ชุมชนป้อมมหากาฬค้าน กทม.ไล่รื้อเดทไลน์ 30 เม.ย.เสนอคนอยู่ร่วมสวนสาธารณะ


ภาพประกาศกทม.จากมติชน

28 มี.ค.2559 รายงานข่าวแจ้งว่ากรุงเทพมหานครได้นำประกาศไปติดยังชุมชนป้อมมหากาฬ ขอความร่วมมือให้ชุมชนแห่งนี้ซึ่งมีสมาชิกราว 300 คนย้ายออกภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้ โดยอ้างถึงพ.ร.ฎ.เวนคืน, มติครม. และคำพิพากษาศาลที่เคยออกมาก่อนหน้านี้และยืนยันให้กทม.มีอำนาจเข้ารื้อถอนชุมชนเพื่อทำการอนุรักษ์ป้อมและกำแพงเมือง 

“ขอความร่วมมือผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่เกี่ยวข้องโปรดรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 แต่หากมีความประสงค์จะขอให้กรุงเทพมหานครช่วยเหลือในการขนย้าย โปรดแจ้งสำนักงานเขตพระนครเพื่ออำนวยความสะดวกต่อไป ในการนี้กรุงเทพมหานครร่วมกับการเคหะแห่งชาติ จะเปิดให้บริการเกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ชุมชน ณ บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ในวันที่ 19 เมษายน 2559 ตั้งแต่เวลา 10.00 นาฬิกาเป็นต้นไป” ประกาศ กทม.ระบุ 

เมื่อบ่ายวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจัดงาน “รวมพลคนป้อมมหากาฬ” ขึ้นภายในชุมชน โดยมีเสวนาเรื่อง “คน โบราณสถาน สวน: ผู้บุกรุกกับส่วนรวม” มีผู้เข้าร่วมฟังประมาณ 300 คน งานนี้จัดขึ้นท่ามกลางกระแสการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬที่เริ่มมีการดำเนินการอีกครั้ง เพื่อทบทวนความสำคัญของชุมชนเก่าแก่ แนวทางอนุรักษ์ป้อมและพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมีชีวิต โดยมีนักวิชาการเข้าร่วมอภิปรายหลายคน 

ธวัชชัย วรมหาคุณ ผู้ประสานงานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ก็เนื่องจากมีข่าวว่า กทม.จะไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬภายในวันที่ 31 พ.ค.ชาวชุมชนจึงเชิญนักวิชาการ ประชาชน เครือข่ายริมคลองทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาร่วมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ส่วนข้อเสนอของชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬทั้งหมดก็คือ 1.ขออาสาดูแลพื้นที่สวนสาธารณะที่ กทม.จะสร้างในบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ โดยชุมชนเป็นคนดูแล 2. ชาวบ้านขออาสาเป็นเวรยามดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 3. ไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นจาก กทม. 4. ชาวบ้านขออยู่ร่วมกับสวนสาธารณะเพื่อพัฒนาเป็นชุมชนที่ยั่งยืน เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาแบบชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐ และ 5. ชาวบ้านขออยู่ในที่ดินเดิม

เพิ่มศักดิ์ มกรภิรมย์ อนุกรรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร (กสม.) กล่าวว่า ชุมชนป้อมมหากาฬเกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 3 ทรงพระราชทานที่ดินให้ข้าราชบริพารได้เป็นที่อยู่อาศัย โดยมีการออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินและได้มีการโอนเอกสารสิทธิ์สืบต่อกันมาจนมีผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายเจ้าของทั้งวัดและเอกชน ต่อมาผู้ที่เข้ามาอยู่เดิมส่วนหนึ่งได้โยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ได้ทิ้งสิ่งปลูกสร้างให้เช่าอยู่บ้าง หรือที่ดินของวัดก็ให้ประชาชนเช่าอยู่บ้าง จึงทำให้มีสิ่งก่อสร้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบัน ปัญหาเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 เมื่อรัฐบาลมีโครงการอนุรักษ์และปรับปรุงป้อมมหากาฬ ตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาจัดซื้อที่ดินด้านหลังป้อมซึ่งมีจำนวน 21 แปลง โดยระหว่างปี 2503-2516 ซื้อที่ดินได้เพียง 11 แปลง ส่วนที่เหลือชาวบ้านเจ้าของที่ดินไม่ตกลงขายให้ ต่อมามีนโยบายรัฐปรับปรุงสวนสาธารณะให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และกำหนดให้กรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้มีการทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งรวมการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬด้วย ในปี 2535 กทม.ได้เสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสวนสาธารณะและโบราณสถาน จะเห็นว่า 50 กว่าปีแล้วที่ชมบ้านในชุมชนถูกกระทำที่คนในพื้นที่ไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เป็นการละเมิดสิทธิที่ชัดเจน


เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ และ ศรีศักร วัลลิโภดม

เพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงความไม่ชอบธรรม โดยที่รัฐจะอ้างถึงอยู่บ่อยๆ คือเรื่องสัญญาซื้อขายเป็นเหตุผลสำคัญซึ่งศาลปกครองก็ได้ตัดสินให้ชาวบ้านแพ้คดีและให้พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ต่อไปได้ กระบวนการซื้อขายนั้นไม่ได้เป็นการซื้อขายแต่เพียงลำพังแต่มันเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดที่พยายามจะเอาชาวบ้านออกไป และจ่ายเงินชดเชย หาที่อยู่อาศัย แหล่งทำมาหากินให้ชาวบ้านมีความพอใจ อย่างไรก็ตาม คน 60-70% ที่ได้รับเงินไปก็เอาไปจ่ายค่ามัดจำอาคารที่การเคหะฯ สร้างไว้แต่สุดท้าเมื่ออยู่ไม่ได้การเคหะฯก็ไม่ได้คืนเงินให้ จึงมองว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีความหมายอะไร

“ผมคิดว่าพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาปี 2535 จริงๆ แล้วมันมีอายุแค่ 5 ปี การต่ออายุมา 30 ปี มันไม่ชอบธรรม มันเป็นกฎกติกาสังคมว่าการออก พ.ร.ก.นั้นมันมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเวนคืน ชาวบ้านเขาไม่เห็นด้วยก็ทำไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรที่จะต้องยกเลิก หรือไม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวในพระราชกฤษฎีกาซึ่งทำได้ ทำไมรัฐบาลจะทำไม่ได้ ยิ่งกว่านี้ยังทำได้ เช่น ใช้ ม.44 ยกเว้นผังเมือง การให้เช่า 99 ปี การยกเว้นให้สร้างโรงงาน 9 ประเภท มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐเลือกปฏิบัติในชุมชนป้อมมหากาฬทั้งที่มีความขัดแย้งมายาวนานรัฐก็ไม่ปรับเปลี่ยน พ.ร.ก.ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงคือการใช้กำลังกับคนในชุมชน หรือเอาเครื่องมือขนาดใหญ่มารื้อถอนอาจจะทำลายชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน” เพิ่มศักดิ์ กล่าว


ชาตรี ประกิตนนทการ

รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ในทางวิชาการ 30 ปี พิสูจน์ในงานวิจัยแล้วว่าโครงการพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์นั้นผิด ไม่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันโดยเฉพาะกรณีป้อมมหากาฬเป็นการทำสวนสาธารณะในพื้นที่แทบจะปิด คือมีทางเข้าแค่ประตู 4 ช่องทาง มีป้อม มีคลองหลอด มีคลองรอบกรุงฯ กำแพงเมือง ลักษณะพื้นที่แบบนี้ไม่มีทางทำสวนสาธารณะแล้วจะดีเพราะจะก่อให้เกิดอันตรายมากกว่า อย่างสวนสันติชัยปราการ เป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงสาธารณะ เป็นการคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะในบริบทที่ผิด สังคมไทยไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่สวนแบบนี้มาก่อน จึงมีการวิจัยว่าจะทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ลักษณะนี้โดยแก้ไขข้อผิดพลาดเดิมและเข้ากับชุมชนได้ ผลสรุปของงานวิจัยคือทำพื้นที่นี้ให้เป็นพิพิธพันธ์กลางแจ้งโดยใช้คนในชุมชนพื้นที่นี้เป็นผู้ดูแล แล้วก็พัฒนาบ้านเรือนศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์

ชาตรีกล่าวต่อว่า หลังจากทำงานวิจัยนี้เสร็จเมื่อ 10 ปีก่อนได้นำเสนอกับ กทม. ซึ่ง กทม. ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ผลออกมาเถรตรงมาก มีการกำหนดขอบเขตที่จะเวนคืนนั้นซึ่งมีแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกา ในแผนที่นั้นแสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนั้นโล่งหมดไม่มีชุมชน แผนที่นั้นเป็นการ รื้อชุมชนออกหมด คณะกรรมการกฤษฎาจึงยืนยันว่าชุมชนทำพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เพราะเป็นพื้นที่โล่งว่าง ซึ่งในความเป็นจริงคือกฤษฎีกาสามารถแก้ไขได้ เมื่อ 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา กรมเจ้าท่าฯ ยังสามารถสร้างอาคารยื่นออกไปริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือกรณีสร้างศาลฎีกา กฎหมายระบุว่าห้ามเกิน 16 เมตร แต่ก็อาศัยอำนาจพิเศษของดเว้นใช้กฎหมายโดยสร้างสูงถึง 32 เมตร นี่แสดงถึงสองมาตรฐานในการใช้กฎหมาย

