Skip to main content
sharethis

หลังนำเสนอข่าวกองทุน 1MDB ที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียพัวพัน จนถูกเล่นงานหลายทาง ล่าสุดเว็บไซต์ข่าวของมาเลเซีย "เดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์" หรือ TMI ประกาศปิดตัวหลังถูกกลไกของรัฐบาลมาเลเซียบล็อกเว็บมาตั้งแต่ 25 ก.พ. และไม่ประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างธุรกิจ

หน้าแรกของเว็บไซต์เดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์ หรือ TMI เมื่อปี 2554 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

15 มี.ค. 2559 - หลังจากที่เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของเดอะ มาเลเซียนอินไซเดอร์ หรือ TMI สื่อออนไลน์แถวหน้าของมาเลเซีย ถูกบล็อกโดย "คณะกรรมการด้านการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย" หรือ MCMC โดยอ้างว่าตีพิมพ์ข้อมูลอันเป็นเท็จ ล่าสุดผู้บริหารของ TMI ประกาศยุติการดำเนินกิจการและจะปิดตัวเว็บไซต์หลังจากเที่ยงคืนเข้าสู่วันที่ 15 มีนาคม

ทั้งนี้เว็บไซต์ TMI ถูก MCMC ซึ่งเป็นกลไกควบคุมสื่อของรัฐบาลมาเลเซียบล็อกตั้งแต่ 25 ก.พ. นี้ หลังจากรายงานข่าวความไม่ชอบมาพากลที่เงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลมาเลเซีย หรือ 1MDB ซึ่งนาจิป ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นประธานที่ปรึกษากองทุน ถูกยักย้ายถ่ายโอนไปยังบัญชีเงินฝากของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยในภายหลังมีการชี้แจงว่านายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้รับเงินบริจาคโดยสมาชิกของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งไม่ใช่เงินต่างตอบแทน และได้คืนส่วนที่เหลือไปแล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สำหรับสถานการณ์ทางธุรกิจ รายงานของ WSJ เมื่อ 14 มี.ค. ระบุว่า ขณะที่ The Edge Media Group หรือ TEMG เจ้าของเว็บไซต์ TMI ก็ปรับลดพนักงานลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากสูญเสียรายได้จากการโฆษณา นอกจากนี้สิ่งพิมพ์ของเครือ TEMG ได้แก่ The Edge Weekly และ The Edge Financial Daily ก็ถูกระงับการจำหน่ายเป็นเวลา 2 เดือนเนื่องจากนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกองทุน 1MDB ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์อื่นในเครือของ TEMG ยังคงจัดจำหน่ายตามปกติ

ทั้งนี้หลังการถูกบล็อกเว็บไซต์ TMI ได้เปลี่ยนชื่อ url จาก "www.themalaysianinsider.com" เป็น "www.themalaysianoutsider.com" เพื่อเลี่ยงการถูกบล็อกในประเทศ จนกระทั่งเมื่อ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้บริหารของ TMI ได้ประกาศปิดตัวเว็บไซต์

แถลงการณ์ของ ฮอเคตัด (Ho Kay Tat) ซีอีโอของ The Edge Media Group (TEMG) เจ้าของกิจการ TMI ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า

"แม้ว่า TMI จะก้าวสู่การติดอันดับ 1 ใน 3 เว็บข่าวของมาเลเซีย เนื่องจากความกล้าหาญในการนำเสนอข่าว แต่ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนด้านธุรกิจที่เพียงพอที่จะทำให้ไปต่อได้" ฮอเคตัดระบุตอนหนึ่ง

แถลงการณ์ยังระบุว่า "เครือ TEMG มีค่าใช้จ่ายราว 10 ล้านริงกิตในรอบ 20 เดือนมานี้ นับตั้งแต่เครือ TEMG เข้ามาลงทุนใน TMI ตั้งแต่มิถุนายนปี 2557 และพวกเราไม่อยู่ในฐานะที่จะทำให้ TMI เดินหน้าต่อได้"

