Skip to main content
sharethis

<--break- />

เมื่อพูดถึงการ ‘อุ้มหาย’ หรือ การบังคับสูญหาย ดูเหมือนภาพตัวแทนสำคัญของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น สมชาย นีละไพจิต ทนายความนักปกป้องสิทธิที่ถูกอุ้มหายไปครบ 12 ปีพอดีในเดือนมีนาคมปีนี้

สุนัย ผาสุก องค์กรฮิวแมนท์ไรท์ วอทซ์ (HRW) ให้ข้อมูลว่า คดีของทนายสมชายเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งของปัญหาการบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทย  สถิติกรณีบังคับสูญหาย 20 ปีที่ผ่านมามีอย่างน้อย 82 คดี ที่เป็นคดีเป็นที่รับรู้เป็นที่รู้จักของสังคม เช่น คดีทนายสมชาย คดีบิลลี่ คดีผู้นำแรงงานนายทนง โพธิ์อ่าน ทุกคดีหาตัวไม่เจอ หาคนผิดไม่ได้

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของเขาออกมาขับเคลื่อนคดี และทำงานสร้างมาตรฐานในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยาวนานจนกระทั่งปัจจุบันเธอเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และในวาระครบรอบ 12 ปีการสูญหายของสมชายในปีนี้ เธอและองค์กรระหว่างประเทศได้ลุกขึ้นรณรงค์ผลักดันให้รัฐไทยลงสัตบรรณในกฎหมายระหว่างประเทศที่เธอมองกว่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้  

นั่นคือ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองบุคคลทั้งมวลจากการบังคับให้หายสาบสูญโดยถูกบังคับ

ที่น่าสนใจคือ อังคณาระบุว่าหลักการในสัตยาบรรณดังกล่าวจะช่วยประกันสิทธิของพลเมืองในยุครัฐประหารด้วย เพราะจะเห็นได้ว่าคนทั่วไปหรือพลเมืองผู้แอคทีฟทางการเมืองหลายต่อหลายคนมักถูกเจ้าหน้าที่อุ้มหายไป อย่างน้อย 7 วัน กรณีล่าสุดที่โด่งดังคือ ผู้ดูแลเพจเปิดประเด็น ที่ถูกทหาร-ตำรวจกว่า 30 นายควบคุมตัวไปโดยไม่เปิดเผยสถานที่ ก่อนหน้านี้ก็มี ธเนตร อนันตวงษ์ นักกิจกรรมทางการเมือง รวมถึง นายฐนกร ศิริไพบูลย์ หนุ่มโรงงานเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง พวกเขาหายไปนาน ไม่มีใครรู้เห็น ก่อนที่ (โชคดี) ถูกปล่อยตัวออกมา

“การบังคับสูญหาย ไม่ใช่แค่การอุ้มฆ่า แต่คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมายปิดบังสถานที่ ปกปิดชะตากรรม เช่น การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดการหายสาบสูญของบุคคลในประเทศไทยตลอดมา เช่น 14 ตุลา 16, พฤษภาทมิฬ 35  เหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่เห็นชัดเจน คือ มีคนเห็นรูปคนที่นอนอยู่บนถนนแต่ปรากฏว่าไม่เจอร่าง แล้วร่างคนนั้นหายไปไหน? ดูจากรูปคนบาดเจ็บไม่น่าจะวิ่งหนีหรือลุกเดินไปไหนได้ เหตุการณ์วันนั้นอยู่ภายใต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพราะในช่วงพฤษภาทมิฬมีการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย และรัฐเข้าไปราบปราม ฝ่ายผู้ชุมนุมเผารถเมล์ ประท้วงสถานที่ราชการ และรัฐใช้กำลังปราบปรามแน่นอน เพราะฉะนั้นพื้นที่อยู่ในควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ” อังคณา กล่าว

ดังนั้น คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าเรื่องการบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ใกล้ตัวแอคทีฟซิทิเซ่นทั้งหลายมากกว่าที่คิด

หลักประกันขั้นต่ำในอนุสัญญา เปิดเผยสถานที่คุมขัง–ญาติมีสิทธิทราบ ‘ความจริง’

การแก้ไขปัญหาการบังคับสูญหายในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา แม้รัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองบุคคลทั้งมวลจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ตั้งแต่ 9 ม.ค.2555 แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมาย ทำให้รัฐบาลไทยต้องแก้กฎหมายเดิม หรือออกกฎหมายใหม่ที่มีหลักการลักษณะเดียวกับอนุสัญญา

อังคณาสรุปหลักสำคัญของอนุสัญญาดังกล่าวไว้ ดังนี้

·         สิทธิที่จะทราบ “ความจริง” เป็นสิทธิของครอบครัวญาติมิตรของเหยื่อที่จะทราบว่าคนที่ถูกจับกุมมีชะตากรรมอย่างไร เสียชีวิตอย่างไร ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเอาไปทำอย่างไร กรณีที่มีการเปิดเผยความจริงแล้วทำให้เกิดความเศร้าสะเทือนใจต่อสังคมหรือสาธารณะก็อาจจะปกปิดได้บ้าง แต่ปกปิดทั้งหมดไม่ได้

·         เรื่องการชดเชยนั้นยึดหลักการคืนสู่ความจริง หากเหยื่อยังอยู่เขาจะอยู่อย่างไร มีสถานะอย่างไร ต้องชดใช้เขาเหมือนกับว่าเขายังมีชีวิตอยู่ หรือจนกว่าครอบครัวจะพึงพอใจ

·         มี 2 กรณีที่นิรโทษกรรมไม่ได้ 1.การบังคับสูญหาย 2.ความผิดทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศในช่วงของความขัดแย้ง ช่วงสงคราม ไม่สามารถจะนิระโทษกรรมได้ ไม่มีอายุความ จนกว่าจะพบเจอร่างผู้สูญหาย หรือพบผู้สูญหายจึงจะเริ่มวันนับคดีความ

·         รัฐบาลต้องให้มีกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้การบังคับบุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรม มีการกำหนดโทษผู้กระทำผิด และให้มีการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ

·         ทำให้มีกระบวนการตรวจสอบ ประเทศไทยจะมีคณะกรรมการตามอนุสัญญาฯ ซึ่งรัฐบาลต้องส่งรายงานต่อสหประชาชาติ ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็ต้องส่งรายงานเช่นกัน

FREEDOM
Ferenc Kiss
Szeged, Hungary

หันมองในบ้าน ความ (ไม่) คืบหน้าในการผลักดันกฎหมายภายใน

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมีพันธกรณีที่สำคัญต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ได้ให้สัตยาบรรณไว้แล้ว ขณะที่เรื่องบังคับสูญหายยังไม่ได้ลงสัตยาบัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2557-2558 กระทรวงยุติธรรมจึงได้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... ที่มีการนำเอาหลักการสำคัญตามอนุสัญญา 2 ฉบับ มายกร่างกฎหมายในประเทศ

อังคณา กล่าวว่า มีเรื่องน่ากังวลในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ 2 เรื่องสำคัญ คือ

1. คณะกรรมการพิจารณาคดี เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมด เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฯลฯ ซึ่งคดีส่วนใหญ่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นการเลือกกรรมการจึงต้องเป็นหน่วยงานที่มีความอิสระโปร่งใส จึงเห็นว่าสัดส่วนคณะกรรมการที่ระบุใน ร่าง พ.ร.บ.ยังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาที่ไทยได้ลงนามไว้ 

2.เรื่องผู้บังคับบัญชา ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ยังมีช่องว่างและมีความไม่ชัดเจน ในหมวด 1 มาตรา 9 ที่พูดถึงผู้บังคับบัญชาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ความหมายของผู้บังคับบัญชายังไม่ระบุชัดเจนว่า หมายถึงใคร ผู้บังคับบัญชาระดับไหน

“การตั้งอนุกรรมการเพื่อช่วยสืบสวนสอบสวน คือเรายอมรับว่า เราต้องการสืบสวนสอบสวน เอาตำรวจมาไม่พอ เอาทหารมาด้วย แล้วถามว่าระดับ ผบ.ตร. ญาติมีสิทธิสงสัยไหมว่าเขาจะปกป้องเราได้ไหม มีความกลัวไหม  คุณตั้งหลักฐานไว้แล้วสุดท้ายก็เข้ามากรรมการใหญ่อีก แล้วกรรมการชุดใหญ่เป็นผู้ที่ดูเนื้อหาทั้งหมด แล้วทำไมคุณถึงไม่เอากรรมการตามอนุสัญญา หมวด committee ซึ่งระบุกระทั่งว่าต้องมี gender balance พ.ร.บ.ตัวนี้ยังไม่ไปถึงจุดนั้นเลย จึงอยากให้รัฐบาลให้สัตยาบันกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลักก่อน เพื่อกฎหมายภายในจออกมาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจริงๆ” อังคณา กล่าว

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐอย่าง กรมคุ้มครองสิทธิได้ออกมาตอบข้อกังวลใจดังกล่าวในเบื้องต้น สมชาย คมกริส ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า การที่คณะกรรมการประกอบด้วยส่วนหัวของหลายหน่วยงานนั้นเพื่ออำนวยการให้การดำเนินการเป็นไปได้โดยสะดวก เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายส่วน

