Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"แมนๆ คุยกันครับ" หนึ่งในวลีที่หลายคนยกขึ้นมาแซว ล้อเลียน เสียดสี สังคมเกย์ไทยที่ใช้ประโยคนี้หา “เพื่อนไม่แสดงออก” เพื่อทำความรู้จักและพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป แต่เงื่อนไขการหาเพื่อนดังกล่าว นำไปสู่คำถามที่ว่า “สาวแล้วผิดอะไร?”

ในปัจจุบันวัฒนธรรมชายรักชายในไทยที่ได้รับอิทธิพลค่านิยมความเป็นชายมากขึ้น ตั้งแต่การทำลายภาพลักษณ์เดิมๆของชายรักชายที่ต้องสาว มาเป็นรูปแบบของชายรักชายที่เหมือน “ผู้ชายแท้” มากขึ้น รวมไปถึงความนิยมในการเล่นกล้าม เข้าฟิตเนส มีรอยสัก และไว้หนวดเคราที่ทำให้ภาพลักษณ์ของชายรักชายในยุคปัจจุบัน ฉีกจากภาพที่สังคมคุ้นเคยไปไม่มากก็น้อย กระแสความนิยมเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากชวนผู้อ่านคิดเกี่ยวกับประเด็นในหัวข้อนี้ดูครับ


"แมน" สร้างได้

ในการมองการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมในกลุ่มชายรักชายของไทย ผมอิงมุมมองกับจุดยืนที่ว่า “ตัวตนทางเพศเป็นสิ่งสมมติ” กรอบการมองนี้เป็นแนวคิดการวิเคราะห์แบบเควียร์ศึกษา (Queer Studies) ซึ่งเชื่อว่าตัวตนทางเพศของมนุษย์ ไม่ว่าเพศใดก็ตาม ไม่ใช่คุณสมบัติที่มีมาแต่กำเนิด แต่ถูกกำหนด สร้างและสมมติขึ้น โดยที่มนุษย์ทุกคนเรียนรู้เกี่ยวกับตัวตนของตัวเองผ่านการถูกขัดเกลา สั่งสอนจากสภาพแวดล้อม (Namaste, 1994, หน้า 220-221, Ball, 2001, หน้า 275) บนพื้นฐานแนวคิดที่เชื่อว่าเพศเป็นสิ่งสมมติ จูดิธ บัทเลอร์ (Judith Butler) ได้อธิบายเกี่ยวกับตัวตนทางเพศไว้ว่า ตัวตนทางเพศ คือ “พฤติกรรมการแสดงออก” โดยที่ตัวบุคคลไม่ใช่ต้นกำเนิดของการแสดงออก ในทางกลับกันการแสดงออกต่างหากที่ทำให้คนๆนั้นมีตัวตนขึ้นมา (Butler, 1999, หน้า 33)

การที่มนุษย์จะอ้างตนเป็นเพศใดๆ ได้นั้น ต้องอาศัยการแสดงออกที่คนรอบข้างเข้าใจได้ เช่น การแทนตัวเองว่า “ผม” ลงท้ายประโยคด้วย “ครับ” ความชื่นชอบในกีฬา หลงใหลในรถยนต์ ไม่หยุมหยิม ไม่คิดเล็กคิดน้อย เป็นพฤติกรรมที่เราเรียนรู้และส่วนมากเข้าใจว่านี่ คือ พฤติกรรมของ “ผู้ชาย” ถ้าเราอยากให้คนรอบข้างมองว่าเราเป็น “ผู้ชาย” เราก็จะเลือกพฤติกรรมเหล่านี้นำมาแสดงออกให้ผู้อื่นเห็น อย่างไรก็ตามมนุษย์สร้าง “ตัวตน” อย่างมีอิสระไม่ได้ ถ้าหากการแสดงออกของพวกเขาเป็นสิ่งที่สังคมไม่เข้าใจหรือไม่คุ้นเคย ตัวตนเหล่านั้นก็จะไม่เป็นที่รู้จักหรือถูกปฏิเสธ เช่น ถ้าหากผู้ชายคนหนึ่งใส่กางเกงขาสั้นสีชมพู ติดโบว์ที่บั้นท้าย และมีลูกไม้ประดับที่ขากางเกง แล้วบอกว่าคนอื่น เขาเป็น “ผู้ชายแท้” อาจทำให้ผู้พบเห็นสงสัยใน “ความเป็นชาย” ของเขา อาจมองว่าเขาเสียสติหรือกำลังเล่นตลกอะไรอยู่ เพราะ สัญลักษณ์ที่เขาแสดงออกมานั้น ไม่ได้รับการยอมรับทั่วไปว่าเป็นการแสดงออกของ “ผู้ชาย” การแสดงออกของเกย์แมนและเกย์สาวก็เช่นกัน ความแมนหรือความสาวอาศัยการเรียนรู้ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เกิด สะสมมาเรื่อยๆ ว่าตัวตนนี้ต้องแสดงพฤติกรรมใดบ้าง ที่จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจสิ่งที่เราอยากจะ (ให้พวกเขามองว่าเรา) เป็น


“แมนๆ คุยกันครับ”

งานวิจัยของอเล็กซิส แอนส์ และ เมเรดิธ เรดลิน (Alexis Annes & Meredith Redlin, 2012) ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับชายรักชายในชนบทของฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ไว้ว่าผู้ชายกลุ่มนี้ยึดถือค่านิยมชายเป็นใหญ่ไม่ต่างจาก “ชายแท้” ทั่วๆไป พวกเขาเรียนรู้ว่าการแสดงออกความสาวในชนบทนั้นนำผลเสียมาสู่ผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านั้น เช่น การถูกทำร้ายหรือรังแกจากคนรอบข้าง และเนื่องมาจากการที่ผู้ชายกลุ่มนี้ถูกปลูกฝังในสังคมชนบทที่ยังคงยึดถือค่านิยมชายจริงหญิงแท้อย่างเคร่งครัด พวกเขาคุ้นเคยกับค่านิยมดั้งเดิม และมองว่า “ความสาว” (effeminacy) เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (Annes & Redline, 2012, หน้า 260, 265) พวกเขายังมองว่าการที่ชายรักชายทำตัวสาว เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับชายรักชายทั้งหมด ทำให้สังคมมองพวกเขาเป็นตัวประหลาด ตัวตลก นำไปสู่ความเข้าใจผิดและการเหมารวมว่าชายรักชายทั้งหมดต้องสาว ในบทความของนีล ริชาร์ดสัน (Neil Richardson) มีการวิเคราะห์ไว้ว่าการเข้าถึงวัฒนธรรมของเกย์กระแสหลักเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชายรักชายเรียนรู้เกี่ยวกับตัวตนของพวกเขา (Bristow, 1989, หน้า 67 อ้างใน Richardson, 2009, หน้า 530) ในกรณีนี้ ชายรักชายที่อยู่ในชนบทไม่สามารถเข้าถึงวัฒนธรรมเกย์กระแสหลักในสังคมเมืองได้อย่างเต็มที่ พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับค่านิยมชายจริงหญิงแท้ ซึ่งทำให้พวกเขาเลือกที่จะปฏิเสธ “ความสาว” ว่าเป็นส่วนหนึ่ของของตัวตนของพวกเขา

ในแง่บวกการปรากฏตัวของชายรักชายที่ “แมน” อาจชี้ให้เห็นว่าภาพลักษณ์เก่าๆ ที่สื่อนำเสนอภาพชายรักชายที่แต่งหญิงหรือแต่งตัวประหลาดสุดขั้ว สาวแตก วี้ดว๊าย อาจเป็นภาพที่ไม่สามารถสื่อให้เข้าใจชายรักชายทั้งหมดได้ การที่ผู้ชายชอบผู้ชายอาจไม่ได้หมายความว่าเขาต้องมีแสดงออกเหมือนผู้หญิงเสมอไป พื้นฐานความคิดนี้อาจทำให้ผู้คนหันมามองใหม่ว่าชายรักชายไม่ได้ต่างจาก “ผู้ชายแท้” พวกเขาไม่ใช่ตัวตลก ตัวประหลาด อย่างที่สังคมยัดเยียดให้พวกเขาเป็น พวกเขาพิสูจน์ว่าการรักเพศเดียวกันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตแบบ “ผู้ชาย” ตามที่สังคมคาดหวังไว้ และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของคนหมู่มากได้  อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็มีมุมที่น่ากังวลอยู่บ้าง ในแง่ลบค่านิยมนี้นำไปสู่ effeminophobia (effeminacy + phobia) ซึ่งหมายถึงความกลัวที่ไร้เหตุผลต่อการแสดงออกความสาว กลายเป็นการเหยียด ดูถูก กีดกัน และรังเกียจพฤติกรรมความไม่แมนในหมู่ชายรักชาย (Richardson, 2009, หน้า 529-530) ความกลัวนี้มีความต่างจาก homophobia ซึ่งหมายถึงความรังเกียจการรักร่วมเพศ ชายรักชายกลุ่มดังกล่าวสามารถรับรสนิยมทางเพศของตัวเองได้ แต่ต่อต้านเพียงแค่พฤติกรรมความสาว พวกเขาจึงไม่ใช่ homophobic แต่เป็น effeminophobic การรังเกียจความสาวในหมู่ชายรักชายอาจทำให้ชายรักชายที่ “ไม่แมน” ตกอยู่ในที่นั่งลำบากเพราะต้องรับแรงกดดันจากทั้งสังคมชายจริงหญิงแท้และจากสังคมชายรักชายด้วยกันเอง ทำให้ท้ายที่สุดไม่ว่ารสนิยมทางเพศจะเป็นแบบไหน ถ้าหากคุณไม่สามารถแสดงออกความเป็นชายได้ คุณจะถูกต่อต้านและกีดกัน


“ขอแบบไม่ออกสาวนะครับ”

บริบททางสังคมและวัฒนธรรมของไทยอาจจะแตกต่างจากสังคมอเมริกันอยู่บ้าง แต่ประเด็น effeminophobia ก็มีให้พบเห็นเช่นกัน ในวัฒนธรรมกระแสหลักและสื่อกระแสหลักของไทย การแสดงความสาวนั้น ยังคงถูกเชื่อว่าเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของคนที่เรียกตัวเองว่า “เกย์”/“ตุ๊ด” ซึ่งชายรักชายบางส่วนก็เชื่อเช่นนั้น “ความสาว” จึงเหมือนเป็น “บัตรสมาชิก” สำหรับผู้ชายหลายคนที่อยากประกาศให้คนอื่นรู้ว่า พวกเขาปฏิเสธที่จะใช้ชีวิตตามบทบาทชายแท้ แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อพวกเขาเลือกตัวตนนี้ เขามีความจำเป็นที่จะต้องแสดงความสาว เพื่อรักษาสถานภาพตัวตนเอาไว้ เช่น การที่เรียกเสียงหัวเราะ เสียงปรบมือจากผู้คนเวลาพวกเขา “สาวแตก” ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าตัวตนในฐานะ “เกย์”/“ตุ๊ด” ของพวกเขาชัดเจนและเป็นจริงขึ้นมา ในบางครั้ง “ความสาว” ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการฉีกกฏเกณฑ์ค่านิยมชายจริงหญิงแท้ และนำพฤติกรรมที่ทุกคนรู้ว่า “ผู้ชาย” ไม่ควรทำนำมาแสดงออกแบบสุดโต่ง เพื่อตอบโต้ เสียดสี ประชดประชันข้อจำกัดของค่านิยมชายจริงหญิงแท้ (Medhurst, 1997, หน้า 276 อ้างใน Richardson, 2009, หน้า 531) อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเขาหยุดแสดงออกความสาว ตัวตนของพวกเขาค่อยๆ เลือนหายไป และทำให้พวกเขากลมกลืนและกลายเป็น “ผู้ชาย(แท้)” คนหนึ่งในที่สุด ดังนั้นแม้พวกเขามีอิสระที่จะปฏิเสธตัวตน “ชายแท้” ที่สังคมยัดเยียดให้ แต่การเลือกที่จะแตกต่างทำให้พวกเขาไม่มีอิสระที่จะหยุดแสดงออกความสาว ซึ่งถูกเชื่อว่าเป็นคุณสมบัติหนึ่งของ “เกย์”/“ตุ๊ด” ได้

“เกย์แอ๊บแมน” เกย์สาวไว้หนวดมีกล้ามที่อาจจะแต่งหญิงบางเวลา แต่ก็สามารถแต่งชายได้ในสถานการณ์ทั่วไป คนกลุ่มนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจครับ เพราะว่า พวกเขาสามารถอยู่ในบทบาทของผู้ชาย แต่ก็สามารถแต่งหญิงและแสดงออกความสาวได้ โดยขึ้นอยู่กับกาละเทศะ ซึ่งอาจถือได้ว่าความลื่นไหลของการแสดงออกทางเพศในสังคมไทยมีเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยของนิโกส ดาคาเนย์ (Nikos Dacanay) ได้ให้ตัวอย่างของความไหลลื่นนี้ไว้เช่นกัน การศึกษาของดาคาเนย์พบว่า ชายรักชายบางส่วนเลือกที่จะแสดงความแมนออกมาเพื่อดึงดูดผู้ชายที่พวกเขาสนใจ แต่พวกเขาก็สามารถแสดงความสาวได้ เวลาอยู่กับเพื่อนหรือคนที่สนิท (Dacanay, 2011, หน้า 112) โดยส่วนตัวผมมองว่าความลื่นไหลของการแสดงออกนั้น เป็นการปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตในแต่ละสถานการณ์ได้มีประสิทธิภาพภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งในครั้งนี้ผมเลือกที่จะสนใจมุมของความสัมพันธ์และความรักเป็นหลัก

แม้ “ความสาว” จะได้รับการยอมรับบ้างในสังคมไทย แต่การแสดงออกดังกล่าวยังคงมีภาพลักษณ์เชิงลบอยู่ ส่วนมากพฤติกรรมนี้จะถูกนำเสนอผ่าน “ความตลก” “ความประหลาด” ชายที่แต่งหญิง หรือ ชายที่แสดงออกความสาว จึงถูกเข้าใจโดยปริยายว่าเป็นพฤติกรรมของความตลกขบขัน ในทางตรงกันข้ามเมื่อดูสื่อปัจจุบันที่สะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายในเชิงโรแมนติก ภาพของผู้ชายในอุดมคติก็ยังคงได้รับอิทธิพลหลักๆจากค่านิยมชายเป็นใหญ่ คือ ผู้ชายเหล่านั้น ต้องแสดงออกความเป็นชายตามค่านิยมของสังคม แม้ตัวละครบางส่วนแสดงออกความอ่อนไหวทางอารมณ์ซึ่งเหมือนจะเป็นพฤติกรรมของ “ผู้หญิง” แต่พฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำเสนอในรูปแบบของ “ความสาว” ที่พบในตัวละครตุ๊ด หรือ กะเทย ที่ส่วนมากจะเป็นตัวประกอบที่สร้างสีสันให้กับเนื้อเรื่อง

ในสังคมพุทธที่ยึดค่านิยมชายจริงหญิงแท้ บ่อยครั้ง “เพศที่สาม” ถูกพูดถึงในฐานะกลุ่มคนที่ไม่มีวันประสบความสำเร็จในความรัก ต้องชดใช้กับกรรมที่ตัวเองก่อขึ้นในชาติก่อน เพราะพวกเขาผิดลูกผิดเมียคนอื่น เลยต้องเกิดมา “ผิดเพศ” (Jackson, 1997, p. 70; Ünaldi, 2011, หน้า 64) ตุ๊ดและกะเทยที่แสดง “ความสาว” จึงไม่ค่อยถูกต้อนรับในพื้นที่ของความรักตามอุดมคติ แต่จะกลายเป็นตัวละครดำเนินเรื่องของความรักที่ไม่ประสบความสำเร็จ ในฐานะคนที่ถูกหักหลัง โดนทิ้ง และต้องเข้มแข็งเพื่อฝ่าฟันปัญหาความรักไปด้วยตัวเอง เส้นแบ่งของการแสดงออกความสาวและความแมน ในสังคมชายรักชายจึงถูกขีดแบ่งไว้อย่างชัดแจน ความสาวสามารถแสดงออกได้ต่อหน้าเพื่อน เพื่อความเฮฮา สนุกสนาน หรือเพื่อความบันเทิง แต่ “ความสาว” จะถูกซ่อนไว้หรือกำจัดออกไป เพื่อให้พวกเขามีความสัมพันธ์แบบชายรักชายแบบอุดมคติได้

การเขียนบทความนี้ขึ้นมา ผมไม่มีเจตนาที่จะสนับสนุนหรือต่อต้าน ความแมนหรือความสาว เพราะท้ายที่สุดการเลือกแสดงออกตัวตนย่อมเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ที่มีเหตุผลในการดำเนินชีวิตต่างกันไป สิ่งที่ผมอยากนำเสนอมากกว่าคือ ความขาดแคลนของการนำเสนอมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับชายรักชายในสังคมไทยมากกว่า ผมทราบดีว่าการโทษว่าสื่อว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา คงเป็นบทสรุปที่ไม่ยุติธรรมนัก มันเป็นเรื่องง่ายที่ผมจะติไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงว่า ผู้ผลิตสื่อมีปัจจัยหลายด้านที่ต้องคำนึง อย่าง ต้นทุนและผู้ชม ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถผลิตสื่อที่แหวกจากความเข้าใจและความต้องการของคนดูได้มากนัก เพราะอาจทำให้สื่อขายไม่ได้ และข้อความที่ผู้ผลิตสื่ออยากส่งต่อ จะไปไม่ถึงคนดู

แต่มันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมชายรักชายถูกสร้างอยู่บนวัฒนธรรมที่ขาดความหลากหลาย ชายรักชายถูกกดดันให้พยายามวิ่งตาม “ต้นแบบความสำเร็จ” ในคราบ “ผู้ชายผิวขาว กล้ามโต แมนๆแบบผู้ชายแท้” ที่เห็นได้จากซีรีย์ จากปกนิตยสาร ทำให้นิยามคำว่า “ความน่าปรารถนา” ถูกผูกติดเพียงแค่กับคนที่รูปร่างหน้าตาบุคลิกไม่กี่แบบ ในขณะที่สังคมชายรักชายประสบความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่เพื่อลบภาพเดิมๆ ที่สื่อกระแสหลักเคยนำเสนอแค่ภาพของกะเทยและตุ๊ดที่ตลก แต่การวิ่งหนีจากภาพลักษณ์เดิมหรือความพยายามที่จะทำลายภาพลักษณ์เดิมก็ตอกย้ำว่า “ความสาว” เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาแม้แต่สังคมชายรักชายเองก็ยอมรับไม่ได้

สำหรับผม สื่อของชายรักชายยังขาดพื้นที่ของการนำเสนอเรื่องราวของชายรักชายกลุ่มต่างๆ จากมุมมองที่ลึกซึ้งอยู่ ทำให้ภาพลักษณ์ใหม่ของชายรักชายที่ดูดี ยังคงมีความอุดมคติสูงและมีแค่รูปแบบเดียว และความสาวเป็นสัญลักษณ์ของความตลกเท่านั้น ผมเชื่อว่าชายรักชายก็ไม่ต่างจากชายกลุ่มอื่นๆ พวกเขามีหลายบุคลิก หลายรูปร่าง เหมือนกับเวลาที่เราเห็นผู้ชายอ่อนหวาน ผู้ชายเซอร์ ผู้ชายตลก ผู้ชายสุขุม ผู้ชายที่ดูเป็นผู้ใหญ่ ถ้าหากผู้ชายที่น่าปรารถนาในสังคม “คนส่วนมาก” มีความหลากหลายได้ แล้วทำไมชายรักชายที่น่าปรารถนาจะต้องเป็นแค่ “แมนๆ ไม่แสดงออก” เท่านั้นละครับ?


 

 

อ้างอิง

Annes, A. & Redlin, M. (2012). The Careful Balance of Gender and Sexuality: Rural
Gay Men, the Heterosexual Matrix, and “Effeminophobia”, Journal of
Homosexuality, 59(2), 256-288.

Ball, C. A. (2001). Essentialism and Universalism in Gay Rights Philosophy:
Liberalism Meets Queer Theory, Law And Social Inquiry. 26(1), 271-293.

Butler, J. (1999). Gender Trouble: Tenth Anniversary Edition. London: Routledge.

Dacanay, N. (2011). Encounters in the Sauna - Exploring Gay Identity and Power
Structures in Gay Places in Bangkok. In P. A. Jackson (Ed.), Queer Bangkok -
21st Century Markets, Media, and Rights. (pp. 99-117). Hong Kong: Hong 
Kong University Press.

Jackson, P. (1997). Thai Research on Male Homosexuality and Transgenderism and
the Cultural Limits of Foucaultian Analysis. Journal of the History of
Sexuality. 8(1), 52-85.

Namaste, K. (1994). The Politics of Inside/Out: Queer Theory, Poststructuralism, and
a Sociological Approach to Sexuality. Sociological Theory. 12(2), 220-231.

Richardson, N. (2009). Effeminophobia, Misogyny and Queer Friendship: The
Cultural Themes of Channel 4’s Playing It Straight, Sexualities. 12(4),
525-544.

Ünaldi, S. (2011). Back In the Spotlight - The Cinematic Regime of Representation
of Kathoey and Gay Men in Thailand. In P. A. Jackson (Ed.), Queer Bangkok -
21st Century Markets, Media, and Rights. (pp. 59-80). Hong Kong: Hong 
Kong University Press.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net