รายงาน: หุ่นยนต์-วิดีโอคอล เอื้อคนพิการ-คนป่วย ใช้ชีวิตนอกบ้าน 'ในบ้าน'

เทคโนโลยีที่ทำให้การศึกษา-การแพทย์เป็นไปได้สำหรับทุกคน แม้มีขีดจำกัดด้านร่างกาย ‘อัลลิ มาร์ติน’ เรียนหนังสือจากบ้านโดยอาศัยหุ่นยนต์ และไอแพด หรือ ‘อากิระ ฟุจิซาวา’ ที่หาหมอผ่านวิดีโอคอล


Ari Martin, West Bend Wisconsin from AJAMAT on Vimeo.
คลิปวิดีโอการไปโรงเรียนของมาร์ติน


ภาพหน้าจอจากคลิปการไปโรงเรียนของมาร์ติน

อัลลิ มาร์ติน เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เธอเป็นคนดังที่ทุกคนรู้จัก ในตอนเช้าพ่อของเธอจะช่วยทำกิจวัตรประจำวันให้กับเธอ เพื่อให้เธอพร้อมที่จะ 'ไปโรงเรียน'

มาร์ติน เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ชื่อว่า Spinal Muscular Atrophy (SMA) ซึ่งส่งผลให้เมื่อเวลาผ่านไป กล้ามเนื้อของเธอจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ปัจจุบันเธอนั่งไม่ได้ เดินไม่ได้ คลานไม่ได้ หรือแม้แต่การหายใจก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ แต่ถึงแม้ปัญหาสุขภาพของเธอจะมากมายเสียเหลือเกิน เธอก็ยังสามารถ 'ไปโรงเรียน' กับผู้ช่วยของเธอได้

หุ่นยนต์โดยบริษัท ดับเบิลโรโบติกส์ ผู้ช่วยของเธอ ซึ่งเธอตั้งชื่อว่า โรบอติก้า เคลื่อนไหวโดยอาศัยแกนหมุนด้านล่าง มันสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระด้วยรีโมทคอนโทรล ที่เธอสามารถควบคุมมันได้จากที่บ้าน และต่อเชื่อมกับไอแพด นั่นช่วยให้เธอสามารถสื่อสาร เรียนหนังสือ หรือแม้แต่คุยโต้ตอบกับครู และเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่โรงเรียนได้ อีกทั้งครู และเพื่อนๆ ของเธอ ก็สามารถสื่อสารโต้ตอบกับเธอได้เช่นกัน

บริษัทดับเบิลโรโบติกส์ ผลิตหุ่นยนต์ตัวนี้โดยมุ่งหวังให้เกิดการสื่อสารทางไกล ในหลายๆ โรงเรียน ดับเบิลโรโบติกส์ได้รับอนุญาตให้สามารถใช้ได้ เพื่อให้เด็กๆ ที่ไม่สามารถมาโรงเรียนได้เรียนหนังสือจากที่บ้านของพวกเขาเอง

เดวิด แคน ซีอีโอของบริษัทกล่าวว่า การใช้ดับเบิลโรโบติกส์สามารถแก้ปัญหา เมื่อเด็กๆ ไม่สามารถเดินทางมาเรียนที่โรงเรียน แถมการใช้หุ่นยนต์นี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ เขากล่าวว่า ปัจจุบันมีหุ่นยนต์กว่า 300 ตัว ทำงานในโรงเรียนต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา

ครูคนหนึ่งของมาร์ตินกล่าวว่า มันมีประโยชน์มากในการช่วยเหลือเด็กๆ ในด้านการเรียน มันทำให้พวกเขาสามารถทำกิจกรรมต่างพร้อมกับเพื่อน แม้จะอยู่ที่บ้าน ไม่ว่าจะเขียน วาดรูป ร้องเพลง รวมทั้งเธอยังสามารถเคลื่อนไปรอบห้อง เพื่อสำรวจสิ่งต่างๆ ได้ เด็กทุกคนเห็นมันเป็นเรื่องปกติ พวกเขาเล่น พูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกับเธอเหมือนเธอเป็นบุคคลหนึ่งที่อยู่ในห้อง ซึ่งเธอก็ทำทุกอย่างเช่นเดียวกับเพื่อนๆ เหมือนว่าสิ่งเหล่านี้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของพวกเขาไปเสียแล้ว

ก่อนที่โรบอติก้าจะถูกนำมาใช้ พวกเขาใช้ไอแพด และแท่นวางเพื่อให้มาร์ตินได้เรียนหนังสือจากที่บ้าน ซึ่งต้องอาศัยใครบางคนคอยยกมัน ขยับมันไปเรื่อยๆ ตามวิชาที่เธอเรียน และแน่นอนบางครั้งเธอมักถูกหลงลืมไว้บนโต๊ะ ขณะที่เพื่อนๆ ย้ายโต๊ะไปแล้ว ต่างจากโรบอติก้าที่มาร์ตินสามารถควบคุมตามความต้องการได้ว่า อยากจะเรียนรู้อะไร อยากจะไปตรงไหน หรือต้องการที่จะพูดคุยกับใคร

เส้นสีแดงที่พื้นเป็นเหมือนเส้นนำทางที่นำเธอไปยังที่ต่างๆ ในห้องเรียน ทำให้เธอไม่มีปัญหากับการค้นหาสิ่งรอบๆ ตัวเลยแม้แต่น้อย

พ่อของเธอกล่าวว่า เมื่อก่อนเธอมักรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเพื่อน หรือส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่โรงเรียน แต่เมื่อมีโรบอติก้า เธอมีความสุขขึ้น และรู้สึกว่า ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเหล่านั้น เขาหวังว่า ในอนาคตโรงเรียนอื่นๆ จะเห็นความสำคัญมัน และนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในโรงเรียน เพื่อทำให้สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้

ขณะที่แม่ของเธอเล่าว่า หลังเลิกเรียนเธอมักจะเล่าถึงเรื่องระหว่างวันที่โรงเรียนให้ฟังเสมอ เธอตื่นเต้นมากกับสิ่งใหม่ๆ ที่ได้เจอที่โรงเรียน เหมือนๆ กับเด็กคนอื่นทั่วไป

รักษาทางไกล

นอกจากกรณีของมาร์ตินแล้ว ในประเทศญี่ปุ่นก็ยังมีการนำเทคโนโลยีลักษณะนี้มาใช้ ซายากะ ยามาซากิ พยาบาลวัย 37 ปี ออกเดินทางเยี่ยมผู้ป่วยที่อาศัยอยู่บนเขาห่างไกลจากตัวเมือง โดยอาศัย วิดีโอคอลผ่านแท็บเล็ตเพื่อประสานให้หมอ และผู้ป่วยได้สื่อสารกัน โดยไร้ปัญหาด้านระยะทาง

อากิระ ฟุจิซาวา ชายชรานั่งอยู่ใต้โคทัตสึ ซึ่งเป็นโต๊ะให้ความร้อนที่คลุมด้วยผ้านวม เขาโชว์แผลไฟลวกที่ขาให้หมอดู ผ่านการวิดีโอคอล จนได้รับการยืนยันแล้วว่าไม่ใช่บาดแผลที่น่าเป็นห่วง และไม่มีอะไรน่ากังวล

ฟุจิซาวา เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีรักษาทางไกล หรือการดูแลทางไกล ซึ่งทำให้การรักษา หรือการติดต่อทางการแพทย์นั้นสะดวกสบาย

จากผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นในปี 2557 พบว่า มีเพียงโรงพยาบาล 18 แห่ง และคลินิก 544 แห่งจากทั้งประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้การรักษาทางไกล แต่เพราะประโยชน์ที่มีของมัน จึงทำให้กระทรวงออกประกาศในเดือนสิงหาคมว่า การรักษาทางไกลจะไม่ถูกจำกัดสำหรับคนไข้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอีกต่อไป

ขั้นตอนการรักษาเริ่มจากผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลในครั้งแรก และหลังจากนั้นสามารถเลือกรับวิธีการรักษาทางไกล ซึ่งการรักษาชนิดนี้ได้รับการรับรองในระบบประกันสุขภาพอีกด้วย

บริษัท เอ็มอาร์ที บริษัทจัดหางานสำหรับแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแพทย์กว่า 1,300 สถาบัน ที่ลงชื่อเข้าร่วมในแผนบริการรักษาทางไกลนี้ และตั้งเป้าหมายว่าจะมีสถาบันที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 แห่ง ในอีกสามปีข้างหน้า

“หากมีการใช้อย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาและลดภาระของครอบครัวที่ต้องการการรักษาพยาบาลและจะทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไป” คาซูฮิโร่ ฮารา ประธานสมาคมการรักษาทางไกล กล่าว

แปลและเรียบเรียงจาก
Ari Martin, West Bend Wisconsin
https://vimeo.com/156705347

Medical industry signals interest in telemedicine
http://www.japantimes.co.jp/news/2016/03/16/national/social-issues/medical-industry-signals-interest-telemedicine/#.VuuCgeS1WHT

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท