Skip to main content
sharethis

เด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดียาเสพติดมากเป็นอันดับหนึ่งนานเกินครึ่งทศวรรษ พบคุณภาพศูนย์ฝึกและอบรมฯต่ำ อดีตรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ -นักวิชาการชี้ไม่มีพื้นที่รองรับกลับสู่สังคม ภาครัฐรับไม่มีระบบติดตาม-ดูแลหลังปล่อยตัว

หลังถูกดำเนินคดีและคุมประพฤติ “จอม” ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดกระทั่งตัดสินใจเสพยาบ้าอีกครั้งจากเพื่อนกลุ่มเดิมเมื่อขึ้นมัธยมปลายด้วยความเครียดที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันจนหย่าร้างและเขาต้องอยู่กับพ่อซึ่งมีภรรยาใหม่ รวมถึงเป็นผู้ขายเพื่อให้มีเงินมาซื้อยาจนถูกจับดำเนินคดีและคุมประพฤติ เมื่อออกมาไม่ถึงปีเขาผันตัวเป็นผู้ขายและเสพบ้างเป็นครั้งคราวด้วยความรู้สึกน้อยใจคนรอบข้างที่ไม่ไว้ใจอย่างเช่นเคย

ส่วน “ใจ” เริ่มเสพยาบ้าตอนมัธยมต้นจากการเลียนแบบแฟนและกลุ่มเพื่อนที่เที่ยวเตร่ด้วยกันจนติด เธอเคยเชื่อว่า การเสพยาบ้าทำให้ผอมลง หลังถูกดำเนินคดีและคุมประพฤติ เธอออกจากบ้านมาใช้ชีวิตกับแฟนคนใหม่โดยไม่รู้มา ก่อนว่าแฟนเสพยาบ้า ในที่สุดเธอกลับมาเสพอีกครั้งและวางแผนกับแฟนลักทรัพย์เพื่อนำเงินมาซื้อยาบ้าจนถูกดำเนินคดีและต้องมาใช้ชีวิตในศูนย์ฝึกและอบรมฯ

ไม่ต่างกับ “โจ๊ก” เคยใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมฯ เมื่อ 2 ปีก่อน ตอนนี้อายุย่างเข้า 20 ปี แต่ไม่ได้เรียนต่อมัธยมปลายหรือทำงานเพราะคิดว่า ไม่มีความรู้ติดตัว เขาบอกว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมฯ เขาปลูกผัก สานเสื่อ ถักแห ทำทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่บังคับแต่ไม่มีสิ่งใดสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย

ปี 57 กว่า 1.6 หมื่นราย

รายงานสถิติคดีประจำปี 2557 ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมานับจากปี 2552 เด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดียาเสพติดมากที่สุด โดยปี 2557 มี 16,508 คดี จากทั้งหมด 36,537 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 978 คดี  

รายงานยังระบุว่า ในคดีทั้งหมด มีการกระทำผิดซ้ำ 6,401 คดี เป็นคดียาเสพติด 3,058 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ  47.77 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่คิดเป็นร้อยละ 42.26 ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2557 คดียาเสพติดเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดซ้ำมากเป็นอันดับ 1 ขณะที่ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์กรสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2535 โดยรัฐภาคีจะต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อคุ้มครองเด็กจากยาเสพติด เพื่อป้องกันการใช้เด็กผลิตและค้าสารนั้น

นางสาวศยามล เจริญรัตน์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เดิมเด็กและเยาวชนใช้ชีวิตช่วงต้นกับครอบครัวแต่ปัจจุบันถูกผลักเข้าสู่ระบบการศึกษาในขณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลทั่วถึง

“โครงสร้างเศรษฐกิจไม่ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมยังสร้างความคิดให้เด็กมองว่า เงินสำคัญที่สุด บางรายเข้าไปทำงานในธุรกิจบันเทิงกลางคืนซึ่งเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายหรือจำเป็นต้องใช้มันเพื่อให้กล้าแสดงออกยามทำงาน บางรายต้องขายยาเสพติดเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวโดยไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องผิด เพราะช่องทางในการหาเงินของเขามีไม่มากนักและค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำ” นางสาวศยามล กล่าว 

ศูนย์ฝึก-อบรมฯ แออัด บุคลากร-งบฯ ไม่เพียงพอ 

นายยอดชาย วีระวงศ์ อดีตรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า เด็กและเยาวชนมักถูกใช้ให้ทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะค่าจ้างถูก และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดแม้กำหนดโทษเดียวกันกับผู้ใหญ่แต่เด็กจะได้รับโทษในอัตราที่น้อยกว่ามาก มากสุดเพียงถูกส่งตัวเข้าศูนย์ฝึกและอบรมฯ

“เด็กเร่รอน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่และอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มียาเสพติดมักถูกชักจูงให้เข้าขบวนการนี้ เมื่อเข้าไปอยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมฯ ก็อยู่กันแออัด บุคลากรและงบประมาณที่ดูแลก็ไม่เพียงพอ เหมือนเอาพวกเขามารวมกันในช่วงเวลาสั้น ๆ  อยู่ไปวัน ๆ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้ฝึกอาชีพอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้ พอพ้นโทษก็ออกมาเจอสภาพแวดล้อมเดิม ไม่มีสถานศึกษาหรือสถานประกอบการรองรับ” นายยอดชาย กล่าว

ไม่มีพื้นที่รองรับกลับสู่สังคม ภาครัฐรับไม่มีระบบติดตาม-ดูแลหลังปล่อยตัว

นางสาวเสาวธาร โพธิ์กลัด อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อพ้นโทษเด็กและเยาวชนคดียาเสพติดมักกลับบ้าน เพราะเด็กกลุ่มนี้เชื่อว่าบ้านปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าชุมชนไม่เปิดรับ ไม่มีโอกาสกลับเข้าสู่เส้นทางปกติ ก็เสี่ยงทำผิดซ้ำอีก ส่วนการบำบัด การศึกษา การฝึกอาชีพที่ได้รับจากศูนย์ฝึกและอบรมฯเป็นเพียงทักษะพื้นฐาน จะใช้จริงได้แค่ไหนขึ้นกับการฝึกฝนต่อ และมีเพียงบางศูนย์ฝึกและอบรมฯ ที่ประสานกับสถานประกอบการให้รับเด็กกลุ่มนี้เข้าทำงานต่อ

“ภาครัฐไม่มีพื้นที่รองรับเด็กกกลุ่มนี้ ทำให้การช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้หายไป กรมพินิจฯ ควรประสานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดหาสถานศึกษา สถานประกอบการรองรับพวกเขา” นางสาวเสาวธาร กล่าว  

นางรัชดาวรรณ ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบงานยุติธรรม กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ชี้แจงว่า รัฐดูแลเด็กและเยาวชนคดียาเสพติดได้เพียงระยะสั้นจึงไม่สามารถบำบัดได้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด และไม่สามารถส่งไปบำบัดต่อที่โรงพยาบาลเพราะเป็นความสมัครใจของเด็กเหล่านี้ จึงเสี่ยงที่จะทำผิดซ้ำ ยอมรับว่า รัฐไม่มีระบบติดตามเด็กกลุ่มนี้หลังได้รับการปล่อยตัว

นางภาวินี สุมลตรี เจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงว่า กระทรวงไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดียาเสพติด แต่ทำงานเชิงป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยให้งบประมาณสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ แต่ก็เป็นเด็กกลุ่มที่ไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด ซึ่งยอมรับว่าเข้าไม่ถึงเด็กกลุ่มเสี่ยง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net