Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่่ผ่านมา เวลาประมาณ 11.00 น. ที่อาคารหอประชุมหลังใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นางมณี  บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี พร้อมด้วยสมาชิกจำนวนกว่า 10 คน สวมเสื้อเขียวเพื่อแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์อย่างพร้อมเพรียง เดินทางมายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ซึ่งเดินทางมาราชการที่จ.อุดรธานี ในวันนี้  โดยมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ สำนักนายกรัฐมนตรี และศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ได้ตั้งโต๊ะไว้คอยให้บริการรับหนังสือร้องเรียนของประชาชนกลุ่มต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า ตอนเช้าก่อนที่กลุ่มชาวบ้านจะออกเดินทางไปยื่นหนังสือ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.อ.ประจักษ์ศิลปาคม และทหารจาก มทบ.24 รวม 5 นาย เดินทางไปที่บ้านของนางมณี เพื่อสอบถามรายละเอียดของการยื่นหนังสือ และยังถามด้วยว่าจะมีชาวบ้านกลุ่มอื่น หรือกลุ่มนักศึกษามาเคลื่อนไหวด้วยหรือไม่ ซึ่งนางมณีก็ตอบว่าตนไม่ทราบ แต่หากว่าจะมีก็เป็นสิทธิของเขา

นอกจากนี้เมื่อคืนก่อน ในหมู่บ้านได้มีการโปรยใบปลิวหลายจุด โดยมีเนื้อหาสนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี พร้อมเชิญชวนให้คนอุดรฯ ออกมาแสดงพลังให้นายกฯ เห็นว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการทำเหมือง เจ้าหน้าที่จึงอ้างว่ามาเพื่อดูแลความปลอดภัย โดยจะนำทางพากลุ่มชาวบ้านไปยื่นหนังสือ และส่งกลับบ้านด้วยตนเอง

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อกลุ่มอนุรักษ์ฯ เดินทางมาถึงอาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  ก็ได้มีพล.ต.อำนวย  จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 ให้การต้อนรับและพาไปยื่นหนังสือกับเจ้าหน้าที่

โดยนางมณี กล่าวว่า วันนี้ตนรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจ ทำดีกับชาวบ้านมากจนน่าตกใจ โดยไปหาถึงที่บ้านแต่เช้า พาไปยื่นหนังสือ และส่งกลับบ้าน ซึ่งมันต่างจากบรรยากาศเมื่อปีที่แล้วที่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการฯ ในค่ายทหารและประชุมสภาอบต. ที่มีการคุ้มกันเวทีอย่างเข้มงวด ตรวจค้นชาวบ้าน และกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมรับฟัง (ประชุมสภาอบต.) มองชาวบ้านเหมือนเป็นคนร้ายเลย

"เจ้าหน้าที่เขาคงกลัวว่ากลุ่มอนุรักษ์ฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือกับนายกฯ ซึ่งขณะนี้กำลังปฏิบัติราชการอยู่ที่อำเภอเพ็ญ จึงบริการอย่างเต็มที่ และคอยประกบให้อยู่ในการควบคุมดูแล" นางมณี กล่าว

นางมณี  กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นหนังสือที่ยื่นในวันนี้ ทางกลุ่มได้ยื่นคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช และมีข้อเรียกร้องให้นายกฯ ยุติกระบวนการขออนุญาตประทานบัตร จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองถึงที่สุด ซึ่งกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 57 และขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองอุดรธานี

"อยากให้นายกฯ ยุติกระบวนการประทานบัตร ในขั้นตอนที่เหลืออยู่ คือ การทำประชาพิจารณ์ ตามมาตรา 88/7 แห่งพ.ร.บ.แร่ ปีพ.ศ.2545 เพราะจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง รุนแรงในพื้นที่ เหมือนเช่นอดีตที่เคยเกิดขึ้นแล้ว" นางมณี กล่าว

นอกจากนี้ได้มีแหล่งข่าวเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในช่วงบ่าย ของวันเดียวกัน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เดินทางมาประชุมกับส่วนราชการ ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่โรงแรมบ้านเชียง จ.อุดรธานี จึงเป็นที่หน้าจับตาว่าจะมีการผลักดัน หรือชงเรื่องประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ให้กับคณะนายกฯ ที่ประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการ กรอ.ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จังหวัดอุดรธานี เลย หนองคาย บึงกาฬ และหนองบัวลำภู) ซึ่งจะมีการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ในวันนี้ด้วยหรือไม่

ด้านนายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท หรือ กป.อพช.อีสาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในยุคนี้ถ้าจะทุบโต๊ะอนุมัติโครงการอะไรง่ายมากขอแค่ใครให้ผลประโยชน์สูงก็ทำได้ เพราะมีอำนาจอยู่ล้นมือ แต่การใช้อำนาจถ้าไม่ฟังประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจจะพังได้ และในยุคนี้คือการสะสมปัญหาของประชาชนไว้ในอนาคต

"อย่ามองว่ามีเหมืองแร่โปแตชแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้มันคือปลายเหตุ อย่างที่เรารู้กันอยู่ในสองปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ดีอย่างที่พูดๆ กันมันมีสาเหตุจากความไม่เชื่อมั่นและต้นเหตุมันมาจากความเหลือมล้ำทางสังคม" นายสุวิทย์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net