Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ในเหตุการณ์ทางการเมืองบนท้องถนนที่ผ่านมา มีกลุ่มคนติดอาวุธปะปนอยู่ในผู้ชุมนุมอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นม็อบพันธมิตร, คนเสื้อแดง และ กปปส.  แต่ภาพติดตาในเรื่องการใช้ความรุนแรงกลับดูเหมือนจะถูกฝังให้เป็นตราติดอยู่กับคนเสื้อแดงมากที่สุด เพราะเหตุใด ?

นอกจากการกล่าวโทษความลำเอียงของสื่อมวลชน การพร็อพเปอร์กานดาของชนชั้นนำ ซึ่งก็เป็นความจริงทั้ง 2 ประการแล้ว ย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มวิกฤตการเมือง มี 2 เหตุการณ์ และ 1 หมายเหตุ ที่ควรพิจารณาด้วย

หมายเหตุประการแรกคือคำกล่าวของทักษิณเมื่อวันที่  20 กุมภาพันธ์ 2548 ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า

“สำหรับประชาชนชาวพังงา เขตเลือกตั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นเขตเดียวที่ไว้วางใจตนในการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ขอบคุณเป็นพิเศษและยืนยันว่าจะดูแลและปกป้อง เชื่อว่าเป็นการตัดสินใจไม่ผิดอย่างแน่นอน โดยวันนี้ตนได้ส่งสัญญาณบางอย่างว่าจะฟื้นฟูในเขตนี้ก่อน โดยตนจะทำให้ดีกว่าเดิมโดยเร็วที่สุด”

คำพูดดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นเวลาไม่ถึง 2 เดือนหลังจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิในวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547  ในท่ามกลางหายนะขนาดใหญ่หลังจากคลื่นสึนามิซัดเข้าถล่มภาคใต้ ทักษิณกล่าวอย่างชัดเจนว่าจะฟื้นฟูเขต “เลือกตั้งที่ 2” ซึ่งเป็น “เขตเดียวที่ไว้วางใจตนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา” ก่อน

ข้อความนี้ย่อมหมายความในขณะเดียวกันว่า คนที่ไม่ได้เลือกพรรคไทยรักไทยของทักษิณนั้น จะต้อง “รอไปก่อน” คำกล่าวของทักษิณนี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการบริหารงานแบบ “เลือกปฏิบัติ” และ “ไม่มีความเสมอภาค” แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์แบบ “แลกเปลี่ยนประโยชน์ต่างตอบแทน” ที่เขาเสนอต่อประชาชน

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น  ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะได้รับเสียงจาก “ประชาชนทุกคน” แต่กระนั้น เมื่อชนะการเลือกตั้ง เข้ารับอำนาจในการบริหารประเทศแล้ว ย่อมต้องบริหารงานไปตามหลักความเสมอภาค มีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เลือกปกป้องเฉพาะประชาชนที่เลือกตนมา ข้อเสนอที่ทักษิณกล่าวกับประชาชนพังงาข้างต้นจึงเปรียบเสมืองการ “แบล็กเมล์” ประชาชนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เลือกพรรคไทยรักไทยเบา ๆ ว่า ต่อไปภายภาคหน้า ถ้าอยากได้รับบริการจากรัฐอย่างเต็มที่ก็ควรที่จะเลือกพรรคของทักษิณ ชินวัตร

โลกทัศน์เช่นนี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ของทักษิณในระดับ “รากฐานจิตสำนึก” ที่ยากจะยอมรับได้ และเป็น “ตราบาปทางศีลธรรม” ของทักษิณที่ลามติดมาถึงคนเสื้อแดงที่เอาแต่เชียร์ทักษิณโดยไม่เคยคิดจะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยกันเองเลย

เหตุการณ์ต่อมาคือการปิดล้อมสำนักงานหนังสือพิมพ์เนชั่นของม็อบคาราวานคนจนเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549[i]  เหตุการนี้ต้องถือเป็น “ภาพประทับครั้งแรก” (first impression) ที่สังคมมีต่อ “มวลชนที่สนับสนุนทักษิณ” ว่าเป็นกลุ่มคนที่นิยมความรุนแรงและใช้อำนาจเถื่อนเข้าคุกคามสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ทำตัวเป็นประหนึ่ง “นักเลงคุมซอย” ที่คอยขู่เข็นผู้อื่นไม่ให้ล่วงเกิน “หัวหน้า” ของตน เหตุการณ์นี้ “ติด” อยู่ในใจของคนจำนวนมาก แม้กระทั่งคนที่อาจจะไม่ใช่ “ฝ่ายตรงข้าม” ของคนเสื้อแดงโดยตรง เช่น กรณีของ พัชรศรี เบญจมาศ[ii] ซึ่งแสดงออกอย่าง “ตรงไปตรงมา” ว่าตนเองรู้สึก “กลัว” คนเสื้อแดง ในคอลัมน์ของเธอที่เขียนประจำในมติชนสุดสัปดาห์ แต่ฝ่ายคนเสื้อแดงและฝ่ายสนับสนุนทักษิณ ล้วนไม่เคยตระหนักใน “ภาพประทับครั้งแรก” ของสังคมที่มีต่อตนเองนี้และหาทางลบล้างมันออกไป แต่กลับทำให้มัน “แย่ลง” ไปอีกด้วยการตามด่าทอผู้ที่แสดงความรู้สึกของตนเองอย่างตรงไปตรงมา

เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2549 คือช่วงเวลาที่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลบนท้องถนน แทนที่ฝ่ายรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรีทักษิณในขณะนั้น จะหาทางแก้ไขสถานการณ์ด้วยวิถีทางทางการเมือง เช่น ตัดสินใจยุบสภา ใน “เวลาที่สมควร” เป็นต้น ทักษิณกลับตอบโต้ประชาชนด้วยการนำผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลมาชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเป็นจำนวนมาก ประหนึ่งจะประกาศกับผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลให้ทราบถึง “กำลังที่มากกว่า” ของตน เหตุการณ์นี้จึงย้ำให้เห็นว่า การตัดสินใจยุบสภาในเวลาต่อมา “หลังจากเข้าเฝ้าฯ” ของทักษิณนั้น หาได้เป็นการตัดสินใจที่เกิดจากการตระหนักในความชอบธรรมทางการเมืองของตนที่ลดลง หาได้เป็นการตัดสินใจที่เกิดจากการตระหนักในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอำนาจของตนเอง หากแต่เป็นการ “จำนนต่ออำนาจอื่น” มากกว่า

ทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยลบของตนเองที่คนเสื้อแดงและฝ่ายสนับสนุนทักษิณไม่เคยตระหนัก จนกระทั่งเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2552 จึงเกิดเหตุการณ์ “ทุบรถอภิสิทธิ์” และเหตุการณ์ “ล้มการประชุมอาเซียน” ขึ้น ซึ่งเป็นการ “ฝังตะปู” ภาพความรุนแรงให้ติดอยู่กับคนเสื้อแดงแบบถาวรในสายตาของสังคม แม้ฝ่ายคนเสื้อแดงจะมีข้อโต้แย้งว่าทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าวล้วนมีเงื่อนงำ แต่ก็ไม่สามารถช่วยกู้สถานการณ์ของตนกลับขึ้นมาได้ เนื่องจากแม้ว่าต่อให้เหตุการณ์ดังกล่าวจะมีเงื่อนงำหรือเป็นแผนลวงของฝ่ายตรงข้ามจริง แต่ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากคนเสื้อแดงเอง แผนการณ์เช่นนี้ก็จะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงลงไปได้

ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปจนถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 แล้ว ภาพความรุนแรงป่าเถื่อนของคนเสื้อแดงจึงฝังแน่นอยู่ในความคิดของคนในสังคม จนกระทั่งเมื่อคนเสื้อแดงเข้ายึดสี่แยกราชประสงค์ และยืนกรานไม่ยอมสลายการชุมนุมจนนาทีสุดท้าย แม้ว่าอภิสิทธิ์จะยอมกำหนดช่วงเวลาที่จะยุบสภาแล้ว ผลลัพธ์จึงกลายเป็นความเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของมวลชนจำนวนมาก

ทั้งนี้ ที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนมาจากความไม่เป็นประชาธิปไตย ความไม่สำนึกในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ความเห็นแก่ตัวและไม่เห็นแก่คุณค่าของชีวิตประชาชน ความเป็นชนชั้นนำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และมีโลกทัศน์แบบผลประโยชน์ต่างตอบแทน ของทักษิณ ชินวัตร สำนึกเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดในคลิป “บทสนทนาจากแดนไกล”[iii] ซึ่งเปิดเผยออกมาในวันที่ 6 กรกฎาคม 2556  และกรณีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ของพรรคเพื่อไทยในปลายปี 2556  ที่เอาความตายอย่างไม่ยุติธรรมของประชาชนที่ออกมาสนับสนุนตนเองไปแลกกับทรัพย์สินและสถานภาพของตนเองที่ถูกยึดไปในการต่อสู้ทางการเมือง รวมทั้งภาพของการใช้ “ความรุนแรง” เพื่อ “แสดงกำลัง” ข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายสนับสนุนทักษิณ ที่ยังปรากฏอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดังที่เห็นได้จากการใช้อาวุธสงครามลอบทำร้ายผู้ชุมนุมฝ่าย กปปส. ตลอดการชุมนุมในปลายปี 2556 ถึงปี 2557

ทักษิณ ชินวัตร จึงไม่เคยเป็นตัวเลือกที่แท้จริงของความเป็นประชาธิปไตย และคนเสื้อแดงที่สนับสนุนทักษิณจนถึงบัดนี้ ก็ไม่เคยตระหนักในความไม่เป็นประชาธิปไตยและความไม่เคยเห็นคุณค่า ไม่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนของตนเอง คนเหล่านี้แท้จริงแล้ว ไม่ควรเรียกตนเองว่าเป็นผู้ที่ “ตาสว่าง” แล้ว หากแต่คือผู้ที่กระทำตนเป็นเบี้ยหมากและไพร่ทาสของเจ้าขุนมูลนาย ไม่ต่างกับฝ่ายตรงข้ามที่ตนชี้หน้าด่าว่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

 

อ้างอิง

[i] ดูรายละเอียดได้ในข่าวตามลิงก์นี้ http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9570000033525

[ii] ดูรายละเอียดได้ในข่าวตามลิงก์นี้ http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9540000097123

[iii] ดูรายละเอียดได้ในข่าวตามลิงก์นี้ http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000082476

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net