“ตัวละครสำคัญในการพิจารณาไม่ใช่แค่ กทม. กับชาวบ้าน แต่มีอีก 2 กลุ่มที่สำคัญ คือ 1.กลุ่มคณะกรรมการรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มันเกิดจากแผนแม่บทตัวนี้ที่ทำให้เกิดแผนพัฒนาที่ผิด ทำหน้าที่ผลักดันให้คณะรัฐมนตรีและผลักดันให้เร่งให้เกิด 2.คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ปรับแก้ไขกฤษฎีกา มีอำนาจหน้าที่ปรับแก้ตัวพระราชกฤษฎีกาที่ออกคำสั่งการพัฒนา คนเหล่านี้ต้องออกมาขอโทษและแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกคือเปลี่ยนแผนที่เกิดขึ้นมา 30 ปีนี้ได้แล้ว” ชาตรี กล่าว

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการ กล่าวว่า หลายครั้งที่กรุงเทพมหานครขู่คุกคามพื้นที่นี้ กทม.ไม่มีความชอบธรรมแม้แต่น้อย กรณีป้อมมหากาฬนั้นชาวบ้านอยู่เป็นชุมชนมาก่อน ที่นี่เป็นชุมชนชานกำแพงเมือง เป็นตรอกที่อยู่ติดพระนครมาช้านาน กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ ทุกคนสัญจรไปมาตามลำคลองแล้วขึ้นบกตามชานกำแพง ซึ่งชานกำแพงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นชุมชน การไล่ รื้อที่ที่ชาวบ้านเขาอยู่มาตลอดเพื่อทำสวนสาธารณะนั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอ หาก กทม.ไล่ รื้อชุมชนป้อมมหากาฬก็เหมือนเราเสียชุมชนประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ ในเวลานี้ทั้งสำนักทรัพย์สินฯ ทั้ง กทม.พยายามที่จะไล่ที่ไล่ชุมชนออก เอามาพัฒนาใหม่ เอาทุนเข้ามา ที่แล้วมาในกรุงเทพฯยังมีชุมชนเก่าอยู่ประมาณ 60 ชุมชน


ปฐมฤกษ์ เกตุทัต

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อยากให้พี่น้องชุมชนต่างๆ มองภาพกว้างและไกลกว่าแค่เรื่องไล่รื้อออกไป ปัญหาป้อมมหากาฬเป็นหนึ่งในปัญหาเมืองทั้งหมดที่เกิดขึ้น ยังมีชุมชนอื่นๆ เช่น ชุมชนริมคลองที่กำลังตกเป็นเป้าหมาย เช่น คลองลาดพร้าว คลองเปรมฯ ซึ่งอยู่ในโครงการไล่รื้อเช่นกัน ความเคลื่อนไหวนี้เราต้องยกระดับทำให้เป็นความเคลื่อนไหวระดับเมือง จุดเริ่มนั้นการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬจุดเริ่มมาจากโครงการเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นกลุ่มที่ไม่มีความรู้เรื่องชุมชนในกรุงเทพฯ ในท้ายที่สุดคณะกรรมการเหล่านี้แต่ละคนมีผลประโยชน์ทั้งนั้น

เกี่ยวกับชุมชนป้อมมหากาฬ

ชุมชนป้อมมหากาฬ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4 ไร่ 300 ตารางวา ปัจจุบันมีบ้านเรือนทั้งหมด 64 หลัง ประชากรประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย เช่น ขายกระเพาะปลา ส้มตำ ไก่ย่าง ขายพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ ถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมีทั้งขุนนาง ข้าราชบริพาร ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัยอยู่นอกกำแพงพระนคร รวมทั้งมีชุมชนเรือนแพอยู่ในคลองโอ่งอ่าง โดยมีป้อมที่สร้างขึ้นตามกำแพงพระนครในสมัยนั้นรวม 14 ป้อม (เหลือปัจจุบันเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ) ในปี 2492 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬเป็นโบราณสถาน

ต่อมาในปี 2535 กรุงเทพมหานครประกาศ พ.ร.ก.เวนคืนที่ดินบริเวณชุมชนป้อมหากาฬเพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะตามโครงการปรับปรุงเกาะรัตนโกสินทร์ โดยมีชาวบ้านบางส่วนที่รับเงินค่าเวนคืนไปแล้ว (จำนวน 28 ราย) แต่ชาวชุมชนส่วนใหญ่ต่อสู้และคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2546 กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อปิดล้อมเตรียมการไล่รื้อแต่ชาวชุมชนและเครือข่ายคูคลองหลายร้ออยคนได้คล้องแขนเป็นกำแพงมนุษย์ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกเข้ามา

ต่อมาในปี 2547 ชาวชุมชนได้ยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครอง ศาลปกครองพิพากษาในเวลาต่อมาให้ กทม.มีสิทธิในการเวนคืนเพื่อพัฒนาที่ดิน ล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กทม.ได้เริ่มเคลื่อนไหวที่จะไล่รื้อชุมชนอีกครั้ง โดยอ้างเหตุผลว่าชาวบ้านรับเงินค่าเวนคืนที่ดินไปแล้ว และ สตง.ได้เร่งรัดมายังกทม.เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ มิฉะนั้นจะมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท