กรุงเทพมหานคร: การบริหารเมืองที่เบียดขับคนจน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากเหตุการณ์อุกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัด   โดยเฉพาะที่เป็นประเด็นใหญ่โตเมื่อน้ำท่วมขังเมืองหลวงหัวใจสำคัญทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โรงงานนิคมอุตสาหกรรม ต่างๆ เป็นเวลาหลายวัน  ส่งผลถึงความไม่เชื่อมั่นในการดูแลการจัดระบบบริหารน้ำธรรมชาติ  สังคมส่งเสียงพร่ำบ่นถึงวิธีการแก้ปัญหาในครั้งนั้นที่ไม่ทันท่วงที  เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

ภายหลังวิกฤตอุทกภัยผ่านพ้นไป  การสืบค้นต้นตอการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคประชาชนเอง ซึ่งทางสังคมได้ส่งเสียงเดียวกันว่าเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนั้นเกิดขึ้นจาก “การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐบาล”  แต่ก็หาได้ทำให้รัฐบาลรู้สึกตัวไม่  กลับมาโทษเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพมาจากที่ รัฐมี “เขื่อน” ไม่เพียงพอ  เป็นเหตุอ้างที่จะก่อสร้างเขื่อนขึ้นมากั้นแนวทางน้ำไหลผ่านขึ้นมาอีก  รวมทั้งสาเหตุน้ำท่วมกรุงปี 2554 ชาวชุมชนริมคูคลอง กลับกลายเป็นจำเลยทางสังคม  ทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก หากจะเทียบกับการวางแผนที่ผิดพลาดของการไหลผ่านเมืองของน้ำหลากจำนวนมาก  เพราะเกิดความกลัวที่น้ำจะท่วมเขตเศรษฐกิจสำคัญ  จึงเกิดปรากฏการณ์ไข่ดาว เป็นวงขึ้นมา ย่านสำคัญๆมีระบบป้องกันน้ำที่เข้มแข็ง โดยไม่คำนึงถึงว่าน้ำที่เปลี่ยนทิศทางไปนั้นจะไปท่วมแหล่งย่านอื่นอย่างไร  หรือจะยาวนานไปเพียงใด  จึงเกิดน้ำท่วมขังเป็นวงกว้าง และระยะเวลายาวนาน เพราะย่านสำคัญๆส่วนใหญ่นั้นอยู่ใกล้กับทางออกของน้ำที่จะไหลลงสู่ทะเล (เช่น สีลม , สาทร , คลองเตย เป็นต้น) กรุงเทพมหานคร และรัฐบาลคิดเพียงแค่ให้น้ำผ่านย่านเศรษฐกิจนี้ไปเท่าที่สมควรผ่านได้โดยไม่ท่วม เท่ากับกลายเป็นการระบายน้ำที่จะผ่านย่านนี้จะระบายมากกว่าปกติไม่ได้  สุดท้ายภาพที่ออกมาการระบายน้ำอย่างล่าช้าของกรุงเทพมหานคร กับรัฐบาล กลับกลายให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองเป็นจำเลยทางสังคมอันดับหนึ่ง

นโยบายการจัดระเบียบชุมชนริมคูคลองที่ประกาศเดินหน้าเต็มตัวโดยรัฐบาล ซึ่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ ขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ที่มีนายกรัฐมนตรีคอยบัญชาการในเชิงภาพรวม และตั้งคณะอนุกรรมการ ขึ้นมา 3 ชุด เพื่อลงปฏิบัติการใน 3 ลักษณะงาน คือด้านการประชาสัมพันธ์เป็นหน้าที่ของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในการชี้แจงการดำเนินโครงการ ด้านการหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่เป็นหน้าที่ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการหาที่อยู่ใหม่สำหรับประชาชนที่ต้องรื้อบ้าน โดยมีโครงการต่างๆไว้รอรับ ไม่ว่าจะเป็น บ้านรัฐเอื้อราษฏร์ บ้านมั่นคง บ้านประชารัฐ ฯลฯ และด้านการรื้อย้ายชุมชนเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ในการรื้อย้ายชุมชนที่รุกล้ำแนวคลอง  เพื่อปฏิบัติการเร่งด่วนใน 2 คลองหลักนำร่อง คือคลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร พร้อมทั้งออกเป็นมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือภาษาบ้านๆก็คือ “ค่ารื้อย้าย” ชุมชนดีๆนั้นเอง

นั้นคือภาพใหญ่ที่ทางรัฐบาลได้วางไว้  แต่เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรื้อย้ายที่อยู่อาศัยประชาชนคือกระทรวงมหาดไทย ที่ได้มอบหมายให้ กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานปฏิบัติ เพราะเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่และมีอำนาจกฎหมายท้องถิ่นต่างๆที่สามารถขยับขับเคลื่อนการรื้อย้ายชุมชนได้  กลับไม่ได้ดำเนินการเพียงแค่ 2 คลองหลักดังกล่าวแต่กลับถือโอกาสนี้ในการขับไล่ชุมชนที่อยู่ในที่ดินสาธารณะทั้งหมด  โดยอ้างนโยบายข้างต้น  พร้อมทั้งขอกำลังทหารในการลงพื้นที่ให้ดูน่าเกรงขาม หรือบางโอกาสยังสามารถไว้ใช้ข่มขู่ชุมชนบางแห่งที่แข็งข้อ แข็งขืน ที่ไม่ยินยอมย้ายออก  และนี่คือปฐมบทของการเปิดฉากยืนคนละฝั่งกับประชาชนของกรุงเทพมหานคร
    

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารมาเร่งรัดให้ชาวบ้านรื้อย้ายบ้านออกไปจากบริเวณที่ตั้งชุมชน

นับมาตั้งแต่สมัยยุค ดร.พิจิตร รัตกุล เป็นผู้ว่าฯกทม. ที่เคยมีแนวโน้มจะไล่รื้อชุมชนริมคูคลองทั่ว กทม. แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับกับแนวทางเลือกใหม่ของภาคประชาชน ทีกล่าวไว้ว่า “คนกับคลองต้องอยู่ร่วมกันได้” โดยการบูรณาการพัฒนาบริเวณที่ตั้งของชุมชนริมคูคลองให้เกิดความร่วมมือกันในการรักษาคูคลองโดยชุมชน  ดูแลความสะอาด  ทำให้น้ำไม่ติดขัดการไหลผ่านระบาย  บางพื้นที่อาจจะต้องรื้อบ้านในส่วนที่ยื่นลงคลองแล้วมาสร้างริมคลองบนบกแทน  ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือกับทางชุมชนเป็นอย่างดี 

แต่ถ้าหากนับเวลาเพียงช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารรัฐบาลประเทศไทยมาตั้งแต่ ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน กรุงเทหมหานคร  ได้ลงพื้นที่เพื่อปิดหมายขับไล่ชุมชนต่างๆหลายชุมชนที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณพื้นที่ 2 คลองหลัก ที่ทางรัฐบาลประกาศไว้ เช่น ชุมชนหลังหมูบ้านบดินทรรักษา เขตบางเขน  และชุมชนริมคลองเป้ง เขตวัฒนา ที่เตรียมดำเนินคดีบุกรุกที่ดินสาธารณะ ได้เอาหนังสือแจ้งเตรียมดำเนินการไปแปะไว้ที่บ้านทุกหลังคาเรือนของชาวชุมชน สร้างความหวั่นเกรงที่จะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกัน  แต่ยังมีชุมชนที่หนักหนากว่าคือชุมชนริมคลองลำกะโหลก และชุมชนริมบึงแบนตาโพน เขตคลองสามวา ที่ทางสำนักงานเขต ได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ใช้ “ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ปีพ.ศ. 2502” ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร สามารถรื้อถอนบ้านเรือนที่อยู่ในที่ดินสาธารณะได้โดยไม่ต้องขึ้นศาลไต่สวนแต่อย่างใด  เท่านั้นยังไม่พอ  ยังสามารถเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรื้อบ้านเรือนกับทางเจ้าของบ้านได้ด้วย หากไม่มีเงินในการชำระ  สามารถยึดทรัพย์สินแทนได้ ส่วนใหญ่หากมีการใช้ประกาศดังกล่าวจะให้เวลาชุมชนในการเตรียมการรื้อย้ายในระยะเวลาราว 30 – 45 วัน เท่านั้น  ทั้งๆที่กรุงเทพมหานครมีกฎหมายในมือมากมายที่จะสามารถเอาผิดกับผู้อยู่อาศัยในที่ดินสาธารณะเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อหาการบุกรุกที่ดิน หรือ การทำผิด พรบ.ควบคุมอาคาร ซึ้งล้วนแล้วแต่เป็นโทษทางอาญาทั้งนั้น  แต่ที่ต่างกันคือ ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในการแก้ต่างได้ถึง 3 ศาล เจรจาผ่อนปรนในด้านระยะเวลากันได้


   
ชุมชนคลองเสือน้อย ถูกหมายสั่งไล่รื้อโดยใช้ ปว.44 ในการขับไล่

และการดำเนินการเช่นนี้ ความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นของชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองสาขา คลองย่อย เหล่านี้ จะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆทั้งสิ้นจากหน่วยงานรัฐ แต่ด้วยความที่สถานการณ์เตรียมไล่รื้อชุมชนใน 2 คลองหลักนำร่องนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทางกรุงเทพมหานครนำมาอ้างต่อชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองสาขา คลองย่อย ต่างๆ ว่าเป็นนโยบายจากทางรัฐบาล  ส่วนการช่วยเหลือว่าถ้าถูกรื้อย้ายแล้วจะมีค่าชดเชย เยียวยา หาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวชุมชนนั้น กรุงเทพมหานคร ไม่เคยมีแผนรองรับใดๆ

ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงการสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการดูแลรักษาคลองแบบบูรณาการ ที่ประหยัดทั้งงบประมาณ  และบุคลากรในการช่วยดูแลรักษาความสะอาดคลองแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  โดยให้ทางชุมชนมีหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวไปได้เลย  สามารถแก้ปัญหาขยะอุดตัน น้ำเสียที่ไหลลงคลอง

ประกอบกับอาศัยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ที่เป็นหลังพิงให้กับเจ้าหน้าที่   และล่าสุดที่นำป้ายประกาศเตรียมรื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร พร้อมแถลงข่าวกับการเอาจริงเอาจังในการรื้อย้ายครั้งนี้  เพื่อจะเบียดขับคนจนออกไปให้พ้นเมือง แล้วสร้างสวนสาธารณะให้คนกลุ่มใดมาใช้ประโยชน์ก็ยังไม่แน่ชัด เพราะเนื่องจากเห็นสวนสาธารณะขนาดกลาง และขนาดเล็กหลายแห่ง เป็นสวนร้างไปก็หลายจุด  ซึ่งกับกรณีนี้เองก็เช่นกัน  ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ที่พร้อมให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครอย่างจริงจัง จัดเวรยามดูแลรักษา  จัดระเบียบการดูแลสวน ให้เป็นอย่างดี โดยไม่ได้เรียกร้องค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทนใดๆ กับทางกรุงเทพมหานคร อีกทั้งบ้านเรือน  ชุมชน  โบราณสถานเก่าแก่ ที่พร้อมจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางเมืองอย่างมีชีวิต และความเป็นอยู่ของอย่างแท้จริง

นี่คือวิสัยทัศน์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน  ที่มีแนวความคิดเบียดขับคนจนให้พ้นออกจากเมืองหลวง  ทั้งที่ในอดีตที่ผ่านมา เมืองหลวงล้วนแล้วใช้แรงงานกลุ่มคนเหล่านี้ในการสร้างเมืองขึ้นมา  เป็นแรงงานนอกระบบราคาถูก งานต่างๆที่ชนชั้นกลางไม่อยากจะทำกัน เช่น กวาดขยะ , เก็บขยะ , ขับรถเมล์ เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นสายเลือดในการหล่อเลี้ยงชนชั้นกลางระดับในการขายอาหารเลิศรส แต่ราคาต่ำ หาบเร่ ขายอาหารต่างๆ  ซึ่งเป็นราคาที่ทุกชนชั้นสามารถจ่ายกันไหว นี้คือบทบาทหน้าที่ที่เกิดขึ้นในการอยู่ร่วมกันในสังคมเมือง  ที่ต้องสดรับกันอยู่ได้ทุกชนชั้น   แต่สิ่งที่กรุงเทพมหานครกระทำอยู่นั้นกลับสวนทางข้อเท็จจริง พยายามกีดกันคนจนไม่ให้สามารถอยู่ในเมืองได้  ด้วยมาตรการที่เข้มงวด  และส่อแววที่จะรุนแรง โดยการขอกำลังทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทุกครั้งในการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อเป็นการส่งสัญญาณทางอ้อมให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่ามีกองกำลังใดบ้างที่จะเข้ามารื้อถอนทำลายบ้านเรือนพวกเขา  อีกทั้งเป็นการกระทำที่คิดจะรื้อไล่อย่างเดียว  แต่ไม่มีมาตรการรองรับกับประชาชนที่ถูกรื้อไล่แต่อย่างใด

คำถามเดียวที่จะถามดังๆไปยังกรุงเทพมหานคร และรัฐบาล ว่า “หากไล่รื้อชุมชนริมคูคลองออกไปทั่วกรุงเทพมหานครแล้วยังเกิดน้ำท่วมอยู่อีก  ใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชาวชุมชน” กรุงเทพมหานคร ควรจะทบทวนระเบียบกฎหมายต่างๆที่ออกมายาวนานแต่ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันอย่างประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ปีพ.ศ. 2502 ควรจะทำการยกเลิกทิ้งไป เพราะเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง  กีดกั้นประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม  และควรมีแนวคิดการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันในทุกชนชั้น  สร้างความร่วมมือในทุกกลุ่ม แทนที่การเบียดขับกลุ่มชนชั้นล่างให้ออกไป  นี่คือสิ่งท้าทายที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารแทนคนเดิม  ว่าจะมีทัศนคติต่อคนจนอย่างไร  หรือจะเดินซ้ำรอยคนเดิม  นโยบายเหล่านี้เองที่ชนชั้นล่างจะขอกำหนดเองว่าจะ “เลือก” ใครเข้ามาเป็นผู้บริหารเมือง !!!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท