Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะที่ในวันนี้ (10 มี.ค. 2559) เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์สำหรับกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองในปัตตานี ถึงแม้ว่าวันนี้จะผ่านไปโดยที่ทั้งในไทยและในโลกจะไม่ได้รับรู้ความสำคัญของมันเลย อย่างไรก็ตามวันนี้ถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญต่อประเด็นนานาชาติ เพราะมันเป็นวันที่ผู้คนมักจะจดจำว่ามีการลงนามในสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ ปี 2452 (Anglo-Siamese Treaty of 1909) ที่ทำให้ประเทศไทยมีสิทธิเป็นเจ้าอาณานิคมเหนือพื้นที่ปาตานี โดยที่ประเทศไทยในยุคสมัยนั้นคืออาณาจักรสยามได้ใช้กำลังเข้าไปยึดครองทางตอนเหนือชายฝั่งตะวันออกของรัฐมลายูก่อนหน้านี้แล้ว

วันที่ 10 มี.ค. 2452 มีความสำคัญมากกว่านั้นในบริบทนานาชาติ เพราะมันเป็นวันที่มหาอำนาจของโลกในตอนนั้นคืออาณาจักรบริเตนใหญ่ให้ความชอบธรรมต่อประเทศไทยในการยึดครองพื้นที่ปาตานี ที่น่าสนใจคือปาตานีเป็นรัฐทางตอนเหนือของมาเลย์แห่งเดียวที่ไม่มีการระบุไว้ในตัวสนธิสัญญาเอง จนถึงทุกวันนี้ปาตานีหายไปจากบนหน้าแผนที่และผู้คนในพื้นที่นี้ก็กลายเป็นชาวมลายูที่ถูกลืม อย่างไรก็ตามมีการสันนิษฐานว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปาตานีช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นสาเหตุให้ชาวบริเตนต้องการให้สยามลงนามเห็นชอบในสนธิสัญญาปี 2452 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ทำให้เกิดการขีดเส้นเขตแดนไทย-มาเลเซียในยุคสมัยใหม่มาจนถึงตอนนี้

แต่ก็มีเอกสารลับของรัฐบาลอังกฤษตั้งแต่สมัยต้นคริสต์ทศวรรษที่ 20 ที่ในตอนนี้เปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงได้แล้วอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษที่ทำให้พวกเราทราบว่าไม่เพียงแค่รัฐบาลอังกฤษรับรู้เรื่องการยึดครองปาตานีและการที่ชาวสยามกระทำสิ่งโหดร้ายต่อชาวมลายูปาตานีเท่านั้น แต่รัฐบาลอังกฤษยังปฏิเสธว่าไม่มีการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อชาวมลายู อีกทั้งยังยอมรับการยึดครองปาตานีของสยามเพื่อแลกเปลี่ยนกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและสยามอันนำมาซึ่งผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในแถบคาบสมุทรมลายูโดยการยอมรับนี้ไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับประชาชนชาวปาตานีหรือผู้นำของชาวปาตานีก่อน

จดหมายเหตุภายในของจักรวรรดิ์อังกฤษในยุคช่วงเปลี่ยนสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ยังระบุว่า เซอร์ แฟรงค์ สเวนเทนแฮม ผู้ว่าการอาณานิคมมลายูที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มองว่า "ปัญหาและการปกครองแย่ๆ ที่สยามกระทำต่อรัฐมลายู" นั้น เป็นอันตรายอย่างไร [1]

ผู้ว่าการฯ อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สามารถมองเห็นความไม่สบายใจในหมู่รัฐมลายูได้ เขาได้รับคำร้องเรียนจากผู้นำปาตานีครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2441 และอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2444 ก่อนที่ผู้นำรัฐปาตานีจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและถูกจับขังโดยสยาม โดยที่ในยุคนั้นผู้ว่าการฯ แนะนำให้ผู้นำปาตานีมีความอดทนและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง [2]

ในความเป็นจริงแล้วอังกฤษมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอิทธิพลของสยามในเขตทางตอนเหนือของรัฐมลายู แต่พวกเขากังวลเพราะแค่กลัวว่าจะมี "ภัยจากเหล่าผู้นำมลายูที่ไม่พอใจหันไปหาการคุ้มครองจากมหาอำนาจอื่น" [3] นี่เป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงนามสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ ปี พ.ศ. 2452 เพียงเพื่อที่จะไม่ให้มีการเข้าใจผิดระหว่างสยามกับอังกฤษ ราล์ฟ พาเจ็ต ทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ส่งจดหมายไปให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสยามในยุคนั้นทันทีที่มีการอนุมัติสนธิสัญญา โดยมีเนื้อความดังนี้

"ดังนั้นรัฐบาลของพระองค์ (รัฐบาลอังกฤษ) จึงขอเรียกร้องกับรัฐบาลสยามว่าจะไม่สร้างกฎหรือสัญญา ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม กับรัฐบาลต่างประเทศเกี่ยวกับพื้นที่ดินแดนในแถบคาบสมุทรมลายูที่อยู่ใต้เขตแดนทางตอนล่างของมณฑลราชบุรี หรือเกาะใดๆ ก็ตามที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ดินแดนดังกล่าวนี้ นอกจากนี้ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวยังขอระบุถึงสิทธิในการก่อสร้างหรือสร้างสัญญาเกี่ยวกับสถานีถ่านหิน สิทธิในการสร้างหรือเป็นเจ้าของอู่เรือก่อสร้างหรืออู่เรือซ่อมแซม หรือสิทธิในการยึดครองท่าเรือใดๆ ก็ตามถ้าหากว่าการยึดครองนั้นๆ มีแนวโน้มจะส่งผลดีต่อผลประโยชน์ของอังกฤษจากมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ จะไม่สามารถมอบสิทธิเหล่านี้ให้กับรัฐบาลหรือบริษัทต่างประเทศ" [4]

