เสียชีวิต 46 คนในเช้าวันนั้น บาดเจ็บร้อยกว่าคน สูญหายไม่รู้เท่าไร ไม่มีผู้ต้องรับผิดชอบจากการกระทำเหล่านี้

เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 2553 เทียบกับสามเหตุการณ์ก่อนหน้านี้แล้ว อาจจะดีกว่าตรงที่ยังไม่มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะถูกต่อต้านจนตกไป

มีการตั้งคณะกรรมการหลายชุด เพื่อหาความจริง มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)  แต่ คอป. ออกตัวอยู่ตลอดว่า ค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองไม่ใช่เพื่อตรวจสอบการละเมิด รายงานของ คอป.ยอมรับว่ามีผู้เสียชีวิต มีข้อเสนอเรื่องการชดเชยผู้ตกเป็นเหยื่อ แต่ไม่มีเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดเลย เพราะ คอป.บอกเสมอว่าให้คุณค่าแก่เรื่องการฟื้นฟูเหยื่อมากกว่าการให้คุณค่าเรื่องลงโทษผู้กระทำผิด และเน้นเรื่องอยากให้ผู้กระทำผิดออกมาแสดงความรับผิด มากกว่าลงโทษพวกเขา

นอกจากนี้ รายงานของ คอป. ยังถูกวิจารณ์ว่าให้น้ำหนักกับชายชุดดำ มากกว่าปฏิบัติการทางทหาร ทั้งที่มีข้อมูลชัดเจนว่าใช้กระสุนจริงไปเท่าไร

ในแง่การดำเนินคดี แม้จะดูว่ามีความคืบหน้า เพราะ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตกไป มีการฟ้องร้อง โดยดีเอสไอฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณในข้อหาพยายามฆ่า แต่ศาลอาญายกฟ้องเพราะเป็นความผิดหน้าที่ต่อราชการ ให้ไปฟ้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมือง พอฟ้องที่ ป.ป.ช. ป.ป.ช.มีคำสั่งว่า เขาปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว เพราะการชุมนุมนั้นไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการปราบปราม ถ้ามีความผิดอยู่บ้าง เป็นแค่ความผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่ทหารแต่ละคนที่ใช้อาวุธปืนโดยไม่ควรแก่เหตุ ไม่ใช่ความผิดระดับผู้บังคับบัญชา

คำตัดสินของ ป.ป.ช. ไม่ต่างกันนักจากความเห็นของคณะกรรมการในกรณี 14 ต.ค. และพฤษภาทมิฬ ที่ลดทอนการกระทำความรุนแรงของรัฐเป็นความผิดส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ และมีนัยเรื่องการอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงปราบปรามได้ หากผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ โดยไม่ได้ตั้งคำถามถึงสัดส่วนที่เหมาะสมของความรุนแรงที่ใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐเลย

กรณีนี้ผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บ 1,600 กว่าคน ทุพพลภาพ 4 คน (ตัวเลขของ คอป.) ยังไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบ

จากการศึกษาการดำเนินการค้นหาความจริงและการพยายามเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ จะเห็นว่า เราแทบไม่มีการค้นหาความจริงเลย และไม่พุ่งเป้าไปที่การค้นหาตัวผู้กระทำผิด ซึ่งหากไม่มีการดำเนินเช่นนี้แล้ว เราคงไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนให้หยั่งรากในสังคมไทย เพราะจะกลายเป็นวัฒนธรรมลอยนวล และนี่คือการตอกย้ำกับประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า รัฐสามารถละเมิดสิทธิประชาชนได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องรับผิดชอบ และเป็นการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองผู้ไร้สิทธิ

ที่น่าสนใจอีกอัน คือ สะท้อนท่าทีของประชาสังคมไทยต่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การที่เสียงเรียกร้องของประชาชนให้มีการหาความจริงและการรับผิด ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนของไทยยังไม่หยั่งรากพอที่จะออกมายืนยันสิทธิแทนผู้อื่น พลเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยมักถูกเรียกว่าเป็นปฏิปักษ์กับความมั่นคงของชาติ และเราจะได้เห็นกรณีที่สังคมส่วนหนึ่งให้การตอบรับหรือเป็นผู้สนับสนุน ในกรณี 6 ต.ค.และพ.ค. 53

การค้นหาและการเปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจจะยังไม่ถึงกับทำให้เกิดการนำตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมาตรฐานวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ซึ่ง อ.ป๋วยได้เขียนบทความไว้ในกรณี 14 ต.ค. ว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นการ "เสียชีพ" แล้ว "เสียสิ้น"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net