ภาคประชาชนเตรียมเสนอสถานการณ์สิทธิไทยหลังรัฐประหาร ผ่านกลไก ‘UPR’ รอบ2

หลังจากเสร็จสิ้นกการเสวนาภาคประชาชนจากกลุ่มต่างๆ ลุกขึ้นชูป้ายข้อเรียกร้องของตนเอง

15 มี.ค. 2559  ที่โรงแรมสุโกศล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ UPR info จัดงานเสวนารอบสื่อมวลชน "บทบาทประชาคมโลกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย"  ซึ่งพูดถึงกระบวนการการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review -UPR) ของประเทศไทย โดยมีตัวแทนจาก 4 เครือข่ายร่วมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนทั้งหมด 22 ประเด็นเพื่อนำประเด็นเข้าสู่กระบวนการ UPR รอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบเข้าร่วมสังเกตการณ์และบันทึกภาพในงานเสวนาในครั้งนี้ด้วย

ปิยนุช โคตรสาร รักษาการผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ได้อธิบายถึงบทบาทประชาคมโลกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไว้ว่า UPR หรือ กระบวนการการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกทั้ง 192 ประเทศต้องเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของตนเองทุก 4 ปี รายงานฉบับนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ รายงานจากภาครัฐ รายงานจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติที่ทำงานในประเทศนั้นๆ และรายงานจากภาคประชาชน

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล จาก Asylum Access Thailand กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการ UPR ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ซึ่งพบว่าจนถึงปัจจุบันกระบวนการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในไทยอ่อนแอลงจากเดิม รายงานที่ภาคประชาสังคมหลายแห่งส่งเข้ามาในกระบวนการปีนี้ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองก็พบว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการทบทวนครั้งก่อนด้วยโดยเฉพาะประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก การลอยนวลพ้นผิดผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้อพยพ ในกระบวนการ UPR รอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ธนิษฐ์ นีละโยธิน ตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาสังคม ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พูดถึงเหตุการณ์ภายหลังรัฐประหารปี พ.ศ.2557 สถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเริ่มเลวร้ายลงโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวพันกับการเมืองและจังหวัดชายแดนภาคใต้

"หลังการรัฐประหารมีการใช้กฎหมาย เช่น กฎอัยการศึกและประกาศคำสั่งคสช. ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสื่อ และประชาชน มีการเรียกผู้เห็นต่างจากรัฐไปปรับทัศนคติและควบคุมด้วยอำนาจพิเศษ ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนอ้างว่ามีการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว มีการประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร มีการฟ้องหมิ่นประมาทด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 โดยมีการฟ้องคดี 112อย่างน้อย 30 คดี และมีการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนประกาศคสช. ด้วยการแสดงออกโดยสันติอย่างน้อย 50 คน" ธนิษฐ์ กล่าว

"สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเหตุความไม่สงบมามากกว่า 12 ปี โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายพิเศษสามฉบับ คือ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อันเป็นผลให้มีการจับกุมพลเรือนตามอำเภอใจและการควบคุมตัวเป็นเวลานานมากถึง 37 วัน โดยไม่นำผู้ละเมิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีการบังคับตรวจดีเอ็นเอ โดยเฉพาะล่าสุดมีการตรวจดีเอ็นเอของเด็กอายุห้าเดือน รวมถึงมีการทรมานอย่างเป็นระบบและกว้างขวาง อย่างน้อย 54 ราย ตามบันทึกสถิติปี 2557-2558 และการบังคับบุคคลให้สูญหาย5ราย ในปี2254-2559" ธนิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม

ธนิษฐ์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะว่า รัฐจะต้องยกเลิกหรือทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ นำผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อขจัดปัญหาการลอยนวลพ้นผิด ลงนามและให้สัตยาบันตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้ง 9 ฉบับ และอนุวัติกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

จันทร์นภา คืนดี ตัวแทนจากเครือข่ายสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลได้เล่าถึงอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ว่าภายหลังรัฐประหาร คสช.ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ตามแผนแม่บทป่าไม้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐบังคับไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ทำกินโดยไม่มีการจัดสรรที่อยู่ใหม่ ทำลายผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน

นอกจากนั้นยังออกคำสั่ง ฉบับที่ 3,4 และ 9/2559 ยกเว้นกฎหมายผังเมืองสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายพลังงานทั้งเรื่องปิโตรเลียม และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเปิดช่องให้ดำเนินโครงการขนาดใหญ่กว่า 70 โครงการ โดยไม่ต้องรอผลการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ElA) รวมทั้งการเดินหน้า พ.ร.บ.แร่ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ลดขั้นตอนการอนุมัติและสกัดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้ทั้งกฎอัยการศึก มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ พ.ร.บ.การชุมนุนสาธารณะ การใช้อำนาจเรียกตัวชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ไปปรับทัศนคติ รวมทั้งการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ 

"ปัญหาการคุกคามยิ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น ปรากฎการณ์การปะทะกันระหว่างทหารกับชาวเลหู่ และการใช้กำลังของกลุ่มนายทุนกับชาวเลจากหาดราไวย์ เป็นต้น" จันทร์นภา กล่าวเพิ่มเติม

จันทร์นภา ได้ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นดังกล่าวไว้ว่า รัฐไทยควจจะเพิกถอนโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกลไกและกระบวนการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งในระดับนโยบายและระดับท้องถิ่น ชุมชนจะต้องเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนก่อนดำเนินโครงการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการคุ้มครอง ชดเชยเยียวยาจากรัฐและผู้ประกอบการอย่างเป็นธรรม

เคท ครั้งพิบูลย์ ตัวแทนจากเครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีได้อธิบายสรุป 8 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษย์ชน ได้แก่ สิทธิเด็ก สิทธิผู้พิการ สิทธิผู้สูงอายุ สิทธิของผู้หญิง สิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิถีที่หลากหลาย สิทธิของพนักงานบริการ สิทธิของผู้หญิงที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด สิทธิของผู้หญิงและเยาวชนหญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี และสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย โดยเห็นว่าควรได้รับการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายบางฉบับ และรวมถึงการสนับสนุนให้ลงนามในปฏิญาสากลระหว่างประเทศที่คุ้มครองเรื่องต่างๆ เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ เคท ยังได้ยกตัวอย่างข้อเสนอด้านสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีที่หลากหลายไว้ว่า จากการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิในประเด็นเรื่องเพศภาวะไป ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นรัฐไทยจะต้องคงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักประกัน ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถี เปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายและนโยบาย เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

เคท ยังกล่าวต่อในประเด็นสิทธิผู้พิการอีกว่า รัฐควรบังคับใช้กฎหมายทั้ง 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิคนพิการให้มีประสิทธิภาพ ขจัดความไม่โปร่งใสและส่งเสริมธรรมาภิบาล รวมทั้งต้องเร่งสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่ดำเนินการโดยองค์กรด้านคนพิการ

ต่อมาคือข้อเสนอจากตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นบ้านแห่งประเทศไทย "พนม ทะโม" ในฐานะสิทธิของกลุ่มคนเปราะบางในสังคม โดยพูดถึงการที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายของชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย คนไร้สัญชาติ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย ทำให้เขาต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติ และมีความเสี่ยงต่อการจับกุม กักกัน การผลักดันสู่ภยันตราย และการแสวงหาผลประโยชน์และยังประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างจำกัด และสามารถแสวงหาการเยียวยาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เพียงเล็กน้อย

พนม สรุปข้อเสนอแนะว่า รัฐจะต้องรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ และรับรองร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองตามกลไกสภานิติบัญญัติ เพื่อส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการตนเอง ยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่กระทบต่อวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

ในส่วนผู้ลี้ภัย พนมกล่าวว่า รัฐจะต้องจัดทำและดำเนินการในการกำหนดขั้นตอนการขอสิทธิที่จะมีที่ลี้ภัย และจัดให้ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยได้รับรองสถานะให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ แก้ไขนโยบายการควบคุมตัวเพื่อประกันว่ารัฐจะใช้วิธีควบคุมตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้นแต่จะใช้มาตรการทดแทนอื่นๆ แทนการควบคุมตัว และต้องเคารพมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการส่งกลับ ซึ่งต้องเป็นไปโดยสมัครใจอย่างมีศักดิ์ศรีและปลอดภัย

ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมในกระบวนการการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย (Universal Periodic Review -UPR) ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษย์ชนต่อรัฐบาลให้ดำเนินการพัฒนาตามพันธกิจและคำมั่นสัญญาในการเคารพปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษย์ชนเพิ่มเติมจากการทบทวบสิทธิมนุษย์ชนรอบที่ 1 ในปีพ.ศ.2554 ที่ผ่านมา ใน 22 ประเด็น ดังนี้ 1.สิทธิในที่ดินทำกินในประเทศไทย  2.การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี  3.การบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิมุษยชน(เขื่อน) 4.เหมืองแร่ ปิโตรเลียม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน 5.สิทธิในสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ : ผู้หญิงและเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ผู้หญิงใช้ยาเสพติดชนิดฉีด พนักงานบริการหญิง ผู้หญิงข้ามเพศ และสิทธิในการทำแท้งที่ปลอดภัย 6.ความขัดแย้งกันทางอาวุธ และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ 7.สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย 8.สิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ 9.สิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิถีที่หลากหลายในประเทศไทย 10.ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยในประเทศไทย 11.สิทธิเด็กในประเทศไทย 12.สิทธิผู้หญิง 13.สิทธิของผู้พิการในประเทศไทย 14.สิทธิผู้สูงอายุในประเทศไทย 15.เสรีภาพในความคิดและการแสดงออกเสรีภาพในการชุมนุมหรือการรวมตัวสมาคม 16.การบริหารงานยุติธรรมและศาลทหาร 17.การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย 18.สิทธิมนุษยชนศึกษา และการเข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารกฎหมายระหว่างประเทศ  19.โทษประหารชีวิตในประเทศไทย 20.การปฏิรูปเชิงสถาบัน: การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 21.การประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และข้อสุดท้ายคือผลกระทบเชิงลบของข้อตกลงทางการค้าระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคต่อประเด็นด้านสาธารณสุข

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท