พระเจ้าองค์ใหม่? บทบาทเหนือเครือข่ายของโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

Facebook และ Youtube มีอะไรจะแนะนำเราอยู่ตลอดเวลา ผมทดลองเปิดเพลง “มายา" ของ รัศมี อีสานโซล ซึ่งร้องแบบอีสานแต่ใช้ดนตรีสากลแจ๊ส โซล ฯลฯ เป็นทำนอง น่าจะเรียกว่าเป็นดนตรีร่วมสมัย และค่อนข้างจะเป็นเพลงของกลุ่มคนฟังกระแสรอง มียอดวิวประมาณหมื่นต้นๆ ผมปล่อยให้ยูทูปวิ่งไปสักพักตาม playlist ที่มันแนะนำให้ แรกๆ ก็ยังคงเป็นของรัศมี แต่เวลาผ่านไปก็เริ่มเป็นของวงอื่นๆ ในแนวเดียวกันที่มียอดวิวมากกว่าแทรกเข้ามาเรื่อยๆ

เพลงต่างๆ ที่ youtube แนะนำให้นั้นมีได้รับความนิยมสูงขึ้นกว่าเพลงก่อนๆ เพิ่มขึ้นเป็นแสนจนถึงหลักล้านในคลิปหลังๆ ประมาณชั่วโมงที่สี่ youtube หยุดอยู่ที่หน้าเพลง “ลืม” ของ JELLY ROCKET ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็น “กระแสหลักของกระแสรอง” ด้วยยอดวิวประมาณสามล้าน ผมทดลองปล่อยทิ้งไว้อีกสักพัก youtube พาผมเดินทางมาสู่เพลง “พยายาม” ของ O-PAVEE ที่น่าจะเรียกได้เต็มปากแล้วว่าเป็นเพลงกระแสหลัก ด้วยยอดวิวยี่สิบสามล้าน (มีนาคม 2016)

กับเพลงฝรั่งก็เช่นกัน ผมเริ่มที่ Aretha Franklin ถูกพามาถึง Amy Winehouse มาจนถึง Miley Cyrus และ Rihanna ในที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ลองนึกว่าผมเป็นคนชอบแมว เฟซบุ๊กทราบว่าผมชอบแมวก็จะเอาภาพแมวขึ้นมาให้ผมกดไลค์บ่อยๆ หลังจากนั้นไม่นาน หากเฟซบุ๊กอยากให้ผมชอบหมาไปด้วย เฟซบุ๊กก็จะพาภาพหมาใส่ชุดแมว หรือแมวใส่ชุดหมา หรือหมาคู่กับแมว มาหาผมจนเจอ เป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตผมอาจจะชอบหมาไปด้วย? ความเป็นไปได้เหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาโดยตัวละครตัวใหม่ในระบบการสื่อสารของมนุษย์ ซึ่งไม่มีอยู่ในยุคสื่ออื่น ก็คือชุดคำสั่ง (Algorithm) ที่คั่นกลางระหว่างตัวผู้รับสาร สาร และผู้ส่งสาร นักวิชาการสื่อและวัฒนธรรมศึกษาผู้พิมพ์บทความใน European Journal of Cultural Studies ชื่อ Ted Striphas เรียกภาวะที่ชุดคำสั่งเหล่านี้เข้ามามีผลกับวัฒนธรรมอย่างค่อนข้างตรงตัวว่า Algorithmic Culture[1] หรือวัฒนธรรมที่ขึ้นกับโปรแกรมชุดคำสั่ง หากพูดในภาษาของนักสังคมวิทยาผู้เขียน “Connected” ชื่อ Nicholas Christakis ก็คือ ในฐานะที่มนุษย์และสารเป็น node หรือจุดที่เชื่อมโยงกับจุดอื่นๆ โดยมี wire หรือเส้นสายเครือข่ายเชื่อมโยงกันไว้ ในเวลานี้ เส้นสายเครือข่ายที่เคยทำหน้าที่เพียงส่งสารนั้น เริ่มมีความคิดขึ้นมา

ลองจินตนาการว่าคุณเคยใช้ไมโครโฟน สายไมโครโฟนไม่ได้มีหน้าที่คิด แต่มีหน้าที่พาเสียงของคุณไปขยาย แต่ในเวลานี้สายไมโครโฟนเริ่มคิดแล้วว่าควรจะทำยังไงกับสิ่งที่คุณพูดออกไป

ถ้าเรากลับมาที่หมา ความชอบหมาที่ถูกดูแลโดยเฟซบุ๊กมาตลอดนั้นจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการตลาดสืบไป ผู้ใช้ได้ติดต่อกับสังคมของเขาเป็นค่าตอบแทนจากผู้ให้บริการ ส่วนผู้ให้บริการก็นำข้อมูลไปใช้ต่อกับอุตสาหกรรมโฆษณาและการตลาดเป็นค่าต่างตอบแทน เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป แม้ผู้ดูแลแฟนเพจเล็กๆ อย่างเราก็สามารถใช้บริการนี้ด้วยการจ่ายเงินเพื่อ boost post (เพิ่มอัตราการถูกมองเห็นของเนื้อหา) โดยสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากให้เห็นได้ เป็นบริการที่เปิดเผยเท่าที่มันเปิดเผย นี่เป็นความใฝ่ฝันของทุนนิยมที่จะระบุตัวตนปัจเจกและจัดหมวดหมู่ให้ได้ และสร้างอรรถประโยชน์สูงสุดจากการแบ่งหมวดหมู่นั้นๆ โดยการมองหาตลาดและเริ่มทำกำไร พื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์คจึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงพื้นที่อีกต่อไป แต่เป็นทั้งตัวแสดงที่กำลังทำให้ข้อมูลของเรากลายเป็นสินค้าอีกด้วย[2]

ข้อดีของการขยายเครือข่ายและถูกนำพาเข้าหาสังคมที่มีรสนิยมและความต้องการใกล้เคียงกัน เราก็ทราบโดยทั่วไปแล้ว แต่แม้การที่ผู้ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์คหาประโยชน์จากข้อมูลของเราเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เราถูกสัญญาจ้างทำร้าย ถูกขังอยู่ในโรงงาน หรือโดนกดค่าแรง แล้วมันจะมีปัญหาอย่างอื่นหรือไม่อย่างไร นักปรัชญาจริยศาสตร์ นักกฏหมาย นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการที่ศึกษา Marxism มาโดยตรงรุ่นหลังๆ อาจตอบเรื่องนี้ได้ดีกว่าผม ผมจะขออนุญาตเปิดช่องไว้ให้เขามาตอบ และจะขอว่าต่อในส่วนการสื่อสารและเครือข่าย

นักวิจัยจำนวนมาก ซึ่งรวมนักสังคมวิทยา มานุษยวิทยา กระทั่งนักปรัชญา กำลังระดมสมองเพื่อที่จะทำทุกวิถีทางไม่ให้ facebook และโซเชียลเน็ตเวิร์คใหม่ๆ รายใหญ่ต่างๆ ลงเอยด้วยการตายแบบ msn หรือ hi5 ทุกครั้งที่นโยบายมันเปลี่ยน เป็นการเปลี่ยนที่คิดมาอย่างรอบคอบและมีเหตุผลที่จะควบคุมความไม่พอใจและความพอใจของผู้ใช้ให้พอดีเพื่อจะทำให้ผู้ใช้ยังคงอยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์คนั้นๆ ต่อไป เช่นการเปลี่ยนจาก wall เป็น timeline ที่ได้รับเสียงตอบรับด้านลบในช่วงแรก แต่อาจกลายเป็นว่าการเปลี่ยนโดยไม่ฟังและไม่บอกนั่นแหละที่ทำให้เราอยู่กับมันต่อไปในฐานะที่มันสร้างความประทับใจ (แม้ไม่ใช่ในทางบวก) ที่รับได้และร่วมกันก้าวข้ามไป หรือการใช้ emoticon หรือสัญลักษณ์แสดงอารมณ์ที่ยังคงไม่มี dislike ที่อาจนำไปสู่การทำให้ผู้ใช้รู้สึกถูกทำร้าย แต่กลับเป็น wow angry sad แทน ซึ่งสามารถตีความเข้าข้างตัวเองได้ และยังคงหล่อเลี้ยงผู้ใช้ให้อยากใช้งานต่อไป ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บปวดจนเลิกใช้

อย่างที่ได้กล่าวไว้ช่วงแรก จาก Aretha Franklin เดินทางมาถึง Rihanna ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ จากรัศมีมาสู่ O-PAVEE ก็เช่นกัน นอกจากจะมั่นใจได้ว่ามันพยายามจะเข้ามามีผลกับความเติบโตของมนุษย์แล้ว ยังจะพอเห็นทิศทางได้ด้วยว่ามันอยากจะพาไปทางไหน

ชุดคำสั่งเหล่านั้นจะจัดหมวดแล้วดึงปัจเจกเข้าหากัน เช่น คนฟังรัศมี จะได้เคยฟัง JELLY ROCKET ด้วย คนที่กดไลค์เพลงทั้งคู่จะถูกรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน และจะมีความพยายามนำพากลุ่มนั้นๆ เข้าสู่ Mass Culture และ Cosmopolitan Culture หรือพาเข้าสู่  “ความเป็นคนปกติ” ที่อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลัก ตลอดไปจนถึงวัฒนธรรมโลก เช่นสภาวะที่ทั่วโลกเข้าใจตรงกันว่าการกดไลค์คืออะไร เป็นต้น ด้วยวิธีการค่อยๆ มอบตัวเลือกให้ผ่านการแนะนำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากปลายทางของการปล่อยให้ชุดคำสั่งนั้นเปิดเพลงไหลไปเรื่อยๆ และจะพาผู้ฟังไปจบที่เพลงกระแสหลักเสมอ (เช่นการพาไปสู่เพลงของ O-PAVEE และ Rihanna จากตัวอย่างด้านบน) สภาวะแบบนี้ก็เป็นความใฝ่ฝันของแนวคิดสมัยใหม่และโลกาภิวัฒน์ (modernism, globalisation) ซึ่งเป็นมิตรกับทุนนิยม ที่จะระบุตัวตนและรวมคนเป็นหมวดหมู่ให้ได้มากที่สุด

การอ้างดังกล่าวอาจมีปัญหาอยู่มากที่มองข้ามอำนาจในการตัดสินใจที่อยู่นอกจอของมนุษย์ มองมนุษย์เป็น object และมองข้ามการเมืองวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ไป คนในกลุ่มวัฒนธรรมกระแสรองอาจปฏิเสธการนำพาโดย playlist ของยูทูปตั้งแต่แรก หรือเปลี่ยนเพลงเมื่อรู้ว่ากำลังเข้าสู่เพลงกระแสหลัก ซึ่งจะยังทำให้ความหลากหลายยังคงมีอยู่ (และจะยิ่งทำให้ชุดคำสั่งนั้นเก็บข้อมูลได้มากขึ้น) อนึ่ง การสนับสนุนทางการสื่อสารของโซเชียลเน็ตเวิร์คอาจทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่หลากหลายเพิ่มขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ พยายามนำพาเพียเล็กน้อย และใช้ประโชยน์จากการเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำแทน แต่หากจะกล่าวว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คสนับสนุนกลุ่มวัฒนธรรมหลักมากกว่าวัฒนธรรมรอง และนำพาปัจเจกเข้าสู่วัฒนธรรมกลุ่มหลักมากกว่า หากมันมีเป้าหมายตามที่กล่าวมาก็คงไม่ผิด และนั่นก็เป็นวิสัยของการเมืองวัฒนธรรมที่ดำเนินอยู่โดยทั่วไปแม้ไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์คและชุดคำสั่ง

อย่างไรก็ตาม บนข้อถกเถียงทั้งหมดนั้น ตัวแปรใหม่คือชุดคำสั่งที่เกิดขึ้นบนสื่อตัวกลางของการสื่อสาร ก็เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่จริง และมันกำลัง “คิด” และส่งผลอยู่จริงๆ และทรงประสิทธิภาพกว่าสื่อกลางที่เป็นมนุษย์ในสื่อสารมวลชนอย่างผู้จัดรายการโทรทัศน์และบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ แม้การทำนายถึงผลและเจตจำนงอันจำกัด (หรือไม่) ของมันจะยังคงคลุมเครือ

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่านอกจากชุดคำสั่งดังกล่าวจะรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และอาจรู้ว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่แล้ว (เดิมทีด้วยการป้อนข้อมูลของเราเอง และทับถมกันจนกลายเป็นข้อมูลที่เราถูกทำให้ป้อน) มันยังสามารถมีส่วนเลือกตัวเลือกให้เราได้ (เวลาเราได้เลือกข้อสอบปรนัย เราอาจรู้สึกว่าเราได้เลือก แต่ที่จริงก็คือได้เลือกเพียงในข้อจำกัดที่ผู้ออกข้อสอบจำกัดมาให้แล้ว) จัดหมวดหมู่ให้เรา และให้รางวัลกับบทลงโทษกับเรา ซึ่งหมายความว่าสามารถทำนายสภาวะอารมณ์ของเรา[3] และมีผลในการกำหนดตัวตนในอนาคตของเราไปในทางที่มันอาจตั้งเป้าหมายไว้อีกด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือความพยายามของมันและความต้องการของเราที่จะผสมโรงกันอย่างพอดี ทำให้เราแยกจากมันไม่ได้ (เลิกเล่นเฟซบุ๊กไม่ได้สักที) และคงสภาวะที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเอาไว้