แถลงการณ์ของซีอีโอเครือ TEMG ระบุว่า ที่ผ่านมาได้เจรจาธุรกิจกับ 3 ฝ่ายที่อยู่ในวงการสื่อ ซึ่งสนใจที่จะซื้อกิจการ TMI และเครือ TEMG ก็ต้องการที่จะโอนกิจการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งงของการปรับโครงสร้าง TEMG นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้จัดการบริหารโดยกำหนดวัตถุประสงค์ (MBO) อย่างไรก็ตามไม่สามารถทำข้อตกลงร่วมกันได้ โดยฮอเคตัดเชื่อว่าปัญหาล่าสุดระหว่าง TMI กับ MCMC ซึ่งเป็นกลไกควบคุมสื่อออนไลน์ของรัฐบาล ทำให้เป็นการยากที่จะเจรจาปรับโครงสร้างทางธุรกิจ แม้ว่าจะได้เริ่มการเจรจามาก่อนหน้านั้นก็ตาม

ทั้งนี้พนักงาน 59 คนของ TMI จะได้รับการชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

ซีอีโอของ TEMG กล่าวด้วยว่า การปิดตัวลงของ TMI จะเป็นสิ่งย้ำเตือนผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมสื่อ รวมทั้งสาธารณชนด้วยว่า "สื่อมวลชนที่ดีไม่สามารถที่จะยืนระยะได้หากปราศจากแรงสนับสนุนจากภาคธุรกิจ และเมื่อสื่อมวลชนที่ดีต้องยุติบทบาท สังคมจะเป็นผู้แพ้"

 

ทีมงานย้ำการต่อสู้เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของมาเลเซียต้องเดินต่อไป แม้เว็บไซต์จะต้องออฟไลน์

สเตตัสสุดท้ายของทีมงาน TMI โดยภาพนี้ยังใช้เป็นภาพหน้าแรกของเว็บหลังผ่านเวลาเที่ยงคืนเข้าสู่วันที่ 15 มีนาคม หลังยุติการดำเนินกิจการของ TMI ด้วย (ที่มา: TMI)

ก่อนเวลาเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง ในสเตตัสของเพจ TMI ได้โพสต์สเตตัส "ขอบคุณชาวมาเลเซีย" โดยกล่าวขอบคุณและอำลาผู้อ่านตอนหนึ่งกล่าวว่า "เราขอขอบคุณแรงสนับสนุนจากท่าน เราหวังว่าการรายงานข่าวของพวกเราจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวมาเลเซียในการคิดเพื่อพวกเขาเองและต่อสู้ดิ้นรนเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า แม้ว่าเว็บไซต์ของเราจะต้องออฟไลน์ตั้งแต่เที่ยงคืนวันนี้"

"การต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อจะยังไม่หยุดลงไปพร้อมกับการปิดตัวของเดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์" สเตตัสของเพจ TMI ระบุ

 

ส่องสื่อออนไลน์มาเลเซียเติบโต เพราะเครือรัฐบาลผูกขาดสื่อหลัก แต่ยังเจอบีบด้วยข้อจำกัดหลายด้าน

สำหรับ TMI เริ่มเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2551 โดยในช่วงเริ่มต้นเมื่อเดือนเมษายนปี 2552 มีผู้เข้าชมเว็บ 19,000 ไอพี ก่อนที่จะเติบโตขึ้นติดอันดับ 1 ใน 3 เว็บไซต์ข่าวที่มีผู้เข้าชมสูงสุดในมาเลเซีย

นอกจากถูกบล็อกเว็บเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ปีนี้แล้ว เมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน คณะกรรมการ MCMC และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกสำนักงานของ TMI มีการควบคุมตัวผู้สื่อข่าวและผู้บริหารรวม 5 รายเป็นเวลา 1 วันเพื่อสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยการปลุกระดมยั่วยุ หลัง TMI เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการประชุมของสุลต่าน 9 รัฐ และผู้ว่าการรัฐ 4 รัฐ ที่มีการหารือการแก้ไขกฎหมายศาลชารีอะห์ และต่อมาเจ้ากรมลัญจกร ซึ่งเป็นผู้รักษาพระราชลัญจกรของประมุขมาเลเซีย ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว

อามิน อิสกันดา บรรณาธิการข่าวภาคภาษามลายูของ TMI (ประชาไท/แฟ้มภาพ)

อามิน อิสกันดา บรรณาธิการข่าวของ TMI เคยให้สัมภาษณ์ประชาไทเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2558 กล่าวถึงสาเหตุที่สื่อออนไลน์ในมาเลเซียค่อนข้างเบ่งบาน มาจากการที่สื่อหลักนำเสนอแต่ข่าวรัฐบาล ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข่าวสารที่เป็นมุมมองทางเลือก จึงทำให้คนเข้ามาอ่านสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ผู้อ่านหลักของสื่อออนไลน์ ยังเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวที่ใช้สมาร์ทโฟน และมีความตื่นตัว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้สื่อออนไลน์ของมาเลเซียมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย โดยเฉพาะการมีพื้นที่นำเสนอให้กับซีกที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลมาเลเซีย ทั้งนี้ในการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งหลังของมาเลเซียคือในปี 2551 และ 2556 พรรครัฐบาลมาเลเซีย "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional - BN) แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็สูญเสียสถานะการเป็นเสียงข้างมากในสภา 2 ใน 3 และการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2556 เป็นครั้งแรกที่พรรครัฐบาลได้คะแนนเสียงน้อยกว่าฝ่ายค้าน โดยรัฐบาลได้ 5.2 ล้านคะแนน ขณะที่ฝ่ายค้านได้ 5.6 ล้านคะแนน อย่างไรก็ตามเมื่อแบ่งตามเขตเลือกตั้งแล้วพรรครัฐบาลยังคงได้ ส.ส. มากกว่าคือ 133 คน ส่วนพรรคฝ่ายค้านได้ ส.ส. 89 คน

อย่างไรก็ตาม สื่อออนไลน์มาเลเซียยังมีข้อจำกัดทางกฎหมาย แม้จะมีความแตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกรัฐบาลควบคุมผ่านการออกใบอนุญาตปีต่อปี แต่สำหรับสื่ออนไลน์ รัฐบาลได้ปรับปรุงหน้าที่ของคณะกรรมการที่ชื่อว่า "คณะกรรมการด้านการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย" (The Malaysian Communications and Multimedia Commission) หรือ MCMC ซึ่งก่อตั้งตามกฎหมายในปี พ.ศ. 2541 ทำหน้าที่ดำเนินคดีทางกฎหมายต่อสื่อออนไลน์ รวมทั้งสั่งปิดกั้นเว็บไซต์

นอกจากนี้ยังมีการใช้ "กฎหมายว่าด้วยการปลุกระดมยั่วยุ" หรือ "The Sedition Act" ที่ประกาศใช้ในสมัยอาณานิคมตั้งแต่ พ.ศ. 2491 สำหรับใช้จัดการสื่อออนไลน์ด้วย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

The Malaysian Insider not profitable - The Edge Media Group, Astro Awani |  Published on March 14, 2016 13:56 MYT http://english.astroawani.com/business-news/malaysian-insider-not-profitable-edge-media-group-98536

Thank You, Malaysians - The Malaysian Insider, March 14, 2016 https://www.facebook.com/themalaysianinsider/posts/10153639763819633

Malaysian Insider to Close After Government Blocked It Following 1MDB Coverage, The Wall Street Journal, March 14, 201ุุ6 http://www.wsj.com/articles/malaysian-insider-news-site-closing-1457942708

The Malaysian Insider, From Wikipedia, the free encyclopedia, https://en.wikipedia.org/wiki/The_Malaysian_Insider

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net