Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



โครงการ นักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระทรวงมหาดไทย เป็นโครงการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2513 ให้ดำเนินการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้งแต่ปี 2514

และมีการเห็นชอบให้ขยายโครงการถึงปี 2561

ว่ากันตามจริงแล้ว โครงการนี้ มีมาตั้งแต่ปี 2513 และถือปฏิบัติตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งในปี พ.ศ. ดังกล่าว มันไม่ใช้ตอนเกิดเหตุการณ์แน่นอน

สำหรับผมแล้วโครงการนี้ ตามความเข้าใจ คือ โครงการส่งพี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้น พี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสามัญมากนัก บ้างก็เรียนแค่จบ แล้วออกไปทำสวน บ้างก็ขอเรียนโรงเรียนศาสนาเป็นหลัก ทำให้อัตราการสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม น้อยมาก เป็นการดีที่จะให้โควต้า แต่ก็อยู่บนความอึดอัดของพี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ หรือศาสนาที่แตกต่างอยู่ดี เพียงแต่ตอนนั้น ไม่มีใครพูด ได้แค่บ่นๆ กันไป เพราะยังไม่มีความแตกแยกของคนในพื้นที่

เวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน เกิดความแตกแยกในพื้นที่ ประเด็นเหล่านี้ ถูกหยิบยกมาพูดถึง แต่ก็เป็นการพูดถึงในหมู่คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ พูดถึงในเชิงน้อยใจการกระทำของรัฐ ที่มองไม่เห็นคนพุทธในพื้นที่

หากจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว โควต้าเหล่านี้ ควรถูกยกเลิก ไม่เห็นควรที่จะต้องต่อหรือขยายโครงการในยุคปัจจุบัน หากเราจะยอมรับกันตามเนื้อแท้ของความเป็นจริงแล้ว ผลผลิตของเยาวชน ของนักศึกษาในพื้นที่ เยาวชน หรือนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม มีโอกาสทางการศึกษาเยอะมาก สามารถสอบเข้าเรียนในคณะที่ดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ แถมยังมีทุนศึกษาต่อต่างประเทศ เยอะทีเดียวครับ

ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีโควต้าเหล่านี้อีก

อัตรานักศึกษา/โครงการจัดส่งนักศึกษาชายไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ของรัฐ รวม 8 แห่ง ประจำปีการศึกษา 2559

1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 328 คน
2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รวมทุกคณะไม่เกิน) 4 คน
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 57 คน
4. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 51 คน
5. มหาวิทยาลัยมหิดล 10 คน
6. มหาวิทยาลัยศิลปากร 41 คน
7. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 21 คน
8. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 91 คน

หมายเหตุ สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะส่งเอกสารตามมาทีหลัง

หรือถ้าจะมี ผมก็เห็นควรที่จะให้มีเยาวชนหรือนักศึกษาไทยพุทธ อยู่ร่วมในโควต้าดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการตกเป็นเหยื่อ หรือเหตุผลของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โรงเรียนต้องปิด ก็ตามที ล้วนเจอปัญหา พบเหตุผลเหมือนกันทั้งนั้น

"การแก้ปัญหา มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวน เมื่อระยะเวลาผ่านไป"

ปัญหาที่เราเริ่มแก้ตั้งแต่ต้นไม่ใช้ปัญหาที่แก้ไม่ตก ปัญหาด้านการศึกษาในการให้โควต้า ไม่ใช้การให้ตลอดไป หากเป็นเช่นนั้น ย่อมแสดงว่ายังแก้ไม่ถูกจุด เพราะนักศึกษาในพื้นที่ยังคงต้องพึ่งโควต้ามากกว่าพึ่งตนเอง

หากรัฐ คิดว่าการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ใจพี่น้องคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือพี่น้องมุสลิม ต้องเอาใจ ต้องช่วยเขาให้มากที่สุด แล้วไม่เคยมองพี่น้องชาวไทยพุทธเลย ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน หากจะมองจากประสบการณ์ที่รัฐ คิดว่า ในอดีตไม่เคยดูแล ไม่เคยช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมมาเลย นั้นคือบทเรียน ที่รัฐ ปัจจุบันต้องแลเห็นเช่นกันว่า หากช่วยเหลือ หรือเอาใจอีกฟากฝั่งหนึ่ง แล้วไม่สนใจอีกฝั่งหนึ่ง นั้นคือความผิดพลาดโดยแท้จริง เปรียบได้ว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด ประหนึ่งสร้างปัญหาให้คนในพื้นที่ เร่งความขัดแย้งภายในใจของเขาให้หนักยิ่งขึ้น

ส่วนราชการที่ต้องดูแลผู้ป่วยเอง หรือแม้แต่ราชทัณฑ์ หรือเรือนจำ ในพื้นที่ก็ตามที ปัญหาของการกิน ก็เป็นอีกปัญหาที่ภาครัฐในพื้นที่คิดว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ถูกจุด โดยให้เป็นอาหารฮาลาล ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล ซึ่งจะต้องมีครัว เพื่อปรุงอาหารให้กับผู้ป่วย ก็มีแต่ครัวฮาลาล เรือนจำในพื้นที่เอง ก็ต้องเป็นครัวฮาลาล ตัวผมเอง กลับมองว่า เป็นการแก้ปัญหาให้มันจบๆ ไปซะ จะได้ไม่มีปัญหาอีก ซึ่งก็ไม่ถูกต้องอีกเช่นกัน

ในเรื่องนี้ หากจะแก้ปัญหากันจริงๆ ก็ควรที่จะมีการแยกครัวให้ชัดเจน ส่วนจะบริหารจัดการยังไง ก็สุดแล้วแต่ส่วนราชการนั้นๆ ที่จะปฏิบัติ แต่ก็ไม่ได้หมายถึง ให้ยกเลิกครัวฮาลาล หรือส่วนราชการไหนที่ทำครัว ให้มันเหนือกว่าฮาลาล ไปแล้ว มาตรฐานสูงสุดไปแล้ว ก็ทำไป แต่ขอให้มีครัวพุทธ สำหรับพี่น้องคนไทยพุทธบ้าง ก็เท่านั้น สำหรับคนไทยพุทธแล้ว ผมคิดว่า เมื่อเวลาเราเจ็บป่วยไม่สบาย อาหารที่ถูกปากเรามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น หมู แน่นอน โจ๊กหมู น้ำซุปกระดูกหมู มันถึงจะสดชื่น

อย่าใช้พวกมากในการแก้ไขปัญหา อย่าใช้พวกมากในการลากสิทธิขั้นพื้นฐานเข้าข้างตัวเอง เรา .. ยังอยู่ร่วมกันบนผืนดินแห่งนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ เราไม่เคยมีส่วนในการแก้ไขปัญหา รัฐเองที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาตามที่รัฐ เข้าใจ หรือตามเอกสารที่รัฐในพื้นที่ส่งเป็นรายงานขึ้นไป ปัญหาที่นี้ ต้องอาศัยคนในพื้นที่สะท้อนความต้องการโดยรวม แก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยรวมเช่นกัน มิใช้แก้ไขเพื่อใคร แก้ไขเพื่อองค์กรไหน หรือแล้วแต่ใครจะเรียกร้องเรื่องอะไร หากใช้วิธีแก้ไขแบบนี้ เห็นทีปัญหาจะจบลงได้อยาก

ขอเพียงอย่าคิดว่า คนไทยพุทธในพื้นที่จะอย่างไรก็ได้ เพราะเขาไม่พูด เพราะเขาไม่คิดอะไร ที่เขาไม่พูด ที่เขาไม่แสดงออกอะไรมากนัก นี้ละครับ มันจะเป็นปัญหาต่อรัฐ มันจะเกิดความเกลียดชังรัฐมากยิ่งขึ้นแน่นอนครับ

แค่อยากให้เข้าใจ แค่อยากให้เห็นความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net