เพื่อที่จะเปรียบเทียบให้ตรงกับชื่อบทความ ทั้งหมดที่กล่าวมีลักษณะคล้ายกับแนวคิดเรื่องสภาวะของ “พระเจ้า” ในศาสนาต่างๆ

หากเปรียบมันเป็นพระเจ้าแล้วก็เกิดคำถาม (ซึ่งอาจเป็นคำถามที่ผิด) ตามมา ก็คือใครที่เป็นผู้ที่กำลังคิดและทำมากกว่ากัน มนุษย์ หรือชุดคำสั่งนั้น? ความกังวลที่เกินจริงอย่าง AI Takeover (หุ่นยนต์หรือโปรแกรมจะอยู่เหนือมนุษย์) นั้นเริ่มเผยให้เห็นอย่างบางๆ แล้วหรือไม่? ไปจนกระทั่งคำถามที่เล่นใหญ่มากอย่าง “บทบาทของพระเจ้าพระองค์ใหม่” ได้เกิดขึ้นบนเครือข่ายการสื่อสารของมนุษย์แล้วหรือไม่?

การถามเช่นนั้นทำให้ดูเหมือนกับว่าเราเป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่ อย่างที่ได้กล่าวไปว่าเราก็มีส่วนเป็นผู้เลือกหรือผู้กระทำอยู่ตั้งแต่ระดับป้อนข้อมูลตลอดไปจนกระทั่งการตัดสินใจกดยกเลิกทำการต่างๆ ที่ไม่ได้มีผลมาจากการชี้นำของโฆษณาออนไลน์ใดๆ และยังสับสนแม้ในระดับตัวเราเอง แต่พระเจ้าในทัศนะของนักปรัชญา (หรือไม่) บางท่านอย่างเซนต์ออกุสตินก็ไม่ได้เดือดร้อนกับ freewill หรือบทบาทที่เราจะเลือกมีความหมายและกระทำบางอย่างได้อย่างเสรี เพราะท่านมีบทลงโทษของท่านรออยู่แล้ว เช่นหากเราเลือกที่จะไม่เล่นเฟซบุ๊ก ก็ย่อมได้ แต่ก็ต้องได้รับบทลงโทษโดยการกลายเป็นคนชายขอบของสังคม ตามเพื่อนไม่ทัน เป็นต้น (หากไม่รู้สึกว่าเป็นการทำโทษก็แล้วไป)

แต่บทลงโทษนั้นๆ อาจเกิดขึ้นโดยตัวสังคมเองเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องมีโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือสังคมที่ประกอบด้วยปัจจัยใหม่อย่างชุดคำสั่งบนโซเชียลเน็ตเวิร์คก็ได้ไม่ใช่หรือ? จึงมีคำถามถัดมาก็คือสังคมที่ไม่ประกอบหรือได้รับผลกระทบจากปัจจัยใหม่อย่างโซเชียลเน็ตเวิร์คนั้นจะยังดำรงอยู่หรือไม่ ซึ่งก็ยังคงเป็นเพียงคำถาม

ถ้าหันกลับมามองในแนวทาง AI Takeover และหากมันได้เกิดแล้ว แต่ชีวิตก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกเกณฑ์ไปเป็นทาสอะไร มันก็ไม่ได้มีปัญหามากไม่ใช่หรือ? ตัวแปรใหม่ที่มีบทบาทเข้ามาคิดนั้น ก็เป็นความคิดที่เดินทางมาจากมนุษย์เอง ซึ่งก็จะไม่ได้ส่งผลอะไรมากไปกว่าที่มนุษย์เคยพยายามกระทำกับสังคม ทั้งมันยังสามารถปรับเปลี่ยนยกเลิกได้อยู่ตลอดเวลาใช่หรือไม่? มันจึงอาจไม่ใช่ผู้เล่นตัวใหม่ แต่เป็นผู้เล่นตัวเดิมที่มีอำนาจมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี ซึ่งก็คือทุนและธรรมชาติของมนุษย์กันเอง ไม่น่าจะเป็นพระเจ้าที่ไหน แต่ก็จะกลับมาสู้ข้อเสนอกล่าวไปว่าเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ในสภาวะกึ่งสามารถควบคุมได้ ส่วนหนึ่งมันมีการทำงานเป็นของตัวเอง

ท้ายที่สุดคือหากเราเริ่มคิดว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คกำลังทำลายตัวตนของเรา ก็จะนำพาไปสู่ซึ่งคำถามเก่าแก่ก็คือตัวตนของเราที่ว่ายังไม่ถูกเบี่ยงเบนและทำลายมันคืออะไร? มันเริ่มนับที่ตรงไหน? ที่จุดไหนจึงจะนับได้ว่าถูกทำลายหรือเบี่ยงเบน? และหากมันเกิดขึ้นแล้วไม่ได้เดือดร้อนหรือรู้สึกดีขึ้นด้วยซ้ำ มันจะสำคัญอย่างไร?

หลักฐานและข้อโต้แย้งของหลายฝ่ายยังคงไม่สามารถเอาชนะหรือเกื้อกูลกันเองได้อย่างเต็มที่ และยังคงเป็นคำถามที่ควรจะส่งไม้ต่อและช่วยกันตอบต่อไป ทั้งการอธิบายสภาวะที่เกิดขึ้น และการหาคำตอบว่าเราจะอยู่กันอย่างไร

การคิดไปเองว่ากำลังรับส่งสารเกินขีดจำกัด (Communication Overload)

ทั้งทางตะวันตกและตะวันออก ล้วนมีสำนักคิดดังๆ เคยแสดงความคิดเห็นว่าเรากำลังพูดมากเกินไป คิดมากเกินไป ความรู้สึกว่าเรากำลังสื่อสารมากเกินไปเช่น “เล่นเฟซบุ๊กเยอะไป” หรือ “กรุ๊ปไลน์เด้งถี่เกินไป” นี้มีอยู่กับมนุษย์มาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคที่การสื่อสารยังคงเป็นจดหมายเขียนมือ สิ่งพิมพ์ โทรศัพท์ จนถึงอีเมล์ ก็ปรากฏหลักฐานว่าคนจำนวนมากกำลังรู้สึกเช่นนี้มาโดยตลอด[4] แต่ความรู้สึกว่าอะไรสักอย่างมากเกินไปไม่เคยบ่งบอกว่าสิ่งนั้นจะล่มสลายลง เทคโนโลยีการสื่อสารที่ถูกคิดค้นขึ้นมาแล้วตายลงไปอย่างโทรเลข ตายลงไปเพราะตอบโจทย์การสื่อสารของมนุษย์ได้น้อยเกินไป ไม่ใช่มากเกินไป ความต้องการจะสื่อสารของมนุษย์ไม่หยุดลงจนกว่าจะสิ้นชีวิต และบางชีวิตที่มีความเชื่อทางศาสนาก็ยังเล็งไปไกลกว่านั้น เพราะฉะนั้นข้อเสนอที่ว่าเราจะเบื่อเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้เราสื่อสารเยอะเกินไปและทิ้งมันไปเอง ยังไม่น่าจะเป็นจริงได้ โดยเฉพาะในวันที่เรากำลังถูกนักวิจัยทั่วโลกช่วยกันทำให้เรารับได้กับการอยู่กับมัน

 

เชิงอรรถ

[1] ดู European Journal of Cultural Studies Aug-Oct 2015 vol. 18 no. 4-5 p. 395-412 : http://ecs.sagepub.com/content/18/4-5/395.abstract 

[2] ดู ข้อถกเถียงเรื่องสัญญาประชาคม ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และความเป็นส่วนตัวที่ เปิดประตูสู่การอภิบาลอินเทอร์เน็ต : https://thainetizen.org/docs/introduction-internet-governance/

[3] ดู ผลการทดลองทำนายและกำหนดอารมณ์ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ Experimental evidence of massive-scale emotional contagion through social networks. PNAS June 17, 2014 vol. 111 no. 24 : http://www.pnas.org/content/111/24/8788.full

[4] ดู Richard Harper(2011). Texture: Human Expression in The Age of Communications Overload

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท