Skip to main content
sharethis

โฆษก กรธ. เผยประชุมนอกสถานที่เสร็จสิ้น ได้ร่างสุดท้าย รธน. รวม 279 มาตรา ยืนยัน ตอบโจทย์ นำประเทศกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน ป้องกันผู้ทุจริตเข้าสู่การเมือง และจัดการเลือกตั้งได้ตามกรอบเวลาโรดแมป

28 มี.ค. 2559 เมื่อวานนี้ เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า นรชิต สิงหเสนีย์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แถลงผลสรุปการประชุม กรธ.นอกสถานที่เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวม 4 วัน ว่า ได้พิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว มีทั้งหมด 279 มาตรา มีบทบัญญัติเรื่องการปฏิรูปไว้ชัดเจนแยกออกมาในหมวดที่ 16 เพื่อให้การปฏิรูปประเทศบรรลุเป้าหมาย โดยให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระจัดทำข้อเสนอแนะร่างกฎหมายที่เกี่ยว ข้องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี โดยกรรมการชุดนี้จะต้องตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งปฏิรูปตำรวจและการศึกษา และจะมีการเลือกตั้งเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว รวมถึงมีการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง  คือ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง  และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งหากแล้วเสร็จสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใน 150 วัน นับจากวันที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้มั่นใจว่า เป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ พร้อมยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอบโจทย์ที่ได้รับมอบหมายที่ต้องการให้ประเทศกลับไปสู่ ความเป็นประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่านและป้องกันการทุจริต โดยป้องกันไม่ให้คนทุจริตเข้าสู่การเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างอนาคตที่สำคัญของประเทศไทย

โฆษก กรธ. กล่าวด้วยว่า นอกจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับแรกแล้วยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 7 ฉบับ ที่จะต้องออกภายใน 8 เดือน หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน ประกอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และพระราชบัญญัติพระกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

สำหรับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ที่ต้องการจะเข้าสู่การเมือง จะต้องลาออกภายใน 90 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

โฆษก กรธ. กล่าวย้ำว่า จุดสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้กำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเพิ่มหน้าที่ของรัฐเข้าไปด้วย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้จัดทำมาตรฐานจริยธรรมสำหรับศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระภายใน 1 ปี ส่วนการทำงานของ กรธ. ยังจะมีการประชุมในวันจันทร์ที่ 28 มี.ค นี้ เพื่อทบทวนในครั้งสุดท้ายก่อนที่จะส่งร่างสุดท้ายให้รัฐบาล ในวันอังคารที่ 29 มี.ค. เวลา 13.39 น. และแถลงให้ประชาชนทราบ ในวันที่ 30 มีนาคม จะเสนอต่อที่ประชุม สนช. และ สปท. รวมทั้งส่วนราชการในระดับกรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net