Skip to main content
sharethis

18 มี.ค.2559 ที่สำนักอัยการสูงสุด นายบรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ตัวแทนกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 รวม 6 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุดเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ เรียกร้องให้อัยการสูงสุดเร่งดำเนินการฎีกาคดีดังกล่าวในชั้นศาลฎีกา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างยกฟ้องไปก่อนหน้านี้ (อ่านหนังสือฉบับเต็มด้านล่าง)

ทั้งนี้ คดีดังกล่าว พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาสืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย.- 19 พ.ค.2553

บรรเจิดกล่าวว่า ญาติผู้เสียชีวิตต้องการต่อสู้ให้ถึงที่สุดใน 3 ศาล ส่วนหากศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเช่นไรก็น้อมรับ แต่ญาติผู้ตายก็จะยังคงหาช่องทางต่อไปในการเอาผิดต่อจำเลยทั้ง 2 คนในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบเบื้องต้นต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าวที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 90 รายบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

“เราไม่อยากเห็นคนตายสูญเปล่า โดยไม่มีใครรับผิดชอบ เข้าใจว่าต้องอโหสิ ให้อภัยกัน แต่ว่าเราก็อยากเห็นการพิจารณาคดีดำเนินไปถึงที่สุด ให้ญาติที่เขาสูญเสียหลายๆ ครอบครัวเขาได้เห็นว่ามีความยุติธรรมกับผู้สูญเสียบ้าง เราเห็นคดีต่างๆ ของคนใหญ่คนโตเงียบไปก็เข้าใจ แต่ของพวกเรามันมีจำนวนมาก ให้ญาติๆ ได้ใจชื้นว่าเอาคนผิดมาลงโทษได้ ส่วนจะนิรโทษกรรม จะให้อภัยกันทีหลังก็ว่ากันได้ในทางข้างหน้า แต่ไม่ใช่เงียบหายไปเลย” บรรเจิดกล่าว

บรรเจิดยังกล่าวอีกว่า ในวันที่ 10 เม.ย.ปีนี้จะมีการสกรีนเสื้อใบหน้าผู้ตายในวันดังกล่าว ซึ่งนำมาจากปกหนังสือ ‘10 เมษา คนที่ตายมีใบหน้าคนที่ถูกฆ่ามีชีวิต’ เพื่อแจกจ่ายให้ญาติผู้สูญเสียได้เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะมีการจัดกิจกรรมไว้อาลัยตามปกติซึ่งญาติจัดกันทุกปี และหวังว่าจะสามารถจัดได้เนื่องจากไม่ใช่กิจกรรมเรียกร้องปลุกระดมทางการเมือง เพียงรำลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไป

ด้านโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความในคดีนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า วานนี้ (17มี.ค.) เป็นวันครบกำหนด 1 เดือนที่ต้องยื่นฎีกาหลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ทราบว่าทางพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ1 ที่เป็นโจทก์ได้ยื่นขอขยายเวลาฎีกาอีก 1 เดือนเพื่อรอผลว่าอัยการสูงสุดจะอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติตามกฎหมาย เนื่องจากคดีอาญานั้นหากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจะไม่สามารถฎีกาได้ยกเว้นได้รับการอนุมติจากอัยการสูงสุด ขณะที่วันนี้ตัวแทนของสำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้ชี้แจงกับญาติที่ยื่นหนังสือว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้อยู่ และคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาว่าจะฎีกาหรือไม่ในเร็วๆ นี้

 

เรื่อง ขอความเป็นธรรม

เรียน ร้อยตำรวจตรีพงษ์นิวัตน์ ยุทธภัณฑ์บริการ อัยการสูงสุด

อ้างถึง (1) คดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2911/2557 ระหว่างพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ1 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายสมร ไหมทอง ที่1 และนางหนูชิต คำกอง ที่2 โจกท์ร่วม กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำเลย

(2) คดีหมายเลขดำที่ อ.1375/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2917/2557 ระหว่างพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ1 สำนักงานอัยการสูงสุดกับโจทก์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลย

สิ่งที่ส่งมาด้วย (1) สำเนาคำพิพากษศาลอาญา อ.4552/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2911/2557 คดีหมายเลขดำที่ อ.1375/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2917/2557 ฉบับลงวันที่ 28 สิงหาคม 2557 พร้อมความเห็นแย้งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

(2) สำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 961-962/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 13061-13062/2558 ฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2558

(3) สำเนาคำพพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร โจทก์ กับ ร้อยตำรวจเอกทวีพงษ์ คงเผ่าพงษ์ จำเลย

(4) สำเนาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.264/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 737/2556 ระหว่างนางพัชนีวรรณ หรือ วิภา พิณทอง ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ 1 กรมที่ดินที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี

(5) สำเนาคำวิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 เรื่องคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

 

ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา กรณีสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมให้ใช้กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึง 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้ประชาชนถูกยิงด้วยอาวุธปืนของฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งปรากฏจากคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลว่า ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึง 19 พฤษภาคม 2553 ถูกยิงด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งของศอฉ.จะนำไปสู่การสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษและส่งสำเนาต่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาดังกล่าวข้างต้น ต่อมาปรากฏว่าศาลอาญาได้มีคำพิพากษาไม่มีอำนาจสอบสวนคดีดังกล่าว โดยคดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นคดีอยู่ในอำนจการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตินั้น

ด้วยญาติผู้สูญเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในเหตุกรรณ์ชุมนุมได้ทราบว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติไม่ชี้มูลความผิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และคดีที่มีการดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องด้วยนั้น และคดีอยู่ระหว่างฎีกาและคดียังไม่ถึงที่สุด

เนื่องจากปรากฏว่า ศาลฎีกา ศาลปกครอง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยมีคำพิพากษาและคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไว้อย่างชัดเจนแล้วว่ามีอำนาจหน้าที่ไต่สวนการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งความผิดตามข้อหาที่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาในคดีที่อ้างถึงนั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่มีอำนาจไต่สวนในข้อหาดังกล่าวแต่อย่างใด และการที่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบโดยยังไม่ได้มีการสืบพยานและโจก์ก็มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษในข้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแต่อย่างใด ซึ่งความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดที่คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษได้มีมติให้รับไว้เป็นคดีพิเศษและอยู่ในอำนาจสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังเป็นคดีอันสืบเนื่องมาจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ที่อัยกาสูงสุดมีอำนาจสั่งฟ้องคดีดังกล่าว และปรากฏชัดเจนตามความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลอาญา

ญาติผู้เสียชีวิตหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมและต้องการต่อสู้คดีจนถึงที่สุด ใคร่ขอความเมตตาและควมกรุณาท่านอัยการสูงสุดได้โปรดยื่นฎีกาคดีนี้ต่อไป และหากศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดเป็นประการใดแล้วก็พร้อมน้อมรับคำพิพากษาของศาลฎีกาและขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงในความเมตตากรุณาของท่านมา ณ โอกาส นี้ด้วย

 

ขอแสดงความนับถือ

 

นายบรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์

นางสังวาน สุดทิเสน

นางนาง ตติยรัตน์

นางพเยาว์ รอดภัย

นางสุนันทา ปรีชาเวทย์

นางเงิน เจียมพล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net