เสวนา: ทรัพยากรเฮือกสุดท้ายในอาเซียน ใครต้องรับผิดชอบ?

วงเสวนาเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคอาเซียนชี้ ใครได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง จริงหรือไม่ที่คนไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และทางออกที่คนทั้งภูมิภาคต้องร่วมกันทำความเข้าใจ

25 มี.ค. 2559 คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมมือกับกลุ่มโฟโต้ เจิร์น จัดพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศพม่าและภูมิภาคอาเซียน ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ วิทยากรประกอบไปด้วย โก โก ลวิน สถาบันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (national resource governance institute), วง อ่อง กลุ่มท่อก๊าซชเว รัฐอาระกัน (Shwe Gas Movement Arakan), เปรมฤดี ดาวเรือง  PROJECT SEVANA SOUTH-EAST ASIA, สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดี ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งด้านผลกระทบ การจัดการ และทางออกในอนาคต
 

ทรัพยากรธรรมชาติในพม่าใครได้ประโยชน์ ใครเป็นเจ้าของ
โก โก ลวิน  กล่าวว่า ปัญหาในการจัดสรรส่วนแบ่งจากการขายทรัพยากรธรรมชาติในพม่านั้นยังเป็นปัญหาที่ไม่ลงตัว หลายรัฐยังคงตั้งคำถามต่อรัฐบาลกลางถึงส่วนแบ่งภาษีหลังจากมีการซื้อขายทรัพยากรกับประเทศคู่ค้าว่าตกมาถึงรัฐอันเป็นเจ้าของทรัพยากรอย่างเหมาะสมจริงหรือไม่   รัฐควรจะหาข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าการค้าขายดังกล่าวควรจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไร โดยกำหนดเป็นกรอบนโยบายที่ชัดเจน 

ด้านวง อ่อง กล่าวยกตัวอย่างถึงกรณีการสร้างท่อลำเลียงแก๊สจากประเทศพม่าไปยังประเทศจีน ท่อแก๊สดังกล่าวมีความยาวภึง 700 กิโลเมตรโดยสร้างตัดผ่านหลายรัฐในประเทศ ท่อแก๊สดังกล่าวนี้ย่นระยะในการลำเลียงแก๊สไปได้มาก โดยที่จีนไม่จำเป็นต้องลำเลียงผ่านทางประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย นั่นหมายความว่าจีนลดต้นทุนในการผลิตไปได้ แต่การสร้างท่อแก๊สดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาภายในแก่ประชาชนในประเทศ การเวียนคืนที่ดินที่ไม่เป็นธรรม การบีบบังคับหรือคุกคามจากรัฐ ความขัดแย้งต่างๆ ส่งผลให้มีทหารส่วนกลางเข้าไปอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดการสู้รบภายในประเทศ

อีกทั้ง วง อ่อง ยังกล่าวอีกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้การซื้อขายทรัพยากรถูกนำไปเป็นงบประมาณในการป้องกันประเทศ รัฐบาลกลางได้แบ่งปันผลประโยชน์มาสู่รัฐอันเป็นเจ้าของทรัพยากรเพียงแค่ 3% เท่านั้น

เปรมฤดี ดาวเรือง กล่าวว่า แม้รัฐบาลทหารพม่าจะปิดประเทศมาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังมีภาพแผนผังแสดงการขุดเจาะน้ำมันในชายฝั่งพม่า จำนวน 47 บล็อก จาก 20 บริษัทใหญ่ทั่วโลก ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นภาพเก่าเมื่อ 16 ปีมาแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลและกลุ่มทุนตักตวงผลประโยชน์ด้านทรัพยากรมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ เปรมฤดียกตัวอย่างถึงประเทศเพื่อนบ้านเช่นประเทศลาว ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่เพียง 6,000,000 คนเท่านั้น แต่กลับมีโครงการสร้างเขื่อนถึง 300 เขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งให้ประเทศไทย ฉะนั้น หากจะอ้างว่าโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมดที่กำลังเตรียมการก่อสร้างเป็นการทำเพื่อประชาชนนั้นคงจะไม่สมเหตุสมผล

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มักมาพร้อมกับผลกระทบที่ใหญ่กว่า
สุเทพ กฤษณาวารินทร์ กล่าวถึงหมู่บ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ทางบริษัทอิตาเลี่ยนไทยสร้างขึ้นเพื่อชดเชยด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ แต่สุดท้ายแล้วกลับไม่มีคนอาศัยอยู่เนื่องจากไม่มีพื้นที่ทำกิน  โดยสุเทพกล่าวว่าการชดเชยความเสียหายนั้นไม่ได้หมายความว่าสร้างบ้านให้อยู่เท่านั้น เพราะหากไม่มีที่ทำกินประชาชนก็ไม่สามารถที่จะอยู่ในพื้นที่นั้นต่อไปได้

เปรมฤดี กล่าวถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายว่าจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบถึง 38,000 คน เนื่องจากโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วยท่าเรือน้ำลึก เขตอุตสาหกรรม เขื่อน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งผลกระทบนั้นยังไม่รวมถึงทางด้านระบบนิเวศอีกด้วย

เปรมฤดียังกล่าวถึงการที่ภาครัฐไม่สามารถจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้ จึงทำให้เกิดการขับไล่ประชาชน การใช้ความรุนแรง การคุกคาม กดขี่ข่มเหงซึ่งสิ่งเหล่านี้กระทำการโดยรัฐ ทำให้ประชาชนบางส่วนอพยพเข้ามาในประเทศไทย นี่เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อไปว่าประเทศไทยมองปัญหาที่กระทบมาเป็นลูกโซ่เหล่านี้อย่างไร เมื่อประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเช่นนี้ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจริงๆ หรือ ซึ่งเธอมองว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่ใช่ได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เราได้รับผลกระทบในด้านสังคมอีกด้วย

ทรัพยากรธรรมชาติของเพื่อนบ้านกำลังหมดไป ใครต้องรับผิดชอบ
เปรมฤดี มองปัญหาการใช้ทรัพยากรของภูมิภาคอาเซียนว่าเป็นการใช้ทรัพยากรครั้งสุดท้ายโดยอาศัยกรอบการพัฒนาเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรภายในประเทศอาเซียนเป็นข้ออ้าง โดยหลงลืมไปว่าเราได้นำทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มาใช้กว่าสองทศวรรษแล้ว พม่าที่เป็นแหล่งสำคัญของแก๊สและเหมืองแร่นั่นเป็นภาพในอดีต เนื่องจากทรัพยากรทั้งหลายย่อมมีวันหมด ปัจจุบันปัญหาไม่ใช่แค่ระหว่างนักลงทุนและประเทศผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาของทั้งภูมิภาคที่ต้องเข้าใจสถานการณ์เสียใหม่

เปรมฤดี ยังกล่าวเสริมว่า คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคน้อยมาก ทั้งที่กำลังเกิดในประเทศเพื่อนบ้านหรือแม้แต่ที่กำลังเกิดขึ้นภายในประเทศ การที่ไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถสร้างสำนึกร่วมกันได้ คนไทยส่วนใหญ่ยังมองภาพพม่าว่าเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ มีวิถีชีวิตแบบที่น่าประทับใจ แต่ไม่ได้ศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันจึงมองไม่เห็นปัญหา อีกทั้งยังนึกภาพไม่ออกถึงผลกระทบลูกโซ่ที่จะมาถึงตนเอง สิ่งที่จำเป็นในตอนนี้คือทำอย่างไรให้คนไทยตระหนักได้ว่าเรากำลังเข้าไปช่วงชิง ทั้งทรัพยากรและความเป็นธรรมจากเพื่อนบ้าน

ความตระหนักรู้ ความหวังของภูมิภาค
โกโก ลวิน กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ประชาชนพม่าไม่สามารถรับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ เนื่องจากสื่อในประเทศพม่ายังอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ เรื่องราวที่ถูกนำเสนอส่วนใหญ่จึงเป็นแง่มุมจากรัฐ ซึ่งนั่นทำให้ประชาชนไม่มีความเข้าใจถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นมากพอ  บางครั้งสื่อก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือเพื่อชี้นำจากรัฐเท่านั้น

เปรมฤดี กล่าวว่า การรณรงค์ในเรื่องโครงการขนาดใหญ่จะประสบความสำเร็จไม่ได้หากคนในสังคมไม่มีส่วนร่วม ทุกวันนี้เอ็นจีโอทุกที่พยายามหาทางที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนในสังคมร่วมกันตั้งคำถามและสนใจประเด็นเหล่านี้กันให้มากขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีใครที่ทำได้สำเร็จ  หากคนในสังคมได้รับข้อมูลที่เพียงพอก็จะทำให้สามารถตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยนั้นก็ยังไม่สำเร็จ หลายครั้งความไม่เข้าใจปัญหานั้นก็ทำให้คนเบื่อและรำคาญ จนถึงขั้นมีกระแสต่อต้านเช่นว่า กลุ่มเอ้นจีโอนั้นต่อต้านการสร้างโครงการทุกอย่าง

ขณะที่ สุเทพ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อว่า ควรจะช่วยเติมเต็มในการสร้างความตระหนักรู้ต่อคนในสังคม สิ่งที่สื่อควรทำคือนำเสนอข้อมูลเชิงลึกแก่ประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจ การทำข่าวเพียงเพราะมีกระแสและความเคลื่อนไหวนั้นยังไม่เพียงพอ หน้าที่ของสื่อที่ดีสื่อต้องควบคู่กันไปทั้งนำเสนอข้อเท็จจริงและความน่าสนใจ ตนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานของสื่อเพื่อที่จะขับเคลื่อนสังคมไปด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท