Skip to main content
sharethis

จันทร์นี้ อนุกรรมการเนื้อหาฯ เสนอ กสท.ให้มีมาตรการทางกฎหมายกับช่องทีนิวส์ กรณีนำเสนอรายการช่วง 'เปิดโปงขบวนการล้มเจ้า' ชี้อาจเข้าข่าย 112 สุภิญญาระบุส่วนตัวไม่ชอบการนำเสนอ "ล่าแม่มด" แต่ถ้ายังไม่ล้ำเส้น กสทช.ก็ต้องรอบคอบ ส่วนกรณี "ตอบโจทย์" ถ้าต้องขึ้นศาล ยินดีเป็นพยานจำเลยให้

28 มี.ค. 2559 สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะว่า หนึ่งในวาระพิจารณาของบอร์ด กสท. ในวันนี้ (28 มี.ค.) คือ วาระที่อนุกรรมการด้านเนื้อหาฯ เสนอ กสท.ให้มีมาตรการทางกฎหมายกับช่องทีนิวส์ กรณีนำเสนอรายการช่วง 'เปิดโปงขบวนการล้มเจ้า' ว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม

สุภิญญา ให้ข้อมูลว่า อนุด้านเนื้อหาฯ มองว่ารายการเปิดโปงขบวนการล้มเจ้าในช่องทีนิวส์อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเสนอ กสท.ส่งพนักงานสอบสวน

‪"วาระช่องทีนิวส์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ต้องรอบคอบไม่ใช้ กม.เกินเหตุ ส่วนตัวจะใช้ดุลยพินิจเหมือนตอนพิจารณารายการตอบโจทย์ช่อง @ThaiPBS" สุภิญญาระบุและว่า แม้ส่วนตัวก็ไม่ชอบการนำเสนอในลักษณะการล่าแม่มดแต่ถ้ายังไม่ล้ำเส้นการแสดงออก กสทช.ก็ต้องรอบคอบในการอิงกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือแม้แต่ใช้ มาตรา 37 เอง

"‪เรื่องสถาบันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทุกคนรู้ แต่ประเด็นการใช้กฎหมายของทุกภาคส่วนก็ต้องรอบคอบ เพราะถ้าใช้เกินกว่าเหตุอาจส่งผลมุมกลับได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการนำเสนอของสื่อในลักษณะที่อาจเข้าข่ายส่งเสริมการล่าแม่มด ในที่สุดถ้าไม่ถึงผิดกฎหมายแต่ทุกช่องก็ควรเพิ่มความระมัดระวังในทุกกรณี"

"ส่วนตัวมองว่าเป็นปัญหาเรื่องจรรยาบรรณสื่อ ถ้าจำเป็นก็ควรจะเชิญช่องดาวเทียมมาทำความเข้าใจกันอีกรอบในประเด็นที่อาจจะเข้าข่ายการล่าแม่มดได้"

สุภิญญา กล่าวต่อว่า ในฐานะส่วนตัวที่เคยถูกแชร์รูปในลักษณะการเสียบประจานเล็กๆ เช่นกัน แต่ก็ปล่อยวางได้ ถือเสียว่าเราเป็นบุคคลสาธารณะ แต่คนอื่นๆ อาจรับไม่ได้ เพราะถ้าถูกเสียบประจานหรือล่าแม่มดในประเด็นร้ายแรง มันจะส่งผลต่อชีวิตคนอื่นๆได้ สิ่งนี้คือจรรยาบรรณของสื่อทีวี ถ้าอยู่ในเน็ตก็อาจว่าไปอย่าง (แต่ก็ไม่ควรเกินกว่าเหตุ)

สุภิญญา ระบุว่า ไม่ว่าผลการพิจารณาพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรส่วนตัวจะให้ความเป็นธรรมช่องทีนิวส์เต็มที่แต่ก็ขอฝากให้ระวังเรื่องลักษณะนี้ให้มากขึ้น

"การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์บางครั้งอาจมีเส้นบางๆ ระหว่างการเป็น hate speech เสียบประจานหรืออาจถึงขั้นการล่าแม่มด/คั่นด้วยจรรยาบรรณของสื่อมวลชน" สุภิญญากล่าวและว่า ส่วนพลเมืองผู้ active ในเน็ต แม้ไม่ถือว่าเป็นสื่อมวลชนแต่การแสดงออกในโลกออนไลน์ ควรละเอียดอ่อน นึกถึงใจเขาใจเราไปด้วยก็จะดีกับสังคมโดยรวม

"ไม่ว่าจะในนามของความรักหรือความกังขาถ้าเราใช้เหตุผล ลดอคติ ไม่ห่ำหั่นกันด้วยเกลียดชังและใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม สังคมเราจะมีวุฒิภาวะมากขึ้น"

นอกจากนี้ สุภิญญา ยังกล่าวถึงกรณีรายการตอบโจทย์ ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่ง กสท.มีมติปรับ 50,000 บาทด้วยเหตุผลผิด พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ มาตรา 37 ด้วยว่า ตนเองเป็นเสียงส่วนน้อยที่เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นขัดมาตรา 37 แต่ถ้าไทยพีบีเอสมาเสียค่าปรับแล้วก็น่าจะจบได้

"มาถึงวันนี้เรื่องก็ยังไม่จบ กลับมีประเด็นไปถึงตำรวจเกี่ยวโยงกับมาตรา 112 กลับมาอีก ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำบรรยากาศแห่งความกลัว กลัว และ กลัว สำหรับกรณีรายการตอบโจทย์ @ThaiPBS ถ้าจำเป็นต้องขึ้นศาล ดิฉันยินดีไปเป็นพยานจำเลยให้ในฐานะ กสทช. เสียงส่วนน้อยที่มองมุมต่างในประเด็นนี้ค่ะ"

"หลายท่านอาจจะมีทฤษฎีว่าการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว อาจทำให้เกิดความมั่นคง แต่ดิฉันกลับมองต่าง เพราะความกลัวยิ่งจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงได้"

"ถ้าถึงจุดหนึ่งเนื้อหาล้ำเส้นจริงๆ ดิชั้นก็จะใช้ดุลยพินิจว่าขัด กม. ช่องทีนิวส์ในอดีตที่เคยล้ำเส้นไปแล้ว เคสนั้นดิฉันก็เห็นด้วยว่าควรปรับ การที่รัฐใช้อำนาจมาควบคุมการแสดงออกของพลเมืองมาก จะยิ่งสะท้อนความไม่มั่นคง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นสัจธรรมในการเมืองทั่วโลก"

"รัฐที่ดีคือรัฐที่วางอุเบกขาได้ในการถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ แต่ต้องทนไม่ได้เลยต่อความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน" สุภิญญาระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net