เป็นไปได้ว่าในถ้อยคำของสารลับของสเวนเทนแฮมในปี พ.ศ. 2444 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอังกฤษไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิหรือความชอบธรรมทางกฎหมายของชาวมลายูปาตานีเลยคือตอนที่เขาเน้นย้ำว่า "สยามไม่มีการเขียนสนธิสัญญาข้อตกลงกับ ตรังกานู กลันตัน หรือปาตานีเลย" [5] เขายังกล่าวต่อไปอีกว่า "พวกเราจะต้องตัดสินใจว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของพวกเราเองโดยการสร้างสนธิสัญญาโดยตรงกับรัฐคาบสมุทรฝั่งตะวันออกหรือด้วยวิธีการส่งเสริมอิทธิพลของสยามในที่นี้" [6] สเวนเทนแฮมยังคงแนะนำให้กลันตันและตรังกานูเข้ามาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของอังกฤษโดยที่ไม่สนใจปาตานี ถึงแม้ว่าสเวนเทนแฮมจะยอมรับว่าสยามไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายมากพอในการควบคุมปาตานีมากกว่าไปการควบคุมกลันตันและตรังกานู [7]

จนถึงปี พ.ศ. 2451 ก็มีการตัดสินชะตากรรมของปาตานี สำนักงานการต่างประเทศของอังกฤษไม่มีท่าทีว่าจะเสนอให้สยามหยุดการยึดครองพื้นที่ปาตานี เมื่อเซอร์ จอห์น แอนเดอสัน ผู้ว่าการฯ ของอังกฤษที่มาแทนสเวนเทนแฮมกล่าวขึ้นว่าเขาต้องการเห็นปาตานีกลายเป็นอาณานิคมบริติชมลายา สำนักงานการต่างประเทศก็แสดงความไม่เห็นด้วย [8]

แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่ประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมมายาวนาน สำหรับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองมลายูปาตานีแล้วอย่างน้อยสนธิสัญญานี้เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่พวกเขายังรู้สึกถึงมันได้

อะบู ฮาฟิช อัลฮาคิม สมาชิกระดับสูงของขบวนการอิสลามปลดปล่อยปาตานี (BIPP) และสมาชิกฝ่ายเจรจาขององค์กรมาราปาตานีกล่าวว่า "สนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ ปี 2452 เป็นประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามผลกระทบของมันยังคงต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งบริติชมลายาและสยามต่างก็ตัดสินใจกันโดยละเลยความเห็นของผู้ปกครองมาเลย์และประชาชนจากทั้งสองฝั่งเขตแดน มีการบังคับใช้สนธิสัญญานี้จากทั้งการหว่านล้อม ข่มขู่คุกคาม และใช้กำลังบังคับ เป็นความจริงที่ว่าชาวมาเลย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิ ความยุติธรรมและเสรีภาพของพวกเขามาจนถึงทุกวัน เพียงเพื่อยืนยันว่าสนธิสัญญาปี 2452 เป็น 'โศกนาฏกรรม' และยังคงเป็นฝันร้ายที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องสำหรับพวกเขา"

กัสตูรี มะโกตา จากองค์กรปลดปล่อยสหปัตตานีหรือพูโล (PULO) และสมาชิกของมาราปาตานีกล่าวว่า "ประวัติศาสตร์จึงเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ดังนั้นสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ ปี 2452 ถึงมีความเกี่ยวข้องอย่างสูงต่อกระบวนการสันติภาพในความขัดแย้งปาตานี"

ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) กล่าวว่า "สนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าปาตานีถูกยึดอาณานิคม กระบวนการสันติภาพจะไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้เพราะไทยเคยยึดครองปาตานีจริงและไม่ยอมรับในเรื่องนี้"

อารีฟีน โซะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) กล่าวว่า "พวกเรายอมรับกระบวนการสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาในระดับรากฐานซึ่งมาจากสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษที่ทำการตีเส้นแบ่งเขตแดนโดยไม่มีการขอความเห็นชอบจากสังคมชาวมาเลย์ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการต่อสู้จึงดำเนินมาถึงทุกวันนี้"

อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ควรลืมว่าอังกฤษมีบทบาทในการทำให้ปาตานีหายไปเหมือนไม่มีอยู่ การยอมรับให้สยามยึดครองพื้นที่ภายใต้สนธิสัญญาถือว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไทยกล่าวอ้างต่อประชาคมโลกให้เห็นตามได้ว่าความขัดแย้งเป็นเวลานับศตวรรษที่ผ่านมาในปาตานีเป็นเรื่องภายใน แต่ประวัติศาสตร์ก็พิสูจน์ว่าข้ออ้างดังกล่าวเป็นการเรื่องแต่งขึ้นมาเองทั้งนั้น

 

 

อ้างอิง

[1] National Archives, London. Document FCO 141 16286.

[2] National Archives, London. Document CO 537 4744.

[3] National Archives, London. Document FCO 141 16286.

[4] National Archives, London. Document FO 821 58. 

[5] National Archives, London. Document FCO 141 16286

[6] National Archives, London. Document FCO 141 16286.

[7] National Archives, London. Document FCO 141 16286.

[8] National Archives, London. Document FCO 141 16286.

 

ที่มา: แปลจาก The Treaty - Britain's role in covering up Thailand's southern occupation, Prachatai English, 10-03-2016 http://prachatai.org/english/node/5922

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net