“คณะกรรมการนั้นมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ถ้าไม่ได้เอาระดับกระทรวงมา การสั่งการมันจะเป็นไปได้ยาก เพราะคณะกรรมการเหล่านี้มีอำนาจในการที่จะตั้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบคดีอยู่แล้วได้ด้วย หรือสามารถสั่งยกเลิกคณะที่ตรวจสอบเดิมได้ทั้งหมดด้วย” สมชายกล่าว

“สิ่งที่อาจารย์อังคณาเสนอ ในเรื่องสัดส่วนของกรรมการไม่มีผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมด้วย อาจนำไปเสนอในชั้นสภา หรือชั้นกฤษฎีกาต่อไป การที่ตัว พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมาได้ เรามีการประชุมจัดการแก้ไขจากคณะกรรมการ 6  ครั้งด้วยกัน และผ่านการวิพากษ์ในเวทีประชาพิจารณ์อีก 2-3 ครั้ง อะไรก็แล้วแต่ที่มันยังไม่เคยมีมา เช่นกฎหมายฉบับนี้ พอมีมาตอนแรกอาจไม่ดีทั้งหมดนัก ตอนคณะกรรมการฯ ทำคิดว่าครอบคลุมได้เยอะ แต่ว่าอาจจะมีสถานการณ์ใหม่ๆ ที่กฎหมายต้องพัฒนาตาม แต่ถึงตอนนี้เรามั่นใจว่ามันครอบคลุมอนุสัญญาฯ ที่เราทำระหว่างประเทศ” สมชายกล่าว          

อังคณา กล่าวว่า การแสดงความห่วงใยของนานาชาติ เมื่อประเทศไทยไปยืนอยู่ในเวทีโลกนี้คือความสง่างามของประเทศไทย ไทยเป็นอธิปไตยก็จริง แต่ความสง่างามต่อนานาประเทศนี้ก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะปี 59 นี้ ประเทศไทยก็หวังที่จะเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงของสหประชาชาติ เพราะฉะนั้นประเทศไทยเองไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร ถ้าหวังจะมีพื้นที่ ที่ยืนในสหประชาชาติต้องแสดงเจตจำนงให้ชาวโลกเห็นว่าประเทศไทยเคารพหลักการสากล เคารพหลักสิทธิมนุษยชน

12 ปีทนายสมชายหายตัว วัฒนธรรม ‘คนผิดไม่ต้องรับโทษ’

เหตุการณ์การบังคับสูญหายในประเทศไทย สถานการณ์เหล่านี้มักจะเกิดกับนักสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานปกป้องสิทธิให้แก่ผู้คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

คดีทนายสมชาย ชนวนความขัดแย้งเกิดจาก ทนายสมชายรับว่าความให้ 5 ผู้ต้องหาคดีปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่4 ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดร้องเรียนว่าถูกนายตำรวจชุดจับกุมซ้อมจนได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วยวิธีทารุณต่างจนกระทั่งต้องยอมรับความผิด ทนายสมชายจึงทำเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อศาล พร้อมๆ กันนั้นก็ทำหนังสือร้องเรียนพฤติกรรมของตำรวจชุดจับกุม ต่อประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อัยการสูงสุด ผบ.ตร. รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

การกระทำของทนายสมชายถือเป็นการตีแผ่ด้านมืดของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องบางคน แสดงความไม่พอใจ จนไม่นานระหว่างการสู้คดีเรียกร้องความเป็นธรรม ทนายสมชายก็ถูกอุ้มหายไปช่วง 2 ทุ่มกว่าวันที่ 12 มี.ค.47 ย่านถนนรามคำแหง ซึ่งการต่อสู้คดี 12 ปี จนถึงปัจจุบันก็ไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ ซึ่งก็ไม่ต่างจากคดีของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆในประเทศไทย ที่มีชะตากรรมเช่นเดียวกับคดีทนายสมชาย

“กระบวนการกฎหมายในประเทศไทย มีความเข้าใจผิดว่าคดีนายสมชาย นีละไพจิตร ไม่เป็นคดีฆาตกรรม หรือเป็นการบังคับให้สูญหาย แต่ศาลพิจารณาว่าเป็นคดีปล้นทรัพย์และข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งคดีนี้มีโทษเพียงความผิดสถานเบามากเมื่อเทียบกับการบังคับให้สูญหาย” Kingsley Abbot ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล,ICJ กล่าว

“ขอสรุปประสบการณ์การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมคดีหน่วงเหนี่ยว กักขังทนายสมชาย นีละไพจิตร ว่ามันไม่ใช่เหตุผลที่จะรับฟังได้ว่า รัฐไม่อาจให้ความเป็นธรรมเพราะไม่มีศพ หรือเพราะไม่มีกฎหมาย หรือเพราะผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มันไม่ใช่เหตุผลที่จะรับฟังได้ว่า การชดเชยด้วยเงิน ไม่สามารถทดแทนความยุติธรรม และความผิดชอบของรัฐ” อังคณา กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net